“งานหนังสือพิมพ์บางครั้งมันต้องแข่งขันกัน”

ดีตนักข่าวรุ่นเดอะที่ผันตัวไปเป็นรีไรเตอร์มือฉมังของสำนักพิมพ์สีบานเย็น “เดลินิวส์” เจ้าของฉายา “ป๊อป ไดนาไมต์” ในแวดวงข่าวอาชญากรรมหลายคนคงคุ้นเคยกับเขาดี

ชื่อของเขา คือ “สุรพงศ์ ทวี” หลานชาย บรรเจิด ทวี อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เจ้าของนามปากกา “ไก่อ่อน” เป็นคนฝั่งธนบุรี บ้านอยู่แยกพรานนก จบมัธยมปลายโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ตั้งใจอยากเป็นตำรวจ นายอำเภอ ปลัดอำเภอถึงไปเรียนต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ใช้ชีวิตวัยรุ่นบู๊บุ๋นครบเครื่อง หลังไปมีเรื่องถูกนักศึกษาวิทยาลัยครูจันทรเกษมเจ้าถิ่นไล่ตีในงานคอนเสิร์ต เจ้าตัวต้องตัดสินใจหยิบระเบิดขวดของเพื่อนที่พกมาปาใส่กลุ่มอริเพื่อป้องกันตัวกลายเป็นที่มาของฉายา “ป๊อป ไดนาไมต์”

สุรพงศ์เบนเข็มหันมาอยากเป็นนักข่าวตอนตามอาบรรเจิดไปเที่ยวเล่นอยู่สำนักพิมพ์เดลินิวส์ตรงสี่พระยา ประทักษ์ เหตระกูลเห็นว่า ช่วงนั้นเด็กซื้ออะไหล่รถของโรงพิมพ์โกงเลยไล่ออกไปแต่หาคนแทนไม่ได้ ประทักษ์ถึงให้สุรพงศ์ทำหน้าที่เกาะมอเตอร์ไซค์ไปซื้ออะไหล่แทนควบคู่กับการเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นได้มีโอกาสติดรถตระเวนไปเห็นเขาทำข่าวกัน รู้สึกท่าทางจะสนุกพอเรียนจบตัดสินใจขออามาเป็นนักข่าว

เริ่มด้วยการฝึกข่าวอยู่กองปราบปรามสามยอด ก่อนขึ้นไปนั่งรถตระเวนข่าวและก้าวเป็นผู้สื่อข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลคนแรกของโรงพิมพ์นาน 2 ปีเศษขยับเป็นรีไรเตอร์ข่าวนครบาล ได้ “จ่าเสี่ย”สมบัติ คูณสมบัติ นามปากกา “กรุงสี่พระยา” เป็นครูสอนวิชาปลุกปั้นงานเขียนข่าวด้วยลีลาที่กระชับและฉับไว

หนุ่มใหญ่ร่างยักษ์ย้อนประสบการณ์ในอดีตว่า ครั้งหนึ่งสมัยตระเวนข่าวเคยตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จฯส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรพื้นที่น้ำท่วมแถวบึงมักกะสัน ติดตามอย่างใกล้ชิดเพียงฉบับเดียว ไม่มีแม้กระทั่งรถตำรวจนำขบวน และยังได้มีโอกาสทำข่าวปฏิวัติ 9 กันยา ตามไปสังเกตการณ์บ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่จังหวัดนครราชสีมา ที่ตอนนั้นในหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ไปประทับแรมอยู่

เปิดข่าวพาดหัวฉบับเดียวคดีตามจับทีมสังหารผู้จัดการพระเอกทูน หิรัญทรัพย์ มีเจ้าพ่อโส ธนวิสุทธิ์ เสี่ยโต้ง-กำพล ตันสัจจา และดาวร้ายดามพ์ ดัสกร ติดร่างแหด้วย สุรพงศ์บอกว่า ได้ข่าวจากพนักงานวิทยุโรงพักเตาปูน จังหวะเข้าไปตระเวนพอดี นั่งคุยเล่นแล้วเขาบอกว่า มีจับตำรวจจราจร สน.ประชาชื่นที่อยู่แฟลตโรงพักในคดียิงผู้จัดการทูน “ผมรีบโทรบอกโรงพิมพ์ทันที พี่เสี่ยเข้าเวรรีไรเตอร์คอยแนะช่องทางแกะข้อมูลข่าวจนรู้ว่าชุดของสมเกียรติ พ่วงทรัพย์ ชลอ เกิดเทศ จับดามพ์ ดัสกร ไปขังไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล และตามจับคนร้ายได้อีกหลายคน สนุกและมันมากตอนนั้น”

ต่อมาขอเสนอตัวย้ายไปเป็นนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล เขาบอกว่า เป็นช่วงจังหวะเบื่อตระเวนพอดี เด็กรุ่นใหม่เริ่มมาทำงานกันเยอะ กลัวตกข่าวแล้วอายเด็กมัน มาอยู่ นครบาลดีกว่า อยู่ไม่นานหัวหน้าก็ให้ขึ้นเป็นรีไรเตอร์ยาวถึงทุกวันนี้ แต่มี “แบล็กลิสต์” ติดตัวเป็นภาพนักพนันตัวยงในสายตาของผู้ใหญ่ในโรงพิมพ์

“มีคนมาใส่ร้าย ใส่สีตีไข่ผม หาว่าผมกับชัช เตาปูนสนิทกัน จริง ๆ แล้วผมรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก บ้านเขาก็อยู่ติดกับบ้านผม มนู นิ่มคง ช่างภาพที่เคยอยู่คู่กันก็เด็กบางซื่อ จังหวะผมไปทอดผ้าป่าบ้านเมียที่ลำพูน ปรากฏว่า กองปราบปรามจับบ่อนเตาปูน นักข่าวรุ่นน้องที่สนิทกัน ตระเวนดึก เมาหลับ ว.เรียกไปไม่รับ ไม่ยอมไปทำข่าว  พอผมกลับมา พี่ชัชเรียกผมกับมนูเข้าไปคุยที่บ้าน เขาบอกจะฟ้องเดลินิวส์ที่ไปลงข่าวเขาละเลงเละเลย หาว่าเป็นมาเฟีย เพราะคนเขียนข่าวเขียนแบบเละเลย เขาโมโหบอกว่า ชีวิตไม่เคยไปรังแกใคร ก็แค่เปิดบ่อนอย่างเดียว ได้เราก็เอา เสียเราก็จ่าย มีแต่ช่วยคน เดลินิวส์ไปว่าแบบนี้จะฟ้อง” สุรพงศ์รำลึกความหลัง

ผมก็บอกแล้วแต่พี่ละกัน เขาก็รักผมเหมือนน้อง ผมก็ไปบอกหัวหน้าว่า ชัช เตาปูนจะฟ้อง เพราะความหวังดี แต่ไม่รู้มีการคุยกันยังไง ทำให้ผู้ใหญ่ในเดลิวนิวส์เข้าใจผิด สั่งย้ายผมเลย ผมเป็นรีไรเตอร์ข่าวนครบาลโดนย้ายไปข่าวภูธร มนู นิ่มคง เป็นช่างภาพตระเวนถูกย้ายไปประจำโรงพยาบาลตำรวจ กะน็อกผมเลย ตอนนั้นอาผมก็เป็นหัวหน้ากอง แต่มีคนไปใส่ไฟว่า ผมเป็นนักการพนัน ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่า ภาพตัวเองเป็นยังไง แค่หวังดี ผมไม่ใช่คนเล่น แต่เที่ยว สมัยก่อนเที่ยวฉิบหาย ไม่ใช่เลิกงานเข้าบ้าน ไปไหนมาไหนเขาจะแซวกันว่า นักเลงเรียกพี่ กะหรี่เรียกป๋า รู้จักกับผู้กว้างขวางหลายคน เพราะพวกนั้นไปเล่นในบ่อนเตาปุน แต่ผมไม่เคยเล่น จะไปเล่นได้ไงไม่มีตังค์ สมัยก่อนแทงกันทีเป็นล้าน ที่ดินเป็นแปลง ตึกทั้งหลังเอามาแทงกัน ผมก็แค่คนดู คนเชียร์ เพราะรู้จักสนิทสนมกัน แค่ไปนั่งคุย ไปนั่งกินข้าวกัน นาน ๆ ก็จะเข้าไปทีด้วยซ้ำ”

อดีตเหยี่ยวข่าวอาชญากรรมคนดังบอกอีกว่า มีคนไม่ชอบหน้าเขา ทั้งที่ไม่เคยไปกร้าวร้าวอะไรกับใครในโรงพิมพ์ ไม่เคยไปเบ่งว่า อาเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ตัดเงินเดือนก็เคยโดน โดนมาแล้ว ช่วงหลังอาเกษียณ ก็มีการประกาศว่าจะเอาเขาออกให้ได้ “ผมไปทำอะไร ไม่เคยอะไรกับใครเลย ผมก็ทำงานของผมจะให้ไปประจบสอพลอแบบบางคน ผมทำไม่เป็นหรอก แต่มีอะไรจะใช้ผม บอกมา ผมทำให้ได้ ผมประจบคนไม่เป็น เรารู้เจ้านาย คือเจ้านาย เราให้ความเคารพทุกคน ผมถูกสอนมาแบบนั้น”

“เงินเดือนไม่ขึ้น กูไม่ว่า แต่ขอให้มีงานทำ อย่าไล่ผมออก ให้เป็นยามก็เอา คนไม่มีงานทำมันไร้ค่า สมองมันฟ่อ ผมไม่รู้ตัวเลย มารู้ตอนหลังว่า ภาพผมเป็นนักการพนันไปแล้ว สมัย วินัย ทองสอง เป็นผู้การกองปราบไปปิดประตูตีแมวจับบ่อนเตาปูน เจ้าของโรงพิมพ์เจอหน้าผมมาบอกว่า ไม่โดนไปกับเขาด้วยเหรอ ผมถึงบางอ้อ  เจ้านาย เจ้าของโรงพิมพ์เขามองภาพผมแบบนั้นมานานแล้ว มองผมเป็นนักการพนัน เพราะสมัยก่อนนักข่าวรุ่นเก่า ๆ จะเล่นพนันม้ากัน ตระเวนจะเข้าสนามม้าเสาร์ อาทิตย์ แต่ผมเล่นไม่เป็น เต็มที่ก็เล่นไพ่สนุกสนาน ไม่ได้เอาเป็นเอาตาย ผมชอบเที่ยว ผมชอบอวัยวะมากกว่าอบายมุข ผมพูดตรง ๆ สุดท้ายผมก็ไม่แคร์ อยากมองยังไงก็ว่าไป สวมรอยไปเลยว่า ผมเป็นนักพนัน”

เมื่อถามถึงมุมมองนักข่าวยุคปัจจุบัน สุรพงศ์เห็นภาพความแตกต่างกับสมัยเขาอย่างสิ้นเชิง  เขาบอกว่า นักข่าวรุ่นใหม่บางคนไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีเยอะมาก บางคนไม่ได้เก่งอะไรเลย แต่ได้ไปฝึกคนอีกคนมันก็ยิ่งถอยหลังกันใหญ่ ประสบการณ์มันสอน อยากฝากบอกว่า เวลาทำงานทำให้เต็มที่ เพื่อนก็โอเค แต่ละคน แต่ละสำนักก็เพื่อนกันทั้งนั้น ทว่าเวลางานต้องแยกให้ออก แข่งกันในเรื่องงาน พอออกเวรแล้วเป็นเพื่อนฝูงกัน ไปเที่ยวกัน ไปไหนก็ไป อย่ามาโกรธกัน มีน้ำใจเป็นนักกีฬา “ไม่ใช่เวลากูได้ข่าวเดี่ยว กูไม่บอกจะมาไม่พอใจ เพราะกูก็อยากได้ผลงานเหมือนกัน กูทำงานกูก็อยากมีผลงาน ทุกคนต้องมีสปิริต เวลามึงได้เดี่ยวกูยังไม่โวยวายเลย มึงได้ไปกูก็ดีใจด้วย แต่วันหลังขอกูบ้าง ก็แค่นั้นเอง อย่าไปโกรธกัน เพื่อนก็เพื่อน แข่งกันในเวลางานเท่านั้น แยกแยะให้ถูก”

เหยี่ยวข่าวมากฝีมือรุ่นเก่าบอกอีกว่า การเป็นนักข่าวมันมีอะไรสอนเยอะ ได้เห็นเหตุการณ์อะไรก่อนคนอื่นเขา  เป็นงานที่มีเกียรติ คนยอมรับ ตำรวจยอมรับ นักข่าวรุ่นใหม่บางคนแอ็ก แต่ทำข่าวเป็นหรือเปล่าไม่รู้  ประเด็นอยู่ตรงไหนรู้หรือไม่ ของแบบนี้มันอยู่ที่กึ๋นสอนกันไม่ได้ ตอนตระเวนดึก บ้านพันเลิศ ใบหยก โดนปาระเบิดตรงพญาไทตอนเช้ามืด ไม่มีออก ว.เลย ไปเปิดสมุดตรวจผู้ใหญ่บนโรงพักลงรายละเอียดไว้ ไม่มีใครรู้ ตำรวจเอาพันเลิศ ใบหยกมาสอบอยู่ห้องสอบสวน วิชาญ บริรักษ์กุลเป็นคนสอบ นักข่าวเดินกันขวักไขว่ ไม่เข้าไปถามสักคนว่าคดีอะไร

“แต่ผมรู้แล้วเลยบอกมนู ไม่ต้องถ่ายนะในห้องสอบสวนเดี๋ยวไปถ่ายรูปที่เกิดเหตุทีเดียวเลย เพราะถ้าถ่ายตอนนั้นเดี๋ยวฉบับอื่นรู้กันหมด ทำไม่รู้ไม่ชี้ มึงไม่ถามกูก็ไม่บอก แต่กูรู้แล้วด้วยความโชคดีที่ไปเปิดสมุดตรวจผู้ใหญ่เพื่ออ่านเล่นถึงรู้ ประจำวันก็ยังไม่ได้ลง พอเช้ามาพาดหัวใหญ่ฉบับเดียว หงายท้องกันเป็นแถว จะมาโกรธผมได้ยังไง ก็เห็นอยู่ ตำรวจก็สอบสวนอยู่ไม่ไปถามเขาเอง มาโทษอะไรผมนักข่าวตระเวนสมัยนั้นสนุกมากต้องชิงไหวชิงพริบกันตลอด  บางคนมาโกรธผม มันไม่ถูก เวลาคุณได้เดี่ยวมา ผมยังไม่โกรธเลย งานหนังสือพิมพ์บางครั้งมันต้องแข่งขันกัน” สุรพงศ์เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

พร้อมทิ้งแง่คิดฝากไว้ “ผมถูกปลูกฝังมาอย่างนั้น ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เขาจะจอยกัน”

 

 

RELATED ARTICLES