ใบสั่งเจ้าปัญหา

 

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมเนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้รถใช้ถนน

เกี่ยวกับ “ใบสั่งจราจร” ที่ถูกแจกให้แก่ผู้กระทำความผิดกฎหมายจราจร  

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบ ใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พุทธศักราช 2563 และประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับ ตามที่เปรียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2522 และพุทธศักราช 2563

ให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกประกาศ หรือนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2563

เนื่องจากศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ปรากฏว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปยังฝ่ายปฏิบัติ

ว่าด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ระหว่างดำเนินการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พุทธศักราช 2542 มาตรา 70 วรรค 2

คำพิพากษาศาลปกครองกลางยังไม่มีผลตามคำบังคับจนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกคำประกาศิตสวนคำพิพากษาศาลปกครอง

มองในกรณีที่มีการอุทธรณ์ให้รอการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

ดังนั้น การปฏิบัติงานจราจรในการ “ออกใบสั่ง” การใช้เกณฑ์จำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ และการใช้งานระบบ PTM ให้ทุกหน่วยถือ “ปฏิบัติตามเดิม”

จนกว่าจะมีกฎ ระเบียบ คำสั่ง กำหนดเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังมีหนังสือด่วนที่สุดอีก 1 ฉบับ แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานทั่วประเทศ

กำหนดแนวทางปฏิบัติงานจราจรในการ “ออกใบสั่ง” การใช้หลักเกณฑ์ จำนวนเงินค่าปรับ ตามที่เปรียบเทียบ และใช้งานระบบ PTM (Police Ticket Management) เพื่อให้การปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเกิดความชัดเจน

ในกรณีที่ได้มีการ “ออกใบสั่ง” เจ้าพนักงานจราจรไปแล้ว หากผู้รับใบสั่ง “ปฏิเสธ” หรือมีข้อโต้แย้งใดๆ ให้พนักงานสอบสวนรับฟังข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจนปราศจากข้อสงสัย แล้วใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบในการ  “กำหนดค่าปรับ” ให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

กรณีที่พบการกระทำความผิด ก่อนการออกใบสั่งทุกครั้ง ให้เจ้าพนักงานจราจรใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และให้สิทธิในการโต้แย้งได้ตามกฎหมาย ระมัดระวังมิให้มีการใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย และจะต้องไม่กระทบสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ให้ผู้บังคับบัญชาในสายงานจราจร ชี้แจงทำความเข้าใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติโดยใกล้ชิด

 น่าคิดระหว่างผู้ปฏิบัติการกับผู้กระทำความผิด

ท้ายสุดจะลงเอยแบบไหนกับ “ใบสั่ง” เจ้าปัญหา

RELATED ARTICLES