ที่กองบังคับการปราบปราม พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รองผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รองผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น รองผู้บังคับการปราบปราม พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.ปทักข์ ขวัญนา ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม และพ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม ร่วมกันแถลงความคืบหน้าคดี นายธนัญชัย หรือหน่อง หมั่นมาก อายุ 45 ปี ลูกน้องคนสนิท นายประวีณ หรือกำนันนก จันทร์คล้าย ใช้อาวุธปืนยิง พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง เสียชีวิต พ.ต.ท.วศิน พันปี รองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้รับบาดเจ็บ
พล.ต.ท.จิรภพยังแถลงถึงกรณีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ระบุว่า ที่ผ่านมามีการประชุมหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายครั้ง เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ รวมถึงข้อกฎหมายอย่างละเอียด ควบคู่กับพยานหลักฐาน กล้องวงจรปิด ข้อมูลการสอบปากคำพยานในที่เกิดเหตุ ทำให้ทราบแน่ขัดว่า ในวันเกิดเหตุมีตำรวจอยู่ร่วมในงานเลี้ยงทั้งหมด 29 คน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ คนตาย คนเจ็บ กลุ่มสองเป็นตำรวจที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และซุกซ่อนทำลายพยานหลักฐาน 6 นายที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้า ส่วนกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มตำรวจที่ช่วยเหลือคนตายและคนเจ็บ 6 คน และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่จะต้องถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จำนวน 15 นาย ภายในสัปดาห์นี้จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอย่างเป็นทางการ ส่วนข้อหาให้การเท็จยังอยู่ระหว่างการสอบปากคำเพิ่มเติม
“หลังจากที่มีการหารือเกี่ยวกับข้อกฎหมายมาตรา 157 จนตกผลึกแน่ชัดแล้วว่า หากคุณเป็นตำรวจเมื่อเกิดเหตุขึ้นคุณจะต้องทำหน้าที่จับกุมตัวคนร้าย ยกเว้นว่าจะมีเหตุจำเป็น เช่น ไปช่วยคนเจ็บ แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า มีตำรวจแค่ 6 นายที่เข้าให้การช่วยเหลือผู้เสียชีวิตกับคนเจ็บ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เหลืออีก 15 นายนี้จะต้องถูกดำเนินคดี” พล.ต.ท.จิรภพ อธิบายรายละเอียดและยืนยันว่า พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ที่ยิงตัวตายแสดงความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น มีพยานหลักฐาน รวมถึงคำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่า ร่วมช่วยเหลือผู้เสียชีวิตกับผู้บาดเจ็บจริง หลังเกิดเรื่อง พ.ต.อ.วชิราได้วิ่งไปที่รถบีเอ็มดับเบิลยูของผู้ตาย เพื่อเข้าให้ช่วยเหลือก่อนจะวิ่งลงจากรถไปหยิบโทรศัพท์ที่โต๊ะ ระหว่างกลับมาที่รถเจอผู้บาดเจ็บอีกคนกำลังหมดสติ ช่วยนำร่างขึ้นรถกระบะนิสสันนาวาร่าแล้วพาไปที่โรงพยาบาล ดังนั้น พ.ต.อ.วชิราจัดอยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 คนที่ช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์บ้านกำนัน
พล.ต.ท.จิรภพกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องต่อมาเป็นกรณีกล้องวงจรปิด ามีด้วยกันทั้งหมด 15 ตัว มีตัวที่เสีย 2 ตัว ใช้การได้ 13 ตัว และใน 13 ตัว มีตัว มีไฟล์ 12 ตัว ไม่มีไฟล์บันทึก 1 ตัว ใน 12 ตัวที่มีไฟล์ สามารถดูได้ปกติ 12 ตัว และมี 1 ตัว ที่บันทึกถึง 10.16 น. 1 ตัว เป็นกล้องวงจรปิดเบอ ร์ 6 ที่สอบสวนกลางยังพยายามกู้ข้อมูลในกล้องวงจรปิดจุดสำคัญที่บันทึกภาพบริเวณลานจัดงาน แต่ถูกดึงปลั๊กหรือถอดสายแลนด์ออกไปตั้งแต่เวลาประมาณ 10.16 น. ก่อนเริ่มงาน หลังจากส่งให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบ แต่ไม่สามารถกู้ภาพได้แล้ จะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญของต่างประเทศช่วยตรวจสอบต่อไป คาดว่าหากสามารถกู้ข้อมูลมาได้จะสามารถเห็นภาพสำคัญช่วงเกิดเหตุ ภาษากายกำนันนกขณะสั่งการ ยืนยันว่า ถึงไม่ได้ข้อมูลนี้มาก็สามารถเอาผิดกำนันนกได้แน่นอน เพื่อมาตรวจสอบว่าตรงกับข้อมูลที่ได้มาจากทางชุดสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจภูธรภาค 7 หรือไม่
ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางกล่าวอีกว่า ส่วนการตรวจสอบการฮั้วประมูลของบริษัทเครือข่ายกำนันนก จากการตรวจสอบได้พบข้อพิรุธหลายประเด็น บริษัทเครือข่ายกำนันนกเปิดมาตั้งแต่ปี 2540 ร่วมประมูล 1,527 โครงการ ชนะประมูล 1,314 โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่ในจังหวัดนครปฐม อีกทั้งบริษัทของกำนันนกยังมีสถิติชนะประมูลโครงการเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่เปลี่ยนวิธีการประมูลเป็นรูปแบบที่เป็น e-bidding ในปี 2558 ชนะในราคาที่ต่างกันเพียงหลักพัน หรือหลักหมื่นบาท บริษัทที่ร่วมประมูลก็ยังเสนอราคาใกล้เคียงกัน ตำรวจสอบสวนกลางจะประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบในประเด็นนี้ต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าว ถามถึงเรื่องการโอนคดีกำนันนกมาให้ตำรวจสอบสวนกลางทำต่อ เนื่องจากพบความผิดปกติ อะไรในการทำคดีหรือไม่ พล.ต.ท.จิรภพระบุว่า เนื่องจากคดีนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล สอบสวนกลางดำเนินการปราบปรามในส่วนนี้อยู่แล้ว รวมถึงแนวทางการทำคดีจากชุดตำรวจภูธรภาค 7 ก็มีแนวทางการสอบสวนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สามารถนำมาดำเนินการต่อได้ และสามารถทำงานร่วมกับชุดทำงานได้ตามปกติ “เรื่องที่ตำรวจไปงานเลี้ยงหรือใกล้ชิดนักการเมืองท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพล ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะเราเป็นตำรวจไม่ควรไปใกล้ชิดกับคนทำผิด หากจะใกล้ควรมีกรอบ ไม่ควรก้มหัวให้ผู้มีอิทธิพล แต่เพราะวัฒนธรรมไทยมีมานาน ต้องค่อยๆกวาดล้างกันไป อนาคตจะโฟกัสเรื่องนี้มากขึ้น รวมถึงตำรวจที่ไปอยู่ในเครือข่ายผู้มีอิทธิพล”
เมื่อถูกถามถึงกรณีการเข้าตรวจค้นบ้านพักของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.จิรภพกล่าวในส่วนนี้ว่า ตำรวจสอบสวนกลางไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เป็นการดำเนินการของหน่วยงานอื่น ส่วนกรณีที่มีกำลังเจ้าหน้าที่คอมมานโด ร่วมปฏิบัติการด้วยนั้น ขอชี้แจงในส่วนนี้ว่า คอมมานโดเป็นหน่วยงานในสังกัดของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางก็จริง แต่หน้างานส่วนใหญ่ขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นการสั่งการโดยตรงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เกี่ยวกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง