“ศักดิ์ศรีมันไม่ได้อยู่ที่พื้นที่ ศักดิ์ศรีมันอยู่ที่ตัวคน ถ้าทำตัวให้มีศักดิ์ศรี มันก็มีศักดิ์ศรี”

 

มือปราบแห่งตำนานภาคตะวันออกที่ผู้กว้างขวางหลายคนเกรงใจ พาให้ตัวเขาถูกมองเป็นตำรวจผู้มีอิทธิพลบ่อยครั้งในชีวิตรับราชการ

พล...สุรพล วิรัตน์โยสินทร์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โบนัสเลื่อนยศเป็น พล.ต.ท. ส่งท้ายก่อนเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งเดิมรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ที่ถูกดองนานหลายปี

เขาเป็นชาวเมืองนครปฐม ลูกพ่อค้า ตามพ่อไปทำไร่สัปปะรด กล้วย น้อยหน่าอยู่สุพรรณบุรี แล้วย้ายกลับมาราชบุรี เข้าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี จบมัธยมต้นไปสอบเตรียมทหารรุ่น 18 เลือกเหล่านายร้อยตำรวจเป็นรุ่น 34 เหตุผลเพราะเกิดในตระกูลพ่อค้า มองว่า บางทีญาติพี่น้องโดนรังแกจะได้ดูแลได้ ขณะเดียวกันยังมีความรู้เรื่องกฎหมายคอยปรึกษากิจการค้าขายไม่ต้องถูกใครเอาเปรียบกลายเป็นจุดหักเหของชีวิต

ระหว่างจะเรียนจบ นำเสนอความคิดให้ “ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” รักษาการผู้บังคับการกองร้อย เห็นควรให้นายร้อยตำรวจจบปี 4 ไปลงเป็นพนักงานสอบสวน เพราะถือเป็นรากเหง้าหัวใจสำคัญของตำรวจ ไม่ใช่ไปลงกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเหมือนรุ่นพี่ เป็นเหตุให้มีการออกผลสำรวจความคิดเห็นสนำเสนอ “วาสนา เพิ่มลาภ” ผ่านไปยัง พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้นเห็นชอบตามที่ร้องขอเป็นรองสารวัตรสอบสวนในกองบัญชาการตำรวจนครบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธร 1-4 ทั่วประเทศ

ร้อยตำรวจตรีหนุ่มสุรพลเลือกลงจังหวัดชลบุรี มองเป็นที่ตั้งกองบังคับการภูธรเขต เป็นจังหวัดใหญ่ ปริมาณงานเยอะ แต่ปรากฏว่า เพื่อนร่วมรุ่นชิงเอาโควตาไปก่อน ทำให้ต้องไปเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระยองแทน ประเดิมเข้าคู่นายตำรวจอาวุโสรุ่นพี่ที่ขยับมาจากชั้นประทวน แต่มีความสามารถในเรื่องของการสอบสวน

ไม่นานเจอประสบการณ์ตรงไล่ยิงคนร้ายตายคาที่ เจ้าตัวเล่าว่า ไปสอบสวนอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกันระหว่างเส้นทางมาบตาพุดกับห้วยโป่ง ห่างตัวเมืองประมาณ 12 กิโลเมตรตอน 2 ทุ่มกว่า มีรถสองแถวเหยียบคันเร่งเสียงดังโผล่แต่ไกล ตามด้วยเก๋งอีกคัน บนสองแถวมีรถมอเตอร์ไซค์กับวัยรุ่นใส่เสื้อคอกลม กางเกงกากีขาบานคล้ายทหารเรือกลุ่มหนึ่งจนตำรวจที่ตรวจที่เกิดเหตุต้องกระโดดหลบพัลวัน

ผ่านไปราว 10 นาที พล.ต.ท.สุรพลเล่าต่อว่า รถเก๋งถูกเบียดตกข้างทาง ตามไปดูคิดว่าเมา ชายอายุประมาณ 30 กว่ากับเด็กวัยรุ่นอีกคนยกมือไหว้บอกหมวดช่วยด้วย แจ้งว่าถูกปล้นมอเตอร์ไซค์มา คนร้ายมีรถสองแถวขับปาดหน้า เอาปืนจี้ระหว่างทางเข้าเมืองระยอง ผู้เสียหายเป็นนักวิ่งมาราธอนกลับไปเอารถเก๋งพาลูกชายขึ้นรถออกตาม บังเอิญมาเจอตำรวจพอดีเลยความช่วยเหลือ

“ผมหันไปมองพี่เลี้ยง เขาบอกว่าไปเหอะ เดี๋ยวเรื่องนี้จัดการเอง ให้ผมตามคนร้าย เพราะว่า คนร้ายมีปืน ผมกับตำรวจมาบตาพุด 2 คนไป มีผู้เสียหายเป็นคนขับนั่งคู่กับลูกชาย ผมบอกว่า เดี๋ยวถ้าเจอรถ อย่าเทียบข้างนะ ให้ห้อยท้ายไว้ 2 เมตร เพราะเดี๋ยวถ้าคนร้ายมีปืนยิงมาจะโดน ถ้าเขาไม่หยุด ผมจะยิงยางล้อหน้าข้างขวาเขา รถมันจะได้ปัดจะได้ไม่มาชนรถเรา”     

“สำคัญสุดต้องตั้งสติไว้” อดีตนายตำรวจเมืองระยองย้อนนาทีไล่ล่า เขาบอกว่า ตามไปถึงฐานทัพเรือสัตหีบไม่มีวี่แวว ด้วยความสงสารผู้เสียหายจึงเสนอให้ไปถึงพัทยา ถ้าไม่เจอค่อยกลับ พอวิ่งถึงบริเวณตลาดเตาถ่านเห็นรถสองแถวกำลังหันหัวเข้ามาทางสัตหีบ วัยรุ่น 3 คนกำลังยกมอเตอร์ไซค์ลง  คนร้ายรู้ตัวเพราะผู้เสียหายตะโกนด้วยความดีใจ ต้องขับรถไล่ต่อ ก่อนชักปืน.357 พาดหน้าต่างรถตั้งใจจะยิงล้อ ทว่า คนขับมีปืนใช้มือขวาไขกระจกแล้วยื่นมือออกมายิงใส่ถูกฝากระโปงรถ

  “ผมไม่ได้ตกใจนะ แต่ผมโกรธ ผมก็ยิงเลย เปลี่ยนจากที่เล็งล้อรถ ยิงไปที่คนขับ ยิงไปนัดแรก ถูกไม่ถูกผมไม่รู้  ปังแรก รถเซไปตกคูข้างทาง ลูกน้องผมที่มีปืนก็ยิงตามไปหมดโม่ มอเตอร์ไซค์อีกคันก็ล้ม แต่คนขี่วิ่งหนีไปได้ กลับลงดูที่เกิดเหตุรถสองแถวพบศพคนขับถูกกระสุนทะลุคานประตูตัดขั้วหัวใจ ปืนมันตกอยู่ข้างเท้าก็ให้ตำรวจ เฝ้ามอเตอร์ไซค์กับรถสองแถวไว้ ส่วนตัวผมกับผู้เสียหายไปที่โรงพักสัตหีบ”

พ.ต.ท.การุณ จิตภักดี เป็นสารวัตรสอบสวนรับแจ้งเหตุติดตามคนร้ายชิงทรัพย์ยิงกันที่ตลาดเตาถ่านเสียชีวิต 1 ศพ วันรุ่งขึ้นตกเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเรื่องวิสามัญฆาตกรรมคนร้าย เสมือนสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้กะยิงให้ตาย หวังจะจับเป็นเอามาขยายผล คนร้ายกลับมีปืนและยิงต่อสู้ หลังจากนั้นมาเวลาลูกน้องจะไปล้อมจับใคร มักเรียกผู้หมวดสุรพลไปด้วยเสมอ เป็นช่วงจังหวะดวงขึ้น ตามหมายจับคดีปล้น คดีอะไร ไปทุกครั้งคว้าติดมือมาทุกครั้ง

อยู่ระยองไม่ถึง 3 เดือนตามจับผู้ต้องหาเป็นสิบราย ปีแรกได้พิจารณาเงินเดือน 2 ขั้น และมุ่งมั่นทำงานจนได้ 2 ขั้นสองปีซ้อน ติดยศ ร.ต.ท.คนแรกของรุ่น เส้นทางชีวิตน่าจะรุ่ง เพราะมีความตั้งใจในการทำงาน ถูกสอนไปเป็นหัวหน้าโรงพักมาบตาพุด แต่ด้วยความเป็นเด็ก มีความใจร้อน ความไม่รอบคอบ ความเชื่อมั่นในตัวเอง เนื่องจากมีความสำเร็จมาก่อน พอมาแล้วทำให้รู้สึกหลงตัวเอง

“คิดว่า สิ่งที่เราทำ เพื่อประชาชน คือ ความถูกต้อง เอาแต่ความสงบจนบางครั้ง ลืมว่า มันไปกระทบสิทธิของประชาชน เช่น วัยรุ่นเข้ามาในร้านอาหาร เมาแล้วจะตีกันบ่อย ผมไปขอค้น บางครั้งไม่มีเหตุจริง ๆ เข้าไปก็เหมือนเป็นการไปละเมิดสิทธิ แม้ทำไปเพื่อให้สงบ ยอมรับเพราะผมอายุยังน้อย หลายสิ่งหลายอย่าง ผู้ใหญ่เลยมองว่ามันเด็กเกินไป วุฒิภาวะยังต่ำ สุดท้ายย้ายผมไปเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอปลวกแดง หลังอยู่มาบตาพุด 6 เดือน” นายพลวัยเกษียณรำพันถึงวันเก่า

ใช้ชีวิตเงียบเหงาอยู่ปลวกแดง 3 เดือน ท่ามกลางไร่อ้อยกับไร่มันสำปะหลัง ฝนตก 7 วัน 7 คืน วันหนึ่งมีคนเดินผ่านหน้าโรงพัก 2 คน กับหมา 1 ตัว พนักงานสอบสวน มี 3 คน ก็ผลัดกันเข้าเวร เดือนละ 2 คนผลัดกันเข้าเวรแทบไม่มีคดี  พล.ต.ท.สุรพลบอกว่า บังเอิญหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราดมีปัญหา ผู้บังคับบัญชาเสนอให้ไปทำหน้าที่แทน พื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา ยิงกันบ่อย ฆ่ากันตาย มือปืนเยอะด้วยปัญหาค้าขายพลอย ผู้เป็นนายให้ไปทดลองงาน หากผ่านพื้นที่ตรงนี้ได้ รับรองอยู่ได้ทั่วประเทศไทย

“โรงพักตำรวจมันไม่เป็นโรงพัก คุณไปจัดระบบให้ตำรวจมันเป็นที่พึ่งของประชาชนให้ได้สักที อยากจะใช้คุณไปทดสอบฝีมือ” เขาจำคำผู้บังคับบัญชาแม่น ปีนั้นปีเดียวเขาถึงย้าย 3  คำสั่งรวดจากมาบตาพุดไปอยู่ปลวกแดดงแล้วโยกนั่งโรงพักหนองบอน อาศัยบ้านพักหลวงอยู่กับนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นน้องอย่าง “จิตติ รอดบางยาง” และ “ประการ ประจง”

หลังจากนั้นชีวิตวนเวียนอยู่ในพื้นที่ชายทะเลภาคตะวันออก ขึ้นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยา จังหวัดชลบุรี  อยู่โรงพักเมืองระยอง โรงพักเมืองจันทบุรี เป็นสารวัตรจราจร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองชลบุรีแล้วโยกคืนเป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจันทบุรี  แต่ต้องไปขึ้นรองผู้กำกับการ 2   กองบังคับการปกครอง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปีเดียวกลับมาเป็นรองผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดคนแรกที่ยกฐานะโรงพัก และเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตราด

ทำไปทำมาเจอพิษมรสุมการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เด้งออกนอกจากจังหวัดตราดไปนั่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี  “ผู้บังคับบัญชาบอกว่า ย้ายไปอยู่นายายอามเสียศักดิ์ศรีหรือเปล่า ผมบอกว่า ศักดิ์ศรีมันไม่ได้อยู่ที่พื้นที่ ศักดิ์ศรีมันอยู่ที่ตัวคน ถ้าทำตัวให้มีศักดิ์ศรี มันก็มีศักดิ์ศรี อยู่พื้นที่ใหญ่ ถ้าทำตัวไม่มีศักดิ์ศรี มันก็ไม่มีศักดิ์ศรี อย่าให้ผมอยู่เลย ถ้าอยู่ที่นี่ ผมคงจะต้องทะเลาะกับนักการเมือง”

เขาพัฒนาโรงพักนายายอามที่ทรุดโทรมได้พรรคพวกช่วยทั้งเรื่องถมดินเพียง 3 วันเกลี่ยพื้นที่ข้างโรงพักเป็นระเบียบเรียบร้อย ไปประกวดโรงพักเมื่อปี 2545 เป็นอันดับ 1 ของตำรวจภูธรภาค 2 ส่งผลให้เลื่อนเป็นรองผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 2 นำเอาประสบการณ์ไปดูแลรับผิดชอบงานตามโครงการโรงพักเพื่อประชาชน ยุค พล.ต.ท.ปกรณ์ สรรพกิจ เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 อีกทั้งคุมศูนย์ปราบปรามยาเสพติดของภูธรภาค 2 เมื่อครั้งรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ประกาศสงครามยานรกระลอกแรกเมื่อปี 2546

ยุติสงครามกวาดล้างยาเสพติด พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ นั่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เสนอย้ายลงเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตราด ไม่กี่ปีถัดมาเจอมรสุมอีกรอบเมื่อถูกเด้งเป็นรองผู้บังคับการกองตรวจราชการ 5 จเรตำรวจ “ไม่เป็นไร ผมก็ไป เราเป็นตำรวจ ต้องมีวินัย เราไม่ว่า ไม่ต้องไปคิดอะไร ย้ายเป็นเรื่องธรรมดา”  เขานั่งจเรตำรวจเพียง 1 ปี 8 เดือน คืนความเป็นธรรมเป็นรองผู้การตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา ขึ้นผู้บังคับการประจำกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ก่อนย้ายกลับมาถิ่นถนัดเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี

ตลอด 2 ปี 8 เดือนในตำแหน่ง พล.ต.ท.สุรพลระบายความในใจว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่ทำไว้ บอกลูกน้องทุกคนว่า ภรรยาเราเป็นคนจันทบุรี ลูกเกิดที่นี่ เกษียณแล้วเราต้องอยู่ที่นี่ อยากให้จันทบุรีเป็นเมืองที่สงบ น่าอยู่ แต่เราทำคนเดียวไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือกับเรา เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนร่วมมือเพื่อให้จันทบุรี เป็นเมืองน่าอยู่ เพราะฉะนั้นจันทบุรีสมัยดำรงตำแหน่งอยู่จะไม่มีเหตุอะไรที่รุนแรง  อาทิ ปัญหารถซิ่งป่วนเมือง เรียกมาขอให้เลิก ถ้าไม่เลิกจะเอาตำรวจไปเฝ้าบ้าน  ขี่มอเตอร์ไซค์มาไม่ถูก จับหมด ถ้าญาติประกอบธุรกิจสีเทา  จับหมด ต้องคุมลูกหลานให้ดี เป็นคนดี ไม่ก่อความเดือนร้อนให้ชาวบ้านแล้วค่อยมาว่ากัน อยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้ทุกอย่างสงบ ถึงจะสงบ

“ตำรวจถ้าตั้งใจทำจริง ๆ ทำได้ ถามว่าบ่อนใหญ่ๆ จะมาลง ผมบอกไม่ให้ลง ผมไม่ชอบการพนัน ถ้าเป็นแบบบ่อนตีตั๋วไพ่ตอง คนแก่เล่นกัน เล่นไปเถอะ  ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้สร้างความเสียหาย สมัยก่อนบางพื้นที่ มีตู้ม้าลงแบบเอิกเกริกเลย  พวกนี้ติดต่อขอเอาตู้ม้ามาลงที่จันทบุรี เสนอให้ผมคนเดียว 1.2 ล้าน คนอื่นเคลียร์หมดแล้วเหลือผู้การ ผมบอกว่า ไม่ให้ตั้ง ผมไม่ต้องการเงินแบบนี้  หากินกับเด็ก ค่าขนมเด็ก หากินกับผู้ใหญ่พอทนแล้วนะ แต่นี่หากินกับเด็ก ไม่ได้  ผมต้องอยู่ที่นี่ ผมไม่อยากให้ใครมาด่าลูกหลานผม เมื่อผมเกษียณไปแล้ว มาบอกว่า สมัยที่มีผู้การจันทบุรีชื่อนี้ คือ พ่อมึง เห็นแก่เงิน  ไม่ใช่ผม ทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ให้ตั้ง ตั้งเมื่อไหร่ ไม่รู้ ถ้าผมย้าย คนอื่นมาจะเอา ผมไม่รู้  ถ้าผมยังอยู่ ตั้งไม่ได้ ถ้าตั้งก็ยกให้ทันละกัน เพราะกูจับ เพราะฉะนั้นไม่มี เรื่องนี้” อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรีน้ำเสียงจริงจัง

ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 เจอแช่แข็งนาน 6 ปี เพราะโดนมองเรื่องสีเสื้อกว่าจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ ถึงกระนั้นยังถูกตีตราเป็นผู้มีอิทธิพลเนื่องจากอยู่พื้นที่มานาน ภรรยาเป็นคนจันทบุรี มีน้องชายเป็นกำนันทำธุรกิจก่อสร้างประมูลงาน ตลอดจนตลาดการค้าชายแดนที่บ้านสวนผักกาด อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ต่อมาเกิดความขัดแย้งกับหุ้นส่วน  พล.ต.ท.สุรพลเล่าว่า ต้องเข้าเคลียร์ปัญหาความวุ่นวายทั้ง 2 ฝ่ายที่เริ่มทะเลาะกันแรง อีกฝ่ายเป็นมือปืน ถ้าเราไม่ช่วยน้องเมียก็แย่ ทั้งที่เตือนแล้วอย่าไปยุ่ง พยายามลากเข้าไปเอี่ยว พอเราเข้าไปขวาง มีการฆ่ากัน นับแต่นั้น ถูกขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพลชายแดนติดตัวตั้งแต่เป็นผู้กำกับจวบจนวันเกษียณอายุราชการ

 อดีตนายพลมือปราบคนดังชายฝั่งภาคตะวันออกวกเข้าเรื่องการสืบสวนปราบปรามในสมัยเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตราดที่ร่วมกับ พล.ต.ต.นิวัฒน์ รัตนาธรรมวัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตราดริเริ่มโปรแกรมคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลหมายจับคนร้ายในพื้นที่จังหวัดตราดนำร่องออกตามคดีค้างเก่าที่ค้างคาตามโรงพักให้เป็นสารบบในระบบของศาล จังหวัดแรกของเมืองไทย และนำเอาความรู้เรื่องของการจับกุมตามหมายจับถ่ายทอดนักสืบทั้งหมดว่า หมายจับคนที่หนีไป จะหนีไปไหน คือ ไปตามบ้านญาติพี่น้อง ญาติลูก ญาติเมีย หรือไม่ก็เพื่อนสนิท  คนร้ายต้องทำงาน ไม่อย่างนั้นเอาเงินที่ไหนใช้กิน  ถ้าไปทำงานโรงงานจะต้องมีประกันสังคม  บางโรงงานจ่ายเงินเดือนในระบบเอทีเอ็ม ต้องไปเปิดบัญชีธนาคาร นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคทำให้ต้องเข้าระบบประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้นคนร้ายเข้าไปรักษาตัวที่ไหน กดคอมพิวเตอร์จะเจอ

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตราดกลายเป็นโมเดลให้หลายหน่วยนำเอาไปต่อยอด กระทั่งเขาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 นำมาปัดฝุ่นปรับปรุงเป็นศูนย์ควบคุมสั่งการให้ต้นสังกัดสมัย พล.ต.อ.วินัย ทองสอง คุมทัพเสนอ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทำเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ แถมขยายผลโปรแกรมตอน พล.ต.อ.วินัย ทองสอง เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านระบบ PDC (Police Data Center ) ให้มีประสิทธิภาพการค้นหาบนโทรศัพท์มือถือสะดวกและรวดเร็วกว่าเก่า

“มันเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้การสืบสวนมีประสิทธิภาพ แล้วยังทำให้เป็นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมอย่างหนึ่ง  เมื่อผู้กระทำความผิดหลบหนีไปไหนไม่ได้ในเมืองไทยหากมีหมายจับในระบบ ปิดโอกาสที่จะไปกระทำความผิดซ้ำอีก ผมยืนยันว่า มันมีประสิทธิภาพที่ได้ผล ขึ้นอยู่กับผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเห็นประโยชน์ และให้ดำเนินการต่อ หรือไม่ดำเนินการต่ออย่างไร” พล.ต.ท.สุรพลมองแบบนั้น หลังจากปั้นโปรเจกต์มีส่วนทำให้ได้รับรางวัลเกียรติยศจักรดาว สาขาบริหารและความมั่นคงของชาติจากโรงเรียนเตรียมทหาร เมื่อปี 2561

เจ้าตัวมองด้วยว่า  เมื่อครั้งหนึ่งในชีวิตมีโอกาสมาเป็นเบอร์ 1 ของหน่วย คิดว่า ทำประโยชน์อะไรไว้แค่ไหนบ้าง นอกจากรักษาสถานภาพให้อยู่รอดไปวันๆ แล้ววันหนึ่งมีโอกาสแล้วไม่ทำ ความเสียหายเกิดขึ้นจะเป็นตราบาปติดตรึงอยู่ในประวัติศาสตร์ที่จารึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งที่มีคนนี้เป็นหัวหน้าหน่วย เกิดอะไรขึ้น ควรจะดีกว่านี้ แต่ไม่ดี

“สำหรับผม เป็นหัวหน้าหน่วยที่ไหน ไม่เคยดูดาย อย่างน้อยทำความเจริญให้แก่หน่วย ตามขีดความสามารถที่ทำได้ เพราะฉะนั้นผมจะบอกลูกน้อง และรุ่นน้องทุกคนเสมอว่า เมื่อคุณอยู่ในอำนาจหน้าที่ คุณอยากให้เขาจดจำคุณในแบบไหน การกระทำของคุณจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเขาจะจดจำ แล้วเขาจะกล่าวขานไปจนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่แนวคิดแต่ละคน ผมเชื่อว่า ข้าราชการไทย คนเก่ง คนดีมีเยอะ แต่คนเก่งที่ดี แล้วกล้ากระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผมว่า มีน้อย เพราะว่า ทุกคนกลัวความกล้า กล้าพูด กล้าทำจะกระทบกับความเป็นอยู่ของตัวเอง ลืมไปว่า สิ่งที่ไม่ทำมันกระทบกับส่วนรวมแล้วทำความเสียหายให้ส่วนรวม และประเทศชาติ มากน้อยแค่ไหน”  

นายพลเก่ามากประสบการณ์ฝากแง่คิดว่า สิ่งที่ทำไว้แล้วคนอื่นจดจำในสิ่งที่ดี ไปไหนแล้วชาวบ้านก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ลูกน้องไม่วิ่งหนี เหล่านั้นเป็นความสุขใจ ไม่ต้องร่ำรวยมหาศาล แต่มีเงินใช้จ่าย ไม่ขาดมือ มีสุขภาพที่แข็งแรง ไปไหนมาไหนได้เอง ไม่ต้องมีคนเข็นเก้าอี้มาให้ขึ้นรถ โน่นก็กินไม่ได้ ก็กินไม่ได้ ถ้าแบบนั้นมีประโยชน์อะไร หรือไปไหนแล้วคนก็เมินหน้าหนี มาซุบซิบแล้วด่าตามหลัง

“ผมยืนยันเลยว่า ถ้าเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ไม่มีตกอับ”

สุรพล วิรัตนโยสินทร์ !!!    

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES