ท้ายที่สุดแพทย์ไม่อาจยื้อชีวิต “ชลอ เกิดเทศ” ตำนานมือปราบพระกาฬคนดังเอาไว้ได้
ปิดฉากอดีต พล.ต.ท.ผู้มากเรื่องราวจนเป็นที่กล่าวขานตลอดชีวิตที่เคยอยู่จุดสูงสุดก่อนร่วงดำดิ่งในด้านมืด “หมดอิสรภาพ” ไปอยู่หลังกำแพงเรือนจำ
กลายเป็น “อุทาหรณ์” สอนคนรุ่นหลังในการทำงานแล้วก้าวพลาดพลั้งกระทั่งสูญสิ้นทั้ง “ยศและตำแหน่ง”
ทว่าเจ้าตัวยังอยู่ในความทรงจำของลูกน้องทุกคนเสมอ
ถือเป็น “ต้นแบบ” ตำรวจมือปราบไม่เคยก้มหัวให้กับผู้มีอิทธิพล พิชิตคดีสำคัญนับไม่ถ้วนเป็นที่ยอมรับประดับกรมตำรวจ
เส้นทางชีวิตเป็นลูกชาย พ.ท.แช่ม เกิดเทศกับ ทองคำ เกิดเทศ เรียนจบมัธยมโรงเรียนอำนวยศิลป์ แล้วเบนเข็มเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 15 รุ่นเดียวกับนายตำรวจคนดัง อาทิ คำนึง ธรรมเกษม ชาญ นุชกำแหง พงษ์ศักดิ์ โรหิโตปการ วันชัย วิสุทธินันท์ วิฑูรย์ ศิริพากย์ วันชัย วิสุทธินันท์ สมศักดิ์ สายบัว ไกรสุข สินสุข
รับราชการครั้งแรกสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง แล้วย้ายไปอยู่ภูธรตั้งแต่หนองคาย พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี ทำผลงานบู๊ล้างผลาญคลายคดีในพื้นที่จนถูกจัดเป็น “นายตำรวจดวงรุ่ง” ฝีมือดีเป็นที่รักของชาวบ้าน
กำราบอิทธิพล “ตระกูลไบคาน” ที่ข่มขู่รังแกฆ่าผู้บริสุทธิ์ในจังหวัดลพบุรี รวมถึงฆาตกรรมนางเอกดัง “วันดี ศรีตรัง” จนอีกฝ่ายไม่พอใจใช้วิธีสกปรก
ทำให้เขาต้องสูญเสีย “ชอบรบ เกิดเทศ” ลูกชายคนโตที่กำลังมุ่งมั่นสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร
สุมความแค้นให้ “ชลอ” รอเวลาสะสางในหลายปีต่อมา
ขึ้นรองผู้บังคับการปราบปราม เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธร 8 ดูแลพื้นที่ภาคกลางตอนล่างภาคเหนือตอนบน สร้าง “คุ้มพระลอ” ชื่อเสียงน่าเกรงขาม โจรผู้ร้ายได้ยินแล้วสะทกสะท้านเป็นที่มาของฉายา “สิงห์เหนือ ” เบียดคู่กับ “สล้าง บุนนาค” ที่ถูกยกเป็น “เสือใต้” ร่วมกันปราบคนร้ายตายไปหลายศพ
หลังจากนั้นขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ
ควบเก้าอี้ นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ปั้นนักเตะ “สโมสรโล่เงิน” พาเหรดติดทีมชาติคว้าแชมป์รายการสำคัญเพียบ
ถือเป็น “ยุคทอง” ของสมาคมลูกหนังไทย
แต่แล้วชะตาก็พลิกผันสู่วิบากกรรมตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอุ้มฆ่าแม่ลูกตระกูล “ศรีธนะขัณฑ์” เพราะมีนายพลบางคนขณะนั้น “หักหลัง”
ศาลพิพากษาตัดสินจำคุกตลอดชีวิต โดนถอดยศ พล.ต.ท. เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมด
ปี 2556 ได้รับการพักโทษและปล่อยตัวออกจากเรือนจำเนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้สูงอายุ ตัดสินใจเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดแพร่ธรรมาราม อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร ได้ฉายา “อิสสโร” แปลว่า “ผู้มีอิสระ”
กลับมาจำพรรษาอยู่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา นาน 1 เดือนกับ 10 วัน แล้วลาสิกขาไปใช้ชีวิตเรียบง่ายในบั้นปลาย มีลูกน้องเก่าและบรรดากัลยาณมิตรไปเยี่ยมอยู่เป็นประจำ
ระยะหลังมีโรคประจำตัวไม่แข็งแรงเหมือนเก่า ต้องเข้ารักษาอาการป่วยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจนถึงวาระสุดท้ายในวัย 85 ปี
ทิ้งเรื่องราวเป็นตำราให้ตำรวจรุ่นน้องได้ศึกษา