สร้างคุณูปการประดับวงการตำรวจไว้มากมาย
พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตอธิบดีกรมตำรวจผู้ล่วงลับที่ถูกบันทึกไว้เรื่องราวเป็นตำรวจมือสะอาดคนหนึ่งในตำนาน เขาเป็นลูกชาย พจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศไทย วัยเด็กเข้าศึกษาโรงเรียนสุรศักดิ์ ไปต่อชั้นมัธยมศึกษาโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนประจำที่บ่มเพาะวินัยและสร้างอุปนิสัยให้เป็นคนมีระเบียบกลายเป็นคุณสมบัติติดตัวนับจากนั้นเป็นต้นมา
เมื่อจบจากโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นช่วงเวลาสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี เด็กหนุ่มลูกชายอดีตผู้นำประเทศได้เดินทางโดยเรือสินค้าไปศึกษาต่อระดับไฮสคูลที่วิทยาลัย วิลบราฮัม ประเทศสหรัฐอเมริกา และมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาเคมี
เจ้าตัวเคยเล่าว่า แท้จริงแล้วอยากเรียนต่อในสาขาแพทยศาสตร์ เพราะขณะนั้นเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามเกาหลี มีทหารอาสาที่กลับจากการรบต้องการสมัครเรียนแพทย์จำนวนมาก สหรัฐอเมริกาจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ทหารผ่านศึกจากสงครามเกาหลีได้มีโอกาสเข้าเรียนวิชาแพทย์ก่อน มีส่วนทำให้เปลี่ยนเส้นทางเพราะไม่อยากรอ เลือกไปเรียนต่อสาขาอาชญาวิทยาแทน มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่เดินทางไปอเมริกาพอดีเป็นผู้ให้คำปรึกษา นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต
เขาไปลงเรียนเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ บินกลับมารับราชการเป็นตำรวจสังกัดกองวิทยาการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง “ครอบครัวผมไม่ห้ามเลย อยากทำอะไรก็ตาม” พล.ต.อ.เภาว่า หลังจากก้าวกระโดดติดยศว่าที่ ร.ต.อ. ก่อนขยับเป็นผู้กำกับการ 1 กองพิสูจน์หลักฐาน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองหัวหน้ากองพิสูจน์หลักฐาน และขึ้นเป็นหัวหน้ากองพิสูจน์หลักฐาน เลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันปราบปรามยาเสพติด สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อวางรากฐานหน่วย แล้วโยกกลับมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขึ้นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ และเป็นอธิบดีกรมตำรวจคนที่ 25 ต่อจาก พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ เมื่อปี 2530 ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2532
พล.ต.อ.เภาได้กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันตำรวจ 13 ตุลาคมปีแรกที่ที่นั่งเก้าอี้ผู้นำ ประกาศจะให้กรมตำรวจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะการป้องกันและการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมนั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยจึงจะบังเกิดผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น ขอให้ตำรวจทุกคนจงเข้มแข็ง อดทน และสำนึกในหน่วยที่ด้วยความรับผิดชอบในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุขภาพอ่อนน้อม ดั่งคำขวัญที่ว่า ซื่อสัตย์สุจริตเป็นมิตรประชาชน อ่อนน้อมถ่อมตน อดทนรอบคอบและรับผิดชอบผลงาน
แนวทางการบริหารงานของ พล.ต.อ.เภาเป็นการผสมผสานทั้งความหนักแน่นและอ่อนโยนไว้ด้วยกัน วางนโยบายของกรมตำรวจอย่างแยบคาย เน้นความสุจริตเป็นที่ตั้ง “ เมื่อรับราชการในกรมตำรวจ คุณพ่อบอกผมว่า พ่อมีน้ำสะอาดไว้ให้ลูกอยู่เต็มถังให้ใช้ดื่มกินไปตลอดชีวิต อย่าได้ยอมให้น้ำสกปรกแม้แต่เพียงหยดเล็ก ๆ หยดเดียวมาทำให้น้ำในถังนั้นสกปรก เพราะเพียงแค่น้ำสกปรกเข้ามาปนกับน้ำสะอาดที่พ่อมีให้ไว้แม้เพียงน้อยนิด ลูกจะดื่มกินน้ำในถังอย่างไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต แล้วมันจะทำให้ชีวิตของลูกเศร้าหมอง ผมจดจำคำพูดของคุณพ่อที่สอนไว้มาจนบัดนี้” พล.ต.อ.เภาพูดไว้เสมอ
ภารกิจของตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถือเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พล.ต.อ.เภามองว่า งานสืบสวนสอบสวนจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในวิถีของชุมชน และความร่วมมือจากประชาชนจึงจะได้สัมฤทธิ์ผล ด้วยเหตุนี้เขาจึงริเริ่มโครงการครอบครัวพ่อแม่บุญธรรมในปี 2531 บรรจุอยู่ในหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นครั้งแรกเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนและตำรวจ มอบหมายให้ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายบริหารในขณะนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ
โครงการครอบครัวพ่อแม่บุญธรรมปลูกฝังให้ข้าราชการตำรวจมีทัศนคติที่ดี สำนึกในหน้าที่การเป็นผู้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง อดีตอธิบดีกรมตำรวจกล่าวอย่างภูมิใจว่า ตัวเองสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่ เพราะเป็นโครงการที่ดีมาก หวังว่า ตำรวจรุ่นนี้แหละรุ่นต่อ ๆ ไปจะมีประสบการณ์และเรียนรู้วิถีของชาวบ้าน เมื่อเข้ามาเป็นตำรวจจะได้รู้ถึงความทุกข์ของประชาชน ตำรวจยุคใหม่จะได้เลิกรีดไถเสียที
“ผมจะกำหนดให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตร่วมกับประชาชน ก่อนที่จะออกมาทำงานตามสถานีตำรวจ บรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนของนักเรียนนายร้อยตำรวจทุกรุ่นจะต้องทำเช่นนี้ทุกคน อย่างชาวบ้านถ้าเขามีอาชีพปลูกเห็ดก็ให้ไปปลูกเห็ดกับเขาด้วย ไปดูวิธีปลูกเห็ดว่าเป็นอย่างไร เขาตื่นตีสองไปเก็บเห็ด พอตีสามไปตลาด ก็ต้องไปกับเขาด้วย”
เจ้าตัวยังเน้นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพของบุคลากรมากกว่าปริมาณ โดยเฉพาะในเรื่องคุณธรรมพยายามให้ตำรวจทุกนายมีจิตสำนึกของความเป็นตำรวจ ปลูกฝังให้มีความรู้สึกว่าเป็นผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกับเข้มงวดกวดขันเรื่องวินัย ความประพฤติ สนับสนุนด้านสวัสดิการที่ข้าราชการตำรวจพึงได้รับให้มากยิ่งขึ้น และการแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นธรรม ยึดหลักความรู้ ความสามารถ และอาวุโสประกอบกัน
ด้านการป้องกันและปราบปราม พล.ต.อ.เภาเน้นให้การทำงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นแผนระดับประเทศ ระดับกระทรวง ระดับกรมตำรวจ นอกจากยุทธวิธีตำรวจทั่วไปแล้วได้ให้ความสำคัญในเรื่องการนำมาตรการด้านมวลชนสัมพันธ์มาเสริมในงานด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพัฒนางานด้านสืบสวนในทางลับให้ได้มาซึ่งข่าวสารที่จะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขเหตุการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงได้อย่างทันท่วงที เน้นการเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมวลชนและความมั่นคง
อดีตอธิบดีตำรวจตงฉินยังมีบทบาทอันสำคัญในการวางรากฐานให้แก่ภารกิจการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศ จุดเริ่มต้นมาจากการที่ได้ติดตาม พล.ต.อ.เยื้อน ประภาวัต ไปประชุมเรื่องปัญหายาเสพติดที่สหประชาชาตินครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และไปประชุมติดต่อกันทุกปีที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กระทั่งได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้นให้เข้ามาช่วยปรับปรุงงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการศูนย์ปราบปรามยาเสพติดให้โทษ กรมตำรวจ (ศปส.ปส.) ที่ต่อมาขยายงานจนกลายเป็นกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดในปัจจุบัน
ด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์อันยาวนานประกอบกับที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ส่งให้เขานั่งเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เสนอแนวคิดใหม่ว่า “การปราบปรามผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติด เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จำเป็นต้องเน้นการป้องกันการเสพและการแพร่ระบาดของยาเสพติด ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตำรวจ และประชาชนทั่วไป”
ตำนานนายพลตำรวจที่ไปนั่งเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดกำหนดมาตรการอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม 4 หัวข้อ ตั้งแต่มาตรการป้องกันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านยาเสพติดให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายลดอุปสงค์ของยาเสพติด เช่น ในกลุ่มเด็กและเยาวชนใช้กระบวนการให้ความรู้ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียนเพื่อให้เข้าใจถึงพิษภัยและอันตรายของยาเสพติด ขณะที่มาตรการปราบปราม เน้นระบบการข่าวและการตรวจค้นจับกุมตามกฎหมายและระเบียบอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพเพื่อลดอุปทานของยาเสพติด
นอกจากนี้ มีมาตรการบำบัดรักษาเพื่อไม่ให้ผู้ที่เสพติดแล้วกลับไปใช้ยาเสพติดอีก สุดท้ายเป็นมาตรการควบคุมพืชเสพติด ถือเป็นมาตรการสำคัญยิ่งในการลดอุปทานแบ่งการแก้ไขเป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางการปราบปราม จับกุมผู้ปลูกพืชเสพติดเพื่อลดปริมาณยาเสพติดในพื้นที่ให้น้อยลง กับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ปัญหาการปลูกพืชเสพติดให้ลด ละ เลิก สนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานแนวทางไว้ เช่น ทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม การปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทน การพัฒนาพื้นที่ทำกิน การจัดหาตลาดเพื่อจำหน่วยผลผลิตของเกษตรกร การสร้างความเจริญเข้าสู่ชุมชน
ระหว่างนั้นได้มีส่วนก่อตั้งมูลนิธิป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ต่อมาเปลี่ยนเป็น “มูลนิธิ พล.ต.อ.เภา สารสิน” เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณูปการของเจ้าตัวที่เห็นว่า ราชการมีงบประมาณจำกัด ระเบียบการบังคับเบิกจ่ายมีหลายขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการทำให้การช่วยเหลือข้าราชการที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการปราบปรามยาเสพติดไม่ทันต่อเหตุการณ์ เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลก็มีจำกัด ครอบครัวและทายาทของข้าราชการเหล่านั้นจึงได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดรายได้จากหัวหน้าครอบครัว
มูลนิธิที่ตั้งขึ้นมีบทบาทและภารกิจสำคัญในการสร้างขวัญกำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อนเป็นกรณีเร่งด่วนแก่ครอบครัวข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานปราบปรามยาเสพติดของทุกหน่วยงานที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้ทุนการศึกษาแก่บุตรธิดาตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงระดับปริญญาตรี อีกทั้งดำเนินการ “บ้านตะวันใหม่” เพื่อให้การบำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาเยาวชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือติดยาเสพติด อาทิ เด็กเร่ร่อน เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เด็กด้อยโอกาส และเด็กที่มาจากครอบครัวแตกแยก ด้วยการให้ที่อยู่อาศัย ส่งเข้าเรียนในสถานศึกษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย พัฒนาอารมณ์ ฝึกทักษะอาชีพเพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตก้าวเป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีในอนาคต
“ผู้ไม่รู้จักพระคุณแผ่นดิน มุ่งหวังประโยชน์มอมเมาเยาวชนด้วยการขายยาเสพติดทุกประเภท สร้างความทุกข์ยากอย่างขาดสามัญสำนึกและโหดร้ายที่สุด ขอให้ทุกคนช่วยกันคิดและหาทางป้องกัน เริ่มจากครอบครัวของทุกคน ให้ความรักความอบอุ่น เอาใจใส่ลูกหลานในทุกเรื่องให้ดีจะเป็นเกราะป้องกันลูกหลานให้ห่างไกลยาเสพติดทั้งปวง”
เขาถึงอยากทำสถานที่รักษาจิตใจของคนติดยาเสพติด เพราะทุกคนบอกว่า รักษาคนติดยาต้องมุ่งเน้นรักษาทางร่างกายไปเข้าโรงพยาบาล แต่จริง ๆไม่ใช่อย่างนั้น ด้านร่างกายรักษา 10 วันก็หาย แต่หลังจาก 10 วันนี้แล้ว พวกเขาจะไปไหน ถ้ากลับไปติดที่เก่าก็ไปติดใหม่ ถึงต้องไปรักษาทางจิตใจ
การปฏิบัติงานของ พล.ต.อ.เภาประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปว่า เป็นผู้ตั้งใจทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับนับถือทั้งในประเทศ และวงการตำรวจทั่วโลกจนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “รองประธานกรรมการองค์การตำรวจสากล” ระหว่างปี 2529-2531 ถือเป็นอธิบดีกรมตำรวจไทยคนแรกที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การตำรวจสากลครั้งที่ 57 เมื่อวันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2531 มีผู้แทนจากประเทศภาคีสมาชิกรวม 146 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ
กว่าแปดทศวรรษของทายาทนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของประเทศไทยทิ้งเรื่องราวไว้มากมาย รวมถึงวาทะและคำคมจำนวนไม่น้อยฝากไว้เป็นข้อคิดแก่คนรุ่นหลัง เขาพูดเสมอว่า ความมีเสน่ห์นอกจากจะช่วยให้เราเป็นที่รักของผู้อยู่แวดล้อมตำรวจแล้ว ยังเป็นเครื่องเพิ่มบารมีของเราให้อยู่ตำแหน่งอันสูงส่งได้นานเท่านาน การสร้างเสน่ห์ก็คือการกำจัดศัตรู กลับใจให้ศัตรูทั้งหลายมาเป็นมิตรของเราได้ในที่สุด
“ขอให้ตำรวจทุกคนจงเข้มแข็งอดทนและสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตปฏิบัติกับประชาชนด้วยความสุภาพอ่อนน้อม อย่าไปรังแกประชาชนเพราะเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน” พล.ต.อ.เภาบอกและย้ำตลอดว่า “ถ้าตำรวจไม่มีผลประโยชน์ หรือมีน้อยจะส่งผลให้เกิดความรักและสามัคคีในหมู่ตำรวจด้วยกันมาก ขณะที่มือข้างหนึ่งท่านจับปืน อีกข้างหนึ่งท่านกำตัวบทกฎหมาย ท่านจึงเป็นผู้มีอำนาจพร้อม แต่ท่านต้องนำมาใช้ให้ถูกต้อง”
ในการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรตำรวจ เขาได้สะท้อนเสียงดังว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ฝ่ายการเมือง หรือบุคคลที่มีอิทธิพล หรือผู้มีอำนาจการเงินเข้ามาแทรกแซงในระบบงานของตำรวจ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ระบบต่าง ๆที่วางไว้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ตำรวจเราต้องมีศักดิ์ศรี ปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้ถูกต้องดีงาม รางวัลชีวิต คือ ความสุขกายสุขใจทั้งในยามหลับและยามตื่น อย่าเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จะทำให้การตัดสินใจอะไรง่ายขึ้น ถ้าเอาตัวเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ การตัดสินใจต่าง ๆ จะผิดไปด้วย
อดีตแม่ทัพกรมปทุมวันบอกอีกว่า ยศถาบรรดาศักดิ์และลาภยศทั้งหลายย่อมเสื่อมสลายได้ ถ้าลูกหลานไม่รู้จักรักษาและไม่ประพฤติตนให้ดี อย่าหลงว่า เกิดมากดีพร้อมแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ การหลงในลาภ ยศ สรรเสริญจะเป็นหลุมพรางให้เราไม่ประกอบคุณงามความดีต่อไป “ฉากสุดท้ายของแต่ละคนเป็นอย่างไร หัวโขนที่เราใส่เป็นแค่บอกให้รู้ว่า ขณะนี้เรากำลังรับบทบาทอะไร อย่าไปยึดติดกับหัวโขนมากนัก เพราะเมื่อเราพ้นจากหน้าที่การงานไปแล้ว หรือตายไป สิ่งที่จะทิ้งไว้ให้คนข้างหลังได้คิดถึง ก็คือ ความดีกับความชั่วของเรานั่นเองที่จะติดตามจิตวิญญาณเราไป ทรัพย์สมบัติอย่างอื่นแบกไปไม่ได้เลย”
เภา สารสิน !!!
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากหนังสืออนุสรณ์ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.อ.เภา สารสิน เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2556