“มันแฮปปี้กับชีวิตการทำงานข่าวแบบนี้อยู่แล้ว”

 

พิราบสาวร่างเล็กแต่ใจเด็ดยิ่งกว่าผู้ชาย

“แคท”ชาดา สมบูรณ์ผล อดีตนักข่าวสายการเมืองแห่งช่อง 7 สี ปัจจุบัน เป็น Freelance ทำรายการ “เรื่องดังหลังข่าว” ทางช่อง NBT เป็นรายการสด ออกอากาศจันทร์-ศุกร์ 20.30 น.-21.30 น. ทำทั้งหน้าที่ รีไรเตอร์ โปรดิวเซอร์ ผู้ประกาศข่าว

ผ่านประสบการณ์เฉียดตายในสนามข่าวมาหลายครั้ง กลายเป็นเครื่องยืนยันการันตีคุณภาพของฝีมือการทำงานแบบเล่นบทบู๊ล้างผลาญได้สบาย

เธอมุ่งมั่นอยากเป็นนักข่าวตั้งแต่เรียนมัธยมโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ เหตุเพราะเป็นนักกิจกรรมตัวยงชอบงานสืบเสาะหาข้อมูล เลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มาวิทยาลัยเป็นอันดับแรก ตามด้วยวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดท้ายติดคณะศึกษาศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดดเด่นนั่งเก้าอี้นายกสโมสรของคณะด้วยการลงสมัครเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตย

เป็นครูฝึกสอนอยู่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เชียงใหม่ ก่อนกลับเข้ากรุงเทพฯ สมัครงานเป็นนักข่าวน้องใหม่หนังสือพิมพ์ไทยแลนด์ไทม์สมความตั้งใจ ทว่าอยู่เพียง 3 เดือนพิษฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 ทำเอาบริษัทเจ๊งต้องปรับโอนย้ายไปอยู่สถานีไทยสกายทีวี ทั้งที่ยังไม่ได้ประสบการณ์อะไรมากมาย แค่ 3 เดือนสถานีก็ยุบอีก เธอตกงานพร้อมยอมรับสภาพธรรมชาติของเศรษฐกิจยุคนั้นจนชีวิตต้องหักเหเปลี่ยนหน้างานไปเป็นผู้ช่วยนักวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบ่มเพาะความคิดแนววิชาการควบคู่กับหางานเกี่ยวกับข่าวทำอีก

        กระทั่งสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัคร แคทไม่รีรอมุ่งหน้าไปทันที เจอนักข่าวรุ่นพี่ที่ตกงานกว่า 50 คนแห่มาสมัครเหมือนกัน แต่มีโควตารับเพียง 3 คน สุดท้ายเธอพิสูจน์ฝีมือผ่านติด 1 ใน 3 ได้รับโอกาสคืนสู่สนามทำข่าวการเมืองป้อนให้ทีวีช่อง 11 และวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เก็บเกี่ยววิชาการออกเสียงอ่านข่าววิทยุ และทำข่าว อ่านข่าวนอกสถานที่นานกว่า 2 ปี ทีวีช่อง 7 เปิดรับนักข่าวการเมือง 1 ตำแหน่ง สายกีฬา 1 ตำแหน่ง แคทลองไปสมัครแข่งกับพี่น้องวงการเดียวกันถึง 67 คนสามารถฝ่าด่านก้าวเป็นนักข่าวช่อง 7 สำเร็จ

เริ่มทำงานประจำสายทำเนียบรัฐบาล จากนั้นไปอยู่กระทรวงมหาดไทย ต่อมาติดตามพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน รวมถึงดูแลสถานการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมมาหลายยุคไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง ท่ามกลางเรื่องราวมากมาย มีทั้งสมหวัง สนุกสนาน และผิดหวังบ้างเป็นบางเวลา แถมโชคชะตายังพาเผชิญหน้ากับความเสี่ยงอันตราย เสี่ยงตาย เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

แคทเล่าว่า เมื่อปี 2548 ตาม ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลงตรวจพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส หลังเสร็จภารกิจแล้วเธอและทีมงานอีก 3 คนนั่งรถมุ่งหน้าเข้าเมืองนราธิวาสด้วยความหิวจึงเลือกหาร้านอาหารนั่งใกล้โรงแรมที่พัก และสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัด เพราะคิดรอบคอบแล้วว่าเป็นพี้นที่ไม่สงบอาจเกิดเหตุร้ายเมื่อใดก็ได้ จำเป็นต้องระวังตัวตลอด คิดแม้กระทั่งตอนจอดรถ นั่งทานข้าวต้องมองเห็น เผื่อมีคนร้ายมาวางระเบิดใต้ท้องรถ วางแผนกันอย่างดี เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจนได้

“พอทานข้าวเสร็จ เสียงระเบิดดังตูม ในใจคิดอย่างเดียวว่า ต้องวิ่งหนีให้ไกล หูอื้อเพราะมันดังมาก วิ่งเข้าไปในร้านค้า มองกระจกเห็นหน้าตัวเองมีรอยเลือดที่คิ้ว คือเศษปูนกระเด็นใส่  แผ่นหลังก็แสบไปหมด ส่วนเพื่อนอีกคนก้นฉีก แต่แคทยังมีสติ ไม่ได้ตกใจถึงกับสติแตก รีบหยิบโทรศัพท์โทรเข้ากองบรรณาธิการรายงานสดทันที ถือเป็นความโชคดีของแคทนะ เพราะนั่งใกล้ระเบิดมากที่สุด แต่มีถังน้ำแข็งใบใหญ่ในร้านบังไว้ ประกอบกับแคทเป็นคนตัวเล็ก ถึงเจ็บน้อยกว่าใคร” นักข่าวสาวไม่ลืมวินาทีนั้น

   เธอยังมีอารมณ์ขำขันบอกว่า หลังจากรายงานข่าวเสร็จ เหตุการณ์กลับสู่สภาพเดิม เมื่อเดินเข้าโรงแรมเห็นตำรวจทหารมายืนรอกันเต็ม นึกในใจว่า พวกเขาคงจะคอยต้อนรับ กลับมารุมถามกันว่า แขวนพระอะไร คืนนั้นทั้งคืน ยังมีคนโทรถามแต่เรื่องนี้ ไม่ได้ถามสักนิดว่าเจ็บตรงไหน เป็นอะไรมากหรือเปล่า รุ่งขึ้นเช้าตัวเองก็กลายเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับ นักข่าวช่อง 7 โดนระเบิด แต่มันก็ทำให้คิดว่า อยู่ที่ 3 จังหวัดภาคใต้จะระวังตัวอย่างไรก็อาจมีพลาด เพราะคนที่คิดจะลงมือก่อเหตุมีโอกาสจ้องมากกว่า

อีกครั้งเป็นเหตุการณ์ตำรวจสลายม็อบพันธมิตรปิดล้อมรัฐสภา เมื่อวันที่  7 ตุลาคม 2551 ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาแบบไม่รู้ความรุนแรงของคุณภาพกระเด็นในกลุ่มนักข่าวที่ยืนอยู่ในรัฐสภา ตอนนั้นเธอแต่งหน้าแต่งตาเตรียมรายงานข่าวกลับต้องเอาน้ำโปะหน้าแทนก่อนต้องปีนหนีออกด้านหลัง “แคทไม่อยากออกนะ มันอยากเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ เพราะมีข่าวลือว่า จะเผารัฐสภา จะปาระเบิดใส่รัฐสภา นักข่าวอีกหลายคนก็อิดออดอยากเห็นสุด ๆ อาจเป็นเพราะวิญญาณของนักข่าวสิงอยู่ จนออฟฟิศออกคำสั่งให้ออกถึงต้องฝืนปีนหลบไปทางสวนสุนันทา”

ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่เสี่ยงสุด ๆ เท่าวันสลายม็อบเสื้อแดงวันที่ 19 พฤษภาคม ปีที่ผ่านมา แคทเล่าว่า ออกเวรไปตอน 4 ทุ่มวันที่ 18 พฤษภา เริ่มรู้สึกว่า มีอะไรแปลก ๆ พอตอนเช้าเข้าพื้นที่ไม่ได้เลยสะกิดช่างภาพพร้อมจะไปกับแคทไหม วันนั้นมีแค่หมวกกันน็อก ไม่มีเสื้อเกราะ แต่ก็ดี ไม่หนักตัวเอง มีอะไรวิ่งง่าย รถจอดอยู่จุดสุดท้ายแยกสามย่าน ต้องหาวิธีเข้าด้วยการแอบเกาะไปกับรถพยาบาลลงโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ยินเสียงปืนตลอดเวลา ลัดเลาะเดินไปถึงแยกสารสินเริ่มมีการปะทะกัน ใจอยากไปให้ถึงหน้าเวทีราชประสงค์อยากรู้แกนนำ กับกลุ่มผู้ชุมนุมจะเป็นอย่างไร แต่ถูกทหารเบรก

 

“เชื่อหรือเปล่าว่า ตรงนี้มีนักข่าวผู้หญิงแค่ 2 คน คือแคท กะอีกสำนักนึง ที่เหลือเป็นผู้ชาย ทำหน้าที่ช่างภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ทั้งไทยและต่างชาติ ความรู้สึกตอนนี้รู้เลยว่า เสี่ยงตายมาก เป็นจังหวะที่อีกฝั่งยิงเอ็ม79 ใส่มาลงสระน้ำในสวนลุมพินี ทุกคนต้องหมอบหมด ด้วยความที่กระหายข่าวพวกเราไม่มีใครถอย แต่จะมานั่งเอาหลังพิงกำแพงรั้วสวนลุม ได้ยินเสียงระเบิดอีก 2 ตูม แคทเห็นคาตาเลยว่า ไปลงกลุ่มทหาร และช่างภาพอิตาลีที่ตาย”

 “นาทีนั้นรู้ว่า ไม่ปลอดภัย แต่แคทก็อยากไปต่ออยู่ดี ถามช่างภาพฝรั่งที่อยู่ใกล้กันว่า อยากเข้าไปมั้ย เขาบอกอยากแต่ทหารไม่ให้เข้า แคทก็พยายามคุยกับทหาร เขาก็ไม่ยอม เพราะมีเสียงปืนดังตลอดเวลา กว่าจะถอดใจไม่ไปก็ปาเข้าเย็นแล้ว หมดวันพอดี ซึ่งสถานการณ์ตอนนั้นเริ่มคลี่คลาย กลุ่มเสื้อแดงเวทีราชประสงค์สลายตัว แต่เซ็นทรัลเวิลด์ กับอีกหลายแห่งถูกเผา แคทและทีมงานต้องเดินจากแยกสารสินไปถึงโรงพยาบาลเลิดสิน มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานมาก และเป็นทีมสุดท้ายที่กลับสถานี” พิราบสาวทีวีเดนตายบอก

ถามว่า ระห่ำเกินไปหรือไม่ เธอบอกว่า มีคนบอกหลายคนเหมือนกัน ช่างภาพก็ถาม “แกบ้าเกินไปหรือเปล่า แต่แคทจะพูดด้วยเหตุผลกลับไปว่า ไม่อยากได้ภาพแบบนี้หรือ ขนาดแคทยังอยากเลย ถึงขนาดพกกล้องดิจิตอลติดตัวไปถ่ายเก็บไว้ด้วย มันเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตานะ” แคทยังย้ำด้วยว่า ถึงวันนี้เหตุการณ์สงบแล้ว แต่ตัวเองก็พร้อมเผชิญสถานการณ์ความเสี่ยงรอบใหม่ที่ไม่รู้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อใด แต่เชื่อว่า ภายใน 4-5 ปีต้องมีแน่นอน ตราบใดที่ยังไม่มีฝ่ายไหนยอมเลิกราอย่างจริงจัง

“แคทไม่มีภาระอะไร ไม่มีอะไรต้องห่วง มีเหตุที่ไหนสามารถไปได้เลย มันแฮปปี้กับชีวิตการทำงานข่าวแบบนี้อยู่แล้ว”

มันเป็นประโยคทิ้งท้ายที่เกิดจากวิญญาณสื่อมวลชนเต็มตัว !

RELATED ARTICLES