“เราต้องดึงความยุติธรรมนั้นให้เท่าเทียมกัน”

 

ดีตผู้บังคับการกองปราบปรามผันตัวเองไปเป็นนักการเมืองร่วมพรรคคนรุ่นใหม่อย่างพรรคอนาคตใหม่ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพรรคก้าวไกล

มีจุดมุ่งหมายเพื่ออยากเปลี่ยนแปลงวงการตำรวจให้ดีขึ้นกว่าในอดีค

พล...สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ลูกชายขุนสุเมธมัชชกรรม (สุเมธ สดสุ่น) ข้าราชการระดับหัวหน้ากองกษาปณ์ เกิดโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เติบโตละแวกชนชั้นกลางอยู่ตรอกโรงไหม ถนนเจ้าฟ้า ติดท้องสนามหลวง

เรียนจบมัธยมวัดบวรนิเวศไปสอบโรงเรียนเตรียมหทารเลือกเหล่านายร้อยตำรวจ เหตุเพราะภาพฝังใจในวัยเด็กโดนตำรวจสายตรวจโรงพักชนะสงครามจับฐานไปเตะฟุตบอลเล่นแถวนั้น แต่ได้อบรมตักเตือนและสั่งสอน คิดว่า มีตำรวจแบบนี้ด้วยหรือ แม้แรงบันดาลใจแรกอยากเป็นนักเรียนนายเรือ เนื่องจากได้เที่ยวดูงานต่างประเทศ ได้ใช้ภาษา ทว่าทำคะแนนดีถึงเลือกมาอยู่เหล่าตำรวจ

จากนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 เข้าสู่รั้วสามพรามเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 31 ฝึกงานเมืองกาญจนบุรี ต่อด้วยโรงพักชนะสงครามถิ่นเก่า แล้วเริ่มชีวิตผู้หมวดโรงพักสำราญราษฎร์ เป็นทั้งสายตรวจ ร้อยเวร และสายสืบ เห็นภาพการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด เห็นการดำเนินชีวิตของผู้คนในช่วงนั้นก่อนโยกมาอยู่โรงพักชนะสงคราม

พล.ต.ต.สุพิศาลเล่าว่า เป็นช่วงที่ต้องทำงานหนักพอสมควร เข้าเป็นพนักงานสอบสวนในคดีสำคัญๆ และไปช่วยราชการหน่วยปราบปรามนยาเสพติดของนครบาล ขึ้นตรงรองเสน่ห์ สิทธิพันธุ์ และอธิบดีณรงค์ มหานนท์ อยู่ที่นั่น 7-8 ปี รู้สึกว่า ติดใจ ชอบงานที่นั่น ทำงานอย่างเดียว ไม่ต้องควักเนื้อ รถก็มี เงินล่อซื้อ เงินทำงานเบิกได้หมด  แถมมีเงินรางวัลเป็นแสนจากการจับเฮโรอีน สะสมประสบการณ์ทำงานร่วมกับหน่วยดีอีเอของอเมริกา เป็นหน่วยแรงของประเทศก่อนจะตั้งกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้ความรู้ ทั้งด้านการสืบสวน ทั้งเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ รู้จักคอมพิวเตอร์ก็ที่นี่ มันมีเมนเฟรมของออสเตรเลียเข้ามา และยังได้มีโอกาสไปฝึกอบรมในต่างประเทศ เช่นที่ฝรั่งเศสนาน 2 เดือน ไปฝึกเรื่องการสะกดรอย การสืบสวนยาเสพติด แล้วก็ไปดูงานหน่วยปราบปรามยาเสพติดของเยอรมนี สหรัฐอเมริกา แคนนาดา เป็รความใฝ่ฝันของเราอยู่แล้วที่อยากไปต่างประเทศ เป็นชีพจรลงเท้าเลย ได้ไปอบรมเรื่องของการอำพรางตัวเอง การเป็นสายลับ อบรมเรื่องยาเสพติด เรื่องคดีพิเศษ ได้ทำงานเรื่องของการควบคุมยาเสพติดผ่านข้ามแดนไปในคดีสำคัญ ผมได้ไปสืบพยานทั้งในหน่วยสกอตแลนด์ยาร์ด และในนิวยอร์ก ทำให้มีประสบการณ์ในการขึ้นศาลในต่างประเทศ” พล.ต.ต.สุพิศาลว่า

หลังจากนั้นเขาบินกลับมาเป็นพันเวรโรงพักบางซื่อนาน 2 ปี ขยับเป็นสารวัตรกำลังพล กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี เป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ท่ามกลางพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตรที่เต็มไปด้วยอาชญากรรมควบคู่กับทำหน้าที่ในเรื่องของการควบคุมฝูงชนรองรับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ภายหลังมีการรัฐประหารปี 2534

เจ้าตัวยอมรับว่า เห็นภาพเผด็จการทหารยึดอำนาจเข้ามาเป็นใหญ่ รู้สึกไม่พอใจอยู่บ้าง แต่จำเป็นต้องทำงานร่วมกัน ถึงกระนั้นความรู้ตั้งแต่เด็กสะท้อนให้เห็นว่า การขาดประชาธิปไตยของประเทศเป็นสิ่งที่เรารอคอยมานานพอสมควร เราอยู่แถวราชดำเนินเห็นการชุมนุมเรียกร้องมาตลอด เป็นประเด็นที่เห็นว่า ไม่ไหว ประเทศ แต่เราไม่สามารถทำอะไรได้

ย้ายจากบางเขนเขาขึ้นเป็นรองผู้กำกับการแผนกสายตรวจ กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เป็นรองผู้กำกับสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร เลื่อนเป็นผู้กำกับการนโยบายและแผน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล วางแผนการใช้งบประมาณของหน่วย

“ผมจะรู้ดีสุดเรื่องของกรอบงบประมาณของตำรวจสมัยนั้น ทำแผนให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อให้ได้เม็ดเงินถึง 6 พันบาทล้านบาท แต่พอเอาเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎรกลับไม่ผ่าน ทั้งที่ผมพยายามทำงบประมาณจัดสรรไม่ให้ตำรวจต้องไปจัดหากันเอง ตั้งแต่เสื้อผ้า หน้าผม อาวุธยุทโธปกรณ์  ไม่ต้องไปหาเศษหาเลย แต่มันก็ไม่เกิด เพราะรัฐบาลไม่ให้ความสนใจเรื่องพวกนี้ แต่ใช้งานตำรวจไปเรื่อย” อดีตผู้กำกับการนโยบายและแผนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลอธิบาย

เจ้าตัวสะท้อนความจริงว่า ที่ผ่านมารู้กันอยู่ว่า ตำรวจเอาเงินมาจากไหน จะพูดว่าไถ อาจไม่ดีเท่าไรนักต้องบอกว่า ไปขอความร่วมมือผู้ประกอบการ หลับตาข้างหนึ่ง ช่วยๆ กันไป คนในพื้นที่อำนวยความสะดวกให้บางอย่าง บนโรงพักไม่มีอะไร มีของพื้นที่ทั้งหมด แอร์ก็ของเฮีย กระดาษก็ของร้านโรงพิมพ์นี้ ใครรักชอบกันก็มา ตอนหลังมีนโยบายเรียกว่าคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจมาช่วยดูแล เพื่อเป็นภาพลักษณ์ให้ชาวบ้าน หรือผู้มีอันจะกินได้เข้ามาช่วยให้มีเม็ดเงินนอกงบประมาณในการทำงาน ตำรวจต้องอาศัยเม็ดเงินพวกนี้ เป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมจริง ๆ เป็นเรื่องที่รัฐบาล ไม่ได้เอาใจใส่ ตำรวจทุกสถานีที่บอกว่า โรงพักเกรดเอ เกรดบี เกรดซี เกิดจากตรงนี้

ต่อมา ลงเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลเตาปูน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 กระทั่งวันหนึ่งได้รับการทราบทามจากเพื่อนร่วมรุ่นให้ไปช่วยงานเป็นรองผู้บังคับการปราบปราม ออกจากนครบาลครั้งแรกไปอยู่กำลังติดอาร์มกองปราบปราม และผงาดเป็นผู้บังคับการปราบปรามแบบไม่คาดฝัน “ ในชีวิตไม่เคยคิดเลย มันเป็นความมหัศจรรย์จริง ๆ คิดแค่ว่า เกษียณแค่ผู้การอำนวยการก็ดีแล้ว เพราะเหลืออีกแค่ไม่กี่ปี หรือจะเป็นรองผู้การอาวุโส พอครบก็ดันเป็นผู้การ เพราะผมไม่ได้อยากออกจากนครบาล อยู่มา 30 ปี ถึงข้ามห้วยมาช่วยเพื่อนจนถึงปี 2557 ตัดสินใจขอลาออกก่อนเกษียณ”

เขาให้เหตุผลว่าอยากลงเล่นการเมือง เพราะมีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังโทรศัพท์ไปถามเหตุผลกลัวจะมีอะไรคับข้องใจ เพราะเหลือไม่กี่เดือนก็เกษียณอายุแล้ว เราตอบไปตามตรงว่า หลงใหลเรื่องประชาธิปไตยมานาน คิดมาตั้งแต่เป็นรองผู้การอยากจะเข้าสภา  อยากจะเล่นการเมือง เพราะว่าตอนนั้นมีอคติกับการชุมนุมที่หลอกให้ตำรวจไปทะเลาะกับชาวบ้าน กลายเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจ คือ สิ่งที่เกิดขึ้น ใครจะมาเป็นรัฐบาลต้องใช้ตำรวจ แต่ใช้แล้วกลับไม่ดูแล ใช้แล้วก็ถีบทิ้ง เป็นหัวใจสำคัญ

ปัจจุบัน พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ นั่งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลขึ้นอภิปรายบนเวทีรัฐสภาบ่อยครั้งถึงความตั้งใจตลอดหลายปีที่สวมเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มองว่า การปฏิรูปองค์กรตำรวจตลอดหลายครั้งที่ผ่านมา ไม่มีอะไรเคลื่อนไหวมาก เพราะไม่จริงใจ เช่นเดียวกับ หลักการตำรวจรับใช้ชุมชน เป็นหลักการสำคัญที่ตำรวจต้องทำ แต่ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด พูดถึงการเปลี่ยนโครงสร้างตำรวจ สิ่งที่ควรจะเปลี่ยน หรือปฏิรูป คือ การตอบรับของสังคมที่เป็นตัวบอกว่า อยากให้ตำรวจเป็นแบบไหน

อดีตผู้บังคับการปราบปรามมองว่า การปฏิรูปตำรวจต้องมี 2 รูปแบบ คือ ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พวกที่ต้องทำงานในโรงพัก งานสอบสวน งานธุรการ งานบริการประชาชน อีกส่วนคือ งานภายนอก เป็นงานปรามปราบ งานสืบสวนจับกุมคนร้าย งานจราจร ยิ่งขณะนี้ต้องไม่ลืมว่า โลกเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจำเป็นต้องเปลี่ยน พลิกผันไปตามความต้องการของชุมชน ภายใต้กรอบตำรวจรับใช้ชุมชนที่เป็นหลักการของหลายประเทศพัฒนา อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ แต่ไทยไม่พัฒนา

“การบริหารจัดการยุคใหม่ คือ การใช้อไจล์ เป็นแนวคิดในการทำงานของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นสถานีตำรวจต้องเปลี่ยนรูปแบบเมื่อมีเทคโนโลยีเข้ามาในการบริหารจัดการ เช่น การรับแจ้งเหตุต้องโทร 191 เบอร์เดียวด้วยการใช้อไจล์บริหารจัดการ มีหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นผู้นำแบบพลิ้ว คล่องตัว เมื่อมีปัญหาต้องมีคนรุมทำงาน นำเครื่องมือมาสกรัม หรือการลงแขก องค์กรสมัยใหม่จะใช้พวกนี้หมดแล้ว แต่ตำรวจอยู่ไหน ยังจมอยู่กับรูปแบบเก่า”

นายพลตำรวจที่ผันตัวมาเล่นการเมืองขยายภาพเพิ่มเติมว่า รูปแบบของตำรวจเป็นโครงสร้างที่หากใช้อไจล์ในการดูแลตามเทคโนโลยีต้องดีกว่านี้ ชาวบ้านสามารถแจ้งความได้ทางโทรศัพท์มือถือ พิมพ์หรือพูดเข้าไปได้ทันที ตำรวจจะรู้ว่า ใครแจ้งความ ที่ไหน เช่นเดียวกับนาฬิกาอาชญากรรม แผนที่อาชญากรรมในโรงพักต้องเปลี่ยนเป็นจอทีวี ชาวบ้านสามารถเข้าไปดูได้ว่า ข้างบ้านมีขโมยขึ้นบ้าน 10 หลังแล้ว เพราะยังแดงเถือกอยู่ ถ้าจับได้จะกลายเป็นสีเขียว ระหว่างที่รู้ตัวแล้วผู้ต้องหาหลบหนีอยู่จะกลายเป็นสีเหลือง จะรู้ว่า มีคดีอยู่จำนวนเท่าไหร่ นี่คือ เทคโนโลยีทั้งหมดที่ภาคประชาชนควรจะได้เข้าไปเห็น แต่ตำรวจยังไม่ได้ทำ

“รูปแบบต่าง ๆ ผมหวังว่า วันหนึ่งถ้าเป็นรัฐบาล หรือมีสิทธิที่จะแก้ไขปัญหาของตำรวจ เพื่อดูแลประชาชนทั้งประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ด้อยโอกาสในชุมชน ส่วนคนที่มีสตางค์ ผมเชื่อว่า ดูแลตัวเองได้ เพียงแต่ตำรวจต้องเพิ่มความยุติธรรมให้ จริง ๆ ความยุติธรรมไม่ใช่อยู่ที่ว่า ใครขึ้นบันไดชั้นไหน เราต้องดึงความยุติธรรมนั้นให้เท่าเทียมกัน ให้มองเห็นกำแพงที่จะข้ามไปด้วยกันได้พร้อม ๆ กัน คนที่ต่ำกว่า บันไดเตี้ย ต้องยกให้สูงขึ้นเพื่อให้มีศักยภาพ คนที่มีบันไดสูงยืนอยู่ธรรมดาก็มองเห็น ฉะนั้นความยุติธรรมก็จะเกิด ถ้าทำได้ ตำรวจจะเป็นที่รักของประชาชน”

พล.ต.ต.สุพิศาลเชื่อว่า ตำรวจต้องอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดียว ไม่ต้องอยู่ภายใต้ใคร ที่แต่ผ่านมาไปติดระบบอะไรเดิม ๆ  หากนายกรัฐมนตรีคุมตำรวจอย่างแท้จริง วันนั้นเป็นวันที่ฟ้าใส ฟ้าโปร่ง เป็นวันศิวิไลซ์ของตำรวจ คิดว่า วันหนึ่งจะต้องมี อยู่ที่คนรุ่นใหม่เท่านั้น ถ้าเปลี่ยนแปลงตำรวจได้ ประเทศคงจะเปลี่ยนไปมาก เพราะตำรวจเป็นกองกำลังใหญ่ โดยหลักความจริงอยากปรับภาพตำรวจต้องทำงานน้อยลง เทำงานเป็นกะละ 6 ชั่วโมงพอ ที่เหลือให้ไปทำพาร์ตไทม์ เช่น ไปค้าขาย ไปทำออนไลน์ให้มีเงินมากขึ้น เมื่อรัฐให้เงินเพิ่มไม่ได้ เพราะฉะนั้นตำรวจชั้นผู้น้อยทุกคนต้องทำงานแค่วันละ 6 ชั่วโมงพอ

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลบอกด้วยว่า ตำรวจไม่ใช่แขวนบนเวลา 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดเหมือนข้าราชการอื่น เอาแค่ไปเฝ้าโจรบางที 3-7 วันจนกว่าจะจับได้ สมัยก่อนเคยสะกดรอยคนร้ายจากกรุงเทพฯไปอุดรธานีไปเชียงใหม่ เชียงรายแล้วกลับมากรุงเทพฯ นั่งนอนผลัดกันตลอด 24 ชั่วโมง ทำกันแทบจะไม่ได้พัก ไม่ได้หยุดนี่คือชีวิต 24 ชั่วโมงของตำรวจ เหมือนงานโรงพัก สายตรวจพอได้เบรกกลับต้องไปดูม็อบ ห้ามขยับไปไหนมาไหน ห้ามกลับบ้าน คุยโทรศัพท์ได้ แต่เวลาตีกันต้องออกมาตกระกำลำบาก

“ผมถึงอยากให้องค์กรตำรวจเปลี่ยน องค์กรตำรวจเปลี่ยนได้ แต่ต้องเปลี่ยนตัวผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ไม่ใช่ยังมีวิ่งเต้นกันอยู่เลย ผู้นำตำรวจจะต้องเปลี่ยน ผมพยายามจะทำให้องค์กรตำรวจเปี่ยมไปด้วยคุณภาพของปริมาณที่มี ถามว่า เคยมีงานวิจัยศึกษาหรือไม่ว่า ตำรวจ 1 นายใช้เงินเท่าไหร่ โครงสร้างเท่าไหร่ ไม่มี ไม่รู้อะไรเลย นี่คือ รัฐที่ละเลย ขาดการดูแลองค์กรตำรวจ แล้วบอกจะปฏิรูปตำรวจ เอาทหารมาปฏิรูปตำรวจไม่ได้ มันถึงยังไม่เปลี่ยนแปลง ผมไม่รู้จะทำยังไงต้องรอลุ้นกันไป คือ อยากให้ตำรวจมีที่พึ่ง”

เจ้าตัวทิ้งท้ายว่า ตำรวจยุคปัจจุบันยังต้องพึ่งทหาร เพราะว่าการปกครองอยู่ที่ทหาร ผู้นำต้องพึ่งตัวเอง แต่จำไว้ว่า วันหนึ่งฟ้าคราม สว่างแจ้ง แล้วพลเรือนเป็นใหญ่ การผลัดเปลี่ยนเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะมีความชัดเจน ตำรวจจะมีที่พึ่งที่ชัดเจน ไม่ต้องไปพึ่งใคร ใครทำงานก็ได้ดี ได้งาน โครงสร้างต้องเป็นโครงสร้าง ให้หันกลับมาดูวิธีคิดใหม่ “ตำรวจต้องใกล้ชิดประชาชน ดูแลประชาชนเหมือนพ่อแม่ ดูแลทุกข์สุขเขา มันต่างจากทหารจะไปบังคับใคร เคาะกบาล ตีหัว ไปดักอุ้มใครอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้ผิด หรือจะไปยืนกร่างบอกว่า มึงไม่รู้จักกูหรือ อย่างนี้ไม่ได้ ตำรวจต้องน้อมรับ ยกมือไหว้ สำคัญที่สุด สิ่งที่ผมพยายามทำ ตั้งแต่เป็นตำรวจ  คือ ต้องเคารพคนเป็น รับฟังเขามากที่สุด ยกมือไหว้ชาวบ้าน ตาสีตาสา คุยกับเขาได้ทุกคนว่า เดือดร้อนอะไร บางทีแค่นั่งฟังก็พอใจแล้ว มันเป็นความสุขที่เราอยากให้เกิดขึ้น แม้แต่คนบ้าเรายังอยากคุยด้วยเลย”

สุพิศาล ภักดีนฤนาถ !!!

 

RELATED ARTICLES