“ถ้าเวลางานแล้วต้องเป๊ะ ต้องฟังกัน หัวโขนมันมี ไม่อย่างนั้นก็จบกัน”  

ม้หัวหนังสือพิมพ์จะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต

 ทว่า ธีระยุทธ ผู้พัฒน์ บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย จะไม่ยอมล้มหายตายจากอุดมการณ์น้ำหมึกที่คลุกคลีมานานกว่า 35 ปี

เขาเกิดอำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ในครอบครัวที่พ่อเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ส่วนแม่เป็นครู เริ่มเรียนอนุบาลละแวกบ้านเกิด เจ้าตัวยอมรับว่า เรียนไม่ทันเพื่อน สมองช้า ตกซ้ำชั้น 2 ปีติด อ่านได้แค่ ก.ไก่ ตัวเดียว สมัยนั้นเป็นกระดานชนวน แม่ก็บอกว่า เราโง่ กระทั่งพ่อมารับเหมาที่กรุงเทพฯ เอาเข้ามาเรียนเซนต์จอห์นถึงพบทางสว่าง

กลับมาซ้ำอนุบาล เรียนช้ากว่าคนอื่น แต่อ่านหนังสือได้ พ่อก็ตกใจ และส่งเรียนไปเรื่อย”ธีระยุทธว่า ก่อนเข้าสู่ชีวิตมัธยมในรั้วสวนกุหลาบวิทยาลัยรุ่น 96 มีเพื่อนร่วมรุ่นอาทิ เพิ่มพูน ชิดชอบ   อภิชาต ดำดี ศรัณยู วงศ์กระจ่าง เกือบได้เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน แต่มีอุปสรรคใส่แว่นตอนคัดตัวเลยเอาดีไม่ได้ หันไปเล่นดนตรี ช่วยทีมลีดเดอร์แทน

จบจากสวนกุหลาบวิทยาลัย เขาเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เส้นทางชีวิตพลิกไปพลิกมาด้วยความเป็นลูกชายคนโตของบ้าน พ่อคาดหวังไว้สูงอยากให้ดูแลบริษัทถึงขั้นพาไปฝึกงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์รับเหมาก่อสร้างตามแคมป์ แต่ดูเหมือนไม่ใช่ทาง พ่อก็เริ่มรู้สึกว่า ไม่ใช่แล้วเลยจับไปบวชพระวัดมะขามเรียง จังหวัดสระบุรี อยู่กับหลวงพ่อตาบ เกจิพระนักวิปัสสนาชื่อดัง

 อยู่ได้ 2 พรรษาผ้าเหลืองร้อน ถูกลูกพี่ลูกน้องกระแนะกระแหน เพราะพ่อเอาเงินมาช่วยมาถวายซ่อมแซมหลังคาวัด ธีระยุทธเล่าว่า พวกเขามาพูดเหมือนว่า เราไม่ช่วยงานที่บ้าน แล้วยังเป็นตัวถ่วง กำไรอะไรก็ต้องเอามาช่วยเรา มาพูดใส่เราว่า คิดจะบวชอย่างนี้ไปเลย ไม่คิดจะทำมาหากินหรือ เราก็เลยตัดสินใจปรึกษาหลวงพ่อ ตอนแรกหลวงพ่อไม่ให้ แกบอกว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้มาคุยกัน แกคงดูอะไรให้เรา พอข้ามคืนมาอีกวันหนึ่ง เราไปหา แกก็อนุญาต แล้วให้ปากกาด้ามทองมา เป็นจุดหักเหชีวิตเลย ตอนนั้นปฏิเสธหลวงพ่อไป ไม่รู้เอาไปทำไม ไม่ได้ใช้ ยังไม่รู้ทางเดินชีวิต แต่หลวงพ่อให้เก็บเอาไว้ แกว่า ต่อไปชีวิตคุณต้องใช้

สึกออกมากลับไปเรียนต่อรามคำแหง ใช้เวลานาน 8 ปีถึงจบ พอดีพ่อเขาเป็นเพื่อนตีกอล์ฟกับ วิจารณ์ ภุกพิบูลย์ ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์บ้านเมือง จึงแนะนำให้ไปทำงานหนังสือพิมพ์ประเดิมฝึกงานนักข่าวตระเวนสายข่าวอาชญากรรม เมื่อปี 2524 ลงหาข่าวตามโรงพักนาน 6 เดือนถึงบรรจุเป็นนักข่าวตระเวนประจำเขตกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ เจ้าตัวรับว่า ทำข่าวอาชญากรรมดัง ๆ ขึ้นหน้า 1 ในยุคนั้นเยอะมาก  แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องประกวดข่าว รู้ตัวว่า ศักยภาพไม่ถึงในเรื่องการไปติดตามทีมงาน แต่มีข่าวหนึ่งในชีวิตที่ประทับใจและภูมิใจมาก ข่าวนี้ ทีมบ้านเมืองหวังมากว่าจะได้รางวัลข่าวยอดเยี่ยม แต่ก็ไม่ได้

อดีตนักข่าวตระเวนอาชญากรรมหนังสือพิมพ์บ้านเมืองย้อนอดีตว่า เหตุเกิดพบศพหญิงสาวในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศ สมัย ชูชาติ เข็มทอง เป็นสารวัตรสืบสวน ปรากฏว่า มีเรื่องเกิดขึ้นท้องที่บางนาก่อนหน้า มีนักศึกษาหญิงคนหนึ่งจะไปเรียนหนังสือตอนเช้ามืดแล้วโดนรถแท็กซี่ชน ก็หายไปกลายเป็นศพอยู่ท้องที่ประเวศ

ธีระยุทธเล่าต่อว่า ไปดูที่เกิดเหตุเหมือนเหยื่อคนนี้จะสื่ออะไรถึงเราไม่รู้ ฉบับอื่นดูเหมือนกันหมด ถ่ายรูปปกติสรุปกันว่า ผู้ตายโดนรถชน มองเป็นอย่างนั้นหมดว่าเป็นอุบัติเหตุ ทุกคนก็กะจะเล่นข่าวแบบนั้น ” แต่ผมสังเกตเห็นคอที่ศพ มารู้ตอนหลังว่า เด็กคนนี้เป็นผู้ดี มีตังค์ พ่อเขาเสียแล้ว แต่แม่เขาเป็นเจ้าของห้องแถวในซอยอุดมสุข เป็นหอพักให้คนเช่าหลายสิบห้อง ที่คอใส่สร้อยประมาณ 2 บาท แล้วสร้อยมันหายไป มันขึ้นเงาขาวที่คอศพขึ้นมา กำไลเลสข้อมือก็ขึ้นเงาขาว ไม่มีใครสังเกต ตำรวจก็ไม่สังเกต ไม่ได้ลงรายละเอียด”

“ผมมองแล้วว่า ผู้หญิงคนนี้แปลก ไปตามผลนิติเวช ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นใครด้วยซ้ำ หมอยืนยันในปอดมีคราบเศษตะไคร่น้ำ เหมือนโดนกดน้ำ ผมได้ฉบับเดียว เพราะเราตาม คนอื่นไม่ตาม ไล่กระทั่งว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นใคร มีพยานเห็นโดนรถแท็กซี่ชน แต่จำทะเบียนไม่ได้ จำสีรถได้ ไล่ถามใครแจ้งความคนหายบ้างที่บางนา ตามไปเจอแม่พามาดูศพบอกว่า ใช่ลูกเขา ตอนนั้นผมก็รู้เลยว่าโดนชิงทรัพยแล้วฆ่าทิ้งศพอำพรางคดีอีกท้องที่” บรรณาธิการอาวุโสลำดับข่าวคดีสะเทือนขวัญ

เขาตามแกะรอยนำมาเสนอเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์บ้านเมืองต่อเนื่อง ส่งผลให้ สารวัตรชูชาติ เข็มทอง ตามจับคนร้ายได้ในเวลาต่อมา  ” ตอนนั้นก็มีแต่คนสบประมาท มีคนว่า ผมเยอะมาก นายตำรวจใหญ่ๆ หลายคน ก็บอกว่าจะรื้อฟื้นทำไมวะ คดีไม่เห็นมีอะไรเลย ไม่เข้าท่า แต่บ้านเมืองก็เล่นมาตลอด จนไปจับมันมาได้ สารวัตรชูชาติโทรศัพท์มาแจ้งผมด้วยอารามดีใจบอก มึงเชื่อไหม มันสารภาพหมดแล้ว”

ธีระยุทธ ตัดสินใจให้แถลงข่าวผลงานโบแดง ไม่ชิงเด็ดยอดตีหัวฉบับเดียวเพียงต้องการประกาศให้ทุกฉบับรู้ว่า สิ่งที่เขาติดตามข่าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องเต้าอย่างที่หลายคนปรามาสไว้ ทว่าปีนั้น ข่าวของบ้านเมืองกลับไม่ได้รางวัล ทั้งที่นำเสนอต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนผู้ต้องหาถูกจับดำเนินคดี แม่ของผู้ตายยังเอากระเช้าผลไม้มาแจกทั้งกองบรรณาธิการ ถือเป็นความภาคภูมิใจของทีมข่าวบ้านเมืองในยุคนั้น

อยู่สังกัดบ้านเมืองนาน 9 ปี เกิดปัญหาภายใน มานะ แพร่พันธุ์ บรรณาธิการถูกปลดเลยยกทีมมาทำหนังสือพิมพ์สื่อไท ธีระยุทธ ติดสอยห้อยตามมาด้วย แต่ปีเดียวก็ต้องม้วนเสื่อเก็บฉาก ทีมงานแตกกระสานซ่านเซ็น เขาโยกไปเป็นรีไรเตอร์อยู่ “ไทยสกายทีวี” ปลายยุคของคีรี กาญจนพาสน์ บนตึกซันทาวเวอร์ ก่อนได้รับความไว้วางใจให้คุมทีมข่าวอาชญากรรม ตั้งทีมข่าวพิเศษเป็นชุดแรกของประเทศที่ใช้กล้องเล็กถ่ายออกอากาศเต็มที่ไม่มีตัดเวลาเป็นข่าวด่วน 24 ชั่วโมง

ไม่นานไทยสกายทีวีย้ายไปปักหลักย่านรามคำแหง เผชิญภาวะวิกฤติเงินทุน สุดท้ายเจ๊ง เขาโชคดีได้ ดิลก บุญยะประภา ที่เคยอยู่บ้านเมืองด้วยกันชวนไปฟอร์มทีมใหม่ร่วมกับ ศักดา รัตนสุบรรณ สุคนธ์ ชัยอารีย์ ทำหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรายวัน มี สมนึก วิทยารักษ์สรรค์ เป็นนายทุนใหญ่ ธีระยุทธว่า ก้าวเข้าไปครั้งแรก เจอสุเทพ เหมือนประสิทธิเวช เบิ้ม บางเบิด  ปรีชา สามัคคีธรรม ปรีชา กุลปรีชา ล้วนแล้วแต่รุ่นใหญ่ๆ ทั้งนั้น เริ่มต้นเป็นรีไรเตอร์ไปก่อน ควบคู่กับทำสกู๊ปข่าวอาชญากรรมไปด้วย จนวันหนึ่ง เราไม่ไหวแล้ว เกิดความรู้สึกถูกเอาเปรียบ เดินไปบอก สุคนธ์ ชัยอารีย์ ศักดา รัตนสุบรรณ ว่า ไม่ทำแล้ว

“พวกเขาก็ตกใจ ถามผมว่า เรื่องอะไรวะ ผมบอกเหนื่อย อยากพักผ่อน พี่สุคนธ์ ตอกกลับมาว่า มึงพูดกับกูตรงๆ เลยดีกว่า มีอะไร ผมเลยว่า บอกผมให้มาทำอย่างนี้ แต่เอาผมไปใช้อย่างอื่น ใช้อย่างอื่นไม่ว่า แล้วยังอย่างนั้นอย่างนี้อีก แกก็บอกว่า มึงคุมอาชญากรรมไหวไหม ถ้าได้ มึงทำตรงนี้เลย พี่ศักดาเสนอเงินเดือนให้กลายเป็นความไว้วางใจให้ผมเป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรม”

 เขายอมรับว่า เจอแรงกดดันไม่น้อยในตอนแรกที่นั่งเก้าอี้หัวเรือข่าวอาชญากรรม เพราะต้องพบกับบรรดานักข่าวเสือสิงห์กระทิงแรดสารพัดเขี้ยว ชนิดที่ลูกน้องเอาปืนมาวางขู่ หลังตัดสินสินใช้ระบบการปกครองไล่เบี้ย แต่ละคนเกเรทั้งนั้น  “ผมบอก แบบนี้ไม่ต้องมาใช้ เอาเรื่องงานมาคุยกัน เอาตามกติกา เพราะว่า นอกงานแล้วไม่เคยไปยุ่งกับใครในเรื่องส่วนตัว แต่ถ้าเวลางานแล้วต้องเป๊ะ ต้องฟังกัน หัวโขนมันมี ไม่อย่างนั้นก็จบกัน”  

บนเส้นทางนักหนังสือพิมพ์ผ่านหลายหัวเลี้ยวหัวต่อ ธีระยุทธก้าวจากหัวหน้าข่าวอาชญากรรม ขยับเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ เป็นบรรณาธิการบริหาร และเป็นบรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ทำมาเกือบทุกตำแหน่ง ได้เก็บเกี่ยวกระสบการณ์ในความเป็นนักปกครอง ใช้แง่ศาสตร์ของพระเดช พระคุณ เหมือนผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ ที่มีสื่ออยู่ไม่กี่ฉบับ

“ผมเคยมีคนไม่ชอบ ด้วยที่พูดจาโผงผาง เข้ามาบังคับว่า คุยกับลูกน้องจะไปคุยไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ ไม่ได้ ผมสวนทันทีว่า ให้ช่วยไปหาหัวหน้าข่าวอาชญากรรมทั่วประเทศเลยนะ ที่มันพูดจาเพราะกับลูกน้อง มาให้กูหน่อย แล้วกูจะยอมมึง เพราะนี่คือ ความจริง มันต้องถึงลูกถึงคน แล้วนักข่าวอาชญากรรมยุคนั้น แต่ละคน เป็นเด็กที่พร้อมจะเกเร ออกนอกทาง ยอมรับว่า คนเราก็มีพวกบ้างเป็นธรรมดา แต่จะใช้พวก ก็ต้องใช้ให้เป็น” เจ้าตัวทิ้งท้าย

 

 

 

 

RELATED ARTICLES