“เราจะตระหนักเสมอว่า เราทำข่าวแล้วคนดูจะได้อะไร”

 

าวนักข่าวคนเก่งแห่งค่ายไทยรัฐทีวีช่อง 32

เลิฟรวีกาญจน์ แก้ววิจิตร เกิดจังหวัดตรัง หลังจบมัธยมปีที่ 3 ไปต่อสายอาชีวะ เพราะยังไม่รู้ตัวเองจะเป็นอะไร ประกอบกับครอบครัวอยากให้เรียนสายอาชีพ เลือกเรียนบัญชีจนจบเกียรตินิยม ได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุ เริ่มมองเห็นว่า ชอบด้านการสื่อสาร ถึงรู้ตัวเองไม่เหมาะกับงานด้านบัญชี

เปลี่ยนเข็มไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทั้งที่ใฝ่ฝันอยากเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร  หรือมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ทว่าคะแนนโอเน็ต เอเน็ตไม่ดี เพราะไปเรียนสายอาชีวะ จำเป็นต้องไปเข้ามหาวิทยาลัยเอกชนอย่างธุรกิจบัณฑิตย์ ศึกษาในคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุโทรทัศน์ มุ่งทิศทางไปด้านงานทีวี

แม้จะเรียนเกี่ยวกับวิชาเขียนข่าวแค่ตัวเดียว เธอเล่าว่า อาจารย์เห็นแววน่าจะเขียนข่าวได้ดี แต่พอได้ไปฝึกงานรายการบางอ้อ ใจลังเลอยากเป็นครีเอทีฟ ทำไปทำมามีเพื่อนชวนมาสมัครเป็นนักข่าวที่ช่องแบงคอกซิตี้ แชนแนล สถานีโทรทัศน์ของกรุงเทพมหานคร ความรู้สึกแรกนึกถึงอาจารย์ที่ย้ำว่า เราต้องทำข่าว เราต้องเป็นนักข่าว ได้วิ่งทำข่าวสายสังคมให้กรุงเทพมหานคร ไม่ถึงกับประชาสัมพันธ์องค์กรอย่างเดียว เป็นประสบการณ์เริ่มต้นในชีวิตการทำงานด้านการข่าว

อยู่ไปสักพัก ถามตัวเองว่า อยากเปลี่ยนไปทำงานอื่นไหม เลือกงานประชาสัมพันธ์ไม่นานก็เบื่อ เพราะเจอแต่รูปแบบเดิม ๆ คุยกับลูกค้าเหมือนเดิม เลยรู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้นเราต้องกลับมาทำข่าวแล้วล่ะ เพราะว่า งานข่าวมันเป็นงานที่ได้เจออะไรใหม่ ๆ ทุกวัน ได้เจอคนมากหน้าหลายตา ไม่สามารถคาดเดาได้ว่า เราจะได้เจอใครบ้าง เจอเรื่องอะไรบ้างในแต่ละวัน มันทำให้เรารู้สึกไม่เบื่อ แล้วรู้สึกว่า มีอะไรแปลกใหม่ทุกวัน

เลิฟกลับมาเริ่มต้นที่ไบร์ททีวีทำข่าวสังคมรอบตัวมากขึ้น ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องราวของภัยใกล้ตัว และข่าวในกระแสโซเชียล รวมถึงสกู๊ปข่าวหาคำตอบให้คนดูว่า แต่ละเรื่องมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทดลองแล้วได้ผลอย่างไร คนดูได้อะไร เกี่ยวเก็บประสบการณ์กว่า 2 ปี ได้ย้ายมาประจำโต๊ะภูมิภาคของไทยรัฐทีวี

เธอยอมรับว่า เป็นงานท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม  เพราะต้องไปทุกที่ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ งานแรกจำได้ว่า ทำข่าวตึกถล่มที่จังหวัดตราด ไปรายงานสด รู้สึกว่า อยู่ช่องใหญ่ขึ้น ทีมการทำงานใหญ่ขึ้น เช่นเดียวกับการไปทำงานที่ถ้ำหลวง เกาะติดสถานการณ์ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่ช่วยเด็กออกมา ไม่มีใครคิดว่า ทุกคนจะรอดชีวิต ถือเป็นความทรงจำในการทำงานข่าวของเรา

ต่อมาต้นสังกัดมักให้เธอหยิบข่าวอาชญากรรมเชิงสืบสวนสอบสวน หนักไปในทางเด็กถูกกระทำชำเรา มองว่า ต้องไปคุยกับแหล่งข่าวที่เป็นเด็ก ผู้หญิงที่ถูกกระทำ เราจะได้อะไรมากกว่าคนอื่น ถึงเริ่มถนัดงานข่าวอาชญากรรม ก่อนโยกไปอยู่โต๊ะข่าวหน้า 1 เปลี่ยนมาเจาะข่าวในกระแส

แม้ต้องเอาข่าวดราม่าตามโซเชียลมานำเสนอ เราต้องหาให้เจอ บางประเด็นดราม่าเกินไป เราจะคิดว่า คนดูอาจไม่ได้อะไรจากตรงนี้ เราจะตระหนักเสมอว่า เราทำข่าวแล้วคนดูจะได้อะไร คือ ถ้าเขียนข่าวแล้ว ข่าวนี้ดราม่าจะมีโทนของตัวเองในใจ มีเส้นแบ่งเรื่องว่าจะเขียนแบบไหนให้คนได้อะไรจากข่าวนี้เติมไปด้วย เช่น เติมความรู้เข้าไป เติมกฎหมายเข้าไป ให้รู้สึกว่า คุณไม่สามารถทำอะไรแบบนี้ในพื้นที่สาธารณะได้นะ  มีติดติงไปนิดหนึ่ง จะไม่ใส่แบบว่า เติมอะไรให้รู้สึกดราม่าจนเกินไปจนรู้สึกว่า คนดูไม่ได้อะไรเลย นักข่าวสาวไทยรัฐทีวีว่า

 

เธอทิ้งท้ายบอกว่า การทำงานตรงนี้มีพื้นที่ในการคิด การตัดสินใจในประเด็นต่างๆ ว่า ควรจะนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน ยังรู้สึกสนุกอยู่ เคยมีผู้ใหญ่ให้โอกาสไปนั่งทำงานในกองบรรณาธิการตำแหน่งรีไรต์ข่าว ให้น้อง ๆ วิ่งแทน  แต่ตัวเราเองยังอยากเรียนรู้อะไรเพิ่ม เพราะรู้ว่า ไม่ได้เก่งพอถึงขั้นว่าที่จะไปนั่งอยู่ข้างในได้โดยที่ไม่ได้เห็นอะไรกับความเป็นจริงมาก่อน แต่ถ้าเราเห็นแล้ว เราจับประเด็น เราสามารถเขียนต่อได้ พิมพ์สื่อสารออกมาได้อย่างถูกต้อง

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES