อัยการเข้าควบคุมการสอบสวนแต่ต้นศึกษาและตีความผลสัมฤทธิ์ในญี่ปุ่น

ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ เมื่อ 21 ตุลาคม 2560 ว่า พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ลาออกจากคณะอนุกรรมการด้านบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา สาเหตุที่ลาออกเขาให้สัมภาษณ์ว่าเนื่องจากในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา ในเรื่องการปฏิรูปการสอบสวน คล้ายกับมีพิมพ์เขียวเอาไว้แล้ว โดยเฉพาะประเด็นที่มีการเสนอให้อัยการเข้ามากลั่นกรองสำนวนการสอบสวนของฝ่ายตำรวจตั้งแต่ต้น ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อหาเสียด้วยซ้ำซึ่งเขาไม่เห็นด้วย และพยายามเสนอความเห็นที่แตกต่าง แต่มักถูกตัดบท ไม่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น รู้สึกเหมือนไม่มีบทบาทจึงเป็นเหตุให้ลาออก แต่ยังคงนั่งเป็นกรรมการปฏิรูปชุดใหญ่อยู่

หลังจากนั้นเพียง 2 วัน ฝ่ายที่สนับสนุนแนวทางการปฏิรูปฝ่ายอัยการซึ่งได้รับชัยชนะในการโหวตในที่ประชุมคณะอนุกรรมการแล้ว ได้ออกมา เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทาง นสพ. มติชนวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ก็คือบทความเรื่อง “การปฏิรูประบบการสอบสวนคดีอาญาตามแนวทางสากล”  เพื่อเป็นการรักษาโมเมนตัมของชัยชนะในการโหวตครั้งที่แล้ว  และยังหวังจะได้รับแรงสนับสนุนจากสาธารณชนอีกส่วนหนึ่งด้วย  และจากข่าวใน นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 25 ตุลาคม “คอลัมน์เลขที่ 1 วิภาวดีฯ ของ “เพลิงพยัคฆ์” เสนอสรุปเหตุการณ์ในการประชุมครั้งที่แล้วซึ่งมีการโหวตลงมติกัน

จากรายงานบรรยากาศของการประชุมโดย “เสียงตำรวจ” ในคอลัมน์ของเพลิงพยัคฆ์ว่าเป็นการประชุมที่เครียด โดยคณะกรรมการที่เป็นตำรวจต้องคอยชี้แจงเหตุผลและตอบโต้ ความจำเป็นและอุปสรรคโดยเฉพาะเหตุผลที่ไม่ให้อัยการเข้ามาควบคุมงานสอบสวน  จนคณะกรรมการบางคนไม่ขอร่วมประชุม  เมื่อมีการลงมติกันฝ่ายตำรวจมี 2 สียงแต่ฝ่ายที่ให้อัยการร่วมสอบสวนมี 6 เสียง

แต่ฝ่ายตำรวจขอต่อรองว่ากรณีที่อัยการจะเข้ามาร่วมสอบสวน ขอให้เป็นแบบกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ที่คดีต้องเข้าหลักเกณฑ์ 6 ข้อ หรือ ผู้เสียหายร้องเรียนไปยังคณะกรรมการฯ  จะชี้ขาดว่าสมควรให้อัยการมาร่วมหรือไม่  “ไม่ใช่ปล่อยให้อัยการเลือกคดีเอาเอง”  เมื่ออัยการมาร่วมมี 3 ระดับโดย 1. เข้ามาให้คำแนะนำ 2. เข้ามาร่วมสอบปากคำและมีความเห็นแนบในสำนวนได้ และ 3. ในกรณีที่จะให้อัยการมาควบคุมการสอบสวนเอง ขอให้อัยการรับสำนวนไปทำตั้งแต่ต้น

อย่ามาใช้ตำรวจอย่างผู้ใต้บังคับบัญชา ทุกคนมีเกียรติ  ซึ่งที่ประชุมตกลงให้อัยการรับสำนวนไปทำด้วยตนเอง   แต่ต้องรอให้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ก่อน และเสนอรัฐบาล เสนอกฤษฎีกาแก้กฎหมายมีหลายขั้นตอน

ข่าวจาก “คอลัมน์เลขที่1วิภาวดี” ให้ข้อมูลว่าพนักงานสอบสวนทั่วประเทศถ้าคิดจะเอาอัยการมาสั่ง มาควบคุม จะโดนต่อต้านถ้าไม่ไว้ใจตำรวจขอให้ทางอัยการเอาคดีไปทำเองเลยตั้งแต่วินาทีแรก หวังว่า เรื่องนี้คงจะไม่บานปลาย  ควรหารือกันอีกครั้ง

ขออ้างความเห็นของ พันตำรวจเอก ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผบก.กองคดีอาญา ส.ตช. และอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย คุณวุฒิเนติบัณฑิตไทย ปริญญาเอกด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐ เจ้าของบทสัมภาษณ์ “5 ปมแย้งอัยการกรองสำนวน ตร.ในบางประเด็นดังนี้

“ผมไม่แน่ใจว่ากรณีของประเทศที่ยังไม่มีหลักนิติรัฐที่เข้มแข็ง การเข้ามาในลักษณะที่เป็นการร่วมหัวจมท้ายกัน ควบคุมทิศทางของการสอบสวนจะเกิดขึ้นได้ง่ายแค่ไหน และจะทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายอย่างไม่อาจคำนวณได้เลย……. ให้อัยการเข้ามาควบคุมการสอบสวน เป็นการทำลายระบบถ่วงดุล และล้มละลายหลักประกันความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐาน  เพราะสามารถควบคุมทิศทางการสอบสวนของตำรวจได้อย่างบริบูรณ์  เบ็ดเสร็จไปจนถึงชั้นการสั่งคดี  และมีผลถึงคำพิพากษาด้วย”

กล่าวอีกนัยหนึ่งในระบบที่อ้างว่าเป็นแนวทางสากล  หากตำรวจและอัยการร่วมมือกันโดยทุจริตหรือเพียงเพื่อต้องการผลงาน ก็จะเป็นอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้อย่างสุดจะประมาณ

จากบทความ “การปฏิรูประบบการสอบสวนคดีอาญาตามแนวทางสากล” ข้อ 4 ตอนท้ายอ้างว่าสถิติคดีที่ประเทศญี่ปุ่นอัยการสามารถทำให้ศาลลงโทษได้สูงถึง 99.9% ตัวเลขดังกล่าวสูงเกินไปจนน่าตกใจ  ทำให้สงสัยว่าน่าจะมีสิ่งผิดปกติหรือเป็นรอยด่างเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นเป็นแน่

เดิมผู้เขียนก็มีความชื่นชมในระบบกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่น มาก่อนจนกระทั่งได้อ่านพบบทความเกี่ยวกับสิ่งผิดปกติในระบบการสอบสวนของญี่ปุ่น ซึ่งมีบทความในลักษณะนี้ปรากฎในนิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 5-12 เพียงฉบับเดียวกันถึง 3 เรื่องคือเรื่อง  forced  to confess, เรื่อง Extractor Few Fans และเรื่อง Silent Screams

ผู้เขียนได้ถอดความเรื่องดังกล่าวเขียนลงในคอลัมน์ “หัวใจสีกากี” ในนิตยสาร Cop’s ฉบับเดือนมกราคม ปี 2559 โดยให้ชื่อเรื่องว่า “มุมมืดของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและเสียงกรีดร้องอันเงียบงันในคุกของญี่ปุ่น” ซึ่งสรุปย่อ ๆ ได้ดังนี้

ระบบความยุติธรรมทางอาญาของญี่ปุ่นได้รับการยอมรับกันเกือบทั่วโลก อัตราการเกิดอาชญากรรม ของญี่ปุ่นต่ำกว่าเกือบทุกประเทศ อัตราการเกิดคดีฆ่าคนตายน้อยกว่า 1 ใน 10 ของอเมริกา คนญี่ปุ่นที่ถูกจับกุมในคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ จะได้รับการปฏิบัติที่ “ผ่อนปรน” โดยผู้กระทำผิด 1 ใน 20 คนเท่านั้นที่ถูกจำคุกเปรียบเทียบ 1 ใน 3 คนในอเมริกา

ญี่ปุ่นเน้น “การฟื้นฟูให้กลับตัวเป็นคนดี”  โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเด็กหรือเยาวชนซึ่งหากพวกเขา “รับสารภาพ” และ “ขอโทษ” จะได้รับการปล่อยตัวไปพร้อมกับการ “ตักเตือน” อย่างจริงจังเท่านั้น

สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่มีความปลอดภัยสูงซึ่งเป็นผลมาจากการที่ตำรวจได้ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนในท้องถิ่นในการแก้ปัญหาอาชญากรรม แต่ในปัจจุบันตำรวจมีภารกิจต้องดิ้นรนด้วยความยากลำบากที่จะจับกุมคนร้ายมาลงโทษให้ได้ เพราะในระบบของญี่ปุ่น “คำรับสารภาพของผู้ต้องหา” เป็นหลักฐานสำคัญที่ศาลใช้พิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด โดยเมื่อปีก่อนคำรับสารภาพได้ใช้เป็นหลักฐานในการพิพากษาลงโทษถึง 89% ทั่วประเทศ และมีอัตราการพิพากษาลงโทษถึง 99.9 %

อัยการญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่เคยแพ้คดีแม้แต่คดีเดียวทำให้มองได้ว่านี่อาจเป็นสัญญาณที่สื่อให้เห็นถึงความขาดสมดุลในระบบของญี่ปุ่นก็ได้ “คำรับสารภาพ” ของผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งอาจได้มาด้วยการบีบบังคับข่มขู่ก็ได้ ปัญหาและจุดอ่อนของระบบญี่ปุ่นทำให้ตำรวจและอัยการตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะให้บีบเอาคำรับสารภาพจากผู้ต้องหาให้ได้  เพราะศาลใช้มันเป็นหลักในการพิพากษาลงโทษ และโอกาสของพนักงานสอบสวนทั้งตำรวจและอัยการก็มีอยู่อย่างมากมาย เพราะมีอำนาจในการควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวนถึง 23 วัน ซึ่งเป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่สถานีตำรวจตลอดเวลา ก่อนส่งฟ้องศาล

การใช้วิธีซ้อมทำร้ายร่างกายเพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพในญี่ปุ่นไม่ค่อยใช้กัน แต่วิธีที่ใช้บ่อยก็คือทีมพนักงานสอบสวนจะสลับผลัดเปลี่ยนกันมาสอบสวนปากคำผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่องครั้งละ 8 ชม. หรือนานกว่า จนผู้ต้องหาไม่มีเวลาพักผ่อนหรือหลับนอนเลย จะหลับเมื่อใดก็ถูกกระตุ้นให้ตื่น เช่น ตะโกนใส่หู เอาเข็มแทงเมื่อจะม่อยหลับ แทบไม่มีมนุษย์คนใดสามารถทนทานต่อการอดนอนได้ ผู้ต้องหายอมลงนามในคำรับสารภาพเพื่อให้ยุติความทุกข์ทรมานนั้นเสีย ตามหลักการผู้ต้องหามีสิทธิจะพบทนาย และไม่ยอมให้การใด ๆ อันเป็นการให้ร้ายต่อตนเองได้

แต่ในทางปฏิบัติในช่วงเวลาเช่นนี้ การพบทนายมีโอกาสจำกัดมากไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามีผู้บริสุทธิ์ถูกบีบคั้นให้จำต้องรับสารภาพมีจำนวนเท่าใด แต่มีการประมาณว่ามีไม่น้อยกว่า 1500 รายหรือประมาณ 1 ใน 10 คนของผู้ที่ถูกส่งเข้าคุกในแต่ละปี จำนวนของผู้ที่ถูกลงโทษจำคุกโดยคำรับสารภาพที่ไม่ถูกต้องได้ถูกเปิดเผยและได้รับการปล่อยตัวรับอิสระภาพได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะความก้าวหน้าในการตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอ

อย่างกรณีของนายไอวาโอ๊ะ ฮาคามาด้า ซึ่งถูกจองจำในคุกเพื่อรอการประหารชีวิตเป็นเวลานาน 46 ปีจึงได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เมื่อปี 2004 กล่าวว่าเขาถูกสอบปากคำวันละ 11 ชม. นานติดต่อกันถึง 23 วัน ถูกทรมานไม่ให้นอนหลับลงได้ สภาพในคุกญี่ปุ่นที่นาย ไอวาโอ๊ะซึ่งเขาใช้ชีวิตอยู่ถึง 46 ปี เป็นอย่างไรคงจะจินตนาการได้

จากผลของการสำรวจ พบว่าคุกญี่ปุ่นเองเป็นคุกที่เหี้ยมโหดที่สุดในแง่การทำลายหรือก่อให้เกิดความหายนะทางจิตใจแก่นักโทษ เรื่องการปฏิรูประบบการสอบสวนคดีอาญาในประเทศไทยคงจะไม่จบลงง่าย ๆ ประชาชนคนไทยที่สนใจโปรดอดใจและรอติดตามไปสักระยะหนึ่งก่อน

RELATED ARTICLES