นั่งเก้าอี้ควบคุมภารกิจสำคัญระดับชาตินานเกือบ 2 ปี
พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด นำทัพกวาดล้างเครือข่ายขบวนการยานรกทะลุเกินเป้า
แม้มหันตภัยร้ายแรงยังไม่สูญพันธุ์จากเมืองไทย แต่เจ้าตัวได้ระดมพลังมันสมองเพื่อกำจัดปัญหาให้เบาบางลง
ส่วนหนึ่ง คือ เสริมภูมิคุ้มกันเด็กและเยาวชนในยุคยาบ้าเกลื่อนเมืองราคาถูกราวกับ “ลูกอม” ขนมขบเคี้ยว
เป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ลำพังการแก้ปัญหาในเชิงรุกด้วยการเร่งปราบปรามเพียงด้านเดียวคงไม่สัมฤทธิ์ผล หากไม่เริ่มต้นด้วยการให้ความรู้เป็นเกราะคุ้มกันสกัดกั้น “นักเสพหน้าใหม่” ที่กำลังอยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง
ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดถึงเห็นความสำคัญของ “ครูแดร์” บุคลากรตำรวจที่มักถูกมองข้ามในสายตาผู้คนจากบทบาทที่ต้องสวมหมวกอีกใบในการเป็นครูและต้องผ่านการฝึกอบรมอย่างเข้มข้นจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด
ในฐานะแม่ทัพหน่วยงานป้องปรามยาเสพติด พล.ต.ท.สราวุธ สงวนโภคัย ให้คำนิยามครูแดร์ของตัวเองว่า อย่างแรกเราต้องทราบในบริบทหน้าที่ของคำว่าครู คือ การให้ความรู้นักเรียน เช่นเดียวกับหน้าที่ของตำรวจ คือ การดูแลความปลอดภัยเข้าถึงประชาชน “แต้ครูแดร์ในรูปแบบของผม ไม่ใช่แค่การให้ความรู้เด็กนักเรียนในห้องเรียน แต่ต้องมีการลงพื้นที่เข้าถึงครอบครัวของนักเรียนด้วย เป็นการสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งตั้งแต่ภายในครอบครัว”
ย้อนความเป็นของโครงการ “ครูแดร์” ที่มาจาก อักษรย่อคำว่า D. A. R. E. ( DRUG ABUSE RESISTANCE EDUCAION) เป็นโครงการด้านการป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดในเด็กนักเรียนของประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่หลายประเทศทั่วโลกจะนำมาใช้
ในประเทศไทยโครงการ “ครูแดร์” เริ่มขึ้นเมื่อปี 2542 ปัจจุบันมีด้วยกันทั้งหมดประมาณ 8,000 คน แต่ละปีจะมีเกษียณอายุราชการไปจำนวนหลายคน จำเป็นต้องพยายามเฟ้นหา “ครูแดร์ใหม่” ขึ้นมาเพื่อทดแทน
ผู้ที่จะมาเป็นครูแดร์จะต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้ด้วยใจ เพราะการจะนำตำรวจมาเป็นครูไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีศรัทธาและรักในการสอน ดังคำที่ว่า “ทำด้วยศรัทธา อาสาด้วยใจ” ที่สำคัญต้องรักในการสอนสามารถเข้ากับเด็กนักเรียนหรือผู้คนในชุมชนได้ และเป็นที่ไว้ใจของชาวบ้าน
“ต้องยอมรับว่าเด็กวัยรุ่นมักจะเชื่อฟังเพื่อน หรือครูมากกว่าพ่อแม่ ฉะนั้นการทำให้นักเรียนไว้ใจ กล้าที่จะปรึกษาปัญหากับเรา จะยิ่งเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็กเหล่านี้” พล.ต.ท.สรายุทธว่า
แม่ทัพหน่วยปราบยานรกยกตัวอย่าง ห้องหนึ่งมีนักเรียนประมาณ 50 คน หากเราสามารถเจาะเข้าถึงครอบครัวของนักเรียนได้ หมายถึงเราจะมีเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 50 ครอบครัว คล้ายกับแนวทางของโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติดที่มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างความเข้มแข้งในชุมชนให้ปลอดยาเสพติด เพียงแต่บริบทของการขับเคลื่อนของโครงการครูแดร์จะมีมิติที่แตกต่างออกไป
“ชุมชนยั่งยืน เป็นการให้โอกาสผู้เสพด้วยการพามาบำบัดให้กลับตัวกลับใจคืนสู่สังคมไม่หวนกลับเข้าไปในวังวนเดิมอีก แต่ในกรณีของครูแดร์จะเป็นการปลูกฝังเด็กนักเรียนกลุ่มเสี่ยง กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นได้ รู้ถึงพิษภัยและโทษ เหมือนกับเป็นวัคซีนเสริมเกราะคุ้มกันให้พวกเขาห่างไกลจากยาเสพติด”
พล.ต.ท.สรายุทธย้ำว่า ปัจจุบันมีครูตำรวจแดร์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้นหลายคน และที่น่าภูมิใจในจำนวนนี้มีครูแดร์จำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจและสมัครเข้ามาเป็น เพราะประทับใจและชื่นชอบในสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็กนักเรียน พอโตขึ้นได้เป็นตำรวจอยากอาสาเข้ามาสานต่อหน้างานที่วาดฝันไว้
ทำให้ได้รู้ว่า “ครูแดร์” เป็นบุคลากรตำรวจที่มีความสำคัญต่อสังคมที่ยอมเสียสละทำงานหนักเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในขณะสวมหมวกเป็นตำรวจต้องรับผิดชอบหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชนตามหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ขณะเดียวกันต้องรับบทบาทเป็นครูผู้คอยให้ความรู้กับเด็กนักเรียน
พวกเขาถูกยกเป็น “วัคซีนโดสสำคัญ” ในการสร้างภูมิคุ้มกันเด็กนักเรียนให้ห่างไกลจากยาเสพติด
ในสถานการณ์วิกฤติยาบ้าเกลื่อนเมือง