ใกล้ถึง “ไทม์ไลน์” พิจารณ์แต่งตั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ แทน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ที่ครบเกษียณอายุราชการปลายเดือนกันยายน 2566
ท่ามกลางกระดานร้อนสนามการเมืองที่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะขึ้นนั่งเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” กุมอำนาจบริหารประเทศ
แล้วจะมีส่วนในการชี้ขาดตำแหน่ง “พิทักษ์ 1” คนต่อไปหรือไม่
เพราะพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับปี 2565 มาตรา 78 (1) ระบุ “กฎเหล็ก” ไว้ชัด
“การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกข้าราชการตำรวจในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยคำนึงอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบ โดยเฉพาะประสบการณ์งานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม”
หลังจากนั้นต้องนำรายชื่อเสนอต่อ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง
อำนาจไม่ได้เต็มไม้เต็มมือนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติเหมือนแต่ก่อน หรือแม้กระทั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนเก่า
เนื่องจากต้องผ่าน “ตะแกรงเหล็ก” ของ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็น “ตราประทับ” เท่านั้น ส่วนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เหลือในห้องประชุมหมดสิทธิออกเสียงตามมารยาทเนื่องจากมีส่วนได้ส่วนเสีย
ถึงน่าจับตาการสรรหา “เจ้าสำนักปทุมวันคนใหม่”ในอนาคตอันใกล้
แคนดิเดตมีเพียง 4 นายที่ต้องไป “วัดใจ”ผู้กุมอำนาจการพิจารณาแต่งตั้ง
อาวุโสลำดับ 1 พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์
ครั้งนี้ได้โอกาสชิงชัยอีกรอบก่อนจะเกษียณอายุราชการในปี 2567 รับผิดชอบศูนย์อำนวยการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำเร็จการศึกษามัธยมตอนต้นโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ไปต่อมัธยมตอนปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 24 เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 40
เคยเป็นสารวัตรงาน 4 กองกำกับการ 3 กองบังคับการอำนวยการ กองตำรวจสันติบาล สารวัตรงาน 2 กองกำกับการ 5 กองตำรวจสันติบาล ติดสายขาวเป็นนายเวรผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายเวรรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ขึ้นผู้กำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง เลื่อนเป็นรองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง รองผู้บังคับการสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ รองผู้บังคับการกองบังคับการฝึกอบรมตำรวจกลาง
ติดนายพลตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 3 แล้วโยกเป็นผู้บังคับการประจำสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ได้ขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นั่งรักษาการผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย) ปีเดียวเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล สลับเป็นผู้บัญชาการศึกษา ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ส่วนอาวุโสลำดับ 2 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
นายตำรวจหนุ่มดาวเด่นอนาคตไกล เพราะมีคิวเกษียณอายุราชการปี 2574 รับผิดชอบหัวหน้างานสืบสวน ลูกชาย ด.ต.ไสว หักพาล คนขับรถเก่าของ พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ สมัยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4 ชาวจังหวัดสงขลา จบมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหาวชิราวุธ มุ่งสอบเตรียมทหารรุ่น 31 ไปจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47
รับราชการจนได้เป็นสารวัตร (นิติกรด้านพิจารณาทัณฑ์) กองวินัย เป็นสารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 4 กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจทางหลวง สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 2 กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ถัดจากนั้นไปเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ลงเป็นรองผู้กำกับการกลุ่มงานสอบสวน ศูนย์สืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2
เจริญเติบโตตำแหน่งหลักเป็นผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ หัวหกก้นขวิด เด้งเป็นผู้กับการฝ่ายอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการตำรวจสอบสวนกลาง กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งนั่งเก้าอี้ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ
เป็นผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว และผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และพรวดเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
เผชิญมรสุมชีวิตอีกระลอก “ออกนอกรั้ว” เป็นข้าราชการพลเรือนตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สู้ความจนพ้นมลทิน “คืนทุ่งปทุมวัน” ตำแหน่งใหญ่กว่าเดิมเป็นที่ปรึกษา สบ 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
อาวุโสลำดับ 3 พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร
นายพลตำรวจสายบุ๋นคุมงานบริหาร ครบกำหนดเกษียณอายุราชการปี 2569 เดิมชื่อ “ทศพร พันธุ์เพ็ชร” สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 เคยทำหน้าที่สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ต่อมาเป็นนายเวรผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ผู้ช่วยนายเวรผู้ช่วยผู้บัญชการตำรวจสันติบาล ผู้ช่วยนายเวรผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นนายเวร พล.ต.ท.ธวัชชัย ภัยลี้ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วลงเป็นรองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม
เป็นผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ผู้กำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เป็นรองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์
ขึ้นเป็นเลขานุการตำรวจแห่งชาติ โยกเป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 1 เป็นรองจเรตำรวจ รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เลื่อนขึ้นผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย) แล้วได้รับความไว้วางใจนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ปีเดียวขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
อาวุโสลำดับท้าย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล
รับผิดชอบงานป้องกันปราบปราม เกษียณอายุปี 2567 ชาวจังหวัดเพชรบุรี จบมัธยมโรงเรียนโยธินบูรณะ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิงห์แดงรุ่น 38
เริ่มต้นชีวิตจากพนักงานบริษัทคาลเท็กซ์ ออยส์ ไทยแลนด์ จำกัด อยู่ฝ่ายประสานงานราชการนาน 7 ปี เบนเข็มเข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีวุฒิด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 4
บรรจุลงตำแหน่งรองสารวัตรแผนกสายตรวจรถวิทยุ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ผ่านโรงเรียนสืบสวนเข้าไปสังกัดกองบังคับการปราบปราม ขึ้นสารวัตรสถานีตำรวจท่องเที่ยว 3 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว แล้วโยกกลับมารับงานถนัดเป็นสารวัตรกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม เป็นรองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม และเป็นผู้บังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม คุมหน่วยกำลัง “คอมมานโด” ติดอาร์ม
ขึ้นรองผู้บังคับการปราบปรามก่อนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 วางฐานรากหน่วยกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษในเวลาต่อมา จากนั้นเลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
โปรไฟล์ของทั้งหมดถือว่าไม่ธรรมดา ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้เดินทางมาเกือบถึงปลายยอดสำนัก
ที่เหลืออยู่ที่บุญวาสนาของแต่ละบุคคล