อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผ่านเรื่องราวเป็นที่กล่าวขานมาไม่น้อยเมื่อสมัยรับราชการตำรวจ
พล.ต.ต.พรภัทร สุยะนันทน์ ลูกชาย พล.ต.ต.เสนอ สุยะนันทน์ อดีตผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร เกิดกรุงเทพมหานคร เข้าเรียนอัสสัมชัญกรุงเทพ ไปต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัมผัสชีวิตตำรวจมาจากพ่อทำให้เกิดแรงบรรดาลใจอยากเจริญรอยตาม
หลังจากจบมหาวิทยาลัยสมัครใจสอบเป็นตำรวจ ติดยศ ร.ต.ต.ไปเป็นผู้หมวดอยู่สถานีตำรวจภูธรอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ดินแดนแห่งการต่อสู้ของกลุ่มมือปืนทั้งหลาย อยู่ได้ 2 ปีย้ายเข้านครบาลไปอยู่โรงพักนางเลิ้ง และโรงพักลุมพินี ประจวบเหมาะมีสถานการณ์ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ผุดขึ้นทั่วประเทศ มีการเปิดรับสมัตรตำรวจอาสาไปปราบปราม ตัดสินเสนอตัวไปอยู่ภาคใต้ขึ้นดำรงตำแหน่งสารวัตรสถานีตำรวจภูธรเมืองสุราษฎร์ธานี
ทำงานปราบปรามโจรผู้ร้ายได้ 2 ปีย้ายกลับเมืองหลวงอีกครั้ง ก่อนโยกไปทำงานแผนก 7 กองบังคับการปราบปราม ดูแลหน้างานปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ต.พรภัทรเล่าว่า เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.ต.ต.บุญชู วังกานนท์ ผู้บังคับการปราบปรามในขณะนั้น ก่อนเป็นผู้กำกับการสืบสวนประจำภูธรเขต 4 แล้วย้ายไปทำงานภาคเหนือจังหวัดเชียงราย
“ชีวิตตอนนั้นผมค่อนข้างเร่ร่อนไปเกือบทุกภาคของประเทศ ตั้งแต่ปราบผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ กลับมาภาคกลาง ขึ้นอีกอยู่อีสาน แล้วประจำภาคเหนือ ท้ายสุดเป็นรองหัวหน้าจังหวัดสมุทรสาคร ก่อนขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว” พล.ต.ต.พรภัทรว่า
“เปลี่ยนไปจากตำรวจพื้นที่ตั้งแต่เริ่มต้นมาอยู่กองปราบปราม ทำงานปราบปรามตลอด พอกลับมาอยู่ตำรวจท่องเที่ยวเป็นงานบริการ ดูแลนักท่องเที่ยว สนุกไปอีกแบบหนึ่ง ได้เรียนรู้วิธีการของงานบริการ การดูแลนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ ได้ตระเวนไปทั่ว สมัยนั้นตำรวจท่องเที่ยวเป็นหน่วยใหม่มากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังส่งเสริมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะเป็นรายได้ที่คุ้มค่า ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เนื่องจากประเทศไทยมีอะไรๆ ให้ท่องเที่ยวมาก รัฐบาลเปิดกว้างตรงนี้ ตำรวจท่องเที่ยวถึงได้ขยายตัวขึ้นมา”
ติดอาร์มทำงานสังกัดตำรวจท่องเที่ยว 4 ปี เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 เป็นครั้งแรกที่ย้ายไปรับผิดชอบงานปราบปรามยาเสพติดอย่างเต็มตัว หลังจากเคยชิมลางมาสมัยยังเป็นกองกำกับการ 7 กองบังคับการปราบปรามก่อนหน้า เจ้าตัวเล่าว่า คุมพื้นที่ทั่วประเทศ มี 20 หน่วยรับผิดชอบ งานหนักจริงอยู่ทางภาคเหนือ ต้องขึ้นไปสนับสนุนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ในท้องที่ ประสานงานกันทุกอย่าง
เป็นช่วงจังหวะรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามต่อสู่เพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วนของประเทศ พล.ต.ต.พรภัทรมีโอกาสเข้าไปคลุกคลีอยู่ในวงจรการปราบปรามยาเสพติดอย่างใกล้ชิด “ไปทำงานตรงนี้ ก็สนุก แต่อาจจะเป็นงานที่ตำรวจมีความเสี่ยง เรื่องจากเครือข่ายขบวนการค้ายาเสพติด ตัวผมเองอาจจะไม่ค่อยได้สัมผัส เพราะไม่ใช่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่โดยตรง แต่เรามีผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะต้องเข้าไปทำงาน แล้วเสี่ยงอันตรายในการแฝงตัวเข้าไป จำเป็นจะต้องมีไหวพริบกับทักษะต้องดี และมีใจ งานยาเสพติดถึงต้องมีประสบการณ์มากๆ แล้วเผอิญผมโชคดีมีผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความสามารถจริงๆ”
เขาบอกว่า สมัยนั้นเป็นช่วงที่ยาบ้ากำลังระบาดหนัก ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายเรื่องนี้อย่างชัดเจนในการทำสงครามกับยาเสพติด ทำให้เราทำงานสบายขึ้น สามารถจะปราบปรามได้เป็นรูปธรรม ทำงานในแต่ละปีจับยาบ้ากว่า 60 ล้านเม็ด ถ้าเทียบกับปัจจุบันเป็นไปไม่ได้เลย เราไม่พูดเป็นล้านแล้ว แต่พูดเป็นหลักสิบล้านแล้ว มองว่า ยาเสพติดเปลี่ยนรูปแบบไปมาก
“ระหว่างนั้นมี งานหนึ่งที่ผมภูมิใจ คือ การปราบปรามยาเสพติดในชุมชนคลองเตย ผมได้รับคำสั่งให้เข้าไปดำเนินการปราบปรามใช้เวลาประมาณ 1 ปี เข้าไปฝังตัวร่วมกับตำรวจตระเวนชายแดนและตำรวจพื้นที่ มีการประชุมกัน ผมเป็นผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยดูแลแผนการปฏิบัติ ตามนโยบายว่า ทำอย่างไร ต้องปราบให้หมด มีผู้ค้ายาเสพติดอยู่ 4-5 รายใหญ่ๆ สร้างเครือข่ายเป็นธุรกิจที่ใหญ่โต แล้วใครก็เข้าไปไม่ถึงตัว ผมเข้าไปทำงาน ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือจากท่านเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ทำให้ประสบความสำเร็จ”
อดีตมือปราบยาเสพติดอธิบายอีกว่า ก่อนที่จะออกจากคลองเตย เราส่งคนไปฝังตัว ไปทำอะไร ยืนยันว่า เราทำเกือบจะสูญพันธุ์ เพราะเข้าไปอยู่ คลุกคลีกับชาวบ้านที่ให้ความร่วมมือ ชาวบ้านที่ไม่เกี่ยวข้องพร้อมจากบอกข้อมูลกับตำรวจ ขอย้อนไปตอนแรกก่อนภารกิจกวาดล้างครั้งใหญ่ ถ้าเราเข้าไปแล้วไปพูดถึงเรื่องยาเสพติดในคลองเตยจะนึกภาพไม่ออก แต่พอเข้าไปแล้ว พอถึงเวลาค่ำ เหมือนพวกผีดิบ ซอมบี้เดินเพ่นพ่านกันเต็มชุมชนคลองเตยเหมือนผีลุกขึ้นมา
พล.ต.ต.พรภัทรมองว่า ต้องรีบทำอย่างไรให้คนพวกนี้พ้นจากยาเสพติด พวกนักค้ายาต้องจับกุม ผู้เสพต้องไปบำบัด สมัยนั้นเราจับเข้าคุกหมด เพราะยังไม่มี พระราชบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องผู้เสพเป็นผู้ป่วย แต่ถ้าเอาเข้าไปในคุยไม่นานก็ออกมาอีก สุดท้าย ท่านนพดล สมบูรณ์ทรัพย์ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ควบคุมดูแลการแก้ปัญหายาเสพติดได้มีการให้โรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองขึ้นมา ให้ทหาร ตำรวจ ดำเนินการจัดอบรม เอาพวกที่ติดยาเสพติดไปส่งโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง เราจัดไปทุกวันเลย แล้วยังจะจัดไปตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อจะเอาคนพวกนี้ไปเก็บไว้ ฝึกให้อดยาเสพติด ให้ฝึกร่างกาย ยาบ้าไม่ใช่ยาเสพติดที่เสพเข้าไปแล้วติดเลย ติดตลอด ไม่เหมือนเฮโรอีน ยาบ้าพอออกมานอกพื้นที่แล้วไม่เสพก็ไม่ติด
พล.ต.ต.พรภัทรขยายความว่า เราจะต้องเอาคนพวกนี้ออกไป ทำให้ได้ฟื้นฟูร่างกาย ไปดูวิธีการจะเห็นชัดเจนว่า เด็กที่เข้าไปโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองพอครบกำหนดออกมา ร่างกายสมบูรณ์ดีเลย แต่พอกลับเข้าสู่สภาพเดิมก็เข้าไปในวงจรเดิมอีกที่ติดยาเสพติด นี่คือ ปัญหาที่แก้ไม่ตก
กระนั้นก็ตาม หลังจากประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนคลองเตย เขาได้รับการโปรโมตให้ขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก่อนจะถูกวางตัวให้กลับขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด แต่เกิดปัญหาทางการเมืองเปลี่ยนขั้วอำนาจ ทำเอาบัญชีรายชื่อถูกรื้อตีตกจนต้องไปเกษียณตำแหน่งสุดท้ายรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
“ผมไม่ขอพูดถึง คือ ผมลืมมันไปแล้ว แต่ก็โอเค มันเป็นปีสุดท้าย เหมือนกับว่า เราต้องทำหน้าที่ ปฏิบัติตามคำสั่ง มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผมมีความประทับใจในคดีที่ได้ทำ ชีวิตผมที่ทำคดีที่ใหญ่ๆ เยอะมาก แต่ส่วนมากจะเป็นคดีการเมืองที่พูดไม่ได้ เป็นคดีที่ไม่สามารถไปบอกอะไรใครได้ เป็นเรื่องที่ผมไม่อยากยุ่ง แต่วันหนึ่งก็มายุ่งกับเราจนได้ ถึงโดนหางเลข”
นายพลตำรวจในตำนานหน่วยปราบปรามยาเสพติดอยากฝากข้อคิดถึงตำรวจรุ่นใหม่ด้วยว่า น่าสงสาร แม้เราไม่ได้เข้าไปอยู่ในวงการเป็น 10 กว่าปีนับจากเกษียณอายุราชการ เพราะบั้นปลายเสียความรู้สึกถึงไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวอีกเลย แต่ถ้าจากประสบการณ์ที่ผ่านมาอยากฝากถึงนายตำรวจรุ่นน้องว่า ให้คิดถึงอุดมคติตำรวจ คือ อดทนต่อความเจ็บใจ เพราะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
“ผมเชื่อว่า ตำรวจไม่ได้เลวโดยกำเนิด แต่ว่า เมื่อเข้าไปทำงานแล้ว อะไรมันก็บังคับทุกอย่าง พูดไปก็ด่ากันเอง ไม่ต้องไปพูดหรอก เมื่อสถานการณ์บังคับให้ไม่ทำก็ต้องทำ พูดอย่างนี้ ผมคิดว่า ทุกคนคงจะเข้าใจ ถ้าเผื่ออดทนแล้วก็ไม่ทำตาม ความก้าวหน้าจะไม่มี อันนี้ฝากน้องๆ ไว้คิด แต่ที่อยากจะชวนคิดให้มากๆ คือผู้ใหญ่ๆ ที่จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี” พล.ต.ต.พรภัทรน้ำเสียงหนักแน่น
เขาแสดงความเห็นว่า มีหลายเรื่องลูกน้องอยากพูดถึงผู้ใหญ่ที่มีปัญหา แต่ผู้ใหญ่เองกลับไม่สามารถตอบคำถามสังคมได้ เพราะอะไรน่าจะเดาเหตุผลออก พูดไปเดี๋ยวหาเหมือนว่าด่าองค์กรตัวเองอีก ปัจจุบันถึงหันมาเล่นกีฬาคลายเครียด ด้วยความเป็นนักกีฬาตึ้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เป็นนักฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ก่อนไปเล่นกอล์ฟใช้ชีวิตนักกีฬาเต็มตัวหลังเกษียณอายุราชการ กระทั่งได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมกรีฑา เป็นสนามกอล์ฟที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
“เพราะว่าผมไม่อยากหันไปมองอะไร เราดูวันต่อวัน เรามาอยู่กับสมาชิก มาอยู่กับนักกอล์ฟ มาดูแล มาบริการ มันก็เป็นความสุขอีกอย่าง แล้วก็มีความสุขจริงๆ ด้วยที่ได้อยู่ตรงนี้” นายพลวัยเกษียณทิ้งท้าย
พรภัทร สุยะนันทน์ !!!