“ทุกๆ อย่าง ค่อยๆ หลอมเราให้คมขึ้น ในการที่เราจะคิดอะไรจากข่าวหนึ่งชิ้น”

 

 

ว้ารางวัลนักข่าวสาวภาคสนามดีเด่นของสมาคมผู้สื่อข่าวช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทยประจำปี 2566

“วาล์ว” พิชญ์ธรา แก้วก่อ น้องใหม่ค่ายหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ทำผลงานเข้าตาคณะกรรมการรุ่นเก่าจนได้รับเลือกขึ้นเวทีรับรางวัล เธอเป็นชาวกรุงเทพมหานคร จบประถมศึกษาโรงเรียนเบญจวรรณศึกษา มัธยมต้นโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม มัธยมปลายโรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง จังหวัดปทุมธานี  ก่อนไปเรียนคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์

ด้วยความที่ชอบเรียนภาษาอังกฤษในสมัยนั้น เกิดลังเลระหว่างจะเรียนด้านภาษา หรือกฎหมาย  เพราะสนใจเรื่องการเมืองด้วย เธอชั่งใจว่าจะเรียนคณะนิติศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ดี อย่างน้อยต้องต่อยอดได้ถึงตัดสินใจเลือกเรียนภาษา และพยายามทำให้ดีที่สุด

เจ้าตัวสารภาพว่า ผิดหวังจากการที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยในฝัน  อยากเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามแล้วแต่ทำไม่ได้ ถึงต้องบอกกับตัวเองว่า ถ้าสิ่งที่คาดหวังแล้วทำไม่ได้ เมื่อไปตรงไหนจะทำตรงนั้นให้ดีที่สุด “เข้าเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏอาจจะด้วยในเรื่องของมหาวิทยาลัยอื่น แต่เลือกจะถีบตัวเอง สัญญาไว้ว่าใช้เวลา 4 ปี ต้องได้เกียรตินิยม สุดท้ายเราก็ทำได้”

เธอคิดว่า พอเวลาทำงาน คนอื่นอาจมีอะไรที่มากกว่าเรา แต่เราจะทำอย่างไรให้เขาเลือกเรา พยายามสร้างประสบการณ์ให้ตัวเอง หลังเรียนจบมั่นใจแล้วว่า อยากมาทำข่าวการเมือง เพราะก่อนหน้าได้ไปเป็นฟรีแลนซ์ให้สมาพันธ์สื่อไทย ทำเรื่องหลากหลาย ลงภาคสนาม เขียนข่าวออนไลน์ และมองลู่ทางว่า ที่ไหนมีเปิดรับสมัครงานบ้าง

กระทั่งหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เปิดรับคน วาล์วไม่ลังเลที่จะไปพิสูจน์ตัวเอง เริ่มต้นโต๊ะข่าวอาชญากรรม ทั้งที่ไม่ได้เรียนมาด้านข่าว ไม่มีประสบการณ์สายข่าว คิดว่า มาเรียนรู้มาเก็บประสบการณ์ เก็บชั่วโมงบิน “ตอนนั้นทำหนังสือพิมพ์ แต่ส่งออนไลน์ด้วย  เหมือนกับว่าเราส่งเข้าฮับส่วนกลาง ให้กองบรรณาธิการหยิบไปใช้ ยอมรับว่า ไม่คิดตัวเองจะผ่านสัมภาษณ์ แต่เตรียมตัวมาระดับหนึ่ง เพราะเรารู้ว่าเราจะต้องไปทำข่าวอาชญากรรม ก็คอยติดตามข่าว จับประเด็นรายวันจนผ่านเข้าไปทำงาน”

ผ่านสนามข่าวในสำนักข่าวสีบานเย็นได้ปีเศษ วาล์วบอกว่า ได้ประสบการณ์หลายอย่าง สิ่งที่เห็นในหน้าจอโทรทัศน์  แต่ความเป็นจริง กว่าจะออกมาเป็นข่าวชิ้นหนึ่ง ต้องผ่านกระบวนการลงพื้นที่ภาคสนาม สืบสวน สอบสวนเก็บข้อมูล จดทุกคำพูดของแหล่งข่าวขยายเอามาเป็นประเด็น ต้องทำการบ้านในแต่ละวันว่า ต้องไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวคนไหนที่เกี่ยวข้อง

“เราต้องคัดทุกคำพูดที่แหล่งข่าวพูดเพื่อจะมาดูว่า เขาพูดอย่างนี้ มันแตกออกไปได้อีกอย่างไร นี่แหละ คือ ความยากของอาชญากรรม ต้องอาศัยประสบการณ์ที่สะสมมาอย่างมากจริงๆ เพราะแต่ละคดีไม่เหมือนกันเลย  พนักงานสอบสวนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ละคนอาจจะให้ข่าว ให้ข้อมูลคนละด้าน คนละมุม  พอเราคุยกับคนเยอะขึ้น ทำให้เราได้หลายอย่าง”

ปัจจุบันเธอเป็นเหมือนทีมเฉพาะกิจดูแลรับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมราชทัณฑ์  “มีความรู้สึกว่า ทุกๆ อย่าง ค่อยๆ หลอมเราให้คมขึ้น ในการที่เราจะคิดอะไรจากข่าวหนึ่งชิ้น ต้องขอบคุณบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์สอนมุมมองให้เราได้คิดเอง รู้สึกสนุกกับการทำงานทั้งข่าวอาชญากรรมและข่าวการเมือง ลึก ๆ คิดแล้วเราต้องทำได้ทุกอย่าง ขอแค่เป็นสิ่งที่เป็นประเด็นที่เราสนใจ ผ่านมาปีกว่ามองว่า ยังมีอะไรให้เราเรียนรู้อีกเยอะ” สาวคนข่าวเดลินิวส์ว่า

เธอทิ้งท้ายว่า พยายามฝึกฝนตัวเองควบคู่กับฝึกรุ่นน้องไปด้วย คิดเหมือนกันว่า กดดันที่ทำงานมาแค่ 1 ปี ต้องเป็นพี่เลี้ยงฝึกงาน อาศัยเก็บเกี่ยวจากรุ่นพี่ที่ทุกคนมีเสน่ห์การทำงาน มีสไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน ทำให้ได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ นำไปถ่ายทอดน้องให้คิดว่า ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้มากกว่าแค่มาฝึกงาน

 

 

RELATED ARTICLES