“ผมมองว่าอาชญากรรมก็เป็นเสน่ห์ของไทยรัฐอยู่แล้ว”

ลูกชายอดีตนายตำรวจภูธรที่ผันตัวเข้าสู่วงการสื่อมวลชนผ่านงานข่าวหินมากมาย

ธีรธนา ขุนทอง แจ้งเกิดจากชีวิตคนหนังสือพิมพ์สะสมประสบการณ์บนแท่นน้ำหมึกยาวนานเกินกว่า 20 ปี วันนี้เบิกเส้นทางท้าทายหน้าใหม่ รับบทหัวหน้าข่าวอาชญากรรมของค่ายน้องใหม่ดิจิตอล “ไทยรัฐทีวี” สังกัดบริษัท ทริปเปิล วี บอรดคราสท์ จำกัด ที่แตกแขนงมาจากหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียวริมถนนวิภาวดีรังสิต

เกิดอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกของ พ.ต.ท.ประจวบ ขุนทอง เกษียณตำแหน่งสุดท้ายรองผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เดิมที่อยากเป็นตำรวจตามรอยเท้าบิดา และพี่ชายคนโต เจ้าตัวเล่าว่า สมัยเด็กย้ายตามพ่อไปหลายจังหวัด อาทิ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ซึมซับกลิ่นอายของตำรวจมาตลอด  พ่อก็อยากให้เป็นนายร้อย เพราะพี่ชายเข้าเป็นพลตำรวจ เลยมุ่งกรุงเทพฯมาเรียนโยธินบูรณะสุดท้ายดันสอบเตรียมทหารไม่ติด

เหมือนชีวิตลิขิตทางเดินให้ไปเส้นอื่น ธีรธนาเล่าต่อว่า  พอไม่ได้ ก็ไม่ได้รู้สึกผิดหวังอะไร ตอนนั้นวัยรุ่น ชีวิตค่อนข้างเกเร ลูกตำรวจด้วย ใช้ชีวิตอร่อยเลย สอบตำรวจมันต้องเตรียมตัว เรากลับเรียนศิลป์คำนวณ ไม่ได้เรียนสายวิทย์แล้วไปติว ทำไปเพราะตามใจพ่อแม่มากกว่า เมื่อไม่ได้เป็นนายร้อยก็ไม่เอาแล้ว เมื่อจบมัธยมเลยไปเรียนนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ระหว่างนั้น เขาได้ไปเป็นอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ประจำจุดแถวนนทบุรี ทำงานบริการสังคมช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ได้ทักษะการเรียนรู้วิทยุสื่อสาร ทำให้เกิดแนวความคิดอยากเป็นนักข่าว เพราะตรงสายกับที่เรียนมา ประกอบกับได้สัมผัสชีวิตนักข่าวอาชญากรรมยามเผชิญสารพัดเหตุในสนามที่คลุกเคล้าไปด้วยกลิ่นคาวเลือด “ผมเป็นลูกข้าราชการ ไม่มีเส้นสาย คิดแค่ว่า ถ้าอยากเป็นนักข่าวต้องอาศัยวิธีที่เราทำงานอาสาร่วมกตัญญู ผมเลยขอไปฝึกงานที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด บอกว่าช่วงกลางคืนจะขอส่งข่าว ส่งภาพให้ด้วย ถ้าเจอเหตุการณ์เหมือนพรีเซ็นต์ตัวเอง”

นับเป็นความโชคดีที่เขาคิดถูก หนังสือพิมพ์ข่าวให้โอกาสเขาฝึกงานในสนามข่าว กระทั่งเรียนจบปริญญาตรีจึงรับเข้าทำงาน แม้จะเริ่มต้นเป็นนักข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดนนทบุรีก่อนขยับเป็นทีมข่าวเฉพาะกิจ “ผมรักอาชีพข่าวมาตั้งแต่ฝึกงานแล้ว ก็รู้สึกว่า ใช่แล้ว มันแนวเราด้วยเกี่ยวกับอาชญากรรม อยู่ข่าวสดมา 20 กว่าปี ได้อะไรต่างๆ เยอะมาก ทั้งประสบการณ์ ได้ทะเลาะกับไทยรัฐ เป็นเฉพาะกิจเจาะข่าวแข่งกัน ลักษณะงานของข่าวสดจะทำตั้งแต่แรกจนจบ มันทำให้เรารู้เรื่องทั้งหมด ตามตลอด ไม่สามารถจะเปลี่ยนตัวได้ เพียงแต่จะมีคนมาเสริม แต่เราต้องอยู่เป็นหลัก ผมได้ทำเต็มที่ ข่าวสดเปิดกว้างให้” คนข่าวหนุ่มมากประสบการณ์ว่า

ธีรธนาประเดิมรางวัลข่าวยอดเยี่ยมของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล หรือพูลิตเซอร์เมืองไทยจากข่าวสิ่งแวดล้อมของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ตามด้วยการไขคดีฆาตกรรม 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ และการเปิดโปงพระยันตระชนิดสะเทือนวงการพุทธศาสนา เขาบอกว่า จริง ๆ แล้วเป็นทีมงานมากกว่า ไม่ใช่เราเก่งคนเดียว ทำคนเดียว เป็นไปไม่ได้ แต่งานข่าวเฉพาะกิจมันสอนให้เรารู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รู้จักเทคนิคในการไล่ต้อนแหล่งข่าว สร้างแหล่งข่าวโดยส่วนใหญ่หน้างานเราจะหาเอง แต่ข้างในจะช่วยหาแหล่งข่าวแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้ แล้วเราก็ไปเอาข้อมูล มันเป็นหน้างานของเราอยู่แล้วด้วย

หัวหน้าข่าวอาชญากรรมไทยรัฐทีวีย้อนเรื่องราวอีกว่า ตามข่าวพระฉาวจนตัวเองได้รับฉายาเป็นมือสึกพระไปแล้ว เริ่มตั้งแต่ข่าวยันตระที่ข่าวสดเปิดฉบับแรก ตามกันเป็นเดือนเป็นปี  ตอนนั้นคนยังไม่เชื่อ เราต้องเผชิญกับแรงต้านของญาติโยม ทำให้รู้สึกว่า การโค่นศรัทธาของคนไม่ง่าย โดนขู่เกือบทุกวัน เราเป็นหน้าฉากคนเดียวในสนาม ต่อมาก็ภาวนา พุทโธ แล้วก็ตามด้วยเณรแอ และคุ้ยเรื่องวัดธรรมกาย แต่ที่โดนแรงต้านมากที่สุด ก็คือ ยันตระ

อยู่ข่าวสดมา 21 ปีเต็ม ธีรธนาสารภาพว่า ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแนวจากหนังสือพิมพ์มาอยู่ทีวี คิดนานเหมือนกัน สุดท้ายที่ยอมทิ้งจากที่ที่เราทำงานมาแต่แรก ก็เพราะถึงจุดๆ หนึ่ง จริงๆ ก็ไม่ได้คิดว่า จะมาอยู่ที่ไทยรัฐทีวีนะ มาที่ไทยรัฐได้ด้วยกระดาษแผ่นเดียวที่เราเขียนมาสมัคร ยังคิดอยู่เลยว่า อาจจะได้มาเจอพี่ เพื่อน น้องที่เราเคยทำงานทะเลาะเบาะแว้งกันตอนทำข่าว ยังคิดอยู่เลยว่า ถ้ามาเจอแล้วพวกเขาจะหัวเราะเราไหม แต่ถ้าตัดสินใจมาแล้วก็ต้องลองดู ลาออกจากที่เดิมเลย มันน่าจะเพราะถึงจุดอิ่มตัวแล้วมากกว่า

หนุ่มชาวเมืองกรุงเก่าเริ่มงานตำแหน่งรีไรเตอร์อาชญากรรมให้แก่ไทยรัฐออนไลน์ลงในเว็บไซต์ เจ้าตัวว่า ชีวิตมันก็เปลี่ยนไปนะ เพราะงานเว็บไซต์ ไม่ได้ออกไปไหน เพราะความเร็วกับความละเอียดมันต่างกันมาก แล้วยิ่งพอมาอยู่ทีวีแล้วมันยิ่งต่างกันมาก ห่างไกลเข้าไปอีก เพราะมีเรื่องของโปรดักชั่น และก็ข้อมูลด้วย แต่ถ้าเราเอาพื้นฐานของการทำประเด็นข่าว มาเป็นตัวตั้ง แล้วมาคิดถึงการเสนอเป็นภาพทีวี ก็คิดว่ามันก็คงไปกันได้ ทำออนไลน์อยู่ 4 เดือนผ่านโปรพอดีก็โยกมาทำทีวีเป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรมทันที

 “ผิดกันคนละเรื่องเลย แต่ก็คิดว่าน่าลองนะ คิดว่า ถ้าเราได้ประเด็นแล้ว งานโปรดักชั่นมาศึกษาอีกนิดหนึ่ง มันก็ไม่น่าจะยาก น่าจะทำได้ แค่มาปรับให้เป็นทีวี การเล่าเรื่องข่าวตรงนี้ ให้เป็นงานทีวีอย่างนี้มากกว่า เรื่องการแตกประเด็นก็คงทำได้ เหมือนเราทำงานหนังสือพิมพ์เลย แต่ผลิตเนื้องาน บอดี้ของมันให้เป็นทีวี เน้นภาพ วันนี้ พรุ่งนี้ ต้องตามอะไรต่อ ใหม่ ๆ ก็กดดัน ต้องแบกรับความคาดหวังเรื่องความเป็นผู้นำข่าว เพราะคำว่าไทยรัฐ แต่ผมต้องทำให้เต็มที่ ผมมองว่าอาชญากรรมก็เป็นเสน่ห์ของไทยรัฐอยู่แล้ว”

คนข่าวรุ่นเก่ามีมุมมองถึงนักข่าวในโลกดิจิตอลเบ่งบานด้วยว่า สมัยนี้มีเครื่องอำนวยความสะดวกเยอะ ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก สมัยเรามันไม่มี แม้กระทั่งกล้อง เดี๋ยวนี้เป็นดิจิตอล คุณเลือกภาพได้ แต่สมัยก่อนเราเป็นฟิล์ม ไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง เสียแล้วก็เสียเลย ต้องถ่ายเผื่ออย่างเดียว นี่คือข้อจำกัดในสมัยรุ่นเก่า แต่ในเมื่อรุ่นใหม่ๆ มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกมากขึ้นทุกอย่างก็ต้องพัฒนาเรื่องทักษะ การแตกประเด็น การซื้อใจแหล่งข่าว การทำข่าวเจาะ จะได้หรือไม่ได้ ก็ต้องอยู่ที่ตรงนี้

เขาทิ้งท้ายเรื่องราวในอดีตว่า สมัยก่อนมันก็แข่งขันเรื่องงานนะ เรื่องส่วนตัวไม่มีอะไร ข่าวที่คิดว่าประทับใจที่สุดก็คือ ทลายเหมืองเถื่อนที่ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นสิ่งที่คิดว่า เป็นข่าวสิ่งแวดล้อมที่ได้ทำข่าวเจาะ ไปอยู่กับแวดวงผู้มีอิทธิพลด้วย โดนตามฆ่า ถึงขั้นสันติบาลมากระซิบบอกให้ออกจากพื้นที่ เหมือนข่าวตัดไม้ที่ปราจีนบุรี ก็โดนไล่ยิง แต่ไม่ถึงขนาดโดนกระสุนนะ พอกลับเข้าโรงแรมก็เช็กเอาท์เลย ทว่าเราก็ยังทำอยู่นะ ต้องทำต่อ เพราะว่าเราต้องจับตั้งแต่แรกจนจบ นี่คือข่าวสด กัดไม่ปล่อย ทำให้เราแกร่ง ต้องแก้ไขว่าจะต้องทำไง เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้

 

 

RELATED ARTICLES