หลักสูตร กอส.ยังจำเป็นต้องมีหรือไม่

ศาสตราจารย์ พล.ต.ท.พิศาล มุขแจ้ง ฝากแสดงความคิดเห็นมา

ว่าด้วย “หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร” หรือ กอส. เป็นหลักสูตรที่มีประวัติยาวนานกว่า 40 ปีมาตั้งแต่สมัยท่าน พล.ต.อ.สุรพล จุลละพราหมณ์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ

ท่านเห็นว่า มีตำรวจชั้นประทวนจำนวนหนึ่งมีคุณวุฒิปริญญา ยังไม่ได้รับการปรับคุณวุฒิเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร มีข้าราชการทหารจากเหล่าทัพต่าง ๆ ขอโอนมาเป็นตำรวจ  มีหมอ พยาบาลสมัครใจมารับราชการตำรวจ  ต้องแต่งเครื่องแบบตำรวจ และมีบางหน่วยงาน เช่น กองพิสูจน์หลักฐาน ต้องรับสมัครบุคคลภายนอกที่มีคุณวุฒิทางวิทยาศาสตร์ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ถือเป็นวุฒิ หรือสาขาที่ขาดแคลนเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจ

ดังนั้น กรมตำรวจได้จัดให้มี หลักสูตร กอส. ขึ้นเพื่อฝึกอบรมบุคคลเหล่านี้ เพื่อเรียนรู้ และฝึกปฏิบัติในระเบียบวินัยของตำรวจที่จะต้องประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ตามระเบียบแบบแผนเป็นมาตรฐานเดียวกันของกำลังพลทุกนาย

“ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้ เมื่อปี 2525 นับว่าเป็นรุ่นแรก หรือ กอส. รุ่นที่ 1 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมประมาณ 90 นาย ส่วนใหญ่เป็นตำรวจเก่า เป็นชั้นประทวนมาก่อน เพื่อนบางคนจบโรงเรียนนายร้อย จปร. โรงเรียนนายเรืออากาศ ขอโอนมาเป็นตำรวจ และยังมีเพื่อนตำรวจน้ำที่ได้ทุนกรมตำรวจไปศึกษาในโรงเรียนนายเรือ”

อีกทั้งมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้มีคุณวุฒิในสาขาวิชาที่กรมตำรวจขาดแคลน เพื่อนบางส่วนเป็นพยาบาล และยังจำได้ว่า มีเพื่อนคนหนึ่งจบมาจาก “โรงเรียนตำรวจไต้หวัน” การฝึกอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจใช้เวลาประมาณ 3 เดือน  เมื่อจบหลักสูตรแล้ว เพื่อนในรุ่นส่วนใหญ่ออกไปเป็นพนักงานสอบสวนในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนที่เหลือกลับไปทำงานในหน่วยของตน เช่น กองพิสูจน์หลักฐาน โรงพยาบาลตำรวจ

ต่อมา หลักสูตร กอส. มีการรับ ทายาทข้าราชการตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และรับ นักกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ มาเป็นตำรวจ มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี เฉลี่ยปีละ 1 รุ่น จนถึงปัจจุบัน

“ผมเห็นว่า ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนี้ ส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่สมกับเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ บางท่านอยู่หน่วยสนับสนุนก็ตั้งอกตั้งใจทำงาน ทำประโยชน์ให้แก่องค์กรตำรวจและประชาชนเป็นที่ประจักษ์”

บางท่านรับราชการมีความเจริญก้าวหน้าเป็นถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

แต่น่าเสียดายและเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับข่าวที่ปรากฏว่า มีผู้ผ่านการฝึกอบรม หลักสูตร กอส. โดยเฉพาะในรุ่นหลังๆ หลายนายมีพฤติกรรมพัวพันกับเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ “ธุรกิจสีเทา” หรือใช้ความเป็นตำรวจแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

ไม่ทำงานในหน้าที่รับผิดชอบ

ขาดจิตสำนึกและจิตวิญญาณในความเป็นตำรวจ สร้างความเสียหายให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างยิ่ง

ที่สำคัญยังทำให้สังคมมองภาพลักษณ์ผู้ที่จบ หลักสูตร กอส. “ในทางลบ” ถึงขนาดเสนอความเห็นให้ “ยกเลิกหลักสูตร กอส.” ทั้งที่พฤติกรรมการกระทำผิดเป็นเรื่อง “เฉพาะตัวบุคคล”  มิใช่เป็นเรื่องในเชิงระบบที่ถึงขนาดจะต้องยกเลิกไป

หากว่าบุคคลกลุ่มนี้มีการกระทำผิดจริงสมควรที่จะได้รับการลงโทษทางอาญาและวินัยอย่างเฉียบขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ข้าราชการตำรวจทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เขายังเห็นว่า หลักสูตร กอส. มีความจำเป็น เนื่องจากทั้งหน่วยหลักและหน่วยสนับสนุนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังคงต้องใช้บุคลากรเฉพาะทางในเชิงวิชาชีพ ผู้มีความรู้ ความสามารถในสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรโยธา วิศวกรการบิน  ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ การเงิน แพทย์ พยาบาล นักบัญชี อาจารย์ในภาควิชาการต่างๆ  ตลอดจนผู้มีความรู้ภาษาต่างประเทศ

ประกอบกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจยังไม่สามารถที่จะผลิตบุคลากรให้ครอบคลุมในสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็นจะต้องนำมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะทางนี้ได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กอส. รุ่นต่อ ๆ ไปคงจะเป็น “บุคคลคุณภาพ” เป็นตัวช่วยที่มีความสำคัญ เสริมสร้าง “เขี้ยวเล็บ” ให้หน่วยงานต่างๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

RELATED ARTICLES