“ผมมั่นใจในศักยภาพสายตรวจ 191 ปัจจุบันไม่เป็นรองใคร

 

ก้าวขึ้นนั่งคุมทัพหน่วยปฏิบัติการพิเศษกองทัพเมืองหลวง

พล.ต.ต.ภานพ  วรธนัชชากุล รับไม้สานต่อภารกิจจาก พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว นายตำรวจรุ่นน้อง เป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ

เก้าอี้สำคัญในการสนับสนุนภารกิจขจัด “ปัดเป่า” ภัยอาชญากรรม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้ชาวกรุงเทพมหานครอยู่เย็นเป็นสุข

อาจไม่มียี่ห้อ “มือปราบ” สาย “บู๊” แต่เจ้าตัวสะสมประสบการณ์งาน “บุ๋น” มาอย่างโชกโชน

สามารถกระโจนควบบังเหียนขับเคลื่อนหน่วย “ขุมกำลังติดอาร์ม” กวาดล้างโจรผู้ร้ายสารพัดรูปแบบ

ให้สมกับคำว่า “ตำรวจ 191 เป็นที่พึ่งแรกของประชาชน”

 

จากเด็กเตรียมอุดมศึกษา ไปเปิดตำราที่เตรียมทหาร

เลาะประวัติ พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล หนุ่มชาวกรุง เกิดในครอบครัวค้าขาย จบมัธยมต้นโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี ไปต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ก่อนฉีกแนวเพื่อนส่วนใหญ่ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 29 เลือกเหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 45 เหตุผลเพราะพ่ออยากให้ลูกเป็นตำรวจ ทั้งที่ตั้งใจอยากเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย หลังจากมุมานะเข้ามาเรียนเตรียมอุดมศึกษาแล้ว

พล.ต.ต.ภานพเล่าว่า เรียนเตรียมอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จะอยากเข้ามหาวิทยาลัย เหมือนอยู่ในหัว ปรากฏว่า ผลเอ็นทรานซ์ติดคณะบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่สอบติดโรงเรียนเตรียมทหารก่อนหน้าแล้ว พ่อให้เข้าเรียนไปก่อน และไม่ให้ลาออก นึกถึงใจของพ่อที่อยากให้เป็นตำรวจ สุดท้ายต้องเลือกสายนายร้อยตำรวจ

ชีวิตจากนักเรียนเตรียมอุดมศึกษาเปลี่ยนมาเป็นนักเรียนเตรียมทหาร พล.ต.ต.ภานพยอมรับว่า แตกต่างกันมาก เราเป็นเด็กเรียน ไม่เคยฝึกหนัก ไม่ค่อยได้ออกกำลงกาย มาเรียนเตรียมทหารต่อด้วยนายร้อยตำรวจต้องปรับตัวไม่น้อย เมื่อได้เข้ามาแล้วต้องทำให้เต็มที่ “ผมถือว่าดีนะ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่เคยเจอในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันในคนหมู่มาก อยู่ในกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ฝึกความเข้มแข็ง ทั้งร่างกายและจิตใจ ตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะสิ่งที่ได้จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พอจบออกมาทำให้เรารู้ว่า เวลาเจอปัญหาอุปสรรคอะไรจะฝ่าฟันไปได้ สอบให้เราเข้มแข็งมากขึ้น ไม่ว่าจะร่างกาย หรือจิตใจ การดำเนินชีวิตระหว่างที่ทำงาน สามารถนำเอามาใช้ได้”

 

บรรจุลงตำแหน่งในนครบาล บุกเบิกงานนโยบายและแผน

จบหลักสูตรออกมาบรรจุครั้งแรกตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร เพียง 2 ปีลาไปศึกษาต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาลงตำแหน่งรองสารวัตรธุรการกองกำกับการนโยบายและแผน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ช่วยงาน พ.ต.อ.ภาณุ เกิดลาภผล ขณะนั้นเป็นรองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.อ.สุรพล ธนโกเศศ เป็นผู้กำการ นำเอาความรู้ที่ได้เรียนมาจากประเทศสหรัฐอเมริกามาช่วงวางแผนรักษาความเรียบร้อย ถวายความปลอดภัย และการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“เสมือนเป็นจุดเริ่มอย่างหนึ่งของการทำงานของผม เป็นสิ่งที่ไม่เคยทำ” พล.ต.ต.ภานพย้อนความหลัง มี พ.ต.ท.นนท์ นิ่มบุญนำ สารวัตรในขณะนั้นเป็นอาจารย์คนแรกที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องการทำแผน การออกแผน  ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด อยู่ถึงตี 3-4 ทุกวัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ส่งผลให้ผู้บังคับบัญชามองเห็นความรับผิดชอบ

ระหว่างนั้น พล.ต.ต.วิโรจน์ จันทรังษี ย้ายมาขึ้นเป็นผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.อ.ปิยะ อุทาโย เป็นผู้กำกับการทะเบียนพล กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เรียกเขาไปพบเพื่อดูตัวเป็นนายเวร กลายเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตนายเวรติดสายขาวติดตาม พล.ต.ต.วิโรจน์ จันทรังษี ตั้งแต่นั่งตำแหน่งผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 และผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4

 

ขยับบินขึ้นสารวัตรสอบสวนกลาง เกี่ยวประสบการณ์กลับเมืองหลวง

บ่มเพาะประสบการณ์จนสุกงอม ขยับขึ้นนอกหน่วยเป็นสารวัตรกองกำกับการข่าว กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปูเส้นทางอยู่หน่วยติดอาร์มหลายปี เมื่อย้ายเป็นสารวัตรตำรวจท่องเที่ยวที่สนามบินดอนเมือง ขึ้นรองผู้กำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ประจำริมโขงอยู่ชายแดนจังหวัดหนองคาย แล้วขยับเป็นรองผู้กำกับการศูนย์ฝึกอบรม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำแหน่งที่เพิ่งเปิดใหม่

วงเวียนใช้ชีวิตอยู่ในสอบสวนกลางกระทั่ง พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี นายเก่าขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถึงต้องคืนถิ่นเมืองหลวงเป็นรองผู้กำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจจราจร คุมพื้นที่บนทางด่วน ก่อนลงเป็นรองผู้กำกับการจราจร สถานีตำรวจนครบาลบุคคโลนาน 2 ปี เลื่อนขึ้นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา ได้รางวัลโรงพักเพื่อประชาชนอันดับ 1 ในกลุ่มโรงพักระดับ 2 ส่งผลให้เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดินแดง

อยู่นาน 3 ปี ทำผลงานเป็นโรงพักเพื่อประชาชนอันดับ 1 อีกครั้ง  แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยกเลิกหลักเกณฑ์ที่ต้องเลื่อนตำแหน่ง เจ้าตัวไม่ได้ขยับแถมโดนพิษป้ายไฟกลายเป็นมลทินติดตัวให้ต้องกระเด็นออกนอกหน่วยเป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 4 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ไปคุมหน้างานจัดซื้อจัดจ้างเพียงครึ่งปี เกิดเหตุการณ์ค้ามนุษย์โรฮิงญาย้ายผู้กำกับในหน่วยค้ามนุษย์หลายคน ผู้ใหญ่เห็นประสบการณ์เป็นผู้กำกับมาหลายที่จัดแจงโยกเป็นผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์

 

ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ถูกฉุดไปนั่งเก้าอี้ “ผู้การ 191”

พล.ต.ต.ภานพย้อนเรื่องราวว่า ได้รับโจทย์ให้ไปแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องประมง ใช้เวลาเดียวจับขบวนการใหญ่  และช่วยเหยื่อออกมาได้ประมาณ 50 กว่าคน รวบผู้ต้องหาได้ยกแก๊งเป็นทั้งคนไทยและคนเมียนมาที่จังหวัดภูเก็ต นำมาแถลงข่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระนั้นก็ตาม ยอมรับว่า มีความคุ้นชินกับนครบาลมากกว่า อยากขอย้ายกลับมา แต่ได้ไปอยู่จเรตำรวจเป็นผู้กำกับการนาน 7 ปี

กว่าจะถึงได้ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษอีกปีถัดมาในยุค พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ เที่ยวนี้อยู่เก้าอี้ยาว 6 ปี จนได้เป็นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ “ผมไม่เคยคิดเลยนะว่าจะเป็นผู้การ 191 ถือเป็นความโชคดีที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา บอกไว้ก่อนว่า เวลาทำงาน ไม่ว่าอยู่ตำแหน่งไหน ไม่ว่าตำแหน่งนั้นจะเป็นตำแหน่งอำนวยการ หรือเป็นตำแหน่งฝ่ายปฏิบัติจะอยู่ใกล้ชิดประชาชนหรือไม่ก็ตาม ผมถือหลักว่า ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด พยายามที่จะรักษาภาพของตำรวจ”

เขายืนยันว่า เวลาไปอยู่ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยที่ไหนจะเรียกลูกน้องทั้งหมดมาคุย มอบนโยบายให้ทุกคนต้องมีกรอบ ต้องรู้ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ทุกคนรู้อยู่แก่ใจดีว่า สิ่งที่เป็นกรอบ ที่สังคมรับได้ ชาวบ้านรับได้คืออะไร ถ้าเราทำในสิ่งที่มันเกินกรอบ สังคมดูแล้วไม่ใช่ เป็นการรังแกชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเดือดร้อนจนถูกร้องเรียน เท่ากับเดินออกนอกกรอบ ปัญหาต่างๆ จะตามมา ต้องมานั่งแก้ไข หรือถูกดำเนินคดีทางอาญา ถูกดำเนินการทางวินัย สิ่งเหล่านี้จะพูดเตือนลูกน้องตลอด

เน้นการทำงานแบบมืออาชีพ หนีบเอาขวัญกำลังใจลูกน้องเป็นหลัก

“หลักการทำงานของผมจะบอกลูกน้องว่า ให้นึกถึงใจเขาใจเรา จะทำอะไรก็ตามขอให้นึกว่า ถ้าคนที่เราจะกระทำกับเขา เขาเป็นญาติ เป็นพ่อแม่พี่น้องเรา ให้เราตรึกตรองดูว่า เราจะทำกับเขาอย่างนั้นรึเปล่า ถ้าเราคิดว่า เป็นญาติพี่น้องเรา เราไม่ทำกับเขาอย่างนั้นแน่ ดังนั้นเราก็อย่าทำกับชาวบ้าน ด้วยการไปเบียดเบียน ไปทำให้ประชาชนเดือดร้อน”

ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษย้ำว่า นโยบายการทำงานของหน่วย ต้องเรียนว่า เราเป็นหน่วยที่มีความเป็นเฉพาะทางที่ไม่เหมือนกัน กองกำกับการม้าก็ต้องมีความชำนาญ มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องม้า ส่วนนักสัตวแพทย์ก็อีกแบบ หรือหน่วยอีโอดี หน่วยอรินทราช ศูนย์รับแจ้งเหตุ แม้กระทั่งกองกำกับการสายตรวจ เป็นความเฉพาะทางหมดเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากเห็น คือเราต้องสร้างความเป็นมืออาชีพในกองกำกับต่าง ๆ

“ส่วนใหญ่ทั้งหมดมีความเป็นมืออาชีพเฉพาะทางอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นในบทบาบาทความเฉพาะทางของตัวเองให้มาสอดประสานทำงานร่วมกัน เพื่อจะสนับสนุนในภารกิจสำคัญที่หลายๆ ครั้ง อาจจะไม่ได้ใช้หน่วยเดียวในการดำเนินการ และอีกสิ่งหนึ่งที่ผมต้องทำ คือ สร้างขวัญกำลังใจของลูกน้อง หากว่าไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน การจะไปทำให้บรรลุเป้าหมาย หรือภารกิจก็จะยาก” พล.ต.ต.ภานพว่า

 

ปรับแผนการรับแจ้งเหตุ เจ้าหน้าที่ต้องห้ามปฏิเสธคนแจ้ง

ขณะเดียวกัน เขายังเน้นเรื่องของการประชาสัมพันธ์หน่วย เมื่อทุกกองกำกับทำงานเยอะมาก มีผลงานหลายๆ ด้าน  บางครั้งไม่ได้นำเสนอให้ใครรู้ ปัจจุบันเริ่มเน้นความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะ ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 เป็นเหมือนหัวใจที่คนนึกอะไรไม่ออก บอกไม่ถูกก็โทร ถึงต้องพยายามพัฒนาศักยภาพของศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 ให้สามารถบริการประชาชน แก้ปัญหาให้ประชาชนได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

            พล.ต.ต.ภานพอธิบายว่า พยายามปรับปรุงศูนย์ผ่านฟ้า หรือกองกำกับการศูนย์ร่วมข่าวให้ตอบโจทย์ชาวบ้าน สมมติมีคนโทรมา 191 เราจะแจ้งไปยังโรงพัก ไปเร็ว ไปช้า หรือไม่ไป เราอาจตรวจสอบบ้าง ไม่ตรวจสอบบ้าง แต่ปัจจุบันเราเปลี่ยนใหม่ พอรับแจ้งเหตุ ผ่านไป 3 นาที เจ้าหน้าที่ศูนย์จะดูในระบบก่อนว่า มีการปิดเหตุหรือยัง  ถ้าระบบแจ้งปิดเหตุแล้ว แสดงว่า สายตรวจไปถึงแล้ว ถ้าไม่เห็นเจ้านห้าที่จะแจ้งเตือนไปอีกครั้งว่า สายตรวจเจอผู้แจ้งหรือยัง

ถ้าผ่านไป 5 นาทีแล้วยังเงียบ พล.ต.ต.ภานพบอกว่า เราจะโทรศัพท์กลับไปหาผู้แจ้งเรียกว่าเป็นระบบคอลแบ็กว่า มีสายตรวจไปถึงหรือยัง เราจะรู้ทันทีตำรวจท้องที่ไป หรือไม่ไป พนักงานวิทยุจะต้องตื่นตัวมากกว่าแต่ก่อน พยายามจะช่วยกระตุ้นโรงพัก  ถ้าเรารู้ว่า ไม่ได้ไป จะแจ้งวิทยุเตือนให้ผู้บังคับบัญชาของโรงพักนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับ รองผู้กำกับ หรือสารวัตร แม้กระทั่งผู้บังคับการ รองผู้บังคับการที่ฟังอยู่ได้รับรู้การทำงานของสายตรวจที่รับแจ้งเหตุ เป็นเหตุผลสำคัญที่สายตรวจต้องตื่นตัวในการปฏิบัติงาน

 

จ่อเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ นำมาปรับใช้คุมหน้างานสายตรวจ

ในอนาคต ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษกำลังจะเปิดตัวแอปพลิเคชัน 191 ควบคุมพื้นที่กรุงเทพมหานครนำร่องก่อนให้ทันยุคสมัย หลังจากในอดีตชาวบ้านจะโทรแจ้งเหตุมายังหมายเลขโทรศัพท์ 191 เจ้าหน้าที่ศูนย์ผ่านฟ้าต้องถามหาพิกัดที่อยู่ผู้แจ้ง กว่าจะคุยกันรู้เรื่องหมดเวลาไปประมาณ 1-2 นาที แต่ถ้าแจ้งเหตุผ่านแอปพลิเคชัน 191 บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ พิกัดของผู้แจ้งจะโชว์ทันทีว่ามาจากตรงไหน แล้วเข้าหน้าที่ศูนย์จะแชร์พิกัดไปถึงโรงพักเพื่อแจ้งสายตรวจในทันที ง่ายและลดเวลาที่สูญเสียไปจากการสอบถามพิกัด

พล.ต.ต.ภานพยังบอกว่า แอปพลิเคชัน 191 มีระบบวิดีโอคอล สำหรับกรณีเกิดเหตุการณ์สด ๆ ร้อน ๆ ผู้แจ้งสามารถส่งภาพเหตุการณ์ได้ทันที หรือบางกรณีผู้แจ้งไม่สะดวกจะพูดโทรศัพท์ เนื่องจากมีเหตุข้อจำกัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อาจถูกคนร้ายเฝ้ามองอยู่ หรือถูกคนร้ายจับไว้ แต่สามารถที่แอลใช้โทรศัพท์กดแอปพลิเคชัน 191 วิดีโอคอลมาถ่ายภาพเหตุการณ์มาแบบเรียลไทม์ให้ตำรวจเห็นความเคลื่อนไหวเพื่อประเมินสถานการณ์ได้เช่นกัน

“แอปพลิเคชัน 191 ตัวนี้ทำเสร็จแล้ว เหลือแค่ประชาสัมพันธ์เปิดตัว เชื่อว่าจะเข้ามาช่วยในการทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” พล.ต.ต.ภานพมั่นใจเทคโนโลยีชิ้นใหม่ของหน่วยควบคู่กับการนำกล้องซีซีทีวีทั้งหมดในสมัย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดของกรุงเทพมหานครรวมกันประมาณ 4 หมื่นกว่าตัวดึงมาอยู่ศูนย์ผ่านฟ้าเพื่อควบคุมสั่งการสายตรวจเวลาเกิดเหตุร้ายจะสามารถนำภาพขึ้นจอดูความเคลื่อนไหวได้ทันทีไปประกอบการตัดสินใจก้าวสกัดจับคนร้าย

มั่นใจศักยภาพขุมกำลัง กับแผนผังควบคุมสั่งการ

ผู้บังคับการ 191 มองไว้ด้วยว่า พอเจ้าหน้าที่ศูนย์ผ่านฟ้ามีความชำนาญมากขึ้นจะสามารถช่วยเรื่องการวางแผนสั่งการรถสายตรวจเข้าประจำจุดต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้บนหน้าจอในการตัดสินใจว่า รถสายตรวจคันไหนอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมากสุด ขณะที่ รถสายตรวจทุกคันได้ติดอุปกรณ์กล้องตรวจจับไลน์เซนเพจให้ภาพเรียลไทม์ขึ้นตรงศูนย์ผ่านฟ้าประกอบการตัดสินใจควบคุมสั่งการเวลามีเหตุเกิดขึ้น

“ผมมั่นใจในศักยภาพสายตรวจ 191 ปัจจุบันไม่เป็นรองใคร ด้วยประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของสายตรวจเรา ผมเชื่อว่า สามารถที่จะควบคุมอาชญากรรมในพื้นที่ที่เรารับผิดชอบได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า กำลังสายตรวจเรายังไม่สามารถที่จะไปทั่วทุกพื้นที่ของนครบาลได้ ทั้ง 88 โรงพัก สิ่งที่เราต้องทำ คือ ใช้สายตรวจของพื้นที่กับสายตรวจของ 191 ทำงานควบคู่กัน ประสานกัน ใช้การควบคุมสั่งการผ่านทางศูนย์วิทยุ 191 ศูนย์วิทยุของกองบังคับการต่าง ๆ ศูนย์วิทยุของโรงพัก ผสมผสานให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

เขายกตัวอย่างเหตุการณ์สารวัตรสันติบาลคลั่งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลสายไหมว่า หลังมีการรับแจ้ง สายตรวจโรงพักใช้เวลาไปกี่นาทีไปถึงที่เกิดเหตุ ถือว่าเร็วมาก แต่เมื่อไปถึงแล้วได้ดำเนินการขั้นต้น ประเมินแล้วเกินขีดความสามารถ มีการแจ้งต่อไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 ส่งกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 2 ลงไป พร้อมกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล

 

เปิดใจฉากวิกฤติสารวัตรคลั่ง รับฟังกระดานไม่ให้เกิดความสูญเสีย

เหตุการณ์ความตึงเครียดบานปลาย พล.ต.ต.อรรถพล อนุสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 รายงาน พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ขอกำลังเสริม มอบหมาย พล.ต.ต.ภานพ วรธนัชชากุล ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ พร้อมหน่วยอรินทราช 26 ที่มีทีมเตรียมพร้อมอยู่แล้ว 24 ชั่วโมงตามไปสมทบภารกิจ ใช้เวลาประมาณ 25 นาทีจากหน่วยถึงบริเวณเกิดเหตุ

“การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่หน้าที่ความรับผิดชอบขึ้นอยู่กับอรินทราช 26 ที่รอฟังคำสั่ง จริง ๆ เราไม่อยากให้มันเป็นถึงขนาดนั้น พูดกันตั้งแต่ต้น แล้วย้ำมาตลอดว่า ทำไมเราถึงไม่เข้าตั้งแต่แรก เราใช้วิธีการเจรจามาตลอด เพราะว่า เราไม่ต้องการที่จะเข้าไปปะทะ หรือเข้าไปควบคุมตัว โดยที่เราไม่รู้ว่าข้างในมีอะไร ต้องบอกเลยว่า ข้อมูล ณ ขณะนั้น เราไม่รู้ว่า สารวัตรมีอาวุธปืนกี่กระบอก มีกระสุนปืนกี่นัด มีอาวุธอื่นด้วยหรือไม่”

ผู้บังคับบัญชาหน่วยอรินทราช 26 เล่านาทีความตึงเครียดว่า ได้ตรวจสอบจากเพื่อนๆ จากญาติว่า ตัวสารวัตรเคยรักษาทางจิตเวช เพราะฉะนั้นเราต้องมองเป็นผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้น  กำหนดไว้แล้วว่า เราต้องการที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ออกมามอบตัวเพื่อจะพาเขาไปรักษา เป็นจุดเริ่มที่มีมาตั้งแต่ต้น บอกได้เลยว่า เราไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสีย ไม่อยากให้เกิดการบาดเจ็บด้วยซ้ำ อยากจะให้ออกมามอบตัว แล้วพาไปรักษา สิ่งที่บอกกับชุดอรินทราชย้ำตลอดว่า ผู้บังคับบัญชาจะไม่ให้เข้า

 

เจรจาเกลี้ยกล่อมยืดเยื้อไร้ผล แต่ยังไม่เป็นเหตุผลต้องยิงหัว

ตลอดระยะเวลาที่ยืดเยื้อเกินกว่า 27 ชั่วโมง พล.ต.ต.ภานพว่า ตั้งแต่เริ่มต้น คือ การเจรจามาตลอด พาลูกมา พาเพื่อนมา พาแม่มา พาผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาพามาทุกคน พยายามช่วยกันเกลี้ยกล่อมให้ออกมามอบตัว แต่ไม่สำเร็จ ในช่วงค่ำของคืนวันแรกที่เราเจรจามาทั้งวันแล้วไม่สำเร็จ เราก็คิดว่าการใช้แก๊สน้ำตาน่าจะช่วยได้บ้าง  ขว้างใส่เข้าไปเพื่อที่จะให้ออกมามอบตัว เพราะว่าแก๊สน้ำตาถ้าโยนเข้าไป คนปกติจะไม่สามารถอยู่ได้ อย่างน้อยต้องออกมา ปรากฏว่า เป้าหมายไม่ออก

“พอไม่ออก ถามว่าจริง ๆ เรามีตำรวจที่มีหน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตาบุกเข้าได้เลยนะ เพราะตอนนั้นสารวัตรคงได้แต่ปกป้อง หาวิธีการป้องกันแก๊สน้ำตา แต่เราเองคิดว่า ถ้าเราเข้าไป อาจจะถูกยิงสวนกลับมาหรือไม่  ถ้ายิงมาแล้วเรายิงกลับไป มีการปะทะกัน พอมีการปะทะกัน สิ่งที่เรากลัวคืออะไร คือ แก๊สน้ำตามันคลุ้งอยู่ ทัศนวิสัยจะไม่ชัดเจน เรากลัวว่า ยิงไปแล้วเดี๋ยวจะไปถูกเขาบาดเจ็บ หรือว่าเสียชีวิตหรือไม่ แล้วอีกอย่าง คือ อย่างที่บอกตั้งแต่ต้น เราพยายามจะหลีกเลี่ยงการปะทะ เลยตัดสินใจว่า ถ้าไม่ออก เราก็ตัดสินใจว่าไม่เข้า”

พล.ต.ต.ภานพสรุปความว่า  ไปเจรจาใหม่อีกตอนตี 2 ครึ่ง ขอลองอีกที เพราะรอบแรก เรายิงแก๊สน้ำตาเข้าไป เป็น 2 ห้องข้างบน ห้องนอนกับห้องด้านหลังตรงบันได ปรากฏว่า ช่วงที่ยิงครั้งแรก เป้าหมายหลบจากห้องนอนไปอยู่ที่ห้องด้านหลัง เป็นบันไดขึ้นไปยืนสูดอากาศอยู่ตรงหน้าต่าง ตรงนั้นเรามีสไนเปอร์อยู่เห็นชัดเจน แต่เราไม่ได้ยิง ผู้บัญชาการเหตุการณ์บอกแล้วว่า ห้ามยิง เนื่องจากเขาเองก็ไม่ได้ยิงใส่ตำรวจ  ยืนอยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้นเราไปยิงก่อนไม่ได้

หลีกเลี่ยงการปะทะข้ามคืน ก่อนแสดงจุดยืนเพราะหน้าที่

“หน่วยสไนเปอร์ยังรายงานมาว่า เป้าหมายยืนตรงหน้าต่าง เห็นตัวแล้ว แต่ผมก็บอกว่า ห้ามยิงๆ รอจนยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปอีกรอบ ยังมั่นใจว่ายังไงก็ต้องออก แต่ปรากฏก็ไม่ออกมาอีก เราก็ยังไม่เข้านะ ใช้วิธีการกระชับพื้นที่เข้าไปใกล้ตัวบ้านที่เกิดเหตุให้มากที่สุด แล้วใช้วิธีการเจรจาอีก ให้ออกมามอบตัว แต่ว่า ไม่ตอบ พอไม่ตอบ เราก็เลยขยับพื้นที่เข้าไปด้านในที่ชั้น 1 ยังไม่ได้ขึ้น เพราะมุมมอง ทัศนวิสัย สภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย  และระหว่างที่ขยับไป เขายิงสวนเข้ามาโดนหมวกกันน็อกของตำรวจอินทราชการ เราสั่งถอยเลย มาอยู่แต่ข้างหน้าแล้วไม่เข้าแล้ว”

พล.ต.ต.ภานพเล่าถึงขั้นตอนสุดท้ายอย่างที่ผู้บังคับบัญชาให้ข่าวไป คือ เรามีการประเมินร่วมกับนักจิตวิทยาว่า ลักษณะอาการคุยไม่รู้เรื่อง ไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมได้ ไม่เหมือนคนอื่น คือคล้ายว่า เขาเป็นโรคทางจิตเวช รอถึงเช้าผู้บังคับบัญชาย้ำเหมือนเดิม ถ้าเข้าไปเพื่อที่จะไปควบคุม พาเขาออกมาเพื่อที่จะพาไปรักษา หลีกเลี่ยงการปะทะให้ได้  ถ้าหากมีการปะทะต้องหลีกเลี่ยง พยายามอย่าให้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

ต่อมาเหตุการณ์ลงเอยด้วยการให้หน่วยอรินทราช 26 บุกเข้าไปข้างในจนเกิดการยิงปะทะกันดุเดือดส่งผลให้สารวัตรสันติบาลเจอคมกระสุนของเจ้าหน้าที่ได้บาดเจ็บไปเสียชีวิตโรงพยาบาลภูมิพล เป็นความสำเร็จในการสยบคลั่งที่ใช้เวลานานเกินกว่า 27 ชั่วโมงแลกด้วยเลือดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วยกันเอง “พวกเราทำตามขั้นตอน ตามยุทธวิธี พวกเราทำดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสีย ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวสารวัตรกานต์มา ณ ที่นี้ด้วย ” พล.ต.ต.ภานพระบายความรู้สึก

 

เล็งเห็นข้อมูลชาวบ้านเป็นประโยชน์ นำไปทำโจทย์ล้อมรั้วภัยอาชญากรรม

ทิ้งท้าย พล.ต.ต.ภานพฝากเน้นภาพการทำงานของศูนย์วิทยุผ่านฟ้าทำหน้าที่รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านหมายเลข 191 ว่า ข้อมูลการรับแจ้งเหตุทั้งหมดจะถูกบันทึกส่งไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อตรวจสอบอีกรอบว่า เหตุอะไรเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ห้วงเวลาใด สถานที่ใดที่เหตุเกิดบ่อย เรื่องที่มีการแจ้งซ้ำๆ มีเรื่องไหนบ้าง เพื่อที่จะให้คณะทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาลนำไปวิเคราะห์ใช้ในการที่จะมากำชับกองบังคับการและสถานีตำรวจท้องที่เข้าไปทำงานและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ตรงจุดมากขึ้น

“ พอเราได้รับแจ้งเหตุอะไรบ่อย ๆ เราจะเอาตรงนี้ขึ้นมาวิเคราะห์ว่า ทำไมตรงนี้เกิดเหตุซ้ำเรื่อย ๆ ในห้วงเวลานี้ เกิดเหตุนี้อีกแล้ว เกิดเหตุในสถานที่ใกล้ๆ กัน เราจะเอากำลังฝ่ายสืบสวน ไปซุ่มสังเกตการณ์ จนกระทั่งเจอเบาะแสที่จะนำไปสู่การสืบสวนจับกุมคนร้าย ถ้าเกิดว่า เราทำงานไปเรื่อย ๆ ทำงานไปวันๆ ไม่เอาข้อมูลมาวิเคราะห์จะไม่ได้อะไรเลย”

ผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษถึงให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารของผู้แจ้งเหตุผ่าน 191  ไปนำเสนอคณะทำงานป้องกันและปราบปรามของกองบัญชาการตำรวจนครบาล  วิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ทุกสัปดาห์ เพื่อจัดกำลังสายตรวจให้สอดคล้องกับเหตุ กับห้วงเวลา กับพื้นที่ที่เกิดขึ้น เจ้าตัวคิดว่า ถ้าทุกโรงพัก หรือทุกกองบังคับการทำเหมือนกัน เอาข้อมูลมาร่วมกันวิเคราะห์ทำเป็นภาพรวมทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาลจะเกิดมิติการทำงานสอดประสานกัน ให้มีกำลังไปช่วยเหลือ สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกันในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในพื้นที่เมืองหลวง

 

 

RELATED ARTICLES