“ไล่ล่าสุดขอบฟ้า” คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงสำหรับทีมสืบสวนนครบาลภายใต้การนำของ “ผู้การจ๋อ” พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล
เป็นเวลานาน 39 วันที่ตำรวจนักสืบเมืองหลวงกว่า 150 ชีวิตทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อนำคนที่ทำร้าย น.ส.ศิรดา หรือครูเจี๊ยบ สินประเสริฐ อายุ 45 ปี อาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เสียชีวิตพร้อม “น้องหยอด” นายธนสรณ์ ห้องสวัสดิ์ อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย
มีการเปิดปฏิบัติการ “ปิดเมืองล่ามือปืน” ไป 2 ครั้ง จับกุมผู้ต้องหาแก๊งองค์กรอาชญากรรมล้วนเป็นนักศึกษาอาชีวะสถาบันชื่อดังไปรวมแล้ว 22 ราย
ทว่ายังไร้เงา “มือลั่นไกและมือขี่รถจักรยานยนต์” ที่ลงมือก่อเหตุ
หารู้ไม่ว่าเบื้องหลังการติดตามไล่ล่ามือปืนในคราบ “ช่างกลทมิฬ” ยิ่งกว่านิยาย
ตั้งแต่เริ่มคดีเกิด พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมาย พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล คัด “นักสืบมือดี” ระดมไล่ล่าติดตามมือยิงรายนี้โดยเฉพาะ
ถือว่า “งานหิน” เพราะเป้าหมาย “หนีสุดชีวิต” และยังมีคนในองค์กรอาชญากรรมคอยช่วยเหลือในการหลบหนีอีก
ชุดสืบสวน “งมเข็ม” ในมหาสมุทรกว่า 2 สัปดาห์ยัง “ไร้วี่แวว” เบาะแสจากคนรอบตัว
พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลได้รับการบ้านชิ้นสำคัญตาม “กัดไม่ปล่อย” กระทั่งพบเบาะแสความเคลื่อนไหวเหล่ารุ่นพี่ “ผลไม้พิษ” พา นายอนาวิน แก้วเก็บ อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะวิศวกรรมพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มือสังหารและเหล่าพลพรรคที่ร่วมก่อเหตุออกจากป่าในพื้นที่ภาคใต้ไปเก็บไว้ในเซฟเฮาส์แห่งใหม่
ตำรวจนักสืบดมกลิ่นถึงรังลึกลับเรียกได้ว่า “ที่สุดของทำเลทอง” สภาพแวดล้อมสมบูรณ์แบบสำหรับ “กองโจร” สลับซับซ้อนมีทางหนีทีไล่ครบเครื่อง สมรภูมิได้เปรียบเจ้าหน้าที่สุดขีด
นายตำรวจหนุ่มตัดสินใจชุดสืบสวนนำกำลังบุกเข้าค้นในย่ำรุ่งของวันที่ 15 ธันวาคม 2566 แต่ “คว้าน้ำเหลว” เมื่อ “ไอ้วิน”และพรรคพวกหลบหนีออกไปได้ก่อนเจ้าหน้าที่บุกอย่างฉิวเฉียดเพียงแค่ 2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตามต่อมสัญชาตญาน “หมาล่าเนื้อ” ของชุดสืบสวนยังทำงานติดตามรอยเท้าเบาะแสคนร้ายไปติด ๆจนทราบว่าเผ่นไปขึ้นรถโดยสารมุ่งหน้าทางภาคเหนือ กลายเป็นความกดดันที่ถาโถมเมื่อตำรวจเดินตามหลังคนร้ายเพิ่มขึ้นเป็น 4 ชั่วโมง
พวกเขาเร่งควบรถติดตามขึ้นเหนือไปอย่างกระชั้นชิดจนมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ แต่แล้วดวงคนร้ายยังแคล้วคลาด เมื่อเจ้าหน้าที่ไป “ไม่ทัน” คนร้ายที่ลงรถโดยสารไปแล้วกว่า 1 ชั่วโมง
สารวัตรนักสืบมาดเซอร์ขยับหมวกไหมพรมใบโปรดให้เข้าที่เข้าทางไม่ต่างโชคลางนำพาในภารกิจ “ไล่ล่าสุดขอบฟ้า” ตะลุยแดนเหนือหาตามเบาะแสต่ออย่างบ้าคลั่งจนมาถึงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่องรอยเป้าหมายอันตธานหายไป ไร้โอกาสให้ไปต่อ
ความเหนื่อยล้าจากการไล่ล่าบวกกับความผิดหวังประเดประดังเข้ามาในจิตใจเจ้าหน้าที่
“ยอมแพ้ดีไหม” เจ้าตัวรำพัน เนื่องจากการตามล่าสุดแสนจะยาวไกลนี้ไม่ได้แบกมาแค่ปืนกระบอกเดียว แต่ยังแบกความหวังของประชาชน แบกศักดิ์ศรีของตำรวจนครบาลไปด้วย
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล แม่ทัพหลักโทรศัพท์กระตุ้นจิตวิญญาณลูกน้องเฮือกสุดท้าย ระบุให้ใช้สัญชาตญาณสัมผัสความคิดคนร้าย ภาพเบื้องหน้าของสารวัตรหนุ่มสะกิดใจเห็น “ภูเขา” ชี้ทางเดินตาม “สัญชาตญาณดิบ” มุ่งหน้าขึ้นดอยไปตามความรู้สึก
เขาได้พบพลเมืองดีเป็นคนพื้นที่แจ้งเบาะแส “เจอคนร้ายที่ดอยปุย” นายพันตำรวจตรีพ่อลูกอ่อนไม่รอช้าในนาทีทองก่อนคนร้ายจะหายเข้ากลีบเมฆ นำกำลังบุกจนพบตัว นายอนาวิน แก้วเก็บ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีฆ่า อยู่กับนายกฤติ หรือ ชิว ล้ำเลิศ นักศึกษาสถาบันเดียวกันผู้ร่วมอุดมการณ์เถื่อน กบดานกางเต็นท์อยู่บนดอยปุย
ทั้งคู่หมดอิสรภาพในทันทีก่อนเตรียมวางแผนเดินทางออกนอกประเทศ
ทวงคืนความยุติธรรมให้ครอบครัวเหยื่อที่เสียชีวิตเพราะลัทธิบ้าสถาบันในทางที่ผิด