“นักข่าวต้องทำงานสืบสวนเหมือนตำรวจ”

 

ลูกชายตำรวจชั้นประทวนโรงพักสามเสน

ทว่า เจริญผล เอี่ยมพึ่ง เป็นคนกรุงเทพมหานคร บ้านอยู่แถวราชดำเนิน ต้องกำพร้าพ่อตั้งแต่อายุเพียง 6-7 ขวบ แม่ทำงานเป็นแม่ครัวอยู่แถววิสุทธิ์กษัตริย์ตกเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวดูแลลูกทั้งหมด 9 คน หลังจากสามีที่ขณะนั้นยศ ส.ต.ท.ป่วยจนถึงแก่กรรมกะทันหัน

เจริญผลเป็นลูกคนที่ 7 พยายามดิ้นรนสานความฝันอยากรับราชการตำรวจตามรอยพ่อ เขาจบชั้นประถมโรงเรียนวัดมหรรณพาราม ไปต่อมัธยมโรงเรียนวัดราชบพิธ พอจบมาเห็นพ้องตรงกันกับแม่อยากให้เป็นตำรวจเหมือนพ่อ ดั้นด้นไปสมัครโรงเรียนตำรวจนครบาล แต่อายุไม่ถึงเกณฑ์ขาดเพียง 3 เดือน ทั้งที่ว่ายน้ำ วิ่ง น่าจะผ่านสบาย  แถมมีคะแนนพิเศษจากสิทธิที่พ่อเป็นตำรวจอีกด้วย

แบกความผิดหวังในวัย 16 ปีเศษกลับมาไปทำงานเป็นช่างรังวัดที่พี่สาวพาไปฝากพรรคพวกแถวนนทบุรีอยู่ประมาณปีกว่า

เจ้าตัวเล่าว่า  ครอบครัวที่อยู่แถวราชดำเนินตอนนั้นถือเป็นครอบครัวใหญ่ เต็มไปด้วยนักหนังสือพิมพ์ที่มีบ้านอยู่ติดกัน โดยเฉพาะสุรัฐ จินากุล ที่อยู่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และวัลลภ ชัดแววศรี ที่อยู่หนังสือพิมพ์ดาวสยาม  และอีกหลายคนอยู่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ เรียกได้ว่า เกิดมาอยู่ในวงล้อมของครอบครัวคนทำงานหนังสือพิมพ์ที่ส่วนใหญ่มีสำนักงานอยู่ริมถนนราชดำเนิน

กลายเป็นปฐมบทของการก้าวสู่วงการสื่อมวลชนในเวลาต่อมา

เจริญผลย้อนความว่า ระหว่างยังไม่มีงานทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน สุรัฐที่แม่รู้จักกันและช่วยเหลือดูแลกันมาตลอดด้วยความที่บ้านติดกันเลยชวนไปฝึกงานเป็นนักข่าวประจำกองปราบปรามเมื่อปลายปี 2528 ยุค บุญชู วังกานนท์ นั่งผู้บังคับการกองปราบ

เขาบอกว่า ตอนแรกแทบไม่ได้ทำอะไร หนักไปทางซื้อเหล้า ซื้อกับข้าว คอยไปช่วยถือกระเป๋าให้นักข่าวรุ่นใหญ่มากกว่า เหมือนพวกพี่ ต้องการให้มานั่งดูก่อนว่า นักข่าวประจำกองปราบปรามทำอะไรกันบ้าง ขณะนั้นยังอยู่ที่สามยอด ใช้เวลาอยู่หลายเดือนตามพี่ ๆ ไปไหนมาไหน นอกจาก อี๊ด-สุรัฐ จินากุล แห่งบางกอกโพสต์แล้ว ยังมีแอ๊ด-วิชเลิศ งามขำ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และตุ้ย-ปริญญ์ คุณวัฒน์ ทั้งสามคนถือเป็นนักข่าวรุ่นบุกเบิกของกองปราบสามยอดที่เป็นเสมือนอาจารย์สอนการทำข่าวของเรา

ผมต้องมาก่อนแปดโมงเช้า เพื่อมาคอยดูว่า มีอะไรเคลื่อนไหวบ้าง อยู่ตรงนั้นเป็นปีจนพี่อี๊ดสอนเขียนข่าว  พี่ตุ้ยสอนให้ส่งข่าว สมัยก่อนยังใช้โทรศัพท์ตามห้องทำงานของตำรวจ อยู่ตึกโน้น ห้องโน้น แล้วให้ลองฝึกส่งข่าวดู พูดดูว่า งานนี้มีอะไรบ้างจนเกิดความคล่องตัว พี่อี๊ดจะบอกว่า กลับไปบ้านแล้วให้หัดเขียนข่าว ผมต้องตื่นตีหนึ่ง ตีสองลุกขึ้นมาเขียน ยังไม่ได้หัดพิมพ์ดีด ฝึกเขียนไปก่อน เขียนมาแล้วให้พี่อี๊ดอ่าน ถ้ายังไม่ผ่าน ก็ต้องทำไปใหม่จนพอได้บ้างแล้ว พอมีข่าวอะไรพี่  ๆ จะให้โอกาสไปทำคนเดียวก่อนมาส่งดู

แม้ยังไม่มีสังกัด แต่เจริญผลได้รับมอบหมายจากนักข่าวรุ่นใหญ่ประจำกองปราบปรามให้ทำหน้าที่สังเกตการณ์ทำข่าวตั้งแต่นั่งเฝ้าสิบเวรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม คอยดูมีใครมาแจ้งความ มาร้องทุกข์ตำรวจ  แล้วเลือกว่า อันไหนดีและน่าสนใจ ดูว่า วันนี้มีใครเข้ามา เอาบันทึกประจำวันไปดู มีชื่อคนร้องเรื่องอะไร ก่อนมาบอกรุ่นพี่ทั้งสามคน

เรื่องราวอันไหนน่าสนใจ เจริญผลบอกว่า รุ่นพี่จะให้ไปตาม ไปทำ ไปเขียนข่าวมา ทำอยู่แบบนี้เป็นปี มีรุ่นพี่ดูแลเรื่องเบี้ยเลี้ยง  มีข้าวกลางวันให้กิน ตกเย็นมีตั้งวงเหล้ากันร้านข้าวต้ม “นายเตี้ย” ข้างกองปราบสามยอด เราก็ไปนั่งและซึมซับบรรยากาศการทำงานอย่างนั้นเรื่อยมากว่าจะได้ไปอยู่สังกัดหนังสือพิมพ์ดาวสยาม กระทั่งดาวสยามปิดตัวต้องย้ายไปหนังสือพิมพ์สื่อไทย ไม่นานเจ๊งอีก พาระเหเร่ร่อนไปอยู่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยจวบจนปัจจุบัน

ชีวิตที่ผ่านมา เขาได้ทำข่าวยุคผู้บังคับการปราบปรามหลายคนล้วนเป็นตำนานสวมเครื่องแบบติดอาร์ม”กองปราบปราม”  ตั้งแต่ บุญชู วังกานนท์ รุ่งโรจน์ ยมกกุล เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รังสิต ญาโญทัย ล้วน ปานรศทิพ วรรณรัตน์ คชรักษ์ คำนึง ธรรมเกษม วชิระ ทองวิเศษ  อดิศร นนทรีย์  อัศวิน ขวัญเมือง  สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ โกสินทร์ หินเธาว์  วินัย ทองสอง วรศักดิ์ นพสิทธิพร  พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์  สุพิศาล ภักดีนฤนาถ  ชัยทัต บุญขำ  อัคราเดช พิมลศรี  สุทิน ทรัพย์พ่วง ไมตรี ฉิมเฉิด จิรภพ ภูริเดช สุวัฒน์ แสงนุ่ม และมนตรี เทศขัน

ถามว่าประทับใจข่าวอะไร เจริญผลเงียบสักพักเพื่อจัดลำดับความคิดเนื่องจากมีหลายข่าวสำคัญสะสมประสบการณ์แก่ตัวเขา ก่อนตัดสินใจตอบว่า เป็นคดีผู้พันตึ๋ง-พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ ตกเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรมนายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร  ที่โรงแรมรอยัลแปซิฟิก ถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ผมอยู่พิมพ์ไทย ไม่ได้ประจำกองปราบปรามอย่างเดียว ถ้ามีข่าวใหญ่ต้องตระเวนไปทำข่าวด้วย วันนั้นขี่มอเตอร์ไซค์ไปดู มีนักข่าวออกกันอยู่เต็มไปหมด ตำรวจกองปราบปราม มีทวี สอดส่อง ตอนนั้นเป็นผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ระหว่างกลุ่มนักข่าวรอสัมภาษณ์รัฐมนตรีที่ไปโรงแรมเกิดเหตุจนลืมขึ้นไปข้างบนตึก ผมฉวยขึ้นไปชั้นที่พบศพ เจอสมุดบันทึกการเข้าพักที่อยู่ข้างบนพอดี และไม่มีใครสนใจ คนข่าวพิมพ์ไทยว่า

มันเป็นสมุดปกสีน้ำเงิน ผมมีประสบการณ์จากที่นักข่าวรุ่นเก่าสอนไว้เสมอว่า นักข่าวต้องทำงานสืบสวนเหมือนตำรวจ ประกอบกับความที่เราเป็นคนช่างสงสัย ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไม ตำรวจถึงทิ้งจุดนี้ไป ไม่ได้เก็บเป็นหลักฐาน ตัวสมุดเล่มนี้ทีแรกกะจะเก็บลงมาคนเดียว แต่คิดไปคิดมาเดี๋ยวหลักฐานจะหาย เราจะพลอยซวยเจอปัญหาไปด้วย ตัดสินใจเอามาให้ประวุธ วงศ์ศรีนิล  สารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปรามเก็บดีกว่า

เจริญผลขยายความเพิ่มเติมว่า หลักฐานชิ้นสำคัญอยู่ที่สมุดเล่มดังกล่าวลงรายชื่อผู้เข้าพักบนชั้นเกิดเหตุทั้งหมด ปรากฏชื่อ  GAY เป็นชื่อนิกเนมของผู้พันตึ๋ง เรารู้สึกว่า มีความผิดปกติ ทำไมไม่ลงชื่อจริง ทำไมถึงมีการลบ ต่อมาเป็นส่วนหนึ่งของพยานหลักฐานที่มีการใช้ในการสืบพยาน และเบิกความในศาลให้เชื่อว่า ผู้พันตึ๋งจงใจใช้ชื่อปลอมในการขึ้นไปพักโรงแรมบนชั้นเกิดเหตุ เป็นพิรุธให้เห็นจนนำมาสู่การบุกจับกุมก่อนศาลฎีกาจะพิพากษาประหารชีวิตในคดีสังหารผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร  เป็นคดีหนึ่งที่เราได้ใช้ไหวพริบในการทำงานข่าว

ขณะเดียวกัน เจริญผลได้ชื่นชอบการทำงานถึงลูกถึงคนของผู้บังคับการปราบปรามหลายยุค ยกตัวอย่าง รังสิต ญาโณทัย  คำนึง ธรรมเกษม อัศวิน ขวัญเมือง เหตุผลเพราะเป็นนายพลตำรวจมือปราบสายบู๊ แต่อาจคนละสไตล์กับผู้บังคับการท่านอื่นที่จะมีรูปแบบแตกต่างกันไปตามความถนัดของแต่ละคน อย่างวินัย ทองสองจะอีกรูปแบบ สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ก็อีกแบบที่ดูนุ่มนวล ส่วนรุ่นใหม่ยังมีอัคราเดช พิมลศรี

ผมมองการทำงานของตำรวจกองปราบ คิดว่าจะต้องไม่ห่างไปจากรูปแบบนี้ คือ บู๊ บุ๋นรวมกัน ผมอยู่มาน่าจะประมาณเกือบ 20 ผู้การได้ อย่างจิรภพ ภูริเดช ได้ชื่อเป็นสไตล์แบบนักสืบรุ่นใหม่ สายเทคโนโลยี เกี่ยวกับการนำวิชาไฮเทคเข้ามาใช้กับตำรวจปราบปราม ผมได้อยู่มากับรุ่นเก่ามาจนถึงรุ่นปัจจุบัน การทำงานของตำรวจกับนักข่าวแทบเปลี่ยนแปลงไปมากพอกัน

นักข่าวรุ่นเดอะประจำกองบังคับปราบปรามยอมรับว่า  โลกยุคใหม่ทำให้การทำงานของนักข่าวรุ่นน้องต้องเน้นเร็วขึ้น เพราะไอทีก้าวไปไกลเป็นดิจิทัลหมด จำเป็นต้องเน้นความเร็ว ไม่เหมือนยุคก่อนที่มีแต่กระดาษ สื่อมีแค่หนังสือพิม์ วิทยุ และโทรทัศน์ ไม่ได้มากมายเหมือนปัจจุบันที่ต้องเร่งออกข่าวแข่งขันกันนำเสนอความรวดเร็วผ่านโทรศัพท์มือถือ มีการไลฟ์รายงานสด ไม่ใช่แค่ว่าหนังสือพิมพ์จะตายนะ แต่ทีวีก็จะตายด้วย เพราะว่าโทรศัพท์มือถือสามาถทำให้ทุกคนเข้าไปดูแบบเรียลไทม์เป็นแสนเป็นล้าน ด้วยความที่โลกเปลี่ยน

เขายังให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคน้อยรายจะไปนั่งอ่านจากหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ในอดีตไทยรัฐเขียนข่าวบรรยายร่ายยาวมาตั้งแต่หัวบ้านกว่าจะเข้าเรื่อง แต่สมัยปัจจุบันไม่มีใครชอบอ่านข่าวยาว เปลี่ยนมาอ่านแค่กระชับให้ได้ใจความ ทำให้เราต้องเปลี่ยนแนวทางการเขียนข่าว ตามรูปแบบที่เปลี่ยนไป ถ้าเราไปบรรยายยืดยาวเหมือนเดิม ผู้บริโภคข่าวจะเบื่อ  เพราะต้องการอ่านแค่รู้ว่า มีอะไรเกิดขึ้น

ถึงกระนั้น เจริญผลฝากข้อคิดทิ้งท้ายว่า  แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนไม่ได้เลย คือ แหล่งข่าวเราจะทิ้งไม่ได้ แหล่งข่าวสำคัญจะเป็นข้อมูลดิบให้เรานำมาเขียน นอกจากต้องมีแหล่งข่าว สิ่งที่อยากจะแนะนำนักข่าวรุ่นใหม่ว่า ให้ระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วอาจทำให้เสียคุณภาพ ไม่ใช่เอารายงานเร็วไว้ก่อน เนื่องจากบางทีต้นสังกัดข้างในจะจี้มาว่า ข่าวนี้มีแล้วหรือยัง ทำไมของที่อื่นมีของที่เราไม่มี กลายเป็นข้อเสีย คือ เร็วจริง แต่คุณภาพลดลงต่างจากยุคก่อนเยอะ

 

RELATED ARTICLES