“ผมเป็นตำรวจอาชีพ และรักการเป็นตำรวจ ภูมิใจในชีวิตตำรวจมาโดยตลอด”

ายตำรวจมือปราบผู้มากด้วยความสามารถบนถนนหลวงจนได้รับฉายา “สิงห์ร้ายไฮเวย์”  จากสื่อมวลชน หลังออกปราบปรามเหล่าทรชนคนพาลโดยมิหวั่นอิทธิพลมืดที่จะมาคุกคามหยามศักดิ์ศรีของตำรวจทางหลวง

พ.ต.ท.ฉอ้อน คล้ายคลึง เขียนบันทึกอุดมการณ์ไว้ให้ลูกหลานได้จดจำเป็นตำนานเล่าขานของวงศ์ตระกูลจากบทสัมภาษณ์เปิดใจผ่านนิตยสารตำรวจฉบับครบรอบ 1 ปี เมื่อ พ.ศ.2530ขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการ 1 ตำรวจทางหลวง เจ้าตัวเล่าว่า เป็นคนเพชรบุรี ลูกกำนันอุ่น กับนางแย้ม มีพี่น้อง 4 คน ตัวเขาเป็นคนที่ 3 ส่วนน้องชายอีกคนคือกำนันช้อง คล้ายคลึง ที่ถูกมือปืนลอบสังหารไปหลายปีก่อน ฉอ้อนจบ ม.6 โรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรี สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าแต่ไม่ได้เลยหันไปเรียนต่อ ม.7- ม.8 โรงเรียนเทเวศน์ศึกษา

พอจบแล้วได้เบนเข็มชีวิตไปเป็นตำรวจด้วยการสอบเข้าโรงเรียนพลตำรวจรุ่น 500 ที่เรียกตามจำนวนผู้สอบเข้า 500 คน เพื่อนร่วมรุ่นหลายคนโด่งดังในยุทธจักรทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ถวิล เปล่งพานิช บุญทิน วงศ์รักมิตร วานิช กุลมา และอาคม มกรานนท์ บรรจุตำแหน่งครั้งแรกประจำโรงพักดุสิตได้ประมาณปีเศษ โรงเรียนพลตำรวจกลางรับสมัครครูฝึก เขาจึงไปสมัครเป็นครูฝึกอยู่ 6 ปี กระทั่งติดยศสิบตำรวจเอก กรมตำรวจจัดให้มีการสอบนักเรียนตำรวจเพื่อที่จะได้เข้าไปเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ เช่น วิทยาลัยเพาะช่าง โรงเรียนช่างกล

อดีตมือปราบของตำรวจทางหลวงตัดสินใจไปเรียนวิทยาลัยเพาะช่าง 5 ปี เมื่อจบมามีวุฒิเทียบเท่าอนุปริญญา ก่อนเข้าอบรมที่โรงเรียนสืบสวนวังสุนันทาเป็นเวลา 3 เดือนจึงย้ายไปอยู่ตำรวจตระเวนชายแดนประจำกองกำกับการยุทธการตำรวจชายแดนประมาณ 2 ปี ได้เป็นร้อยตรี จากนั้นรับราชการอยู่เป็นผู้หมวด และผู้กองรักษาการอยู่ที่กองบัญชาการภูธรตำรวจชายแดน ระหว่างนั้นก็ได้เรียนหลักสูตรพลร่ม และการประชาสัมพันธ์ไปด้วย

เวลานั้น เขายังได้รับเลือกเป็นพ่อตัวอย่าง เพราะมีลูกชาย 4 คนเป็นตำรวจหมด เขาภูมิใจในลูกชายทุกคน ตั้งแต่คนโต ร.ต.ท.อังกูร คล้ายคลึง เป็นนายเวรผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เคยเรียนอยู่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ นครปฐม ไปจบเตรียมอุดมที่จังหวัดตาก สอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารแต่ไม่ได้จึงเข้าศึกษาต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์แล้วเข้าอบรมโรงเรียนนายร้อยตำรวจอยู่ 3 เดือน ได้เป็นหัวหน้าตอนของโรงเรียนนายร้อย ต่อมารับราชการตำรวจทางหลวงสอบได้ที่ 15

คนที่ 2 ร.ต.ต.คำนวณ คล้ายคลึง เริ่มเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟ นครปฐม โรงเรียนตากวิทยาคม สามารถสอบเข้าเตรียมทหารรุ่นที่ 23 ได้ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 39 และเป็นนักเรียนปกครอง เป็นผู้ช่วยระดับผู้หมวด เรียนจบแล้วไปเป็นรองสารวัตรอยู่สถานีตำรวจภูธรอำเภอโชคชัย ก่อนมาช่วยราชการที่สำนักงาน พล.ต.ท.ณรงค์ อัลภาชน์ รองอธิบดีกรมตำรวจ

ส่วนคนที่ 3 และคนที่ 4 เป็นฝาแฝดห่างกัน 5 นาที ทว่าหน้าตาไม่ได้คล้ายคลึงกันเท่าไหร่ เพราะเป็นแฝดคนละฝา คนพี่ชื่อ ชัชชาย คล้ายคลึง เริ่มเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดระยอง แล้วย้ายตามเขาไปเรียนโรงเรียนตากวิทยาคม พอเขาย้ายเป็นรองผู้กำกับ ลูกคนนี้ก็ต้องย้ายไปที่โรงเรียน ภปร.ราชวิทยาลัย ระหว่างนั้นเข้าสอบโรงเรียนนายร้อยพร้อมน้องชายที่ชื่อ ชัชชม คล้ายคลึง ปรากฏว่า ชัชชายสอบเข้าไม่ได้ ส่วนชัชชมสอบได้ ชัชชายต้องไปเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์อยู่ 2 ปี ถึงมาสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจใหม่เป็นครั้งที่ 3 จึงสอบได้ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 27 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 43

ฝาแฝดคนน้องที่ชื่อ ชัชชม เริ่มเรียนโรงเรียนประจำจังหวัดระยอง  ตากวิทยาคม และภปร.เหมือนแฝดผู้พี่ ได้รับทุนนักเรียนดีเด่น มีทุนเรียน ปีละ 5,000 บาท จนกว่าจะจบมหาวิทยาลัย หรือจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ชัชชมสอบเข้าวิศวะชลประทานได้พร้อมกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ความที่เห็นพี่ชายห้อยกระบี่มาตลอดจึงฝังใจกับตำรวจและสละสิทธิ์เรียนวิศวะ

“การอบรมสั่งสอนลูกทุกอย่าง พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง ต้องอบรมอยู่เสมอ และติดตามผล เช่น เหล้า บุหรี่ห้ามเด็ดขาด ชี้คุณและโทษให้ลูกเข้าใจ พร้อมทั้งรับทราบไว้เลยว่า ถ้าลูกทำตัวไม่ดี เกียจคร้าน เกเร ถือว่า ลูกคนนั้นไม่รักพ่อแม่ ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลคล้ายคลึง ผมจะตัดออกจากลูกทันที อันนี้ไม่ใช่จู่ เอาจริง ลูกทั้ง 4 คนจะรู้ว่า พ่อจะเอาจริงหรือไม่ บางครั้งผมก็ไม่ได้เข้มงวดลูกอย่างเดียว ยังเลี้ยงลูกแบบเพื่อนด้วย ลูกสามารถเตือนพ่อได้ว่า ทำอะไรไม่ถูก” รองผู้กำกับมือปราบชื่อดังอธิบายหลักการเลี้ยงดูลูกชายจนได้ดิบได้ดี

“ผมจะรับฟัง และลูก ๆ ทุกคนมีสิทธิกระเซ้าเย้าแหย่พ่อได้เวลาที่อารมณ์ดี เว้นแต่อารมณ์ไม่ดี ลูก ๆ รู้ดี รวมทั้งแม่จะไม่มีใครมายุ่งด้วยเลย อีกอย่างคือ ครอบครัวเราอยู่แบบโบราณ มีการสอนมาตั้งแต่บรรพบุรุษให้ภูมิใจในบุพการี พูดจริงทำจริงไม่โกหก เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่ต่อคนที่อ่อนแอกว่า หรือตกทุกข์ได้ยาก ไม่รังแกผู้อื่น แต่ถ้าใครรังแก เราต้องสู้ต้องเป็นคนดีมีคติธรรมประจำใจ อันนี้พยายามย้ำมาก ปัจจุบันครอบครัวเรามีความเหนียวแน่นเป็นพิเศษ ถึงแม้ลูกที่มีครอบครัวไปแล้วเมื่อกลับมาเยี่ยม พ่อแม่ก็จะมานอนในห้องเดียวกันในห้องพ่อกับแม่”

ส่วนผลงานการปราบปรามที่โดดเด่นของตัวเอง พ.ต.ท.ฉอ้อนเล่าว่า ตอนเป็นสารวัตรอยู่ที่ระยอง จับคดีปล้นรายใหญ่และมีอิทธิพลมาก นับเป็นผลงานที่น่าภูมิใจ เพราะได้รับหนังสือชมเชยจากผู้บังคับบัญชา พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และเมื่อเป็นสารวัตรที่นครสวรรค์ก็ได้ปราบปรามไม้สักเถื่อนจนมีคนจ้างฆ่าเขา ตั้งค่าหัวถึง 4 แสนบาท ต่อมาจับปืนได้อีก พอตอนเป็นรองผู้กำกับจับคดีอาวุธสงครามที่จังหวัดกำแพงเพชร ครั้งล่าสุดยังจับอาวุธสงครามรายใหญ่ที่นครสวรรค์

“ผมเป็นตำรวจอาชีพ และรักการเป็นตำรวจ ภูมิใจในชีวิตตำรวจมาโดยตลอด ถือหลักความไม่ประมาท เวลาผมไปไหนมาไหนไม่เคยไปคนเดียว พูดได้ว่า ผมเป็นนักเลงที่ขี้ขลาดที่สุด ไปไหนมาไหนไม่เคยไปคนเดียวเลย ถ้าไม่มีใครไปเป็นเพื่อนก็เอาลูกไป หรือถ้าไม่มีใครจริง ๆ ก็ไปกับภรรยา แต่โดยทั่วไปผมจะไปด้วยการเอารถวิทยุไป ยิ่งช่วงที่มีค่าหัวนั้น ผมเรียกญาติจากเพชรบุรีที่เชื่อใจได้ว่า ตายแทนได้มาคุ้มกัน ถ้าจะเล่นกอล์ฟจะให้ตำรวจคอยคุ้มกัน ใช้ถุงกอล์ฟจริงอันนึง อีกใบใส่เอ็ม 16 ไว้ 2 กระบอกคอยติดตาม กระทั่งตอนหลังผมมาเจอกับคนที่ผมแน่ใจว่าจ้างฆ่าผม ก็ตกลงกันได้”

พ.ต.ท.ฉอ้อนยืนยันว่า ในชีวิตตัวเองมีเรื่องผิดหวังน้อยมาก ชีวิตการงานและเรื่องส่วนตัวโชคดีที่มีผู้บังคับบัญชาดี สั่งสอนดี ได้ 2 ขั้นมาตลอด ได้เป็นรองผู้กำการก็รู้สึกภูมิใจ จะมีผิดหวังเล็ก ๆ น้อย ๆ คือถูกรังแกด้านจิตใจ ถูกกล่าวหาพยายามฆ่า แต่ท้ายที่สุดก็สู้คดีจนชนะ ส่วนที่ไม่ได้เป็นผู้กำกับการนั้น ก็ไม่เสียใจ เพราะว่าชีวิตนี้ได้ดีพอสมควรแล้ว มาจากพลตำรวจ มาถึงพันตำรวจโทเต็มเพดาน อย่างนี้ถือว่าในชีวิตสำเร็จแล้ว ถ้าสมมติได้เป็น ผู้กำกับ ก็ภูมิใจ แต่ถ้าไม่ได้ก็พอใจแล้ว

มุมมองถึงภาพพจน์ตำรวจในอดีตกับปัจจุบันยุคสมัยนั้น พ.ต.ท.ฉอ้อนยอมรับว่า ตำรวจในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันมาก สมัยนี้ดีกว่าสมัยก่อนมากมาย สมัยก่อนเป็นตำรวจเด็ดขาด มีการฆ่า การยิงทิ้ง แต่ตำรวจปัจจุบันไม่มีระบบนั้นจะเป็นแบบอ่อนน้อมกับประชาชนมากกว่า ซึ่งจริง ๆ แล้วตำรวจก็คือประชาชน เพราะมาจากประชาชน ถ้าเป็นคนไม่ดี เมื่อมาเป็นตำรวจมันก็เป็นตำรวจดีไม่ได้ คนเราถ้านิสัยไม่ดีแล้วเปลี่ยนยาก คือถ้าสอนกันมาอย่างไรจะเป็นอย่างนั้นจนกระทั่งแก่ตายจึงได้คำจำกัดความว่า ประชาชนมีนิสัยอย่างไรเมื่อมาเป็นตำรวจจะมีนิสัยเป็นอย่างนั้น

“ รับราชการเป็นพลตำรวจรุ่น 500 เมื่อปี 2493 ภูมิใจที่สุดตรงมีผู้บังคับบัญชาดี เช่น พาส ประทีประเสน ธงชัย ไชยรักษ์ อัมพร ผาสุก บุญเสริม วิเชียรศรี ผู้บังคับบัญชาที่สอนตำรวจรุ่นนี้ให้เป็นคนมีอุดมการณ์มีวินัย หล่อหลอมจิตใจให้เข้มแข็ง ผมมีหลักว่า เกิดมาเป็นตำรวจจะสู้ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยชอบด้วยกฎหมายทุกกระเบียดนิ้ว จะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน ถ้านายสั่งต้องทำ ส่วนอุดมคติสั้น ๆ  ของผมคือ รักวินัยยิ่งกว่าชีวิตพิชิตงาน”

สิงห์ร้ายไฮเวย์ฝากทิ้งท้ายในบทสนทนาครั้งนั้นด้วยว่า ในฐานะที่เป็นตำรวจมานาน แต่ก็ตัวเล็กแค่นี้ ขอฝากไว้ว่า ทุกคนเกิดมาเป็นผ้าขาวเหมือนกันหมด แต่เมื่อเป็นตำรวจแล้วก็คงจะมีจุดเปื้อนสีดำบ้าง ใครล่ะจะไม่มีจุดดำ ด่างพร้อยเลยในชีวิต แค่อยากให้มีรอยเปื้อนสีดำน้อยที่สุดเท่านั้นเอง

          ฉอ้อน คล้ายคลึง !!!

RELATED ARTICLES