เด็กหายคนที่หัวใจสลายคือพ่อแม่

“วันเด็ก” ความสุขของเหล่าหนูน้อยในอ้อมอกพ่อแม่ แต่หากคล้อยหลังเพียงแค่นิดเดียวอาจเปลี่ยนเป็นความทุกข์ไปตลอดชีวิต

ปัญหาเรื่อง “เด็กหาย” ทำหลายครอบครัวแทบหัวใจสลาย

พวกเขาตั้งความหวังว่า สักวันหนูน้อยจะหวนกลับคืนสู้อ้อมกอดอีกครั้ง แม้เวลาผ่านไปนานแค่ไหน หัวอกคนเป็นพ่อแม่ไม่มีทางลืมลูกตัวน้อยที่พลัดหลงหายตัวไป

วันก่อน มูลนิธิกระจกเงาร่วมกับสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ และกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ แถลงถึงสถานการณ์เด็กหายประจำปี 2560  ณ ห้องประชุมชั้น 3  อาคารสัจธรรม สถาบันนิติเวชวิทยา

มี นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า สถิติปี 2560 มูลนิธิรับแจ้งเด็กหาย 402 คน พบปัญหาที่เด็กหนีออกจากบ้านเป็นความสมัครใจของเด็กเอง อายุเฉลี่ย 13 – 15 ปี เป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กชายถึง 3 เท่า

สาเหตุมาจากความรุนแรงในครอบครัว และถูกชักชวนไปอยู่กับแฟน รวมทั้งถูกโน้มน้าวจากคนรู้จักในโลกออนไลน์

สรุปภาพรวม 3 ปีที่ผ่านมา สถิติเด็กหายลดลง แต่ยังเป็นปัญหารุนแรงเนื่องจากมีเด็กหนีออกจากบ้านเกินกว่า 400 คนทุกปี

ถึงกระนั้นก็ตาม มูลนิธิกระจกเงาพบว่า ในรอบ 4 ปี มีเด็กที่แจ้งหายแล้วถูกฆาตกรรมมากถึง 12 คน มี 3 รายไม่สามารถจับผู้กระทำได้ คือ พื้นที่ สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ด.ญ.ชาวกัมพูชา อายุ 7 ขวบ ถูกฆาตกรรม คดีเด็กอายุ 2 ขวบ พบเป็นโครงกระดูก ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และเด็กอายุ 6 ขวบ ถูกฆาตกรรมจังหวัดภูเก็ต

พ.ต.อ.วาที อัศวุตมางกูร หัวหน้ากลุ่มงานตรวจเลือดชีวเคมี สถาบันนิติเวชวิทยา บอกว่า มีเด็กที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ต่างๆ ทั่วประเทศ 1,292 ราย พบว่า การเข้าถึงข้อมูลเพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูลของเด็กเหล่านี้ทำได้ยาก มีเด็กถึง 10 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 100 ราย ที่ไม่ทราบประวัติพ่อแม่ ผู้ปกครองของเด็ก เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข

ส่วน พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ ผู้กำกับการฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ถือเป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่ใช้กระบวนการสร้างภาพสเกตช์เด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน (Age Progression) ตามหลักสากล

“เด็กหายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ยังตามหาไม่พบจะสเกตช์ภาพเพิ่มอายุทุก 2 ปี ส่วนเด็กหายที่มีอายุเกิน 18 ปี จะสเกตช์ภาพทุก 5 ปี ช่วงเวลาเหล่านั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ลักษณะใบหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลง” พ.ต.อ.ชัยวัฒน์อธิบายหลักการ

ขั้นตอนการทำงาน เจ้าตัวจะเป็นจิตอาสาประสานงานกับมูลนิธิกระจกเงาร่วมกันลงพื้นที่ไปพบกับครอบครัวของเด็กหายเพื่อเก็บข้อมูลภาพถ่ายลักษณะใบหน้าของเด็กที่ถ่ายไว้ครั้งสุดท้าย พร้อมรวบรวมภาพถ่ายบุคคลในครอบครัว คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ภาพถ่ายพี่น้องในช่วงเวลาที่มีอายุ วัยเดียวกัน ก่อนวิเคราะห์อย่างละเอียดเพื่อให้ได้ภาพสเกตซ์มีความใกล้เคียงกับเด็กหายในช่วงอายุที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด

ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ชัยวัฒน์บอกว่า กองทะเบียนประวัติอาชญากรได้ร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงาทำภาพ   สเกตช์ดังกล่าวมาแล้ว  7 ภาพ รายล่าสุด คือ น้องดา-เด็กหญิงพัทวรรณ อินทร์สุข อายุ 4 ปีหายตัวไปจากบ้านที่อำเภอเมืองสระแก้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ปัจจุบันน้องดาอายุ 7 ขวบจึงได้มีการทำภาพจำลองเพราะใบหน้าของน้องดาจะเปลี่ยนไป

เป็นความหวังที่เหลืออยู่น้อยนิดของพ่อแม่เด็ก

ผู้กำกับการฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร มือสเกตช์ภาพจิตอาสายังมีข้อแนะนำของตำรวจ​ในการป้องกันเด็กหายด้วยว่า

  1. ผู้ปกครองต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ดูแลเด็ก อย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดปัญหาในครอบครัว
  2. รับรู้ข้อมูลเด็กอย่างต่อเนื่อง
  3. สร้างเครือข่ายผู้ปกครองโดยสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้เร็วที่สุด
  4. อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงหรืออยู่ตามลำพัง
  5. ให้คำแนะนำเด็กให้รู้ถึงวิธีการล่อล่วงของคนร้ายฝึกให้เด็กได้มีทักษะการสังเกตจดจำเบื้องต้น

วันเด็กปีนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนถึงอยากให้เด็กทั่วประเทศมีความสุขอยู่ในไออุ่นของพ่อแม่และครอบครัว 

ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุร้ายพาหัวใจสลายในวันเด็ก หรือวันไหน ๆ ก็ตามอย่างแน่นอน

RELATED ARTICLES