“การจับยาเสพติดสมัยก่อนก็ไม่ได้เก่ง แต่ด้วยความมุมานะของผู้ใต้บังคับบัญชา”

ผ่านประสบการณ์จากตำรวจกองปราบปรามกระทั่งขยับเป็นลูกหม้อหน่วยกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด ก่อนก้าวขึ้นนั่งผู้นำทัพปราบปราบขบวนการยานรกจวบจนเกษียณอายุราชการ

พล.ต.ท.อติเทพ ปัญจมานนท์ ลูกชาย พล.อ.สมศักดิ์ ปัญจมานนท์ อดีตแม่ทัพภาค 3 เติบโตอยู่ในค่ายทหาร เกิดโรงพยาบาลราชวิถี จบมัธยมโรงเรียนเซนต์คาเบรียล แต่ชีวิตไม่คิดอยากเป็นทหารเจริญรอยเท้าพ่อ กลับไปสอบเข้าคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ใช้ชีวิตนิสิตเสเพล เล่นดนตรี ปีเดียวย้ายไปคณะเศรษฐศาสตร์ เจอกฤษฎา พันธุ์คงชื่น ขณะนั้นเป็นลูกผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พากันเที่ยวและเล่นดนตรีกันตามประสาวัยรุ่น แล้วชีวิตหักเหเมื่อเพื่อนรักกฤษฎา สมัครเข้าเป็นตำรวจสันติบาล ได้ไว้ผมยาว พกปืน เล่นดนตรี เท่ ตัวเขาเลยเลือกสอบตาม และบรรจุเป็นนายตำรวจสังกัดกองการต่างประเทศ

วันหนึ่งเขากับกฤษฎา ต้องแยกสาย เมื่ออีกฝ่ายเลือกเป็นนักสืบนครบาล ส่วนเขาเลือกไปอยู่กองปราบปราม “ผมมองว่า อาร์มกองปราบปรามมันเท่ ด้วยความเป็นลูกนายทหารเก่าเลยชอบแต่งเครื่องแบบ” พล.ต.ท.อติเทพ ให้เหตุผล นั่งตำแหน่งสารวัตรแผนก 5 กองกำกับการ 8 กองปราบปรามที่ยังไม่แยกเป็นท่องเที่ยว คุมพัทยา ขี่ม้าตรวจชายหาด ได้รับโล่จาก พล.ต.ท.บุญชู วังกานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

จากนั้นโยกลงเป็นสารวัตรคอมมานโด ปีเดียวเป็นสารวัตรรถวิทยุฉลามบก เป็นคนเดียวที่อยู่ทั้ง 2 ตำแหน่ง คุมกำลังหน่วยกองปราบปราม ” ผมไปอยู่ที่ไหน ก็ต้องพัฒนาตำรวจ เพราะผมมองว่า ตำรวจเราจะตามคนร้าย 1 ก้าวเสมอ เมื่อเราไปตรงนี้ คนร้ายก็จะก้าวหนีไป เราก็ตามไป 1 ก้าว แล้วทีนี้วิธีการจะทำยังไงให้ตำรวจอยู่เหนือคนร้าย 1 ก้าว อย่างวิธีการตอนไปอยู่รถวิทยุจะนำกำลังไปฝึกขับรถที่สนามพัทยาเซอร์กิต เพื่อให้เกิดความพร้อมอยู่เสมอ”

คุมกำลังคอมมานโดครั้งหนึ่ง พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นผู้บัญชาการสอบสวนกลาง โทรศัพท์มาหาตอนตี 2 มีเหตุประท้วงที่รถไฟ ติดต่อผู้การไม่ได้ ตามผู้กำกับไม่ได้ จึงให้เขาเอากำลังไป พล.ต.อ.ประทิน เลยจำติดตา และมีอะไรเรียกใช้ตลอด แม้กระทั่งตอนจับบ่อน ปอ ประตูน้ำ ได้ผู้ต้องหา 80 คน ระหว่างเอาตัวจะไปกองปราบปราม ปรากฏถูกตำรวจนครบาลล้อมเอาไว้ พล.ต.ท.อติเทพเล่าว่า ตัดสินใจยกกำลังพร้อมอาวุธไปเผชิญหน้ากันต่อรองจนเกือบเช้าหวิดปะทะกัน กว่าจะเอาผู้ต้องหาไปกองปราบปราม ท่านประทินมาหาบอกคำหนึ่งว่า ก่อนที่เขาเกษียณ อติเทพต้องเป็นผู้กำกับ

แต่เส้นทางชีวิตราชการหลังจากนั้น เป็นสารวัตรท่องเที่ยวพัทยา อีกรอบแล้วขึ้นรองผู้กำกับการ 7 กองปราบปรามดูงานยาเสพติดแล้วย้ายเป็นรองผู้กำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว กระทั่ง

อีก 3 คำสั่งผู้กำกับจะออกยังไม่มีชื่อ ผู้ใหญ่โทรไปหาท่านประทิน ตอนนั้นเป็นอธิบดีกรมตำรวจใกล้เกษียณแล้ว ท่านบอกจำได้ วันรุ่งขึ้นชื่อมาเลย ขึ้นเป็นผู้กำกับทางหลวงอุบลราชธานี ทั้งที่ยังขึ้นกองปราบปราม แต่เลือกไม่ได้

อยู่ปีเดียวการเมืองเปลี่ยนขั้วย้ายลงเพชรบูรณ์ “ผมยอมรับว่าคิดจะลาออก เพราะตอนนั้นอยู่ทางหลวง แล้วโดนย้ายไปอยู่เพชรบูรณ์ มันเสียศักดิ์ศรี ผมก็บอกว่า ผมอยากอยู่กรุงเทพฯ เลยได้มาเป็นผู้กำกับการสถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ อยู่ กรุงเทพฯ ก็ดี มาเป็น ผู้กำกับปกครอง ตอนนั้นทำลานจอดรถ เข้าไปทำทุกเรื่อง ผู้ใหญ่เอ็นดูให้ขึ้นเป็นรองผู้การท่องเที่ยว ได้สัก 6-7 เดือน พอดีกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดชวนไปอยู่เลยตัดสินใจไป”

กลายเป็นก้าวเริ่มต้นการเป็นลูกหม้อหน่วย พล.ต.ท.อติเทพเล่าว่า ไปตั้งหน่วยสยบไพรี ได้ท่านคมกริช พัฒน์พงศ์พานิช ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดสมัยนั้นขอพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระสังฆราช ด้วยความที่เราเคยไปฝึกกับทหารบก ทหารเรือ ทั้งที่ประเทศอิสราเอล ปากีสถาน หรือแม้กระทั่งไต้หวันเลยได้แนวคิดมาตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ปัจจุบันเติบโตเป็นหน่วยหลักหน่วยหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปแล้ว

“ที่ภูมิใจ คือ เวลากองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดแถลงข่าวจะมีชุดสยบไพรี มาร่วมแถลงข่าวด้วย ถือเป็นเขี้ยวเล็บของหน่วยปราบปรามยาเสพติด เพราะเวลานั้นมันแรง เดี๋ยวนี้ก็แรง เพราะคนร้ายมันรู้เท่าทันตำรวจ จำเป็นต้องมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษไว้ปราบปราม” พล.ต.ท.อติเทพว่า

เขาไต่เต้าจากรองผู้บังคับการขึ้นเป็นผู้บังคับการตามลำดับ สุดท้ายนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ในยุคสมัยที่รัฐบาลประกาศสงครามกวาดล้างขบวนการค้ายานรกอย่างต่อเนื่อง เจ้าตัวบอกถึงคดีประทับใจว่า เป็นการแกะรอยนักค้ายาเสพติดที่หลบหนีอยู่ไต้หวันเมื่อ 10 กว่าปีก่อน มีการผลิตยาเสพติดรายใหญ่ที่พัวพันกลุ่มมีสีต่าง ๆ จึงเดินทางไปสอบสวนขยายผลประสานงานระหว่างประเทศถึงได้ข้อมูลนำไปสู่การจับกุมอดีตนายทหารยศ พ.อ.ได้ 2 นาย ศาลพิพากษาประหารชีวิต 1 ราย อีกรายจำคุกตลอดชีวิต

 “เป็นคดีที่ผ่านมา 10 ปีแล้ว ที่ต้องให้เครดิตพวกตำรวจเก่าๆ เรื่องยาเสพติดสมัยก่อนเป็นการทลายเครือข่าย การจับยาเสพติดสมัยก่อนก็ไม่ได้เก่ง แต่ด้วยความมุมานะของผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกน้องผมทุกคน ผมว่า เราต้องการแบบนี้เขาก็ทำให้หมด วิธีการจับยาเสพติดไม่ได้ไปจับของ คนที่อยู่กับของไม่ใช่ตัวหลัก แค่ตัวเดิน รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แค่คนต้องการเงินค่าจ้าง เมื่อจับได้ก็ต้องสาวต่อว่า เป็นของใคร จะมีตัวละครที่เกี่ยวข้องเยอะมาก”

” นักค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมอยู่ในเรือนจำ ตำรวจปราบปรามยาเสพติดจับได้ 60 เปอร์เซ็นต์ สมัยนั้นจะเห็นว่า มีการยึดทรัพย์เยอะแยะมาก  เราไม่ได้เอาจำนวนเม็ดเป็นตัวตั้ง คดี 200-300 เม็ด แต่ได้ตัวใหญ่ เราเอามาได้ คือ ความสำเร็จในการจับกุม ไม่ใช่ว่าได้ 2-3 ล้านเม็ด แต่ได้ผู้ต้องหาแค่คนขับรถคนหนึ่ง หรืออะไรอย่างนี้มันไม่ใช่ คดียาเสพติดคนมักจะพูดว่า เป็นเพราะตำรวจล่อซื้อ เหมือนสร้างดีมานเทียม แต่ผมอยากจะพูดให้คนทั่วไป หรือแม้แต่ผู้บังคับบัญชาได้ทราบเลยว่า มันไม่ได้อยู่ในหลักเศรษฐศาสตร์” พล.ต.ท.อติเทพน้ำเสียงจริงจัง

อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดอธิบายว่า การสร้างคอนโดมิเนียม ต้องมีการทำหลักฐานใบจอง แต่ยาเสพติด ต่อให้เราไม่ซื้อก็ผลิต แต่มีการนำเข้ามา แล้วการล่อซื้อจับยาเสพติด ทำยังไงมันก็ไม่หมด กำลังการผลิตเยอะมาก ถึงตำรวจไม่ล่อซื้อก็มาทางอื่นอยู่ดี สมัยนั้นเราถึงกับประสานทางไต้หวัน เพราะว่า นักเคมี คนคิดค้นสูตรมาจากไต้หวัน เพราะฉะนั้นเราถึงศึกษาขนาดว่า ขอโปรไฟล์คนที่เข้าเรียนเคมีที่ไต้หวันจบมาแล้วไปทำงานที่ไหน ต้องทำงานแบบนี้ ต้องไปที่ต้นตอ ต้องประสานไปแบบนี้ ประเทศยูมีเท่าไหร่ คนไหนอยู่ในประเทศ ไม่อยู่ในประเทศ มีโจทย์ตั้งเอาไว้ อย่างที่พม่า ก็ไม่ได้ผลิตเอง แต่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ผลิต เราจะทำยังไง ก็ประสานทหาร กองทัพภาคที่ 3 ก็ให้ความร่วมมือกับเราเป็นอย่างดี เป็นวาระแห่งชาติ ขณะนี้ทหารก็ทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่ต้องมีการประสานงานกันอย่างนี้ ถ้ามีแหล่งผลิต

“ถ้าพูดถึงคนเสพ มันปลายแถวแล้ว ถ้าเศรษฐกิจ สังคมเราดี ก็ไม่เป็นแบบนี้ แล้วอีกอันหนึ่งที่อยากจะพูด อย่างเรื่องเด็กแว้น ผมพูดมาตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้ว เพราะอะไร เพราะเราซื้อมอเตอร์ไซค์ได้ไม่ต้องดาวน์ ไปออกมากัน เผลอๆ ออกค่าน้ำมันให้ แล้ววัยรุ่นคนหนึ่ง พอถูกจับก็เข้ากับพวกไม่ได้ จะไปเอาตังค์จากไหน ก็ต้องไปเอาตังค์กับพวกนี้ เป็นวงจรของความฟุ้งเฟ้อของวัยรุ่น เป็นการตามใจของพ่อ แม่ ที่คิดว่า ให้ลูกมีรถ แล้วจะได้ไม่ต้องไปรับไปส่ง ตามใจกัน สังคมมันก็เลยเป็นแบบนี้” นายพลตำรวจเก่ามอง

พล.ต.ท.อติเทพอยากจะฝากกับตำรวจรุ่นน้องว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในความคิดส่วนตัวเห็นว่า หน่วยปราบปรามยาเสพติดกำลังพลที่จะเข้ามาอยู่ในหน่วย ต้องมีการตรวจสอบประวัติ คัดเลือกกันทุกระดับชั้น แต่ขณะนี้หน่วยยาเสพติดซึ่งเป็นหน่วยที่ต้องทำงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับเป็นหน่วยที่ได้รับเจ้าหน้าที่ซึ่งหมุนเวียนจากหน่วยอื่นมา วัฒนธรรมองค์กรถึงเปลี่ยนไปเยอะ เพราะรับคนใหม่ๆ เข้ามาเยอะ

“มันเป็นเรื่องที่บางทีก็ไม่อยากพูด บางเรื่องมันล่อแหลม หน่วยยาเสพติดเป็นหน่วยความมั่นคง ถ้าไปเกี่ยวข้อง รู้เห็นกับการก่ออาชญากรรมซะเอง เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ผมคิดว่า ถ้ามีก็ต้องโดนจับ แต่ก็อยากให้ผู้บังคับบัญชาได้คำนึงถึง เพราะแม้แต่ประเทศอเมริกาเอง หน่วยปราบปรามยาเสพติดก็เห็นชัดว่า เม็กซิโกเป็นประเทศผลิต โคลัมเบียเป็นประเทศผลิต จับกันทีเป็นพันกิโลกรัม อเมริกาเองก็ไม่ใช่ไม่มีคนติด ก็มี มันไม่หมด แต่ว่าจะทำยังไง ให้ขอบเขตมันชัดเจน”

อดีตผู้นำหน่วยปราบปรามยาเสพติดแสดงความเห็นว่า การแก้ปัญหายาเสพติดขึ้นอยู่กับมุมมองของสื่อ และรัฐบาล ก็ต้องออกข่าวทุกวัน ต้องดูที่ผู้เสพ เอาผู้เสพเป็นหลัก ผู้ผลิตก็ผลิตอีก แต่ถ้าผู้เสพ ลดลง ถือว่าสถานการณ์ดี ไม่ใช่ว่าเอายอดจับได้เยอะ เช่น ปีนี้จับ 1 ล้าน ปีหน้าจับ 2 ล้าน แล้วคิดว่าดี ผลงานดี มันไม่ใช่ อันนี้โดยหลัก ผู้ประเมินต้องประเมิน ต้องมอง ไม่ใช่มองปริมาณ หรือสถิติ แต่ต้องมองเรื่องของคน ถ้าประชาชน หรือผู้เสพน้อยลง ถือว่าประสบความสำเร็จ

อติเทพ ปัญจมานนท์ !!!

 

 

RELATED ARTICLES