บรรยากาศถกบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายระดับ “รองผู้บัญชาการ-ผู้บังคับการ” ไม่ง่ายเหมือนพิจารณา “โผนายพลใหญ่” ก่อนหน้า
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางมานั่งเป็นหัวโต๊ะร่วมหารือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษต้องออกจากห้องประชุมเพราะติดภารกิจ
ส่งไม้ให้ “เจ้าสำนักปทุมวัน” ควบคุมคัดท้ายบัญชีที่ผ่านบอร์ดกลั่นกรองก่อนหน้าเพียงวันเดียว
ท้ายที่สุดไม่ลงตัว เมื่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ไม่ปล่อยผ่านไปง่าย ๆ เนื่องจากมีพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติปี 2565 เป็น “กฎเหล็ก” ค้ำคออยู่
จำเป็นต้องใช้เวลาการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียนกันตามมาปาเข้าไปทั้งหมดเกือบ 5 ชั่วโมง
หน่วยงานที่ถูกถามเหตุผลมากสุดน่าจะเป็น กองบัญชาการตำรวจนครบาล เนื่องจากมีการเสนอสับเปลี่ยนเก้าอี้กันมากเป็นประวัติศาสตร์กองทัพตำรวจเมืองหลวง
ระดับรองผู้บัญชาการเดิมทีว่าง 4 ตำแหน่งจากการที่ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ย้ายไปขึ้นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.นิตินันท์ เพชรบรม ขึ้นจเรตำรวจ พล.ต.ต.สยาม บุญสม เป็นจเรตำรวจ และพล.ต.ท.สมนึก น้อยคง ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เกษียณอายุราชการ
ทว่าเที่ยวนี้ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีการสมัครใจขอย้ายออกอีก 6 นาย
ทำเอา “ซอยนายพล” เกือบล้าง
พล.ต.ต.สำเริง สวนทอง ย้ายเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ เป็น รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ โยกเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ย้ายเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจ
เหลือเพียง พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล “ลูกหม้อหน่วย” มือสืบสวนที่ยึดเก้าอี้อยู่ที่เดิม กับ พล.ต.ต.สมควร พึ่งทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นายตำรวจมือสอบสวนรุ่นพี่
เป็นเหตุผลความจำเป็นต้องสลับหาคนอื่นมาเสียบเก้าอี้แทน
ประกอบด้วย พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8
มี พล.ต.ต.พงศ์อานันต์ คล้ายคลึง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 พล.ต.ต.พัลลภ แอร่มหล้า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก พล.ต.ต.ชูสวัสดิ์ จันทร์โรจนกิจ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3 พล.ต.ต.พลฑิต ไชยรส รองจเรตำรวจ สบ 7 พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒนา ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
ขณะที่ระดับ “ผู้บังคับการ” ปรับเปลี่ยนแทบยกแผง
พ.ต.อ.เกียรติคุณ สนธิเณร รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 พล.ต.ต.ธนันท์ธร รัฐนสิทธิ์ภาคย์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ขยับนั่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 พ.ต.อ.วิทวัฒน์ ชินคำ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 พ.ต.อ.สามารถ พรหมชาติ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 พ.ต.อ.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ขึ้นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 พ.ต.อ.ประสงค์ อานมณี รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ขึ้นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9
พ.ต.อ.ภัทรภณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 เป็นผู้บังคับการอำนวยการตำรวจนครบาล พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ บัณฑิตย์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 เป็นผู้บังคับการตำรวจจราจร พ.ต.อ.วรวิทย์ ญาณจินดา รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 เป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ พ.ต.อ.ชัยฤทธิ์ โพธิ์อ๊ะ รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ขึ้นผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน
เสมือนถ่ายเลือดใหม่ครั้งใหญ่ของกองทัพตำรวจเมืองหลวง