“หัวสมองเด็กเท่ากันหมด สิ่งที่ไม่เท่า คือ โอกาสการเข้าถึง”

 

ชีวิตวนเวียนในเครื่องแบบชุดฟาติกสีเขียวเกือบตลอดชีวิตราชการ

พล...ประกอบ พลเตชา ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 มีความตั้งใจแน่วแน่จะพัฒนาหน่วยให้เป็นบันทึกความทรงจำก่อนอำลาตำแหน่งปลายกันยายน 2566

ปลุกศักยภาพ ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ให้มีคุณค่าความสำคัญไม่แพ้ครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

ครูที่ทำหน้าที่มากกว่า ผู้สอนตะลอนอยู่ในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารตามยอดดอยและป่าเขา แม้กระทั่งน้ำไฟและสัญญาณอินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง

แล้วจะมีครูสักกี่คนต้องเสียสละเพื่อเด็กนักเรียนด้อยโอกาส

หากไม่ใช่ ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

 

พ่อเป็นตำรวจท่ามกลางวงล้อมของทหาร ถึงตัดสินใจเข้าสู่รั้วสามพราน

“ชีวิตรับราชการครั้งแรกที่ภาคเหนือ ไม่น่าเชื่อจะต้องมาเกษียณอายุราชการที่ภาคเหนือ” พล.ต.ต.ประกอบ พลเตชาบอกถึงโชคชะตาการเดินทางของชีวิตตัวเอง เขาเกิดในครอบครัวพ่อรับราชการตำรวจอยู่ในจังหวัดสระบุรี แต่บ้านรายล้อมด้วยครอบครัวข้าราชการทหาร เข้ากรุงเทพมหานครไปเรียนต่อสามเสนวิทยาลัยจบออกมาตัดสินใจสอบโรงเรียนเตรียมทหารเป็นรุ่น 22 เลือกเหล่านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38

            พล.ต.ต.ประกอบบอกเหตุผลแรก คือ พ่อเป็นตำรวจ อีกเหตุผลเพราะรอบบ้านเต็มไปด้วยนายทหาร ยิ่งตอนเด็กชอบอะไรที่ต้องต่อสู้ เช่น ยูโด ถึงอยากเป็นตำรวจ จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจบรรจุตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำพูน “เป็นอีกความแปลก คือเริ่มรับราชการที่ภาคเหนือ แล้วก็จะมาเกษียณที่ภาคเหนือ” เจ้าตัวย้ำข้อความ

ทำงานอยู่ลำพูนด้วยความที่ครอบครัวฝ่ายภรรยาเป็นคนชะอำ จังหวัดเพชรบุรี  เขาบอกว่า ตอนแรกไม่มีภาระรับผิดชอบอะไรมาก ออกตรวจพื้นที่ ทำคดีได้ พอเริ่มมีลูกต้องคิดแล้วว่าใครจะเป็นคนช่วยเลี้ยง ทำให้มองหาทางกลับไปชะอำ แต่ทว่าตำแหน่งโรงพักเต็มหมด ไม่ว่าจะเป็นชะอำ หรือหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ทางเดียวที่จะลงได้คือค่ายนเรศวรของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

 

เริ่มต้นชีวิตพลร่มค่ายนเรศวร ทบทวนตำราการฝึกนักรบ

นับเป็นจุดเริ่มของเส้นทางนักรบป่าของนายตำรวจหนุ่ม  เขาเล็งค่ายพลร่มนเรศวร เพราะเคยกระโดดร่ม และมีค่าปีกร่มน่าจะพอที่เลี้ยงครอบครัวได้ สังกัดอยู่ค่ายนเรศวรยาวนานกว่า 15 ปี ตั้งแต่เป็นผู้หมวดแล้วก็ได้มาขึ้นสารวัตรในค่ายนเรศวร ก่อนไปขึ้นรองผู้กำกับการที่ส่วนกลาง  “สิ่งที่ผมชอบ คือ ระบบของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ยกตัวอย่างสมัยอยู่ภูธร เป็น รองสารวัตรป้องกันปราบปรามมีคดีแทงกันตาย รู้หมดว่า ผู้ต้องหาอยู่ที่ไหน อะไร ยังไง แต่กว่าจะตามได้หมดเวลาไป 3 ชั่วโมง  ผู้หมวด ร.ต.ท.ต้องวิ่งหารถ หาเงิน หาลูกน้อง สุดท้ายคนร้ายหนีเข้าพม่าไป ส่วนที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนพอมีคำสั่งให้ไปชายแดน ถามเหมือนกันว่า ต้องเตรียมอะไรไป ได้รับคำตอบว่า แต่เตรียมตัวกับหัวใจไปก็พอ แบกเป้ไปที่เหลือมีให้หมด รถ ลา ช้าง ม้า เป็นระบบที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย”

เขายืนยันว่า กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมีระบบการทำงานที่น่าอยู่ ทุกอย่างเป็นแบบแผน ไม่ใช่นึกจะไปทำวันนี้ แต่ทุกอย่างต้องมีการวางแผนไว้แล้ว ถึงรู้สึกชอบกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  ผ่านหน้างานสารพัดแล้วได้จังหวะมาทำงานทางวิชาการเป็น ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยของกองบังคับการฝึกพิเศษ  ได้เป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับแผน เก็บเกี่ยวองค์ความรู้ในแผน เป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งผู้ปฏิบัติด้วย

 

เติมเต็มวิชาคอมพิวเตอร์ ใช้เป็นแนวติวเตอร์สอนลูกศิษย์

หลังจากนั้นโยกมาเป็นผู้กำกับการประจำค่ายพระราม 6 คุมกำลังฝึกขุนพลชุดฟาติกสีเขียวให้เป็นนักรบป่า ควบคู่กับการใช้เวลาว่างวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทครุศาสตรบัณฑิต เอกคอมพิวเตอร์ เพราะสมัยเป็นสารวัตรกำลังพลมีตำรวจในค่าย 1,000  นายที่ต้องพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน และการแต่งตั้งโยกย้าย ต้องใช้ฐานข้อมูล เปิดตำราบางทีไม่ออก

พล.ต.ต.ประกอบเล่าว่า ได้ขอผู้บังคับบัญชาไปเรียนต่อ เท่ากับว่า เรามีคุณวุฒิครุศาสตร์ เอกคอมพิวเตอร์ มีความเชี่ยวชาญด้านไอที “เป็นสิ่งที่ทำให้ผมมาถึงวันนี้ เริ่มจากเป็นครูฝึกก่อน ผมก็เรียนรู้เกี่ยวกับการฝึก ก่อนจะมาเทรน ตอนแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฝึกตำรวจตระเวนชายแดน เพิ่มเติมความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มาสอนได้อีก”

ขึ้นรองผู้บังคับการกองการฝึกพิเศษก่อนผู้บังคับบัญชาการจะมอบหมายให้เป็นรองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เพื่อต้องการให้ไปเรียนรู้เรื่องของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตรงวุฒิที่จบครุศาสตรบัณฑิต เป็นการเรียนรู้ในเรื่องของทั้งฮาร์ดพาวเวอร์ คือ กองร้อยปฏิบัติการในลักษณะรบพิเศษ ได้เรียนรู้เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ คือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

 

สัมผัสหน่วยแล้วถึงเข้าใจ ทำไมต้องมีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

“ตอนแรกแม้แต่ตัวผมเองก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องมีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ทำไมเราต้องไปแย่งงานกระทรวงศึกษาธิการทำ พอไปศึกษาจริงๆ  แล้ว และได้มีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพบเลยว่า บางแห่งเป็นพื้นที่ป่าเขา ลำเนาไพร ใช้เวลาเดินทางโดยรถถึง 6 ชั่วโมง นั่งเฮลิคอปเตอร์อาจแค่ 20 นาที บางแห่งต้องนั่งเรือเข้าไป ทำให้เข้าใจแล้วว่า ทำไมต้องมีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน แล้วประกอบกับผมมีคุณวุฒิทางด้านนี้เลยมาทุ่มเท และพบปัญหาต่างๆมากมาย” พล.ต.ต.ประกอบว่า

คุมพื้นที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ไม่กี่ปีได้เลื่อนเป็นผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3  เจ้าตัวมุ่งมั่นในการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาระดับผู้ปฏิบัติ คือ ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในฐานะที่ตัวเองเป็นระดับผู้บริหารต้องเข้าไปช่วย อาทิ เด็กสอบไม่ผ่านโอเน็ต เพราะสอนเบสิก แต่ไม่สอนเทคนิค เหมือนเวลาชกมวย แย็บซ้าย แย็บขวาแล้วขึ้นชกจริงเลย เมื่อไรก็โดนน็อก เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนใหม่  ว่า ก่อนจะสอบโอเน็ต ต้องติวในเชิงเทคนิค

ขณะเดียวกัน พล.ต.ต.ประกอบยังบอกว่า เด็กที่ไม่มีโอกาสจะได้ฝึกข้อสอบจะมีโปรแกรมทำข้อสอบโอเน็ต แม้ทั้งหมดทั้งปวงมีค่าใช้จ่าย แต่ด้วยความที่เราทำการกุศล เรามีพรรค มีพวกที่ช่วย เห็นเจตนาดีว่า ควรจะแก้ไขตรงนี้ แต่ที่ผ่านมา มีคนอยากจะให้การสนับสนุนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บางอย่างไปลงที่ฮาร์ดแวร์ หมายความว่า สร้างโน่นนี่ สร้างห้องน้ำ สร้างอาคาร

 

มุ่งมั่นสร้างมันสมองของเด็ก เคี่ยวเข็ญสอบโอเน็ตให้ผ่านทะลุเป้า

“การสร้างสิ่งเหล่านี้ สร้างวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่าแล้ว เก่าไป 1 วัน ถ้าสร้างสมองเด็ก มันต่อยอดได้ ถ้ามันเป็นไปได้วางแผนไว้ ผมว่าอนาคตของเด็กจะไปได้  อธิบายก่อนว่า เด็กโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจะมีอนาคตสดใสก็ต่อเมื่อได้ทุนพระราชานุเคราะห์ คือทุนของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่การที่ได้มา ไม่ง่าย คือ ต้องสอบได้คะแนนที่ดีที่สุด ต้องสอบผ่านเกณฑ์ ใช้เกณฑ์ขั้นสูงระดับประเทศ”

ปรากฏตัวเลขสถิติเมื่อปี 2564 มีนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 สอบทั้งหมด 86 โรงเรียนของพื้นที่ตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3  มีนักเรียนสอบทั้งหมด 855 คน สอบผ่านเกณฑ์ สูงกว่าเกณฑ์ระดับประเทศอยู่ 61 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.3 เท่ากับภาพนักเรียน 800 กว่าคน มีโอกาสที่จะได้ทุนแค่ 61 แล้วอีก 700 กว่าคนไปไหน พล.ต.ต.ประกอบตั้งคำถาม และมองว่า ถ้าฐานะดี หรือบ้านใกล้โรงเรียนอาจจะได้มาเรียน พอจบมัธยมปีที่ 3 ก็ทำไร่ ไถนา ถางป่าเหมือนเดิม ถึงมาช่วยตรงนี้ดีกว่า ทำให้เด็กสอบได้มากขึ้น  ถ้าสอบผ่าน คือ อนาคตของเด็กเรียนไปยันปริญญาตรี บางคนถึงขั้นเรียนจบดอกเตอร์

ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 วางแนวทำโปรแกรมติวโอเน็ตเพื่อช่วยเด็กนักเรียนโดยตรงมากกว่าไปซื้อขนมให้ กินวันเดียวก็หมด  สร้างอาคารก็จำเป็น แต่วันหนึ่งก็ต้องเก่า ถ้าสร้างตรงนี้ เหมือนสร้างอนาคตให้เด็ก  “ผมยังเห็นเรื่องของสื่อการสอน เรามักจะโทษเด็กที่เด็กไม่เก่ง เพราะว่าเป็นเด็กกะเหรี่ยง บังเอิญผมได้อบรมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างฟังก์ชั่นผู้บริหารและความผิดปกติทางภาษาก่อนวัยเรียน  พบคำตอบว่า สมองมนุษย์ของเด็กเด่นหล้ากับโรงเรียนบนดอยเท่ากันหมด ลองแลกเอาลูกกะเหรี่ยงไปอยู่กรุงเทพฯ แล้วเอาเด็กกรุงเทพฯ ไปเป็นลูกกะเหรี่ยง ผลออกมาคือ หัวสมองเด็กเท่ากัน แต่สิ่งที่ไม่เท่ากัน คือสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่พ่อแม่ ครู วิธีการสอน”

 

เปลี่ยนระบบการเรียนการสอนใหม่ มั่นใจเด็กดอยเก่งไม่แพ้เด็กเมือง

เขาเชื่อว่า หากครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสอนแบบเดิม เด็กกะเหรี่ยงก็ต้องแพ้เด็กกรุงเทพฯ  สมมติว่า หัวสมองของเด็กเป็นคอมพิวเตอร์ จุหน่วยความจำได้ 100 หน่วย  เวลาเราสอนภาษาอังกฤษแบบทั่วไป คำว่า คัพ แปลว่า ถ้วย แสดงว่า 1 คำภาษาอังกฤษ ใช้ 2 หน่วยความจำ คัพกับถ้วย แต่ถ้าสอนด้วยวิธีนี้กับเด็กกะเหรี่ยง คัพแปลว่า ถ้วย เด็กกะเหรี่ยงไม่รู้ว่าถ้วย คือ อะไร ต้องไปแปลเป็นภาษากะเหรี่ยง เท่ากับว่า คำว่า คัพ คำเดียวใช้ 3 หน่วย เพราะฉะนั้นด้วยความจุแค่ 100 เด็กกะเหรี่ยงจะได้แค่ 30 คำ ในขณะที่เด็กกรุงเทพฯ ได้ 50 คำ

นายพลนักรบป่าชายแดนภาคเหนือยืนยันว่า ปัจจุบันเปลี่ยนเด็กกะเหรี่ยงเหล่านี้ได้แล้วด้วยการเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ตัวอย่างเคยท่องคำศัพท์ได้ 80 คำ ถ้าสอนแอนท์แปลว่ามด แบดเป็นค้างคาว ยังไงก็ได้ 24 คำ  ถ้าเราสอนอีกวิธีหนึ่งได้ 80 กว่าคำ คือให้จำ คัพอิสคัพ วอเตอร์อีสวอเตอร์ ไม่ต้องไปแปล 100 คำ แต่การจะสอนแบบนี้ มันต้องมีวิธีการ เช่น เล่นเกมบ้าง อะไรบ้าง  บางเรื่องเด็กไม่รู้คืออะไร พอเราพูดเพลย์ซอกเกอร์ เด็กจะเตะเท้าไปข้างหน้านี่คือ การเรียนการสอนแบบสมัยใหม่

“ผมทำมาแล้ว ผมพิสูจน์ว่า หัวสมองเด็กเท่ากันหมด สิ่งที่ไม่เท่า คือ โอกาสการเข้าถึง ทีนี้ เราต้องมานั่งคุยกันว่า ทุกอย่างมี 2 ด้าน เหรียญมี 2 ด้าน ไฟฟ้ามีคุณก็มีโทษ ถ้าเราจะบอกว่า ครูตำรวจตระเวนชายแดนต้องจบปริญญาตรี ครุศาสตร์ เราอาจจะเจอครูสอนอาทิตย์ละ 3 วัน เพราะว่าบ้านอยู่ไกล แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้เกิดโครงการคุรุทายาท ต้องการให้เด็กนักเรียนจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนได้มีโอกาสเป็นครู”

 

วางรากฐานให้เกิดความต่อเนื่อง ว่าด้วยเรื่องของครูตำรวจชายแดน

“อย่างน้อยๆ ก็เป็นครู 24 ชั่วโมง ตอนกลางวันเป็นครู ตอนเย็นๆ อาจจะเป็นพี่ เป็นคนที่บ้านเดิมอยู่แถวนั้น แล้วที่สำคัญ เราไม่มองในแง่องค์ความรู้ เรามองในแง่ของโมทิวิชั่น อย่างน้อย ๆ เด็กนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเท่าที่สัมภาษณ์มาทั้งหมดไม่เคยมีใครเป็นโจรผู้ร้าย  เหตุหนึ่งที่ไม่มี ผมมั่นใจได้เลยว่า เด็กอยากเป็นตำรวจ แล้วการที่จะเป็นตำรวจต้องไม่เคยทำผิด ตรงนี้นอกเหนือจากเรื่องวิชาการ ทุกวันนี้เราต้องการคนดี หรือคนเก่ง เราต้องการคนดี เก่งไปแล้วโกงก็ไม่ไหว” พล.ต.ต.ประกอบย้ำแนวคิด

เขาพยายามฝึกในเรื่องของวิธีการสอนของครู และไม่เคยคิดว่า มีเวลาอยู่ในตำแหน่งแค่ปีเดียวน้อยเดินไป หากคิดจะวางรากฐานแล้วเกิดความต่อเนื่อง เหมือนสมัย พล.ต.ท.ประยูร อำมฤต เป็นผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ริเริ่มโครงการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน  ปัจจุบันก็ยังอยู่ ขณะที่บางคนอาจอยู่ 2 ปี หรือไม่เกินยังนึกไม่ออกเลยว่า มีอะไรบ้าง อย่างน้อยเราก็ต้องมีอะไรให้จดจำได้บ้าง

พล.ต.ต.ประกอบอยากจะฝากถึงคนที่มองเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องของกำไร ขาดทุน  บอกว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมีนักเรียนแค่ 20 คน ไม่คุ้ม อยากถามว่า ทำไมต้องมีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพราะพวกเราจะไปตรงที่เป็นจุดบอดทางการศึกษา  เช่น ทางภาคเหนือ ภูเขาเป็นลูกๆ ตรงไหนที่มีหย่อมเพาะปลูกได้จะมีหมู่บ้านชาวเขา พวกนั้นเป็นคนไทย เพียงแต่ไม่ได้ไปแจ้งเกิด รุ่นปู่ย่าตายายไม่ได้แจ้งเกิด รุ่นลูกหลานก็ไม่มีหลักฐานกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ แล้วถ้าไม่มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจะทำอะไร

 

สานแนวโครงการพระราชดำริ ผลิดอกออกผลเนื้องานกำจัดปัญหาในพื้นที่

นายพลตำรวจชายแดนยกตัวอย่างอาชีพสุจริตจะต้องทำไร่ เผาป่า ส่วนพวกไม่สุจริตต้องเดินยา ปลูกฝิ่น ถามว่ากับการที่เราลงทุน 2-3 ล้านบาทให้เด็ก 20-30 คน ไม่เป็นเด็กเดินยา คุ้มไหม คนหนึ่งคนแบกยาได้ 1 เป้ ใน 1 เป้ มียา 1 แสน ถามว่า เด็ก 34 คนถ้าเราไม่ไปสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เราจะมียาบ้าทะลักเข้ามาจำนวนเท่าไร นี่คือ  ความสำคัญของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

จากประสบการณ์ที่เดินทางตามโรงเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน พล.ต.ต.ประกอบพบว่า เรามีส่วนช่วยปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด มีอยู่บางโรงเรียนบนยอดเขา หุบเขาปลูกฝิ่น ทำอะไรกันไม่ได้ ผู้ใหญ่บ้าน กำนันต้องไปของตำรวจตระเวนชายแดนมาอยู่  ไปเป็นครู ด้วยความที่เป็นตำรวจเจอต้องจัดการ แล้วการเป็นครูตำรวจตระเวนชายแดนไม่ได้มาแต่ตัวครู เราเป็นฮาร์ดพาวเวอร์ มาเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยด้วย ครูทำหน้าที่สอนไป แต่ผู้หมวดสนามยังมีหน้าที่ป้องกัน ยิ่งสมัยอดีตยังมีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีขบวนการยาเสพติดอาจจะมาทำร้ายครูธรรมดา ไม่มีใครคุ้มกัน พอตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนปัญหาเหล่านั้นก็หายไป

อีกส่วน พล.ต.ต.ประกอบชี้ให้เห็นเป็นการต่อยอดจากโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริให้เปลี่ยนจากฝิ่นเป็นพืชเมืองหนาวที่มีราคา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสามารถนำไปใช้ปรับความคิดของชาวบ้าน เช่น โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ หมู่บ้านห้วยหก อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ อดีตเคยปลูกฝิ่น ปัจจุบันเด็กนักเรียนจะมีต้นกาแฟคนละต้นที่มีชื่อเสียงมาจากดอยสามหมื่นขายในราคาพอใจ

 

ช่วยผลักดันศูนย์ฝึกอาชีพ หนีบ “อาวุธเย็น” ต่อสู้อาวุธยิง

“ถ้าเราไม่ต่อยอดเมล็ดกาแฟ ไม่มีคนไปขาย ชาวบ้านอาจจะกลับไปปลูกฝิ่นอีก เป็นสิ่งที่ผมกำลังต่อสู้เรื่องผลิตภัณฑ์ของนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้ยั่งยืนตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  มีโครงการ 8 โครงการ  หนึ่งในนั้นคือ ฝึกอาชีพให้เด็ก เมื่อโตขึ้นมาไม่ไปทำอาชีพที่ ไม่ถึงกับผิดกฎหมาย แค่ทำลายทรัพยากร เช่น ทำไร่เลื่อนลอย หรือแม้แต่เผาป่าก็แย่แล้ว”  ที่พูดมาทั้งหมด พล.ต.ต.ประกอบว่า ทำมาแล้วสมัยผลักดันศูนย์ฝึกอาชีพของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1  ทำให้เด็กมีเงินเป็นหมื่น ด้วยการขายสินค้าที่เทำทุกวันๆ  เป็นความพยายามที่จะทำให้ยั่งยืน ขึ้นอยู่กับหัวสมอง  เอาไปผ่าฟืนทำถ่านได้เท่าไร ถ้าไปทำเฟอร์นิเจอร์จะได้เท่าไร แล้วถ้าเอาไปแกะสลักได้เท่าไร  เพราะฉะนั้นถามว่า ราคาของไม้ขึ้นอยู่กับตัวไม้ หรือว่าขึ้นอยู่กับหัวสมองของคน

“ผมถึงจะฝึกเด็กของผม ให้คิด เหมือนที่เคยพูดกันว่า ความคิดสำคัญกว่าความรู้ ทุกคนเรียนรู้ เรียนจบปริญญาตรี เท่ากันหมด ทำไมบางคนเป็นเจ้าสัว บางคนยังขับมอเตอร์ไซค์วิน”  เจ้าตัวทิ้งท้ายด้วยว่า งานของตำรวจตระเวนชายแดนเป็นงานที่ปิดทองหลังพระ คนที่อยู่ต้องอยู่ด้วยใจรัก แล้วชอบในวัฒนธรรมองค์กร เรามีสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ เราแค่ทำให้ดีขึ้น สิ่งที่จะช่วยคือ การใช้การศึกษา ขออนุญาตเอ่ยนาม พล.ต.อ.สมศักดิ์ แขวงโสภา อดีตผู้บังคับบัญชาเคยสอนไว้ว่า ตำรวจตระเวนชายแดนมีอาวุธอยู่ 2 อย่าง คืออาวุธยิงกับอาวุธเย็น ต้องใช้ให้เป็น อาวุธยิงตายแล้วไม่ฟื้น แต่อาวุธเย็นทำให้คนที่ตายแล้วกลับมาฟื้นได้

เขาขยายความว่า คนที่ติดยาเสพติดเราไม่สามารถเอาปืนไปจี้ให้เลิกได้ แต่สามารถพูดเกลี้ยกล่อมให้เลิกได้ด้วยการมีอาชีพที่ดี เราทำมาแล้วด้วยอาวุธเย็น และอยากจะทำต่อ  ดังนั้นเราควรจะหันมาให้ความสำคัญกับอาวุธเย็นบ้าง บางคนอาจจะไม่เข้าใจ คิดว่า ตำรวจตระเวนชายแดนไปแย่งงานกระทรวงศึกษาธิการควรยุบได้แล้ว ลองมาเปิดใจนิดหนึ่งว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน คือ อาวุธแต่เป็นอาวุธเย็น  อยากจะให้มองเห็นในเชิงยุทธศาสตร์ อย่ามองแค่ยุทธวิธีว่าครูตำรวจตระเวนชายแดนไปแย่งงานการสอน

 

บรรเลงบทความยุทธศาสตร์ รักษาความมั่นคงของชาติบ้านเมือง

พล.ต.ต.ประกอบ พลเตชา ยังเขียนบทความเรื่องโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยงานยุทธศาสตร์รักษาความมั่นคงแห่งชาติ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย้อนอดีตกาลที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ หรือที่เรียกว่า ชาวเขากับชาวเมืองในพื้นที่ภาคเหนือจะอยู่แยกจากกันด้วยระยะทาง และขนบธรรมเนียมประเพณี จวบจนเมื่อภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้นมีเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวเขาและชาวเมืองจำเป็นต้องมีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน  ได้แก่  ภัยจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่มายุยงปลุกปั่นชาวเขาให้จับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลเพื่อหวังแยกตนเป็นอิสระ หากการปฏิวัติของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์สําเร็จ

ต่อมาเป็นภัยจากกองทัพจีนคณะชาติ(กองพล 93)  เดินทางมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น แต่ไม่สามารถกลับไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ เนื่องจากเปลี่ยนเป็นระบบคอมมิวนิสต์ จึงยึดพื้นที่บนป่าเขาของภาคเหนือเป็นที่ตั้ง และหารายได้โดยการปลูกฝิ่น  และด้วยเป็นกองกำลังติดอาวุธ ฝ่ายปกครองหรือตำรวจภูธร ไม่สามารถเข้าไปปราบปรามได้

จากภัยทั้งสองประการ รัฐบาลขณะนั้นได้ส่งหน่วยกำลังทั้งทหารและตำรวจตระเวนชายแดนเข้าปราบปราม เป็นที่กำเนิดของตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายดารารัศมี ก่อนพัฒนาเป็นกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 อย่างไรก็ตามภัยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เป็นการต่อสู้เอาชนะทางความคิด และเป็นสงครามแย่งชิงประชาชน

 

ย้อนจุดกำเนิดของสถาบันรักษาชายแดน ท่ามกลางดินแดนสงครามชิงประชาชน

พล.ต.ต.ประกอบแสดงความเห็นว่า การใช้กองกำลังติดอาวุธ (Hard Power) อาจสามารถยึดพื้นที่ได้ในระยะหนึ่ง แต่เมื่อกองกำลังออกไป ประชาชนที่ฝักใฝลัทธิคอมมิวนิสต์ก็กลับมาใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาลต่อไปอีก กองบัญชาการตำรวจรักษาชายแดน  (ชื่อกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนในขณะนั้น) ได้จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้น เพื่อปลูกฝังแนวความคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อแย่งชิงประชาชนกลับมาเป็นฝ่ายเรา จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแห่งแรกขึ้นในพื้นที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2499 ชื่อโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ 1 บ้านดอนมหาวัน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

ต่อมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเห็นความสำคัญ ทรงสนับสนุนและอุปถัมภ์งานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ปี 2506 เป็นต้นมา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในเบื้องต้นจะเป็นการสอนให้เด็กชาวเขาเรียนรู้ภาษาไทย เพื่อสำนึกว่า เขาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย มีรัฐบาลให้ความสำคัญและพร้อมช่วยเหลือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ครูตำรวจตระเวนชายแดนในขณะนั้นต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นครูพยาบาล เพื่อรักษาชาวเขาผู้เจ็บป่วย เป็นครูเกษตรที่สอนเพาะปลูกพืชผักสวนครัวแทนการทำไร่เลื่อนลอย ประกอบกับมีโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรที่เรียกว่า “โครงการหลวง” เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าเขา โน้มน้าวชาวเขาเลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชเมืองหนาวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีราคา

 

เดินหน้าลุยตัดทำลายไร่ฝิ่น สร้างถิ่นกาแฟมีชื่อบนดอยสามหมื่น

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ (บ้านผาแดง)อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ได้สนองพระราชดำริ เมื่อมีการจัดตั้งโรงเรียนแล้ว นอกจากให้กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนมาตัดทำลายไร่ฝิ่น  ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจะมีหน้าที่แนะนำการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทน ทำให้ปัจจุบันมีตัวอย่างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ 1 บ้านดอยสามหมื่น อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ครอบครัวของนักเรียนส่วนใหญ่จะมีต้นกาแฟอย่างน้อย 1 ต้นต่อครอบครัว  จัดส่งขายให้ร้านกาแฟปันรักษ์ของสมาคมแม่บ้านตำรวจ ทำให้นักเรียนและครอบครัวมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามแนวทางของโครงการหลวงที่ทรงพระราชทานไว้

พล.ต.ต.ประกอบมองด้วยว่า ตำรวจตระเวนชายแดนเป็นหน่วยงานที่ตอบโจทย์ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะงานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมิได้มีเพียงงานด้านการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังพัฒนาให้กับชุมชนในถิ่นทุรกันดารในหลายประการ อย่างน้อยต้องสนองงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จํานวน 8 เป้าหมายหลัก

อันได้แก่ 1. เสริมสร้างสุขภาพของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา สนับสนุนอาหารเสริม เช่น นม และอื่นๆ เพื่อให้เด็กที่เกิดมามีอัตราการอยู่รอดและสุขภาพสมบูรณ์  2. การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา หรือโครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ โดยเด็กนักเรียนที่สอบได้คะแนนดี แต่ขาดทุนทรัพย์ จะได้รับทุนการศึกษาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  3. เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางวิชาการและทางจริยธรรม จะเห็นได้ว่านอกจากเป้าหมายด้านการเรียนการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนยังเน้นในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม

 

ฝังจิตสำนักและพัฒนาศักยเยาวชน ขยายผลสู่ชุมชนบ้านเกิด

  1. เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการงานอาชีพ การที่เด็กเมื่อเติบใหญ่จะมีความมั่นคงในชีวิต ด้วยการมีอาชีพที่สุจริต ฉะนั้นในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจะมีการสอนอาชีพที่เหมาะกับสภาพสังคมและวัตถุดิบในพื้นที่ เช่น การแปรรูปผลไม้ในท้องถิ่น การทอผ้า การจักสานโดยใช้พืชในท้องถิ่น นอกจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ยังมีศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียนเก่าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จัดตั้งขึ้นตามพระราชดําริฯ อยู่ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฝึกอาชีพให้กับนักเรียนเก่าที่ไม่มีโอกาสได้เรียนในระบบ ให้สามารถมีอาชีพการงานที่ดี เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
  2. ปลูกฝังจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัญหาของนักเรียนและครอบครัวในพื้นที่ป่าเขาคือ การบุกรุกทำลายป่า แต่หากได้มีการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ คือการใช้พื้นที่แต่น้อยให้เกิดผลผลิตมากจะลดการตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่าอันเป็นต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5 ส่วน 6. เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นและของชาติไทย ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในพื้นที่ เพราะการสอนให้ยอมรับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ซึ่งกันและกันของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
  3. ขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน หลักการเป็นการระเบิดจากภายใน (Inside-out) เพื่อขยายแนวคิดในด้านต่างๆ สู่ชุมชน มิใช่ว่าในโรงเรียนเด็กนักเรียนปลูกพืชสวนครัว แต่กลับไปบ้านพ่อแม่ให้ไปถางป่าทำไร่ข้าวโพด  ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่จะต้องขยายความรู้และทัศนคติจากเด็กนักเรียนสู่ครอบครัว ชุมชนจะเกิดประโยชน์ สูงสุด และ8. พัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้ลักษณะการทำศูนย์สาธิต เพื่อให้ประชาชนในบริเวณโดยรอบโรงเรียนได้มาศึกษา นำไปขยายผลในชุมชนที่ผู้มาดูงานต่อไป

 

ฝากสังคมศึกษาให้ลึกซึ้ง เหตุผลซึ่งต้องมีครูตำรวจชายแดน

ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 นำเสนอด้วยว่า หากมองโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นเพียงหน่วยงานด้านการศึกษา ก็จะดูเหมือนว่าตำรวจตระเวนชายแดนไปแย่งงานกระทรวงศึกษาธิการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่หากมองในแง่เป็นหน่วยงานยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ลองคิดดูว่า หากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนถูกยกเลิกไป จะกระทบต่อความมั่นคงของชาติในแต่ละด้านแค่ไหนเพียงใด

นอกจากนี้ในยามศึกสงคราม หากมีการรุกรานจากอริราชศัตรู ส่วนหนึ่งในการต่อสู้ศัตรู คือ กำลังประชาชน เพราะในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา (1)(2) บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“ภารกิจป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติในยามที่มีการศึกสงคราม ใครจะเป็นผู้นำชาวบ้านในการต่อสู้กับผู้รุกรานได้ดีกว่า ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน”  พล.ต.ต.ประกอบปิดท้ายบทความได้อย่างลึกซึ้ง

 

RELATED ARTICLES