การตายของ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ชนวนสำคัญกดดันให้ พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง แสดงความรับผิดชอบด้วยการ “แลกชีวิต” เซ่นดวงวิญญาณนายตำรวจรุ่นน้อง
กำลังกลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายมุมมองจากสังคมโซเชียลที่ทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมจริงหรือ
ทันทีที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งโอนสำนวนการสอบสวนให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางรับหน้าที่ไปดำเนินการแทนกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 กับคณะทำงานเฉพาะกิจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เสียงสะท้อนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเจ้าสำนักปทุมวันต้องออกมาดับกระแสปัดลิดรอนอำนาจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่เล่นบทพระเอก “ซีรีส์สีเทา” ออกจอรายวันมาตลอดหลังเกิดเหตุ “ปาร์ตี้เลือด” นายตำรวจตงฉิน
สื่อบางส่วนเทน้ำหนักยกให้ “บิ๊กโจ๊ก” เป็นตัวนำของเรื่องที่กล้าปัดกวาดบ้านตัวเอง
ไม่สบอารมณ์ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขอเวลาทบทวนพิจาณาเอาผิดข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับมาตรา 157 เพราะมองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ต้องแยก “ปลาเน่า” ออกจากน้ำที่ใสสะอาดไม่เลือกเหมารวมเทกระจาด “ยกเข่ง”
ท่ามกลางอาการเร้าร้อนไม่ทันใจผู้ชม
บ่งบอกสถานการณ์ของ “สื่อ” ในปัจจุบัน ทั้งพวกของแท้และของเทียมพยายาม “ชี้นำ” ข่าว โชว์เรื่องราวความสามารถเจาะลึกเหนือกว่าตำรวจผู้ปฏิบัติ
มโนโซเชียลวิเคราะห์ฉากเป็นยิ่งกว่า “ละครน้ำเน่า” ภาคค่ำ
กลายเป็นความน่ากลัวของผู้เสพติดข้อมูลผิดพลาดไม่ได้กลั่นกรองจากผลพวงของ “โฆษณาชวนเชื่อ”
บางส่วนทำเกินหน้าที่รับผิดชอบ
พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รองผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 6 อดีตนักสืบและอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจถึงฝากข้อคิดหลังได้ดูข่าวที่มีการปิดล้อมตรวจค้นหลายจุดในจังหวัดนครปฐมในคดีที่เกี่ยวพันกับการฆาตกรรมสารวัตรทางหลวง
มองว่า ในระหว่างที่มีการเข้าไปตรวจค้น มี “สื่อมวลชน” ที่ร่วมเข้าไปร่วมในการตรวจค้นด้วย เข้าไปถ่ายภาพ กระทั่งมีแฟนคลับฝากถาม พ.ต.อ.อุเทนให้เข้ามาช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น
นายตำรวจหนุ่มมากประสบการณ์ความรู้ด้านกฎหมายถึงเตือนไปถึงบรรดานักข่าวว่า การเข้าไปตรวจค้นสถานที่รโหฐาน ของคนใดจะมี 2 แบบ คือ การค้นแบบมีหมาย หรือไม่มีหมาย ไม่ว่าจะเป็นการค้นแบบมีหมาย หรือไม่มีหมาย
คนที่จะมีอำนาจเข้าไปในที่นั้นต้องเป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น
“กรณีที่ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน มีกรณีเดียว คือเจ้าของทรัพย์ กรณีค้นสิ่งของหาย เจ้าพนักงานสามารถพาเจ้าของทรัพย์ เข้าไปร่วมตรวจค้นได้”
มีข้อยกเว้นกรณีเดียวตามกฎหมาย
“แต่สำหรับผู้สื่อข่าว นักข่าวต่างๆ นานา พึงระมัดระวัง ผมบอกด้วยความห่วงใยว่าการที่เราเข้าไปร่วมตรวจค้นกับตำรวจ แล้วบอกว่า ตำรวจให้เข้าไป ก็ไม่ได้นะ เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมาย ทีมีชื่ออยู่ในหมายค้น ไม่มีอำนาจที่จะสั่ง หรืออนุญาตให้บุคคลที่ไม่ใช่เจ้าพนักงานเข้าไปร่วมตรวจค้น”
พ.ต.อ.อุเทนว่า เว้นแต่การตรวจค้นนั้นจะมีการตรวจค้นหญิง แล้วไม่มีเจ้าพนักงานเป็นหญิง อาจจะอนุโลม เรียกราษฎรที่เป็นหญิงเข้าไปร่วมตรวจค้นได้
รองผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 6 ย้ำว่า เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามหมาย ไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้สื่อข่าว หรือบุคคลใดๆ เข้าไปดู เข้าไปมุงดู หรือเข้าไปเก็บภาพ เข้าไปบันทึกภาพ อย่างนี้ไม่ได้ จะต้องเป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น
บุคคลที่เข้าไปอาจมีความสุ่มเสี่ยงจะผิดในข้อหาบุกรุกเคหะสถานของบุคคลอื่น
ฝากย้ำเตือนหลักกฎหมายไปถึงผู้สื่อข่าว หรือเป็นประชาชนทั่วไปด้วยความห่วงใย
อย่าว่องไวกระหายข่าวจนเกินพอดี