หันหลังบอกลาวงการข่าวไปทำธุรกิจร้านกาแฟสไตล์เวียดนามอยู่ริมถนนปิ่นเกล้า-นครชัยศรี พุทธมณฑลสาย 7 ศาลายา นครปฐม ทิ้งบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านม่านชัตเตอร์ไว้มากมายตลอดชีวิตการทำงานภาคสนาม
แมน น้อยพิทักษ์ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เกิดและเติบโตย่านดินแดง เริ่มต้นวัยประถมที่โรงเรียนพิบูลย์ประชาสรรค์ ไปต่อมัธยมโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี สูญเสียพ่อไปตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีถัดมาก็ต้องเสียแม่ไปอีกคน
ชีวิตการเรียนถู ๆ ไถ ๆ กว่าจะเรียนจบต้องตกซ้ำชั้นปีหนึ่ง ระหว่างนั้นได้ เมฆ น้อยพิทักษ์ ช่างภาพหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่ที่เป็นพี่ชายมาเข้าสู่วงการ ทำหน้าที่ออฟฟิศบอย คอยไปซื้อกาแฟอยู่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
หลังจากนั้นได้รับโอกาสไปอยู่หนังสือพิมพ์ดาวสยามยุค “กระแช่” สยาม มีเฟื่องศาสตร์ คอลัมนิสต์ชื่อดัง “ผมได้เป็นช่างภาพแบบฝึกงาน เรียนรู้เอง มีพี่ชายคอยแนะนำ สมัยก่อนเป็นกล้องฟิล์ม ถ่ายโอเวอร์บ้าง อันเดอร์บ้าง พี่ชายต้องแนะนำให้ไปเรียนการถ่ายภาพ เริ่มรู้จักกล้องมากขึ้น ถ่ายภาพขาวดำมาตลอด ประจำ รถตระเวนของหนังสือพิมพ์ดาวสยาม เป็นช่างภาพฝึกงาน เงินเดือนไม่สูงเท่าไหร่ ตระเวนข่าวอยู่หลายปี” แมนย้อนอดีต
เขาเล่าว่า รู้จักพรรคพวกนักข่าวรุ่นหลายคน ตัวเองเหมือนจะเด็กที่สุด เป็นช่างภาพข่าวได้ไม่นานโดนเกณฑ์ทหารไปอยู่กองพันทหาราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ้นเกณฑ์ทหารออกมาตกงาน อาศัยบารมีพี่ชายไปฝากจำลอง บุญสอง ช่างภาพมากประสบการณ์ของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ต้องไปฝึกงานใหม่เป็นสไตล์การถ่ายภาพที่แตกต่างจากหนังสือพิมพ์ดาวสยามอย่างสิ้นเชิง
แมนบอกว่า ที่นี่ใช้ฟิล์มคนละแบบ เริ่มต้นจากให้ไปอยู่ห้องมืดก่อน ลองมาล้างฟิล์มเอง ศึกษาสไตล์การถ่ายภาพของหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ยอมรับว่าเป็นคนละแนวกับที่เคยถ่ายมาก ตอนนั้นคิดว่า ยากพอสมควร จากหนังสือไทยมาเป็นหนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษ เป็นคนละมุมมอง คนละมุมกล้อง “พี่จำลองบอกแมน ไปดูห้องสมุด ดูแนวเขาว่า ถ่ายชีวิตเป็นอย่างไร ถ่ายอาชญากรรมเป็นอย่างไร ถ่ายอุบัติเหตุเป็นอย่างไร แตกต่างจากหนังสือไทยสมัยก่อนที่ศพกระจุยกระจาย ส่วนหนังสือภาษาอังกฤษ ภาพข่าวอาชญากรรมจะไม่มีเลย เน้นภาพที่ไม่อุดจาดตา”
อีกประสบการณ์ที่เข้าได้เรียนรู้จากหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นคือ การถ่ายภาพสี ใช้ฟิล์มสไลด์ที่ต้องใช้ฝีมือในการกดชัตเตอร์ ผิด คือ ผิดทันที เพราะสีออกมาแก้ไม่ได้ ต้องลงตีพิมพ์หน้า 1 เจ้าตัวว่า กว่าจะได้รับโอกาสออกมาถ่ายภาพข้างนอกใช้เวลานานมาก เพราะต้องดูมุมกล้อง ถ่ายเสร็จแล้วต้องให้จำลองดู เริ่มแรกจะถูกตำหนิบ่อยมากว่า ถ่ายอะไรมาใช้ไม่ได้ ยากมาก เราต้องถ่ายเอง ล้างเองเพื่อจะรู้ว่าภาพที่ถ่ายอันเดอร์ไหม โอเวอร์ไหม ฟิล์มหนาไปไหม บางไปไหม ต้องอัดเองในห้องมืด เรียกได้ว่า กระดาษสมัยนั้น ถ้าใช้ไม่ได้ต้องทิ้ง
แมนถ่ายทอดเรื่องราวการลั่นชัตเตอร์อีกว่า ภาพข่าวอาชญากรรมต้องหลีกเลี่ยงด้วยมุมกล้อง คดีข่มขืนหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษจะห้ามเด็ดขาด ไม่ให้เห็นผู้เสียหาย ไม่เปิดเผยให้รู้ว่า อายุเท่าไรและเป็นใคร เราต้องหลีกเลี่ยงในจุดนี้ เพื่อไม่ให้เหยื่อเสียหาย กระนั้นก็ตาม ทำงานอยู่ในห้องมืดประมาณปีกว่าถึงได้ปล่อยลงสนาม เมื่อเห็นว่า เราผ่านแล้ว ด้วยความที่เราไม่ได้มาจากหัวหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ช่างภาพเดอะเนชั่นสมัยนั้นแต่ละคนฝีมือมาก
เจ้าตัวเล่าด้วยว่า ในอดีตของสนามข่าว ช่างภาพไม่เยอะเหมือนปัจจุบัน เวลามีข่าวใหญ่ทีจะเจอหน้ากันหมด รู้จักกันหมด ผิดกับปัจจุบัน มีข่าวทีมากันหมด ทั้งอาชญากรรม บันเทิง แย่งกันมากมายก่ายกอง แต่ถือเป็นผลงานของแต่ละสังกัดก็ว่ากันไป ยุคก่อนจะมีแค่หนังสือพิมพ์ อาทิ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด ดาวสยาม บ้านเมือง มติชน เดลิมิเรอร์ ส่วนหนังสือพิมพ์หัวภาษาอังกฤษแค่เดอะเนชั่นกับบางกอกโพสต์เท่านั้น เวลาไปไหนจะไปด้วยกัน แต่มุมมองต่างกันจะมาวัดกันบนแผงตอนเช้า
“ถามว่าสื่อมวลชนสมัยนั้นรู้จักกันหมดไหม ก็รู้จักกันหมดนะ เจอหน้าถามสารทุกข์สุขดิบ สวัสดีทักทายกันในสถานการณ์เหตุการณ์บ้านเมือง กระทั่งหมดยุคฟิล์มเปลี่ยนมาเป็นยุคดิจิทัล การถ่ายภาพเปลี่ยนแปลงไปโดยที่เราสามารถถ่ายกี่รูปก็ได้ สามารถเอามาดูก่อนได้ด้วยว่าใช้ได้หรือไม่ ผิดกับฟิล์มที่มีจำนวนจำกัด”
การเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น แมนบอกด้วยว่า เวลาถ่ายภาพเสร็จแล้วเราต้องเลือกรูปไปนำเสนอโต๊ะหน้า 1 เพื่อให้ได้ลง เพราะโควตาพื้นที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษจะน้อยมาก เฉลี่ยแล้ววันละรูปเดียว ไม่เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยที่ลงได้หลายรูป เราแข่งกับแค่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่ารูปใครจะได้ลงหน้า 1 ตัดสินกันบนแผง แต่เดอะเนชั่นส่วนใหญ่จะเน้นไปทางรูปข่าวการเมือง
ทำงานคร่ำหวอดในวงการมาหลายสิบปี แมนเคยคว้ารางวัลภาพข่าวของชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรมจากเหตุการ์พฤษภาทมิฬ 2535 ในวินาทีทหารบุกเข้าไปจับจำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่เชิงสะพานผ่านฟ้า เป็นรางวัลเดียวของชีวิตช่างภาพ เนื่องจากต้นสังกัดไม่มีนโยบายส่งประกวดชิงรางวัล “ผมต้องขออนุญาตผู้ใหญ่ส่งประกวด เขาถามว่า แมนแน่ใจหรือ ผมตอบว่า ครับ ที่ประชุมลงมติเห็นควรส่งเข้าประกวด ทั้งที่หนังสือต่างประเทศไม่นิยมเปิดเผย ปรากฏว่า ได้รางวัล”
ถ่ายรูปมามากมายนับไม่ถ้วน อดีตช่างภาพมือดีของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นยอมรับว่า ตอนอยู่หนังสือพิมพ์ไทยมักจะเจอเหตุการณ์อาชญากรรมอย่างเดียว เช่น ระเบิด เครื่องบินตก เจอภาพข่าวไฟไหม้กับศพ รวมถึงอุบัติเหตุใหญ่ แต่พอมาอยู่หัวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษจะเน้นไปหนักการเมือง ตามความเคลื่อนไหวนักการเมืองดังที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เวลาใกล้เลือกตั้ง เราจะเห็นนักการเมืองที่ไม่เคยไถนาก็ต้องไปไถนา เราเป็นช่างภาพก็จะต้องตามติด
แมนเริ่มตามถ่ายภาพนักการเมืองสมัยชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เฝ้าหน้าบ้านตั้งแต่ตอนเช้ามืด ถ่ายภาพขี่รถมอเตอร์ไซค์ชอปเปอร์ ถือเป็นยุคที่ฮอตมาก เนื่องจากชาติชายเป็นกันเองกับสื่อมวลชน ช่างภาพ นักข่าวทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์จะตามเกาะติดจนเต็มไปหมด บ่อยครั้งต้องวัดดวง วัดมุมยืน เพราะนายกฯชาติชายชอบทำอะไรแปลก ๆ บางวันแบกกระสอบข้าวสารออกมาบ้าง ถ้ายืนผิดมุมจะบังหน้านายกฯ ถือว่าจบกัน
อย่างไรก็ตาม แมนให้ข้อคิดว่า การเป็นช่างภาพต้องไม่จำกัดว่า ต้องไปถ่ายภาพด้านเดียว เพราะเราอาจต้องไปถ่ายรูปพระมหากษัตริย์ ถ่ายภาพข่าวอาชญากรรม ถ่ายภาพกีฬา ต้องไปได้หมด แม้แต่ถ่ายภาพอาหารก็ต้องถ่ายได้ “เราถูกฝึกมาให้ทุกคนถ่ายภาพได้หมดแล้วต้องลงตีพิมพ์ ไม่ใช่ถ่ายมาแล้วเสียของ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถ่ายมาแล้วต้องได้รับการคัดเลือกลงหนังสือพิมพ์ให้ได้ รูปดี ๆ หรือมีความหมายอาจขึ้นหน้า 1ของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นได้”
อยู่เดอะเนชั่นประมาณ 40 ปีตั้งแต่เป็นช่างภาพขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยกองบรรณาธิการคุมภาพเคลื่อนไหวตอนเดอะเนชั่นมีช่องทีวีเปลี่ยนแนวตัวเองจากระบบฟิล์มเป็นดิจิทัลก่อนเป็นภาพเคลื่อนไหว กระทั่งตัดสินใจลาออกตอนอายุ 55 ปี เพราะคิดว่า ตำแหน่งตันแล้ว ประกอบกับถึงจุดอิ่มตัว หันไปเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ เลี้ยงตัวเอง
ทิ้งท้าย เขามองสื่อมวลชนยุคปัจจุบันว่า เปลี่ยนแปลงมาเป็นระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ เป็นไลน์ข่าวผ่านโลกโซเชียล พวกที่เป็นกระดาษเหลือน้อยลง แต่หนังสือพิมพ์ก็ยังมีคนรุ่นเก่าอ่านอยู่ตามร้านกาแฟแถบชานเมือง คือ ยังมีเสน่ห์อยู่ แต่ส่วนตัวรู้สึกว่า ข่าวโซเชียลมันเร็ว แต่ต้องคัดกรองให้มากกว่านี้ บางข่าวอาจไม่จริง เพราะฉะนั้นน่ากลัวมาก