“ชีวิตช่างภาพของผม ถ้านับเป็นฟิล์ม ก็ไม่รู้กี่ม้วน เป็นภาพคงนับล้านรูป”

อุดมการณ์มีมากกว่าภาพชัตเตอร์ที่ลั่นมาทั้งชีวิต

จำลอง บุญสอง ช่างภาพสารคดีระดับตำนานนักหนังสือพิมพ์เมืองไทย สะท้อนเรื่องราวความเป็นไปในสังคมคนด้อยโอกาสผ่านภาพถ่ายและข้อความหลากหลายมุมคิดเพื่อสื่อไปยังผู้มีอำนาจบอกกล่าวความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เขาเกิดจังหวัดราชบุรี พ่อทำงานราชทัณฑ์ ย้ายมาโตที่กรุงเทพฯ วัยเด็กปักหลักอยู่ย่านมีนบุรี เดินตามพ่อเข้าคุกเป็นว่าเล่น ทำให้เห็นชีวิตนักโทษที่บางคนก้าวผิดพลาด เพราะถูกเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้ง ไม่ใช่เป็นอาชญากรโดยสันดาน และส่วนใหญ่เป็นนักโทษติดยาเสพติด เป็นปัญหาของสังคมมาตั้งแต่ยุคโบราณ

จบมัธยมต้นโรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ ไปต่อสันติราษฎร์ สอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำลองเล่าว่า ตอนนั้นไม่ได้คิดอยากจะเป็นอะไร มาลองสอบก็ได้ สุดท้ายเรียนไม่จบ  เพราะคิดว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่หนทาง ทั้งที่เรียนถึงปี 4 ติดอยู่แค่ 2-3 วิชา บรรยากาศเวลานั้นมันไม่น่าเรียน เพราะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการเข่นฆ่านักศึกษา เราอยู่ในเหตุการณ์ ที่มีการลากร่างนักศึกษาไปแขวนคอ มันกระทบกระเทือนใจ หดหู่มาก ไม่เคยคิดว่าบ้านเมืองเราจะมีแบบนี้

พ้นสภาพความเป็นนิสิตจุฬา เขาตัดสินใจไปสมัครงานเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เพราะเชื่อในดีกรีการถ่ายภาพที่ร่ำเรียนมาจากรั้วพระเกี้ยว จังหวะเนชั่นอยากได้คนที่มีความรู้เรื่องการถ่ายภาพจริง ๆ เผยเปิดโอกาสให้เข้าทำงาน  ” เนชั่น มันมีสไตล์ของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ที่ไม่เหมือนกับช่างภาพไทย มันจะออกมาทางสากล ที่คิดมาทำงานข่าว เพราะตั้งใจตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ว่า ในฝ่ายรัฐบาล ไม่มีคนที่รู้ข่าวสารจริง ชาวบ้านรับรู้จากข้าราชการ เราก็เหมือนกระจกคอยสะท้อนให้รัฐบาลเห็นข้อเท็จจริงว่า มันเป็นอย่างนี้”

จำลองบอกว่า พอสะท้อนไปแล้ว ปรากฏว่า รัฐบาลไม่ทำ แม้รู้ว่า อะไรเป็นอะไร  แต่ด้วยความที่หวงอำนาจเลยไม่สนใจ สมัยก่อนเราตั้งใจอย่างนั้น จะลงไปอยู่ที่สลัม สัมผัสคนเร่ร่อน คนใช้แรงงาน คนต่างๆ เหล่านั้น ทุกข์ยากมาก พยายามเป็นกระจกที่สะท้อนสังคมว่า มีคนด้อยโอกาสแบบนั้นจริงผ่านภาพถ่ายของเรา ผลสุดท้ายสื่อสะท้อนได้ไม่เต็มร้อย เมื่อนายทุนสื่อถูกครอบงำจากอำนาจการเมือง ทำให้ภาพสะท้อนที่ออกมาจากสื่อผิดเพี้ยน

อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นมองว่า กลุ่มนายทุนคนเหล่านี้เข้าไปมีอิทธิพลในฝ่ายรัฐ เข้าไปมีอิทธิพลในการซื้อสื่อ ตัวเขาเองยังได้รับผลกระทบ ถูกเรียกไปถามว่า เขียนข่าวแบบนี้ได้อย่างไร จำได้ว่า ตอนนั้นเป็นช่างภาพ แต่เขียนหนังสือด้วย ไปทำสกู๊ปเรื่องโสเภณีชาวเขาที่ไปทำงานอยู่เบตง ยะลา  บ้านเกิดอยู่เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา เราต้องเข้าไปอยู่ในซ่องนานเป็นเดือน ไปทำความรู้จักเจ้าของซ่อง สัมผัสชีวิตของโสเภณี ศึกษาเรื่องจริงแบบครบวงจร ตีแผ่ชีวิตโสเภณีชาวเขา ไม่ต่างทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม แต่พวกเธอค้าชีวิต ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมที่ทำด้วยมือ

“หลายคนเก็บเงินกลับบ้านให้พ่อแม่ มีไม่น้อยเอาเงินบริจาคสร้างวัด วัดแถวนั้น สร้างด้วยเงินโสเภณีทั้งนั้น แต่รัฐบาลไม่พอใจ เหมือนตอนไปทำเรื่องคนเร่ร่อนที่หัวลำโพง นอนกันเป็นพัน เป็นคนต่างจังหวัด ไม่ต้องไปอาศัยโรงแรม มีทั้งโสเภณี คนวิ่งราวทรัพย์ ขโมย ก็ไปถ่ายภาพคนนอนเรียงกันที่หัวลำโพง รุ่งขึ้น นายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ สั่งกวาดเรียบเลย ฉิบหายแล้ว ผมทำพวกเขาเดือดร้อน” จำลองว่า

“บ่อยครั้งมันเป็นภาพความเหลื่อมล้ำของสังคม  แต่สะท้อนไปก็ไม่มีใครเห็น เพราะรัฐไม่สนใจ ไม่มีความหมาย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองได้เลย ใครจะทำอะไร ต้องเป็นคนมีอำนาจ ถ้าเป็นคนที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีความหมาย คนมันถึงต้องวิ่งเข้าหาอำนาจ ต้องไปเลีย ไปประจบ ทุกกระทรวง ทบวง กรม มันเป็นแบบนั้นหมดตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา”

ตำนานช่างภาพข่าวมือโปรไต่ระดับถึงขั้นเป็นบรรณาธิการภาพหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ผ่านสนามสงครามในเขมรตั้งแต่ต้นจนจบ อยู่ในสงครามพม่า สงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ทำให้รู้ความคิด ความทุกข์ของประชาชนอันเกิดจากสงคราม ถึงขั้นคิดอยากแก้ไขปัญหาว่าทำยังไง จะไม่เกิดสงคราม ด้วยมุมมองที่ต้องแก้ด้วยวิชาการเมืองที่เขามีโอกาสไปร่ำเรียนมาเพิ่มเติม

ในที่สุด จำลองตัดสินใจอำลาเดอะเนชั่น หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์นาน 10 กว่าปี เจ้าตัวให้เหตุผลว่า อยากเห็นอะไรที่แตกต่าง ที่ผ่านมาเพราะเราอยู่ในกะลา ในโลกแบบไม่ได้ไปไหนเลย  แม้เรามีโอกาสดี เพราะช่างภาพ ได้ไปอยู่ทุกสาย แต่ถ้าเราไม่ออกมา ก็จะไม่เห็น เพราะเราทำงานเป็นเวิร์กเกอร์ ตอกตะปู ก็ตอกอยู่อย่างนั้น ทำข่าว ถ่ายรูป พอได้ออกมาดูโลกภายนอก เห็นว่า มีมากกว่าที่เราทำ แม้จะอยู่ในสังคมสื่อ ซึ่งเป็นสังคมที่ได้เรียนรู้มากแล้ว แต่ก็ยังได้เห็นกรอบของมัน

“พอได้ดูก็หลุดออกมาจากกรอบแล้ว กรอบของนายทุน กรอบของกรรมกร กรอบที่มันเป็นวิชาการมาก เราก็หลุดออกมาจากกรอบตรงนั้น กลายเป็นว่า เราต้องมาเขียน ยิ่งเขียนมากเท่าไหร่ ก็ทำให้เราได้ตอบโจทย์ตัวเอง สุ จิ ปุ ริ ก็จะให้คำตอบเรื่องการเขียน สำคัญที่เราต้องรับผิดชอบต่อสังคม  ผมอยากให้คนที่เป็นช่างภาพ หัดเขียนหนังสือ เพราะมันจะทำให้เราหลุดจากกรอบความเป็นช่างภาพ เราจะมีโลกอีกโลกหนึ่ง แล้วค่าของเราจะเกิดขึ้นทันที ไม่ใช่ค่าทางวิชาชีพ แต่เป็นค่าทางวุฒิภาวะ ทางปัญญาคนที่เป็นช่างภาพ ผมถึงอยากให้เป็นช่างภาพที่เขียนได้ กล้าหาญที่จะคุย”

บรรณาธิการภาพหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นเปลี่ยนค่ายมาสังกัดหนังสือพิมพ์สยามโพสต์น้องใหม่ในยุคนั้น ทำหน้าที่หัวหน้าช่างภาพ และคุม “สารคดีโลกสีฟ้า” พาท่องเรื่องราวสารคดีเชิงข่าวประกอบภาพชนิดผู้อ่านติดตามกันเป็นแฟนคลับ จำลองมีความคิดว่า สังคมช่างภาพ มีสังคมที่คุยกันเองอยู่ แต่ถ้าขึ้นมาอีกระดับจะเป็นอีกโลกหนึ่ง เราจะมองเห็นกว้างขึ้น มองอย่างเป็นวิชาการ คนทำงานสื่อเหมือนแก้วน้ำเปล่าๆ เข้ามาตอนเป็นนักศึกษาแล้วก็เติมประสบการณ์ เติมน้ำทีละหยดจนเต็มแก้ว แต่การที่เรามีน้ำเต็มแก้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะแยกได้ว่า มีธาตุอะไรในน้ำ หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะแยกยังไงให้ได้อย่างเป็นวิชาการ เราถึงประสบความสำเร็จ เราจะอยู่เหนือจากความเป็นน้ำธรรมดา

ประสบการณ์ของเขาบอกว่า ช่างภาพนอกจากถ่ายภาพ เขียนเรื่องได้แล้วยังต้องมีวิชาการที่ไปแยกธาตุพวกนี้ออกมาอีก  “จากประสบการณ์ที่ผมได้ทำหลายหน้าที่ ทำให้ผมมีประสบการณ์มาก ทำโลกสีฟ้า 8 หน้าใหญ่ๆ เขียนเรื่องเดียวในแต่ละสัปดาห์ สิ่งที่มันสั่งสมมาจะช่วยได้เยอะ ถ้าคนธรรมดาที่ไม่มีประสบการณ์จะทำไม่ได้ ต้องมีประสบการณ์ในการเขียนข่าว ทำสารคดี สมัยนั้นฮือฮามาก คนอ่านจะติดตาม เพราะมันมีทั้งภาพและข้อมูลสำหรับค้นคว้าต่อได้อีก”

ชัตเตอร์มือทองส่องโลกสีฟ้าไม่นานก็ถูกต้นสังกัดไล่ออก เจ้าตัวหัวเราะรำลึกความหลังแววตาจริงจังว่า เราไปเขียนเรื่องไปขัดกับผู้ใหญ่ในที่ทำงาน มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ยอมรับว่า สมัยนั้นหัวรุนแรง พอมีสนามเล่นก็เริ่มเขียนโจมตีการเมือง ทำให้ความคิดเริ่มไม่ตรงกับผู้บริหาร ก่อนจะแยกทางกัน ย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์แทน ยึดสไตล์เดิม แต่เน้นสารคดีเศรษฐกิจท่องเที่ยว ซอฟต์ลงหน่อย มีคอลัมน์การเมืองแทรกชื่อ การเดินทางความคิด ที่เราผลักดันเอาเองจนเขาเปิดคอลัมน์ให้เรา แต่เขาก็กลัว ไม่ค่อยพอใจ

“ผมไม่ได้เขียนว่า ผมชอบเหลือง ชอบแดง แต่เป็นเรื่องของสังคม ผมปรารถนาดีต่อบ้านเมือง เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่มีแค่เหลือง หรือแดง มันไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะมันยังมีกลุ่มอื่นอยู่ด้วย มีสีอื่น มีกลุ่มผลประโยชน์ มีกรรมกร ภายใต้กรรมกรก็ยังหลากหลาย หรือนายทุนก็มีหลากหลายแล้วไม่ได้เข้ามามีอำนาจ ถามว่าเดี๋ยวนี้กรรมกร มีปากเสียงไหม ผู้แทนที่เข้าไปมันเป็นผู้แทนนายทุน ไม่ใช่ผู้แทนกรรมกร เสร็จแล้วก็ไปฮั้วกัน ฮั้วกันไปมา ถามว่าประชาชนจะอยู่ยังไง” จำลองระบายมุมมอง

 

ใช้เวลาอยู่บนโลกข่าวนานนับ 40 ปี กระทั่งเกษียณตัวเอง เขายังไม่ทิ้งกล้องส่องภาพความเป็นไปของสังคม แต่ให้เวลากับการเดินทางท่องเที่ยวพักสมอง  “ชีวิตช่างภาพของผม ถ้านับเป็นฟิล์ม ก็ไม่รู้กี่ม้วน เป็นภาพคงนับล้านรูป สู่ยุคดิจิตอลก็เยอะมาก ที่ผ่านมา รางวัลของชีวิต คือ ค่าของงานที่ออกมาส่งผลกระทบสะท้อนกับไปยังรัฐหรือไม่ ตรงนั้นถือว่า ประสบความสำเร็จ  นำสิ่งที่ถูกต้องมาเสนอต่อสังคม นั่นคือ ผลสัมฤทธิ์”

 

 

RELATED ARTICLES