ทลายโกดังของเก๊มีชาวเวียดนามเป็นนายทุนใหญ่

 

 

“เสี่ยเวียด” ชาวเหงียน ต้นตอเหล่าสินค้าเก๊ พาวเวอร์แบงก์ เครื่องมือช่าง นาฬิกาข้อมือ ยแผนประทุษกรรมจะเนียนปลอมเป็นเพจชื่อดัง เมื่อมีผู้สั่งซื้อไม่เพียงส่ง “ของเก๊” ไม่มีคุณภาพให้ แต่ยัง “ดูดข้อมูลเหยื่อ” เก็บไว้ และเมื่อสินค้าถูกตีกลับแล้วยังนำมารียูส “ส่งดะ” กลับไปตามบ้านเรือนประชาชน แฝงเล่ห์กล “เก็บเงินปลายทาง” ทำให้เหยื่อบางรายหลงเชื่อจ่ายเงินแบบ งง-งง ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อ ล่าสุดถูกรวบคาโกดังเก็บของ พบพัสดุตีกลับเกลื่อนบ้าน เจ้าหน้าที่งง ไก่ตาแตกนาฬิกายี่ห้อ “คาซิโน” เจ้าตัวอ้าง “ไม่ได้ส่งดะ แค่ส่งซ้ำ” สร้างความเดือดร้อนไปทั่วสำหรับคนนิยมสั่งซื้อสินค้าทางโซเชียล

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ พล.ต.อ. รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.ท.ธิติ สงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล มอบหมาย พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล  พ.ต.อ.พัชรดนัย การินทร์ ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล พ.ต.อ.ธนากร อ่อนทองคำ ผู้กำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ควบคุมการปฏิบัติ

ส่งกำลังประกอบด้วย พ.ต.ต.กิติศักดิ์ ออกรัมย์ สารวัตร(สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลพญาไท พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สารวัตร (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 ร.ต.อ.ศิวัช ยังอุ่น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.วรภัทร แสงเทียนประไพ รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล  ร.ต.อ. มนตรี เฉลิมวัฒน์ รองสารวัตรกองบังคับการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติด ร.ต.อ. จิรศักดิ์ ว่องไว รองสารวัตรกองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3  ร.ต.อ.ชัยวิทย์  หาญญ์สุวรรณนทีวิทย์  รองสารวัตรกลุ่มงานวิจัยและประเมินผล 2 กองวิจัย ร.ต.ท.อนันตชัย สัจจพงษ์ รองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ 2 กองบังคับการอำนวยการ สำนักงานเทคโนโลยีสนเทศและการสื่อสาร ร.ต.ท. เดชาธร ชมศิริ รองสารวัตร(สอบสวน)สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย  ส.ต.ท.จิรวัฒน์ ศรีมั่นมีชัย ผู้บังคับหมู่กองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 3 และเหล่านักเรียนอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญา รุ่นที่ 110 ร่วมกันสืบสวนติดตาม

กระทั่งจับกุมตัวนายเหงียน วาน เวียด อายุ 40 ปี สัญชาติเวียดนาม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2246/2566 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนและร่วมกันฟอกเงิน”ยึดของกลาง กล่องพัสดุที่ถูกตีกลับจากลูกค้า จำนวน 468 กล่อง สินค้าอีกหลายรายการอาทิเช่น พาวเวอร์แบงก์ นาฬิกาข้อมือ  เครื่องดูดฝุ่น เครื่องบดไฟฟ้า   มีด จำนวนประมาณ 5,000 ชิ้น

สืบเนื่องจากพฤติกรรม “ส่งดะ” ธุรกิจขายออนไลน์สายดาร์กที่กำลังแพร่ระบาดหนังและสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชนในปัจจุบัน “การส่งดะ” ที่กล่าวถึงคือ การส่งสินค้าไปตามบ้านเรือนของประชาชนแล้วให้เหล่าบริษัทขนส่งเอกชน “เก็บเงินปลายทาง” ทั้งที่ประชาชนคนนั้นไม่ได้มีการสั่งซื้อของแต่อย่างใด อาศัย “ลูกมึน” ผลลัพธ์ คือประชาชนจะจ่ายเงินซื้อสินค้าไปแบบมึนๆ เป็นเล่ห์กลรูปแบบใหม่ที่วิวัฒนาการเกิดขึ้นมาพร้อมๆกับความเติบโตของเหล่าธุรกิจโลจิสติกส์และการขายออนไลน์  ชาวเหงียนหัวใสต่างหลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจประเภทนี้จำนวนมากในปัจจุบัน  พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล นำกำลังตามรอยขยายผลให้ถึงเหล่า “ต้นตอ”  ส่งชุดปฏิบัติการที่ 5 ศูนย์อำนวยการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สืบสวนจากเส้นทางของเหล่าพัสดุจนพบว่าต้นตอมาจาก “โกดังชาวเหงียน” รายหนึ่งย่านลาดกระบัง สร้างเพจเฟสบุ๊กหลายเพจขายพาวเวอร์แบงก์ เครื่องมือช่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า นาฬิกาข้อมือเก๊ และของต่างๆอีกมากมาย

ด่านแรกเมื่อผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าแล้ว นอกจากจะได้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพแล้ว คนร้ายยังใช้การสั่งซื้อของลูกค้าเป็นช่องทางการเก็บข้อมูล ชื่อ-ที่อยู่ เพื่อจะใช้ส่งดะต่อไปในภายหน้า การสืบสวนสืบทราบว่าเจ้าของโกดังเป็น เถ้าแก่ ชาวเหงียน ชื่อว่า “เสี่ยเวียด” หรือนายเหงียน วาน เวียด สัญชาติเวียดนาม มีเงินหมุนเวียนในบัญชีเดือนละไม่ต่ำกว่า 6 หลัก ล้วนได้มาจากการทำธุรกิจนี้  ต่อมาได้ พ.ต.ต.กิติศักดิ์ ออกรัมย์ กับพวกรวบรวมพยานหลักฐานกระทั่งได้ออกหมายจับขณะวางแผนจะหลบหนีออกนอกประเทศได้ที่บ้านเลขที่ 157/70 หมู่บ้านพูนสินธานี 1 ซอย 1 ถนนพูนสิน ซอยเคหะร่มเกล้า 64  แขวงคลองสองต้นนุ่น ลาดกระบัง กรุงเทพมหานครที่เป็น “โกดัง” เก็บสินค้าเพื่อรอ “ส่งดะ” ไปให้กับเหยื่อ ตรวจสอบสินค้าภายในบ้านพบเป็น “ของเก๊” ทั้งหมด และพบพัสดุที่ถูกตีกลับมาจากการส่งดะเป็นจำนวนมาก  เจ้าหน้าที่ตรวจยึดไว้จำนวนกว่า 5,000 ชิ้น รวมมูลประมาณ 600,000 บาท (ต้นทุน) สอบสวนให้การปฏิเสธ อ้างมีนายทุนประเทศเวียดนามให้ทำธุรกิจดังกล่าวในไทย ตั้งแต่กลางปี 2565

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลกล่าวว่า ผู้ทำธุรกิจประเภทนี้จะเริ่มจากจากการขายสินค้าทางออนไลน์ โดยเป็นสินค้าประเภทคุณภาพต่ำ ไม่ตรงปก ไม่มีใบรับรององค์การอาหารและยา หรือเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม และเมื่อขายไม่ออกหรือถูกตีกลับมาแล้วจะนำ “ส่งดะ” ไปให้กับเหล่าลูกค้าเดิมที่อยู่ในฐานข้อมูลลูกค้าเก่าอีกครั้ง ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อแต่อย่างใด สร้างความเดือดประชาชนเป็นวงกว้าง มีประชาชนจะแจ้งความไว้ตามโรงพักและแจ้งความผ่านระบบออนไลน์เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยความเสียหายเป็นจำนวนเล็กน้อย ผู้เสียหายบางรายเห็นว่าเป็นเงินไม่มากจะไม่มาแจ้งความร้องทุกข์ อันทำให้อาชญากรรมประเภทนี้ไม่อาจหมดไปจากสังคมไทย วันนี้เรากำลังไล่กำจัดต้นตอของปัญหาเหล่านี้ แม้จะไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ แต่หากเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เราทำทันที ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ธิติ สงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

RELATED ARTICLES