“ คุณจะเป็นใหญ่เป็นโต ไม่สำคัญหรอก สำคัญว่า มีศรัทธาร่วมกันไหม”

ระสบการณ์ระดับตำนานเข้มข้นจนมีลูกศิษย์ลูกหามากมายกลายเป็นอาจารย์ที่นายตำรวจหลายคนเคารพรักและนับถือ

พล...อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียนจบโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ก้าวมาเป็นตำรวจตามพ่อ เมื่อสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 21 เป็นแชมป์ยูโด ติดทีมชาติ มีโอกาสไปแข่งที่ญี่ปุ่น  ก่อนบรรจุลงรองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง 2 ปี สอบชิงทุนไปเรียนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ที่ศูนย์ฝึกการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้ย้ายเป็นนักบินประจำแผนก 5 กองกำกับการ 2 กองบินตำรวจควบคู่กับเรียนปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ต่อมาได้ทุนศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ต้องตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง ทั้งความฝันเป็นนักบินพาณิชย์ หรือไปเป็นอาจารย์อยู่นิด้า เพราะพ่อกล่อมให้กลับมาทำหน้าที่ตำรวจเลยได้มาลงเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ย้อนเรื่องราวในอดีตว่า  ตอนนั้นไฟแรง มั่นใจในตัวเองด้วยความที่ยังเด็ก คิดว่าแน่ ทำอะไรก็ได้ มักต่อต้านระบบ สอนให้นักเรียนนายร้อยรุ่นน้องคิดนอกกรอบ

ถึงกระนั้นเจ้าตัวตั้งมั่นในอุดมการณ์มาตลอด หลังได้รับพระราชทานสมเด็จจิตรลดาจากพระหัตถ์ในหลวงราชกาลที่ 9 พร้อมพระราชทานพระบรมราโชวาท เหมือนได้รับพรจากพระเจ้าอยู่หัว เป็นแรงบันดาลใจให้น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระองค์ที่ชี้นำให้ต้องประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในวิสัยของสิ่งที่พระองค์พระราชทานมา

“ผมถึงไม่กล้าประพฤติชั่ว  ดำรงความสุจริต ความยุติธรรม เป็นสิ่งที่ได้มาจากพระบรมราโชวาท ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดชีวิตรับราชการ เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลย ทำให้ผมมีเป้าหมาย มีหลักการในการทำงานว่า เราต้องสุจริต ต้องยุติธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อเราคิดว่า ต้องสุจริต ยุติธรรมแล้ว เราพูดปดกับใครก็ได้ แต่เราพูดปดกับตัวเองไม่ได้ เราหลอกใครก็ได้ แต่เราหลอกตัวเองไม่ได้” พล.ต.อ.อชิรวิทย์ว่า

เป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ปีเศษ เกิดเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 เขาได้เข้าไปเป็นคณะทำงานของ พล.ต.อ.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจที่โยกมาจากทหารทำงานให้ พล.ต.อ.ประจวบ สุนทรางกูร อธิบดีกรมตำรวจ รู้จักกันตอนที่เดินทางไปโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แล้วได้เสนอแนวคิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในกรมตำรวจ  ถึงได้ทำโครงการพัฒนาโรงเรียนนายร้อยตำรวจจนจบทุกเรื่องโรเนียวไปแจกในสภา

เขากลายเป็นร้อยตำรวจเอกหนุ่มไฟแรง พอมีช่วงเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรตัดสินลาออกไปลงสนามแข่งขันที่จังหวัดนครปฐมในนามพรรคพลังใหม่กับ ร.ต.ท.เสรี เตมียเวส แพ้แบบเฉียดฉิว  พล.ต.อ.อชิรวิทย์ระลึกความหลังแล้วขำตัวเองเหมือนกันว่า ชีวิตพลิกไปพลิกมา ก่อนจะเลือกตั้งก็ไปสมัครงานเป็นผู้จัดการครัวการบินแอร์สยาม รับเงินเดือนมากกว่าอธิบดีกรมตำรวจด้วยซ้ำ ชีวิตน่าจะไปได้ดี เพราะมีความรู้เรื่องการบินด้วย   ระหว่างนั้นยังเป็นกรรมการร่างหลักสูตรคณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยที่สงขลา  กระทั่งพ่อต้องตามกลับมารับราชการอีกรอบเมื่อต้นปี 2519

สถานการณ์ความรุนแรงของการเมืองยังคุกรุ่น เข้าไปฟังนักศึกษาปราศรัยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องย้ายออกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจขยับเป็นสารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจภูธรอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เจ้าตัวบอกว่า ไม่ได้รู้สึกอะไรกลับข้อกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ เพราะเป็นคนเชื่อหลักประชาธิปไตย และชอบระบบสังคมนิยมว่า คนรวยคนจนก็คนเหมือนกัน ดังนั้นต้องเท่าเทียมกัน แม้เท่าเทียมบางอย่างไม่ได้ แต่ต้องได้โอกาสทัดเทียม เช่น เรื่องสวัสดิการ การได้รับการศึกษา การรักษาพยาบาล

อยู่โรงพักสามพราน 3 ปี รักษาการสารวัตรใหญ่บ้าง ผู้ใหญ่จะให้ไปรักษาการสารวัตรใหญ่ที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี แต่ปฏิเสธ ระหว่างนั้นนำทีมสืบสวนออกติดตามวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายรายสำคัญค่าหัว 5 หมื่นบาทแพงกว่าโจรตี๋ใหญ่ คือ อำนวย หรือแจ๊ค อุ่นรั้ว ขุนโจรร้อยศพ มือปืนรับจ้าง และออกปล้นฆ่าอาละวาดแถวดำเนินสะดวก กระทุ่มแบน กินยาวยันนครปฐม แถมมีคดีแหกห้องขังศาลจังหวัดราชบุรียิงตำรวจตาย 3 ศพ

อดีตสารวัตรโรงพักสามพรานไม่เคยลืม หลังจาก “โสภณ วาราชนนท์” นายตำรวจรุ่นพี่นำกำลังจากกองกำกับการสารวัตรสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้ไปประสานข้อมูลปิดล้อมจับหัวหน้าแก๊งปล้นตัวแสบในท้องที่ ปฏิบัติการตั้งแต่ห้าทุ่มถึงตีห้า สืบสวนใต้นำเทคโนโลยีของกล้องอินฟาเรดส่องดูความเคลื่อนไหวจนฟ้าสาง ปรากฏว่า บริเวณนั้นเป็นเรือนแถวพักคนงานโรงหิน  “ผมบอกพี่โสภณว่า ไม่ควรเสี่ยงเข้า เดี๋ยวจะตายกันเยอะ ท่านก็ฟังแล้วสั่งถอนกำลังออกมาก่อน เพราะมันก็ยังไม่รู้ตัว รอเวลามันเข้ามาใหม่ค่อยวางแผนอีกที”

หลังจากวันนั้น สารวัตรอชิรวิทย์ได้ปลอมตัวเข้าเป็นคนงานขนหินในนั้น เพื่อหาข่าวความเคลื่อนไหวขุนโจรค่าหัวครึ่งแสน ขี่จักรยานไปรับจ้างขนหิน อาศัยแข็งแรงเพิ่งกลับจากการฝึกอบรมหลักสูตรเอฟบีไอของสหรัฐอเมริกา เดินสำรวจหมดว่าคนงานอยู่กันอย่างไร บริเวณนั้นด้านข้างด้านหลังเป็นสวนมะพร้าว สวนมะละกอ เสร็จแล้วทำแผนที่ไว้ละเอียดจนถึงวันดาวดับ

ทีมของสืบสวนใต้ตามมาประชุม เขาขึ้นกระดานวางแผนกำหนดจุด เอากำลังตำรวจขึ้นรถบรรทุกสิบล้อบุกเข้าไปพร้อมหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ปิดล้อมทางหนีไว้หมด นำไปสู่การเปิดฉากดวลปืนกันดุเดือดจนอำนวย หรือแจ๊ค อุ่นรั้ว ตายคาที่กับลูกสมุนอีกศพ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ และผู้ว่าราชการจังหวัดต่างมาดูที่เกิดเหตุเป็นข่าวดัง

“ยอมรับว่า นอนไม่หลับไป 7 วัน เพราะเห็นความตายต่อหน้า ผมไม่เคยฆ่าคน คร้้งนั้นผมก็ไม่ได้ยิงเอง แค่นำกำลังบุกเข้าไป ง้างนกจะยิง แต่มันตายแล้ว ไม่อยากจะยิงซ้ำ ถือว่า ได้นำทีมปฏิบัติการ คนไม่ค่อยรู้ ผมทำงานบู๊มาก่อน นั่งเรือจับผู้ร้าย ไล่ยิงกัน รถคว่ำสารพัดก็ไม่เป็นอะไร ผมเชื่อในพุทธคุณของสมเด็จจิตรลดาที่ห้อยคอมาตลอด” 

พ้นจากโรงพักสามพรานได้โอกาสกลับไปใช้ชีวิตเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจต่ออีก 2 ปี ย้ายลงรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร ตามคำชวนของ “เสรี เตมียเวส” นายตำรวจรุ่นน้องที่รักษาการผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร ดินแดนที่ยังเต็มไปด้วยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ สร้างแนวร่วมมวลชนจากชาวบ้านด้วยการเข้าไปอำนวยความสะดวกเรื่องการจดทะเบียน ต่อทะเบียน ทำใบขับขี่ตามหมู่บ้านในฐานะนายทะเบียนยานพาหนะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางเข้ามาในตัวจังหวัด

พล.ต.อ.อชิรวิทย์ว่า เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เราเข้าไปทำให้ชาวบ้าน ขนอุปกรณ์ เครื่องถ่ายเอกสารไปบริการถึงที่ เสียค่าถ่ายเอกสาร ค่าดำเนินการเพียงไม่กี่บาท ไม่ต้องเดินทางเลย ทหารยังมาถามว่า ไม่กลัวถูกซุ่มโจมตีหรือ ก็ตอบไปว่า เรามาบริการพวกเขา ไม่เคยมีใครทำแบบนี้ ทำให้ชาวบ้านได้รับความสะดวก บริการประชาชนในฐานะเป็นข้าราชการผู้รับใช้ประชาชน ถ้าต้องตายเพราะบริการพวกเขาก็ต้องจบ ศพก็คลุมธงชาติ แต่พวกชาวบ้านจะไม่ได้รับการบริการอย่างนี้อีก เชื่อไหมว่า เขากลับชาวบ้านเอารถปิดหัวท้ายคุ้มกันไปส่งให้ด้วย

ขยับเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธร 6 แล้วขึ้นผู้กำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจภูธร 4 ถือเป็นผู้กำกับหนุ่มที่สุด ก่อนโยกเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์เป็น รองผู้บังคับการทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร 6  และติดยศ “นายพล” ตำแหน่งผู้บังคับการสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ ทำหน้าที่ครูใหญ่อีกรอบ ปรับปรุงห้องสมุดโดยไม่ต้องใช้งบประมาณหลวง อาศัยลูกศิษย์ที่ศรัทธาและผูกผันกันมานานช่วยระดมทุน

 “ คุณจะเป็นใหญ่เป็นโต ไม่สำคัญหรอก สำคัญว่า มีศรัทธาร่วมกันไหม แต่สิ่งหนึ่งการที่ผมผ่านงานมาทุกตำแหน่ง ตั้งแต่ระดับปฏิบัติ ยิงกับผู้ร้าย มองว่า งานหัวใจ คือ งานอำนวยการ เป็นงานสมอง เป็นหัวหน้างานหมด ผมมองไม่เหมือนชาวบ้าน ประกอบกับโอกาสที่ได้ไปเรียนสกอตแลนด์ยาร์ด ไปเรียนเอฟบีไอ ไปเรียนที่สแกนดิเนเวีย ที่แคนนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มันทำให้เราเห็นโลกกว้าง เห็นระบบเขา เข้าใจระบบเขา เห็นระบบของเรา เข้าใจระบบของเรา” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอธิบาย

 “ที่สำคัญเราเป็นลูกตำรวจ เราจึงเห็นความทุกข์ยากของชีวิตตำรวจ บอกได้ไม่มีใครเหมือน เพราะชีวิตที่มันเห็น  ผมรับราชการไม่เคยขอตำแหน่งกับใคร ไม่วิ่ง ทำงานอย่างเดียว แต่ทำงานแล้วมันพิสูจน์กันด้วยงานน ผมท้าได้เลยว่า ผมเป็นคนเดียวไปทำงานที่ไหน จะเอา กพ.7 ประวัติของนายตำรวจระดับสัญญาบัตรทั้งหมดมาอ่านทุกคน เพื่อจะศึกษาว่า เราควรจะใช้ลูกน้องยังไง งานอะไร แล้วค่อยลามไปถึงชั้นประทวนว่า ใครมีขีดความสามารถมากน้อยอย่างไร”

พล.ต.อ.อชิรวิทย์เล่าต่อไปว่า บางคนทำตัวเป็นพหูสูต รู้ทุกเรื่อง เราเรียนมาตั้งเยอะแยะยังไม่ทำตัวเป็นพหูสูต จริง ๆ จะทำอะไร ไม่ใช่คิดเอง เออเอง ต้องถามคนอื่น ไม่ใช่มองแค่ข้าง ๆ  หลักการบริหารงานในอดีตถึงแตกต่างคนอื่น ไม่ใช่เอาแต่สั่ง ต้องถามลูกน้องด้วยว่า ต้องการอะไร มีปัญหาอะไร ต้องไปช่วยแก้ปัญหา เราอยู่ตรงไหน เราก็จับงาน แล้วเป็นคนที่ทำงบประมาณ เข้าใจวิธีการของงบประมาณ ถึงได้รู้ว่า ปัญหาที่แท้จริงของตำรวจ คือ ตำรวจไม่เก่งเรื่องงบประมาณ ทำให้ตำรวจต้องทำงานโดยบริหารงานงบประมาณนอกระบบ

อดีตนายพลมากประสบการณ์แสดงความเห็นว่า ถ้าต้องปฏิรูปตำรวจ ต้องเอาเรื่องงบประมาณเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา ไม่ใช่เพิ่มรายได้ให้ตำรวจ เพราะว่ารายได้ที่เป็นเงินเดือน กระทบทุกส่วนราชการ แต่การแก้ไขปัญหาตำรวจต้องแก้ไขด้วยวิธีการงบประมาณให้ตำรวจมีครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในหมวดนี้ เครื่องมือเครื่องใช้ ครบถ้วนบริบูรณ์  ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครให้ทันสมัย ส่วนรายได้ ต้องเป็นไปตามชั่วโมงการทำงาน

ทำหน้าที่ครูใหญ่ได้ 3 ปี ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการ กองบัญชาการศึกษา เป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานแผนงานและงบประมาณ รองจเรตำรวจ แล้วเป็นผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขยับนั่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ท่ามกลางการถูกกลั่นแกล้งสารพัดด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงสำคัญสุดสมัยนั้น คือ ไม่จงรักภักดี กว่าจะพิสูจน์ความจริง

ขึ้นตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงไปดูแลสวัสดิการตำรวจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.อ.อชิรวิทย์บอกว่า ทำมาตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 พวกที่อาสาลงใต้ต้องสมัครใจ ไม่บังคับ บอกสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้ด้วย ตั้งแต่ค่าเสี่ยงภัย เบี้ยเลี้ยงเต็มที่ และตำแหน่ง กำหนดคุณสมบัติ คือ อายุไม่เกิน 35 ปี โสด ภาคอีสานเหนือถึงมีตำรวจอาสามากกว่าหน่วยอื่น พร้อมเทรนนิ่งด้วยการเชิญโต๊ะอิหม่ามมาสอนหลักเบื้องต้นของวิถีชีวิตชาวมุสลิม วัฒนธรรมของพวกเขา

 “ผมไม่ได้ทำแบบคนอื่น ชีวิตพอเป็น พล.ต.ท.แล้วเห็นว่า รู้สึกว่า ไม่ได้ต้องการอะไร ความสุขที่ได้ คือ เราเป็นตำรวจ  ผมเห็นชีวิตตำรวจ ผมเข้าใจตำรวจว่า อาชีพตำรวจ มันเหมือนต้องคำสาป ให้มาบริการเขา อดทน ถูกด่า ถูกเหยียบย่ำ ไม่มีตำรวจ ประชาชนก็จะลำบาก นักการเมืองบางพวกชอบทำให้ตำรวจเละ ข่มง่าย จะเอาตำรวจไปอยู่กับท้องถิ่น มันก็ระเบิดภูเขา เผากระท่อมสิ  ระบบตำรวจต้องเข้าใจ มันเป็นเนชั่นแนลโปลิศ ระบบตำรวจแห่งชาติ เพราะฉะนั้นการเป็นข้าราชการ โดยเฉพาะเป็นตำรวจต้องรู้อยู่อย่างหนึ่งว่า ตำรวจเป็นผู้รับใช้ ต้องเสียสละ แล้วตำรวจที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่นายร้อย นายพัน นายพล แต่เป็นตำรวจชั้นประทวน เพราะอยู่ติดพื้นที่”

ตอนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เขายื่นใบลาออก อ้าง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะนั้นจะออกไปสมัครผู้แทน  สุดท้ายโดนทัดทานให้อยู่ช่วยงานก่อน กระทั่งขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รับบทโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นต้องพูดให้ทุกฝ่ายถอยกันคนละก้าวมาเจรจากันบ้านเมืองจะอยู่ได้ ให้มีสามัคคีธรรม ทว่าข้อเรียกร้องไม่มีใครฟัง  กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายให้เขาลาออกในทันทีที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ เจอคำสั่งย้ายจากเก้าอี้แม่ทัพสีกากี

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อชิรวิทย์ลงสมัครรับเลือกเป็นคณะกรรมการข้าราชการตำรวจคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้คะแนนอันดับ 1 โดยไม่หาเสียง ไม่ได้ขอ ไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุญใคร แต่เกิดจากศรัทธาจากตำรวจ เข้าไปให้ความสำคัญกับชั้นประทวนผลักดันโครงการนายร้อย 53 โดยเป็นสัญญาบัตรไม่ต้องย้ายไปจากพื้นที่เก่า เพราะความมั่นคงในชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมั่นใจว่า  หากทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยกินดี อยู่ดี มีความสุข มีความมั่นคงในชีวิตย่อมเสียสละที่จะเข้าไปดูแลประชาชน เพราะฉะนั้นการจะเป็นนายตำรวจ ขัดกระบี่ ดาวเต็มบ่า เกษียณแล้วไม่ต้องย้ายจากพื้นที่ นี่คือหลักการที่เราทำ เช่นเดียวกัยการแต่งตั้งโยกย้าย อย่ามาดัดจริตว่า ต้องคุณธรรมร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้  ทุกคนต้องมีเด็ก มีคนที่เป็นพวก ควรมีคณะกรรมการพิจารณา ให้ชั้นผู้น้อยมีส่วนออกความเห็นด้วยว่า ควรให้เป็น หรือไม่ให้เป็น

“ที่ผ่านมา ผมถือว่า ทำงานให้บ้านเมือง เสียสละ อุทิศชีวิต เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย สมัยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปกับคนขับรถสองคนเข้าไปในพื้นที่สีแดงของคนมุสลิม พวกเขายังถามว่า ท่านมานี่ ท่านไม่กลัวหรือ ช่วงนั้นเดือนรอมฎอน ผมเอาอินทผาลัมไปให้ที่มัสยิด ผมตอบไปตรง ๆ ว่า ผมเป็นชาวพุทธ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ชีวิตมนุษย์เป็นไปตามกรรม คือ การกระทำ ถ้าผมจะต้องหมดกรรม มันก็เหมือนกัน สิ้นเวรสิ้นกรรมกัน  แต่หลักศาสนาท่าน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพระเจ้า ถ้าเป็นความประสงค์ของพระเจ้าให้ผมต้องตาย ผมก็ยินดี” 

เจ้าตัวบอกว่า ขากลับชาวบ้านเอารถปิดหัวปิดท้ายไปส่งให้อย่างดี สารภาพตรงนี้เลยว่า กลัว แต่ในความกลัว พอเรานั่งพิจารณาแล้ว เรากลัวเราก็ต้องตาย เราไม่กลัวเราก็ต้องตาย เพราะฉะนั้นความคิดที่จะกลัว ก็หมดไป

อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช !!!

 

 

 

 

 

Reply, Reply All or Forward

RELATED ARTICLES