“เสน่ห์ของข่าวสืบสวนมันเหมือนกับเราตามหาจิ๊กซอว์ เพื่อมาประกอบให้มันเป็นรูปเป็นร่าง”

  นข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์มากความสามารถ

“ต่อ” ประพงษ์ แหลมแจง  พื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยชั้นประถม เรียนโรงเรียนกอบวิทยา เป็นสมาชิกชมรมต่าง ๆ ลงสมัครประธานนักเรียน กระทั่งเข้าเรียนมัธยมต้นและปลาย ที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ยังคงเป็นเด็กกิจกรรม แม้ไม่ได้มีความฝันจริงจังว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร เปลี่ยนไปตามความชอบ เวลาที่ดูหนังดูละคร ตัวเอกเป็นครู เป็นตำรวจก็อยากเป็นแบบนั้น แต่สิ่งที่รู้ว่าตัวเองมีความชอบ ความสนใจ คือ เรื่อง สังคม ประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง

เจ้าตัวย้อนเกร็ดชีวิตว่า ช่วง ม.ปลายเลือกเรียนศิลป์ภาษาเยอรมัน  เป็นรุ่นแรกของการเปลี่ยนระบบ ยกเลิกการสอบเอ็นทรานซ์ มารู้กันตอนที่เรียน ม. 6 แล้ว  ทำให้เคว้ง  ไม่รู้ว่าจะเอาคะแนนตรงไหนไปสอบ  ตัดสินใจเลือกการสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยคณะต่าง ๆที่ชอบ แต่ไม่ติด สุดท้ายเข้าคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์  เอกบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เหตุผลเพราะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง และคิดว่าชื่อสาขาวิชาอ่านยาก น่าสนใจ

ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย เขายังคงทำกิจกรรม เป็นตัวแทนสาขาวิชาไปประชุมกับสาขาวิชาต่างๆ แทบไม่ค่อยได้กลับบ้าน  ขณะนั้นมีการชุมนุมทางการเมือง ได้มีโอกาสไปร่วมชุมนุมบ้าง เพราะอยากฟังว่าสอดคล้องกับสิ่งที่เรารู้ไหม และมองว่า การเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะเดียวกัน เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพียงแต่ต้องใช้วิจารณญาณในการรับฟัง กระทั่งใกล้เรียนจบมีโอกาสไปฝึกงานสำนักประสานงานการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล  ตรงกับความชอบความสนใจ ทำให้ทุ่มเทกับการฝึกงานเต็มที่  แต่ก็มีเหตุที่ทำให้ต้องจบช้าไปครึ่งปี

  ประพงษ์เล่าว่า ปกติฝึกงานจะมีสมุดสีชมพูที่เราต้องมาลงรายละเอียดว่า แต่ละวันทำงานอะไรบ้าง แล้วให้พี่เลี้ยงเซ็นรับรอง  ตอนนั้นเป็นช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายในเรื่องของการเผยแพร่ความรู้สภาพัฒนาการเมืองไปยังชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ กองที่ฝึกงานอยู่ต้องมีการลงพื้นที่จังหวัดระยอง  ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมบุกทำเนียบรัฐบาล สมุดรายงานวางอยู่ที่โต๊ะ การชุมนุมยืดเยื้อยาว ถึงเวลาขีดเส้นตายต้องส่งรายงาน ไม่มีสมุดไปส่ง กลายเป็นว่า เราจบช้ากว่าเพื่อน จากเดิมที่ควรต้องจบ 3 ปีครึ่งเป็น 4 ปี

หลังเรียนจบ บัณฑิตหนุ่มจากรั้วสวนสุนันทารับว่า ชีวิตยังไม่ได้เข้าใกล้งานข่าวแม้แต่นิดเดียว ไปทำงานอื่นตามที่รุ่นพี่แนะนำ เพราะเห็นความขยันสมัยฝึกงาน แต่ทำแล้วรู้สึกไม่ใช่ตัวเอง กระทั่งมีเหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดพลิก และทำให้ก้าวสู่อาชีพคนข่าว “ตอนนั้นกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะไปเรียนต่อ หรือทำงานอื่น และได้ไปสอบที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่เปิดสอบพอดี  มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อโอ๊ต สมัยเรียนสุรศักดิ์มนตรี โทรมาชวนไปสมัครงานเป็นเพื่อนที่เดลินิวส์ แค่ไปเป็นเพื่อนไม่ได้สมัครด้วย เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้จบด้านนิเทศศาสตร์มา ระหว่างนั่งรอเพื่อน ฝ่ายบุคคลถามเพราะเห็นว่า มีเอกสารมาแต่ไม่สมัคร พอเขารู้เหตุผลก็บอกว่า สมัครได้ถึงจะไม่ได้จบด้านสื่อมาโดยตรง สุดท้ายเลยกรอกใบสมัครเป็นนักข่าวการเมืองกับนักข่าวอาชญากรรม

สอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ทั้งที่เดลินิวส์และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผลปรากฏว่า สื่อหนังสือพิมพ์หัวยักษ์สีบานเย็นเรียกก่อน เขาถึงเลือกทำงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันแรกวันที่ 2 ธันวาคม 2552  ที่โต๊ะข่าวอาชญากรรม ได้รับโอกาสและคำแนะนำจากนักข่าวรุ่นใหญ่หลายคน โดยเฉพาะ ธีรพจน์ พรวิศณุกูล และ “โบน” นพปฎล รัตนพันธ์ หัวหน้าข่าวอาชญากรรม แม้ไม่มีพื้นฐานการทำข่าวมาก่อน

เขาโดนเคี่ยวเข็ญให้ฝึกอ่านหนังสือพิมพ์ พาไปนั่งรถตระเวนข่าว ฝึกให้ฟังวิทยุ ให้ไปเรียนรู้เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ตำรวจ เพื่อให้เข้าใจว่าแบ่งเป็นกี่ชั้นยศ ชั้นประทวนมีอะไรยังไงบ้าง เรียกว่า ให้ไปทำความรู้จักเกี่ยวกับเรื่องตำรวจให้มากขึ้น ตระเวนวันแรกไปทำข่าวลักทรัพย์ในพื้นที่ สน.ห้วยขวาง จดทุกอย่าง แต่ไม่จดว่า ตำรวจพูดอะไร เพราะใช้วิธีจำเอา ปรากฏว่าผิด โดนรุ่นพี่ให้ปรับแก้ เนื่องจากติดการใช้ภาษาทางการเกินไป เช่น คำว่ากระผม หรือประการฉะนี้  ผิดรูปแบบที่จะเอามาทำข่าวอาชญากรรมกับข่าวสไตล์ของเดลินิวส์

ประพงษ์มองว่า อาจเพราะตอนฝึกงานการเมือง ต้องสรุปสาระสำคัญของการประชุม ทำให้ติดภาษาราชการมาใช้ในการเขียนข่าว  ถึงกระนั้นรุ่นพี่ไม่ได้แก้ให้  แต่ใช้วิธีส่งหนังสือพิมพ์ให้อ่าน ให้เราเรียนรู้เอง ช่วงทำงานด้วยความสนุก 4 เดือนแรกแทบจะไม่ได้หยุด เป็นช่วงของการเรียนรู้ อยากใช้เวลาในการปรับตัว นอกจากเขียนข่าว แม้แต่การถ่ายภาพยังต้องปรับปรุง เพราะถ่ายออกมาแล้ว มักจะโดนด่าว่า ถ่ายภาพข่าวหรือถ่ายภาพมูลนิธิ เพราะถ่ายเห็นแต่ศพเต็ม ๆ  ไม่ได้ภาพข่าวแบบเล่าเรื่อง ค่อยๆปรับ เรียนรู้องค์ประกอบภาพ

เมื่อถามว่าในการทำงานข่าวสายอาชญากรรม ข่าวที่รู้สึกว่าเป็นโจทย์ยากที่สุด คือ ข่าวอะไร หนุ่มคนข่าวค่ายบานเย็นตอบแบบไม่ต้องคิดเลยว่า คือ ข่าวตามตำรวจป่าไม้ไปบุกจับบริษัทเกี่ยวกับค้าสัตว์ป่า ทีหนองจอก และตามไปที่สระแก้ว เพราะจากข่าวนั้น ต้องกลับมาเขียนเป็นสกู๊ป 3 ตอน เวลานั้นไม่รู้ว่า สกู๊ปเป็นอย่างไร  ไม่รู้ว่าจะวางแผนยังไง ไปขอคำปรึกษาจากพี่ๆในออฟฟิศ ได้คำแนะนำมาว่า ให้เรียงลำดับความสำคัญของประเด็นที่ได้มา แล้วมาขมวดปมเพื่อที่จะตบท้ายจึงเริ่มด้วยปัญหาของขบวนการก่อนว่ามีอะไรบ้าง คอยมาตีแผ่เส้นทางของขบวนการ สถิติในการจับกุม และการแก้ไข ทางออก กฎหมายไซเตสมีความรัดกุม หรือต้องมีการปรับแก้อย่างไร ค่อนข้างยากที่จะทำคนเดียวได้ทั้งหมด แต่ผ่านมาได้ เราหาข้อมูลทั้งจากตำรวจ เอ็นจีโอ รวมถึงคุยกับผู้ต้องหา ทำให้ดูมีหลายมิติครอบคลุม ไม่ได้เป็นข่าวเชิงด้านเดียว

ทำงานมา 10 ปีเต็ม นอกจากข่าวอาชญากรรมแล้ว ข่าวตีแผ่สังคมด้านต่างๆ เป็นงานที่เขาภูมิใจ เพราะหลายข่าว ผลตามมา คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น ข่าวปัญหาท้องสนามหลวง  จนกระทั่งมีการเข้าไปจัดระเบียบนกพิราบในสนามหลวง   ข่าวตีแผ่ขบวนการค้าสัตว์ป่านอแรด งาช้าง หากสามารถนำออกนอกประเทศได้จะมีมูลค่าค่าเพิ่มขึ้น 10 เท่า ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วใครที่จะเป็นคนที่สนับสนุน หรือต่อท่อให้กับขบวนการ และอะไรเป็นสาเหตุที่ขบวนการค้าสัตว์ป่ายังอยู่ได้

คนข่าวหนุ่มมากประสบการณ์อธิบายว่า ข่าวนี้เราได้หลักฐานสำคัญในการสืบสวน  คือ ภาพวงจรปิดภายในสนามบิน พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐของหน่วยงานหนึ่ง มาคอยอำนวยความสะดวกในเรื่องของการขนย้าย ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมไซเตส เรากพยายามที่จะผลักดันในเรื่องที่ของโทษการค้าสัตว์ป่าให้มันเพิ่มโทษมากขึ้น เพราะว่า โดยปกติโทษปรับแค่หลักหมื่น และจำคุกแค่ไม่กี่ปี โทษเบา ทำให้คนที่ทำคิดว่าถ้าทำแล้วรอดไปก็คุ้ม

“ ผมมองว่าเสน่ห์ของข่าวอาชญากรรม มันทำให้ได้รู้ถึงการใช้ชีวิตว่า สภาพสังคมที่ปัจจุบันเป็นแบบนี้ เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท เพราะปัจจุบันนี้ข่าวอาชญากรรมมันมีหลายรูปแบบ ทั้งข่าวความสูญเสีย อุบัติเหตุ ข่าวฆาตกรรม ข่าวรูปแบบหลอกลวงลงทุนก็มี ทั้งหมดนี้มันเป็นบทเรียนให้เรานำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน จะเตือนสติให้เราระมัดระวังในเรื่องของการใช้ชีวิตไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโดยง่าย

 ส่วนเสน่ห์ของข่าวสืบสวนมันเหมือนกับเราตามหาจิ๊กซอว์ เพื่อมาประกอบให้มันเป็นรูปเป็นร่าง  เวลาได้ทำข่าวสืบสวนสอบสวน เราก็จะได้เห็นรูปแบบการทำงานของตำรวจ ในขณะเดียวกันเราก็ได้เห็นมุมของผู้ที่ได้รับผลกระทบและมุมความสูญเสียของผู้ที่ถูกหลอก ผู้ที่เป็นเหยื่อ และเราก็ได้เห็นพฤติกรรมบาปของคนที่ก่อเหตุ  ประเด็น 1 ประเด็นเท่ากับ จิ๊กซอว์ 1 ชิ้น ในการต่อประกอบให้เป็นรูปเป็นร่าง  บางครั้งประเด็นที่เราได้มาอาจจะไม่ใช่จิ๊กซอว์ชิ้นที่ตรงกับรูป มันก็อาจจะเอามาต่อเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้”

  ผลงานข่าวของเขาหลายชิ้นได้รับรางวัลจากหลากหลายเวที เป็นเครื่องการันตี เช่น ข่าวโกงเงินสหกรณ์ตำรวจที่ไม่ได้ต่างจากแชร์ลูกโซ่ คือ หลอกระดมทุน อ้างจะให้ค่าตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร  เหยื่อมีทั้งตำรวจและประชาชน ขณะที่กลุ่มผู้ต้องหาที่ทำกันเป็นขบวนการยังมีตำรวจและข้าราชการระดับสูงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ข่าวชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ข่าวสืบสวนสอบสวน ของ สมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ปี 2561 รวมถึงข่าวตีแผ่พฤติกรรมทัวร์ศูนย์เหรียญ และข่าวทลายเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ที่มีโอกาสติดตามชุดสืบสวนลงพื้นที่ไปแกะรอยเครือข่ายถึงต่างประเทศ

“ข่าวทลายเครือข่าวขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์  ผมได้มีโอกาสติดตามชุดจับกุมไปที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา ดูไบ มาเลเซีย ถือว่าเป็นข่าวอีกชิ้นที่ภูมิใจ เพราะตอนนั้นนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้ามาระบาดหลอกคนไทย ตั้งฐานในต่างประเทศ แล้วใช้วิธีการโทรแบบ VOIP  ในการหลอกผู้เสียหาย ต้องอาศัยการแกะข้อมูลจนเจอว่า ทั้งโลกมีอยู่ 3 เครือข่ายใหญ่ที่เป็นหัวหน้าขบวนการ ไปตั้งฐานตามสถานที่ต่างๆ ชุดสืบสวนต้องขยายทีละเครือข่ายและย้อนขึ้นไป ความยากของคดีนี้ คือการแกะว่าแต่ละฐานอยู่ที่ประเทศไหน สิ่งที่น่าสนใจคือ พบว่า คนที่ไปทำงานกับเครือข่าวแก๊งนี้  บางคนเป็นคนต่างจังหวัด แค่ต้องการไปทำงานต่างประเทศเพื่อเอาเงินส่งกลับมาบ้าน พอไปถึง ถูกขังอยู่ในห้อง ให้อ่านตามบทพูดที่กำหนดจนต้องกลายเป็นสมยอมทำงานบางคนก็ถูกหลอกให้เปิดบัญชี 

ถือเป็นงานที่ประพงษ์รู้สึกว่า ได้รับโอกาสจากทางผู้ใหญ่หลายท่าน ไว้ในเชื่อใจในการให้ไปเกาะติดข่าวนี้  แหล่งข่าวไว้เนื้อเชื่อใจในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล  ดูเส้นทางการเงินโอนไปที่ไหน  เป็นความซับซ้อนและความยาก  มันน่าภูมิใจนะ ไปเห็นถึงฐานคอลเซ็นเตอร์ แก๊งเหล่านี้เกิดขึ้นมา 10 กว่าปีแล้ว ที่ผ่านมาตำรวจไม่เคยไปจับได้เลย ขณะเดียวกันไม่เคยตามเงินคืนได้เลย  แต่ช่วงระยะหลังตั้งแต่ปี 2560 มา ตำรวจ  ปปง. และธนาคารทำงานร่วมกัน ตรวจสอบเส้นทางการเงิน  อายัดเงิน และเอาเงินมาคืนให้เหยื่อได้  ทั้งที่หลายๆคนคิดว่า ไม่น่าจะมีโอกาสได้เงินคืนแล้ว  ได้เห็นความโชคดีของคนที่ได้เงินคืนมา แม้จะบางส่วนก็ตาม  ก็ทำให้สังคมเห็นว่าหน่วยงานรัฐเองถ้าร่วมงานกัน ในการทำงานอย่างจริงจัง มันก็สามารถที่จะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่”

ถามถึงคำว่า “สื่อมวลชน” สำหรับเขาให้นิยามคืออะไร คนข่าวหนุ่มไฟแรงค่ายบานเย็นที่ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจแสดงความเห็นว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือนกระจก มีหน้าที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมทุกวันนี้เป็นอย่างไร ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ไม่ได้มีหน้าที่ชี้นำสังคมว่า ต้องเดินไปยังไง ทางไหน  เพราะสุดท้ายแล้วประชาชนเองต่างหาก ที่จะเป็นคนเลือกทางเดินเ

RELATED ARTICLES