“เรื่องที่เกิดขึ้น สอนให้เรารู้ว่า ไม่ควรทำนอกกรอบของกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่”

 

บั้นปลายชีวิตราชการไม่คาดคิดจะติดบ่วงวิบากกรรมไปอยู่หลังกำแพงเรือนจำหมดอิสรภาพและโดนตามถอดยศส่งท้ายอีกรอบ

แต่ยังทำให้ตัวเองคิดบวก มองโลกในแง่ดี ถือเป็นบทเรียนสำคัญในการทำงานสืบสวนที่อดีต ...อนุชน ชามาตย์ อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี อยากสอนลูกศิษย์ให้พึงระลึกถึงหลักการปฏิบัติหน้าที่

เขามีสายเลือดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เต็มตัว เป็นลูกชาย พ.ต.ท.อาณัติ ชามาตย์ อดีตสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 6 ทำให้ชีวิตวัยเด็กต้องเปลี่ยนโรงเรียนบ่อย กระเต็งไปหลายจังหวัดตามวิถีชีวิตราชการของพ่อ นับตั้งแต่เกิดในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เดินทางท่องเกือบทั่วประเทศ เริ่มจากอำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ย้ายไปจังหวัดสงขลา กลับมาบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โยกต่อไปอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ แล้วมาเรียนประถมปีที่ 4 วัดอรัญญิกาวาส เมืองชลบุรี ปีเดียวย้ายอยู่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วโยกไปอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ กระทั่งผู้พ่อตัดสินใจสร้างบ้านที่อำเภอเมืองนครราชสีมา ถึงลงเอยปักหลักโรงเรียนอัสสัมชัญ นครราชสีมา ก่อนสอบเข้ามัธยมโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารครั้งแรกไม่ติด ต้องไปเริ่มต้นชีวิตพลตำรวจที่โรงเรียนจอหอ ก่อนสอบตรงเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นรุ่น 35 เหตุผลเพราะคิดว่า ไม่มีทางไป ประกอบกับครอบครัวมีพี่น้อง 6-7 คน หากเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะได้แบ่งเบาภาระให้น้องคนอื่นได้เรียนต่อบ้าง หลังพ้นรั้วสามพรานบรรจุเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวนโรงพักเมืองระนอง ปีเดียวขยับเป็นหัวหน้าสายสืบ จากนั้นย้ายไปอยู่เมืองสตูล ตำแหน่งรองสารวัตรป้องกันปราบปราม ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าสายสืบอีก

“อาจเห็นผมเป็นคนไม่อยู่นิ่ง สารวัตรใหญ่เลยให้มาทำงานสืบสวนดีกว่า ตั้งแต่อยู่ระนอง สืบสวนจับกุมโจรปล้นนักท่องเที่ยวน้ำตกปุญญบาล มี 3 แก๊ง วิสามัญฆาตกรรมไปครั้งหนึ่ง ที่เหลือจับได้ทั้งหมดจนเงียบหายไป” อนุชนเล่าความหลัง  กระทั่งไปกวาดแก๊งยาเสพติด ชิงรถเครื่องในเมืองสตูล ทำงานถึงปี 2533 ขึ้นสารวัตรแผนกส่งกำลังบำรุง ตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ แล้วเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

ย้ายเป็นสารวัตรตำรวจภูธรตำบลสามตำบล อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าตัวเล่าว่า เป็นพื้นที่สีแดงเต็มไปด้วยคอมมิวนิสต์ อยู่นาน 4 ปีครึ่งชนิดนายลืม เข้าไปแก้ปัญหา ทำมวลชนจัดประชุมชาวบ้าน ได้รางวัลตำรวจชุมชนสัมพันธ์ดีเด่น เปิดโอกาสให้ลูกน้องทำงานกับชาวบ้านเต็มที่ ใครทำผิดกฎหมายต้องจับ แต่จะทำความเข้าใจกันก่อน เรียกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเวียนกันมาประชุมที่โรงพักแล้วก็เลี้ยงข้าว คุยกันถึงปัญหาในพื้นที่ ได้ประสบการณ์ 4 ปีครึ่งย้ายเป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และขึ้นเป็นรองผู้กำกับที่กระบุรีอีกไม่กี่ปีต่อมา

ทำพื้นที่ปลอดคดีอุกฉกรรจ์ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่อยู่โรงพักกระบุรี ได้รับโอกาสจาก “รณพงษ์ ทรายแก้ว” ที่ย้ายมาเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8  ทาบทามให้ไปอยู่ด้วย เพราะต้องการพัฒนาทีมสืบสวนให้มีศักยภาพ เจ้าตัวบอกว่า เรามาจากบ้านนอกได้ย้ายลงกองสืบสวนภาค คือ จุดเริ่มต้นของความรู้เรื่องการสืบสวน แต่ตอนแรกต้องปรับตัว ด้วยความที่เคยอยู่โรงพักมาตลอด ไม่เคยรู้เรื่องเลขบัตรประชาชน 13 หลักบอกอะไรได้บ้าง ไม่เคยรู้การอ่านค่าการใช้โทรศัพท์มือถือ ตอนหลังกลายเป็นบ้านนอกเข้ากรุงไปติดต่อขอการใช้ตามค่ายมือถือ เริ่มเรียนคอมพิวเตอร์ การสืบสวนทางอากาศ เข้ากูเกิล ศึกษาด้วยตัวเอง

ปีเดียวได้เลื่อนชั้นเป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชาสืบสวนผ่านเทคโนโลยีที่ตำรวจยุคนั้นแทบไม่รู้จักอีเมล อินเตอร์เน็ตมีใช้น้อยมาก ไปอธิบายประโยชน์ของกูเกิล การค้นหาเบอร์โทรศัพท์บ้านเป็นของใคร  สวมบทอาจารย์สอนตั้งแต่ปี 2546 ถึงปี 2558 รวม 12 ปีถ่ายทอดทุกระดับชั้นเป็นวิชาสืบสวนล้วน ๆ  ระหว่างนั้นขึ้นเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช แกะรอยคดีปล้นฆ่ารถบรรทุกยาง  3   ศพ ใช้เวลา 11 วันได้รายชื่อผู้ต้องสงสัยครบถ้วน ก่อนลุยจับได้ทั้งหมด 8 คนภายใน 24 ชั่วโมง

อนุชนเผยเบื้องหลังว่า มีหลายอย่างประกอบกันจากคนเห็นข่าวหนังสือพิมพ์แจ้งมาที่พนักงานสอบสวน สงสัยกำนันหนึ่งโกยยางลงในปั๊มน้ำมัน ประจวบเหมาะมีข้อมูลเก่าในคดีปล้นรถบรรทุก กบปล้นรถข้าวสารบนถนนสายเอเชีย แผนประทุษกรรมคล้ายกันกับที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และตำบลท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง ก่อนประสานไปยังตำรวจภูธรภาค 9 ถึงความเชื่อมโยงกลุ่มผู้ต้องสงสัย “ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด  ด้วยความโชคดี เทพีแห่งโชคเข้าข้างด้วย ก็เลยได้เร็ว”

พิชิตคดีสำคัญ “รณพงษ์ ทรายแก้ว” ขณะนั้นเป็นรองผู้บังคับการศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 เรียกตัวไปร่วมทัพนักสืบอีกรอบในตำแหน่งผู้กำกับสืบสวนของหน่วยเป็นช่วงที่คดีอุกฉกรรจ์ในพื้นที่เกิดขึ้นมาก ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องสั่ง เขาลงทำงานติดตามจับกุมทันที สุดท้ายไป ๆ มา ๆ มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8  รณพงษ์เลื่อนเป็นผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่สืบสวน เกิดผลกระทบเป็นคลื่นใต้น้ำในหน่วย

“จำได้ว่า วันที่ 26 กันยา เลี้ยงส่งท่านผู้การรณพงษ์ ผมเป็นโต้โผจัดเอง บอกดีใจที่นายเป็นใหญ่ขึ้น ท่านรณพงษ์เขียนป้ายไว้คำหนึ่งเตือนว่า ลำปางหนาวมาก ผมเข้าใจความหมายคนเดียว พอวันที่ 1 ตุลาคม ผมถูกคำสั่งให้ไปช่วยราชการเป็นผู้กำกับการโรงพักกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี” อนุชายิ้ม

กระนั้นก็ตาม เจ้าตัวไม่ได้สะทกสะท้านและรู้สึกดีใจด้วยซ้ำ เพราะการลงพื้นที่เที่ยวนี้มีกำลังพลพอมือ เป็นพื้นที่ที่มีคดีอาชญากรรมเยอะสุดรองจากเมืองสุราษฎร์ธานีและอำเภอพูนพิน ได้โชว์ผลงานอยู่ 2 เดือนเศษจะขอลงตัวจริงกลับถูกคนของนักการเมืองมาเสียบแทน ต้องย้ายไปอยู่โรงพักไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คำนวณเวลาแล้วอยากขึ้นรองผู้บังคับการ เพราะไม่อยากอยู่โรงพัก เป็นจังหวะที่ พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ ย้ายมาเป็นผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8

“พี่เขาเป็นนักสืบระดับอินเตอร์ ส่วนผมนักสืบบ้านนอก”  อนุชนสารภาพไม่เคยสัมผัส เพราะไลน์การทำงานไม่เจอกัน แต่ยกย่องตำนานนักสืบนครบาลเป็นไอดอลการสืบสวน ติดตามมาตั้งแต่สารวัตรจากคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ที่เขียนประวัติการทำคดี “พี่เขาเป็นนักสืบในดวงใจของผม ทำให้ผมคิดจะวิ่งขึ้นเป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ร่วมงานกับพี่เขา”

ก่อนหน้าทั้งคู่เคยเจอกันมาแล้ว เมื่อครั้ง เขาติดสอยห้อยตามรณพงษ์ สมัยเป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 เข้ากรุงเทพมหานคร ไปนั่งร่วมวงเสวนา เข้าไปสวัสดีแนะนำตัว  แต่อีกฝ่ายไม่ชายตามอง เหมือนเป็นอากาศธาตุ แต่เขาไม่คิดอะไร ถือว่า เจอไอดอลตัวจริง รู้สึกดีใจมากกว่า  กระทั่งใกล้แต่งตั้ง พล.ต.ต.วีระศักดิ์ไปดูตัวถึงโรงพักไชยาแล้วตกลงรับเข้าร่วมงานทีมที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8

“ผมเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของแก ได้วิชาเพิ่มขึ้นมาก พี่เขาเป็นอัจฉริยะในเรื่องการสืบสวน ทั้งที่ไม่เคยผ่านงานสอบสวนมาก่อน เหลือเชื่อมาก คนวิเศษแบบนี้หายาก นายที่ดีที่สุดในชีวิตของผม คือ แก พอแกใกล้เกษียณ เกิดคดีฆาตกรรม 2 ศพบนเกาะเต่า เหตุเกิดวันที่ 14 กันยายน พบศพตอนเช้า ขนเอานักเรียนนักสืบของหน่วยนั่งเรือข้ามเกาะไปร่วมทำคดีจนจับกุมผู้ต้องหาได้วันเกษียณอายุราชการพอดี”    

ต่อมา เลื่อนเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำคดีค้ามนุษย์จากอำเภอหัวไทร ถือเป็นปฐมบทแห่งโรฮีนจา “ผมเป็นคนจุดหัวไม้ขีดในการสืบสวนไปพบค่ายกักกันที่เขาแก้ว ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เจอศพ ขยายผลทำต่อเนื่อง มีเครือข่ายในระนอง ตอนแรกนึกว่า วงเล็ก ๆ พอเข้ามาหาข้อมูล ได้คุยกับเหยื่อ มันโหดมาก ไม่ใช่ค้ามนุษย์แล้ว ค้าทาสมากกว่า ข้อมูลต่าง ๆ ไหลมาให้ผมรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องยกยวง”

ปลายชีวิตรับราชการปี 2559  ถูกคำสั่งให้ย้ายเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับชนักติดหลัง มีมลทินคดีถูกฟ้องเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส ตั้งแต่ปี 2545 สู้คดีจนถึงศาลฎีกา

อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่แน่ใจในโชคชะตาตัวเอง หันไปปรึกษาเจ้าหน้าที่การเงินเกี่ยวกับเงินบำนาญ เพราะเป็นห่วงครอบครัว เนื่องจากตัวเองไม่ได้ทำธุรกิจอื่น  ก่อนตัดสินใจลาออก อ้างเหตุผลจะไปประกอบธุรกิจ  ไม่กี่เดือนต่อมา มีหมายให้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ตัดสินใจหนีไม่ไปฟัง และเชื่อว่า คงไม่มีลูกศิษย์คนไหนตามเจอ

“มีผู้ใหญ่บางคนยินดีจะดูแล ให้หนีไปตลอด แต่ผมก็มองว่า หนีอย่างไร สักวันใครจะดูแลเรา สุดท้ายมอบตัวดีกว่า” อนุชนก้มหน้ายอมรับชะตากรรมเข้าเรือนจำจังหวัดระนองพร้อม รณพงษ์ ทรายแก้ว ตามคำพิพากษาฎีกาที่ตัดสินจำคุก 15 ปี แต่ได้รับโทษ 1 ใน 3 รวมแล้วติดจริงเป็นเวลา 2 ปี 11 เดือน 11 วัน เจ้าตัวเล่าว่า อยู่ในเรือนจำ ดีกว่าที่คิด เจ้าหน้าที่ให้เกียรติเรา นักโทษก็ให้เกียรติเรา ไม่มาเกาะแกะรังแก เรียกเราว่า ป๋า ตั้งวงกาแฟกันบ้าง แต่ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร  ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากในชีวิต แต่เกิดชาติหน้าถ้าจำชาติเกิดได้ ไม่อยากติดคุกอีกเหมือนกัน

“มันได้บทเรียนในการทำงานที่สอนอะไรเราหลายอย่าง มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรโดน แต่ขณะเดียวกันก็ควรจะโดนด้วย เรื่องที่เกิดขึ้น สอนให้เรารู้ว่า ไม่ควรทำนอกกรอบของกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ แม้ปกติ ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่ชอบทำนอกกรอบของกฎหมายอยู่แล้ว  ถ้ารู้จักกันจะรู้ว่า บุคลิกผมเป็นยังไง นิสัยเป็นยังไง ถามได้เลย ผมกล้าท้า แต่ด้วยการทำงานเป็นทีมก็ต้องไหลไปตามงาน ผมไม่โทษใครหรอก เพียงแต่ว่า อย่าทำนอกกรอบของกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ต้องสอนลูกน้องเลย ณ วันนี้”

นายตำรวจนักสืบเก่ายืนยันว่า คดีตั้งเยอะแยะที่ไม่เห็นจะต้องทำนอกกรอบก็สำเร็จมากมาย แต่ก็มีที่ไม่สำเร็จบ้าง ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่อยู่สืบภาค 8 คดีอุกฉกรรจ์ทุกคดีสำเร็จในทางสืบสวน  85 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป คือ อยู่ในกรอบ  เราทำงานตามหน้าที่เรา ไม่ต้องมีใครมาสั่ง ทำงานมาทั้งชีวิต ไม่ต้องรอให้ใครสั่ง แล้วก็ไม่ชอบให้ใครสั่งด้วย เราพยายามจะทำอะไรที่แบบว่า ไม่ต้องสั่ง เราทำเลย ด้วยสันดานของเรา

สำหรับเส้นทางชีวิตราชการที่ไม่เจริญก้าวหน้า อนุชนบอกต้องยอมรับ อย่างน้อยก็ภูมิใจ เวลาไปไหนมาไหนมีลูกน้อง ลูกศิษย์โอเคกับเรา เพราะไม่เคยเอาเปรียบในการทำงาน ไม่เคยสั่งอย่างเดียว มักปลูกฝังเสมอว่า ไม่อยากให้ทำงานตามสั่ง “ผมจะบอกเสมอ การมาเป็นตำรวจควรจะทำด้วยจิตใจของคุณเอง เต็มใจที่จะทำงาน ยกตัวอย่างคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ผู้ใหญ่บางคนไม่ค่อยสนใจ สุราษฎร์ธานีปีหนึ่งมีวิ่งราวในเขตเทศบาลเมือง  40-50 คดี ไม่มีใครสนใจ งานป้องกันปราบปรามก็ไม่สนใจ เหตุเกิดตรงถนน เวลา 2-5 ทุ่ม ชาวบ้านเดือดร้อนมากจนพรรคพวกเป็นอัยการโทรมาบอกให้ช่วย ผมขยับกวาดมาได้ เพราะคดีอย่างนี้ เป็นคดีที่ชาวบ้านเดือดร้อน”

“ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ชาวบ้านเดือดร้อนมากที่สุด แล้วมีผลกระทบวงกว้างมากที่สุด คดีฆ่ายังเป็นเรื่องส่วนตัว ผมจะเล็งพวกนี้มาก มันทิ้งร่องรอยไว้เยอะ ผมจะไปดูที่แจ้งพนักงานวิทยุว่า วันที่เท่าไหร่ ใครเข้าร้อยเวร ไปตามร้อยเวรว่า มีหลักฐานอะไรบ้าง บางรายไม่ได้รับคดีก็ต้องย้อนไปดูหลักฐาน มีอะไรบ้าง โทรจิกโทรตาม ไปขอจดปากคำผู้เสียหาย เบอร์โทรศัพท์อะไร ตำหนิ รูปพรรณจำได้ไหม รถอะไร ค่อยๆ เก็บข้อมูลไป ได้มากเท่าไร ยิ่งง่าย แต่ตำรวจมักไม่สนใจ นายไม่สนใจ” อนุชนสะท้อนความจริง

เขายังมีความคิดว่า ปัจจุบันตำรวจทำงานลำบาก เพราะงานไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจเยอะเกินไป ความสงบสุขของประชาชนในเรื่องของอาชญากรรมควรจะทุ่มกำลังดูตรงจุดนี้มากกว่า ตำรวจต้องทำเรื่องยาเสพติด อาวุธปืน คดีอุกฉกรรจ์ คดีเกี่ยวกับทรัพย์ งานของตำรวจมีอยู่แค่นี้  โดยที่ไม่ต้องมีคำสั่ง ไม่ใช่ให้ไปตรวจสถานบันเทิง แต่ถ้าใช้มา เราก็ไป ไม่มีปัญหา เพราะตำรวจมีวินัยในตัวเอง

“ผมอาจวาสนาน้อยไปหน่อยไม่ได้มีโอกาสอยู่พื้นที่ทำเลทอง แต่วาสนามาก ได้ติดคุก เพราะฉะนั้น เวลามีปัญหาอุปสรรคอะไรอีก มันไม่หนักแล้ว เรื่องหนักที่สุดในชีวิต ผมเจอมาแล้ว ผมเป็นคนคิดบวก ความสุข มีอยู่รอบ ๆ ตัวนะ เราต้องคิดแบบนั้น คือ ถ้าไปอยู่ในนรกก็ต้องมีความสุขให้ได้ คิดอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ทำอย่างไรให้มีความสุข” อาจารย์นักสืบแดนสะตอฝากข้อคิด

อนุชน ชามาตย์ !!!

 

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES