“ผมกลายเป็นพ่อลูกคู่แรกที่เป็นนักข่าวประจำกองปราบเหมือนกัน”

ลูกไม้ไม่ไกลต้น

วัสยศ งามขำ นักข่าวหนุ่มเลือกเดินตามรอยเท้าวิชเลิศ งามขำ อดีตหัวหน้าข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐผู้ให้กำเนิดเข้าสู่วงการนักหนังสือพิมพ์สร้างชื่อแจ้งเกิดเต็มตัว กลายเป็นหนุ่มน้อยมากประสบการณ์งานสื่อมวลชนสังกัด “บางกอกโพสต์” ทั้งที่ผู้พ่อตั้งความหวังอยากให้ลูกชายคนเดียวของบ้านรับบทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มากกว่า

เขาเกิดที่กรุงเทพฯ มีน้องสาวคลานตามกันมาอีกคน เรียนจบมัธยมโรงเรียนวัดบวรนิเวศ สมัยนั้นพ่อยังเป็นนักข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ค่อนข้างกว้างขวางรู้จักนายตำรวจใหญ่หลายคนถึงมีแนวคิดอยากเห็นลูกชายสวมเครื่องแบบสีกากีถึงขั้นให้ไปกวดวิชาเตรียมตัวสอบเข้าเตรียมทหาร

เจ้าตัวเล่าว่า พอไปติวแล้วรู้สึกไม่ชอบ เห็นแต่ละคนดูมุ่งมั่นเกิน ไปบอกพ่อขอเป็นทหารเรือได้ไหม เพราะตา กับลุงเป็นทหารเรือ พ่อไม่ตอบ พอเรียนมัธยม 4 เริ่มมีความคิดกลับอีกแบบ มองว่า อาชีพนักข่าวแบบพ่อน่าจะเท่กว่า รู้จักคนเยอะ ประกอบกับ เราไม่ชอบเรื่องระเบียบวินัยจะไปรับราชการทหารตำรวจคงยาก ตัดสินใจบอกพ่อไม่สอบเตรียมทหารแล้ว แต่ก็มีลังเลจะเอนเอียงเรียนสถาปนิก เนื่องจากยุคนั้นหนังกลิ่นสีและกาวแป้งกำลังดัง

“ผมสอบเทียบผ่าน เอ็นทรานซ์ปีแรกไม่ติด กลับมาเรียนมัธยม 6 คิดว่า ทำไมไม่เป็นนักข่าวเหมือนพ่อล่ะ ผมสัมผัสเพื่อนพ่อที่เป็นนักข่าวมาตั้งแต่จำความได้ เขาชอบคุยกันเรื่องเหตุบ้านการเมือง  เรื่องวงการตำรวจ ซึมซับมาตอนนั้น บรรยากาศมันดูสนุกสนาน ถึงอยากเป็นนักข่าว” วัสยศย้อนมุมคิดในอดีต

ทันทีที่จบมัธยม เขาจึงมุ่งเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตอนแรกจะไปเลือกลงเอกวิชาวิทยุและโทรทัศน์ ด้วยความที่ชอบแข่งขัน มีคนอยากเรียนเยอะจนเจออาจารย์ตั้งคำถามหากสอบไม่ผ่านจะไปเลือกสาขาอะไรเลยเผื่อวารสารศาสตร์ไว้อีกอัน สุดท้ายอาจารย์ฟันธงให้เสร็จสรรพว่า เขาควรเหมาะกับงานหนังสือพิมพ์ดีที่สุด เพราะชอบแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้ตอบเอาใจอาจารย์

นักข่าวหนุ่มเล่าวีรกรรมครั้งนั้นว่า เป็นช่วงเลือกตั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เราออกความเห็นว่า ทำไมมหาวิทยาลัยกรุงเทพไม่สนับสนุนรณรงค์ให้นักศึกษารู้จักบทบาทหน้าที่ในการไปเลือกตั้งต่างกับมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นที่เขาตื่นตัวเรื่องบ้านเมือง อาจารย์ถึงบอกว่า เธอเหมาะที่จะเป็นนักหนังสือพิมพ์ ไปต่อสู้เพื่อชาวบ้านดีกว่า พอเรียนวารสารศาสตร์ก็เป็นนักกิจกรรมทำงานคณะ ได้เป็นประธานนักศึกษาวารสารศาสตร์ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านกล้วย แถมได้ฝึกงานหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

เรียนจบปี 2540 ประเทศไทยเจอวิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจตกต่ำ วัสยศบอกว่า ไปสมัครงานหลายที่ ไม่มีที่ไหนรับ เป็นจังหวะพ่อออกจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐด้วย ยิ่งทำให้ใจหาย คิดว่า เราจะเป็นนักข่าวได้ไหม ไม่รู้จะทำยังไง ตัดสินใจย้อนเข้าไปบางกอกโพสต์ ขอทำงาน เขาบอกไม่มีเงินตอบแทนให้ เราก็ยอม สนชัย นกพลับ เป็นบรรณาธิการข่าวจึงรับไว้ให้ไปอยู่นครบาลฝึกกับประวิทย์ โสรัตน์ นักข่าวอาวุโสรุ่นพ่อที่ให้ความรู้หลายอย่าง

“ทำมาสองเดือน ข้างในเห็นผลงานเสนอให้เงิน 5 พันบาท ทำมาเรื่อยจนเศรษฐกิจดีขึ้น เขาถึงให้เป็นนักข่าวเต็มตัว กลายเป็นเป็นนักข่าวคนเดียวของบางกอกโพสต์ ที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการสรรหา สัมภาษณ์เหมือนคนอื่น อยู่นครบาลเรื่อยมา ตอนแรกเข้าหาผู้ใหญ่ยากมาก เพราะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ยังไม่แพร่หลาย จนได้พบ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ สมัยยังเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พอมีข่าวอะไรเขาบอก ผมถึงได้แหล่งข่าวคนแรก เริ่มรู้แล้วว่า การสร้างแหล่งข่าวทำอย่างไร”

เป็นนักข่าวประจำนครบาลนาน 4 ปี เกิดคดีสังหารผู้ว่าฯปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ กองปราบปรามลงมาคลายปมคดีสาวไปสู่กับจับกุม พ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ หรือ “ผู้พันตึ๋ง” บางกอกโพสต์ไม่มีนักข่าวอยู่ประจำ วัสยศเลยถูกวางตัวข้ามหน่วยไปเป็นนักข่าวประจำกองปราบปรามแทน เขาบอกว่า สมัยนั้นกองปราบปรามเหมือนเป็นแดนสนธยา เพราะมีนักข่าวขาใหญ่เยอะ โชคดีเรารู้จักลูกน้องพ่อ คือ เก๋-กิตติพงศ์ นโรปการณ์ นักข่าวไทยรัฐ ก็เลยช่วยสอนการทำข่าวที่กองปราบ

“ผมไปอยู่กองปราบ ผมกลายเป็นพ่อลูกคู่แรกที่เป็นนักข่าวประจำกองปราบเหมือนกัน ทำข่าวสะสมประสบการณ์ผ่านคดีสำคัญมากมาย เหมือนอยู่ในทีมสืบสวนของตำรวจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นวิเคราะห์คดีได้ด้วย ถือเป็นยุคที่แข่งขันการหาข่าวกันสูงมาก  บางคดีต้องรวบรวมข้อมูลเก็บเข้าแฟ้มเป็นเดือนกว่าจะเปิดเป็นข่าว แถมไม่มีกูเกิ้ลให้ค้นหา เหมือนเดี๋ยวนี้” ทายาทอดีตหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ถ่ายทอดประสบการณ์

ผ่านคดีสำคัญระดับชาติที่กองปราบปรามลงไปคลี่คลายมาอย่างโชกโชน เจ้าหนุ่มกลับประทับใจคดีเล็ก ๆ ที่หลายคนมองผ่าน เขาเล่าว่า มีอยู่วัน ชาวบ้าน 50 คนมาร้องกองปราบปรามว่า โดนหลอกเช่าโฉนดที่ดินไปประกันผู้ต้องหาคดียาเสพติด นายหน้าให้เงินรายละ 4-5 พันบาทแล้วเซ็นมอบอำนาจให้ไป  จากนั้นผู้ต้องหาหนีประกัน ศาลสั่งยึดที่ดิน ชาวบ้านเดือดร้อนกันหมด สื่ออื่นไม่สนใจ มีทนายอาสามาร่วมช่วยชาวบ้าน

“หนังสือพิมพ์ผมลงข่าวนี้ติดต่อกันสามวัน ศาลฎีกาสั่งระงับเรื่องไว้โดยไม่ยึดที่นา แล้วให้ตามผู้ต้องหามาให้ได้เพื่อเอาหลักทรัพย์คืน  ผมภูมิใจนะ ก่อนหน้าชาวบ้านบางคนติดคุก เพราะนายหน้าปลอมลายเซ็น น่าเสียดายถ้าสื่อช่วยกันเล่นเรื่องนี้ ชาวบ้านหลายคนอาจจะไม่ต้องติดคุก”

นอกจากงานข่าวประจำกองปราบปรามแล้ว วัสยศยังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมัยประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เป็นเลขาธิการ เริ่มต้นนั่งตำแหน่งกรรมการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ ซึ่งถือว่า มีน้อยคนที่นักข่าวอาชญากรรมได้เข้าไปทำงานในสมาคม ท่ามกลางการดูถูกดูแคลนว่าไร้ฝีมือ แต่เขาสามารถสอบผ่านทำโครงการปั้นนักข่าวเป็นนักเขียน เอานักข่าวไปวาดภาพสีน้ำ อบรมการถ่ายรูปดิจิตอล ต่อมาได้มีโอกาสไปฝึกอบรมโครงการนักข่าวสืบสวนสอบสวนที่ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นวิทยากรสอนนักข่าวรุ่นใหม่ทั่วประเทศจากการผลักดันของประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์

ขณะเดียวกัน นักข่าวหนุ่มบางกอกโพสต์คนนี้ ยังมีส่วนก่อตั้งศูนย์ข่าวอิศรา เมื่อลงไปเกาะติดข่าวสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นการเสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์ไปในทางสันติภาพ นำเสนอหลายแง่มุมดี ๆ ในพื้นที่ปลายด้ามขวานมากกว่าข่าวการฆ่ากันตายรายวัน เช่น ข่าวหมู่บ้านในจังหวัดปัตตานีทำหมวกกะปิเยาะส่งขายประเทศอาหรับเป็นรายได้ให้ชุมชน

ประสบการณ์ทำข่าวอาชญากรรมนานนับสิบปีของวัสยศ หลายคนในวงการสื่อล้วนยอมรับในฝีไม้ลายมือจนให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายตามมหาวิทยาลัยดัง มีลูกศิษย์หนุ่มสาวมากมาย แต่ตัวเขาใช่จะหยุดความท้าทายเพียงแค่นี้ เพราะเขาสามารถผลิตเนื้องานจากการที่เข้าคลุกวงข่าวคลอดพ็อกเกตบุ๊กของตัวเองเล่มแรกในชีวิตชื่อ CRIME TRACK แกะรอยอาชญากรรม” เป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้เจ้าตัวไม่น้อย

วัสยศบอกถึงที่มาว่า เมื่อปี 2550 บรรณาธิการข่าวเรียกเข้าไปคุยอยากให้เขียนสารคดีเชิงข่าวเกี่ยวกับเทคนิคการจับโจร เตือนภัยสังคมลงบางกอกโพสต์ในชื่อ CRIME TRACK ก็เริ่มเขียนมาตั้งแต่ตอนนั้น เน้นวิธีการวางแผนสืบสวน จับกุม สัมภาษณ์คนทำงานจริง จับจริงๆ ระดับสารวัตร นายดาบ ไม่จำเป็นต้องเป็นนายพล สะท้อนภาพความจริงให้เห็นเขียนมาร่วม 4 ปี ถึงคัดเลือกเรื่องออกมารวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กเพิ่งวางแผงเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

“หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเหมาะกับนักอ่านทั่วไปแล้ว ผมถือเป็นตำราเล่มหนึ่งของตำรวจ ต้องอ่านดูว่าตำรวจเขาจับโจรกันอย่างไร  นักศึกษานิเทศศาสตร์ ก็ใช้เป็นต้นแบบการศึกษาการเขียนสารคดีเชิงข่าวได้ มันเป็นสิ่งที่ผมใฝ่ฝันจะเขียนอาชญนิยายแนวสืบสวนสอบสวนแบบนี้มานานแล้ว และถ้าใครได้อ่านจะยิ่งเห็นว่า เป็นการเขียนที่ไม่เหมือนกัน เพราะผมเขียนเป็นแนวประโยคภาษาอังกฤษ เมื่ออ่านแล้วจะเหมือนกับการอ่านหนังสือแปล ไม่ใช่สำนวนบอกเล่าแบบภาษาไทยทั่วไป” นักข่าวที่หันมาเป็นนักเขียนยิ้มกับฝันที่เป็นจริง

หนุ่มนักหนังสือพิมพ์อนาคตไกลทิ้งท้ายฝากถึงรุ่นน้องด้วยว่า อยากให้นักข่าวรุ่นใหม่มีความมุ่งมั่นกว่านี้ ไม่ใช่ทำแค่ข่าวรายวัน ต้องคิด ต้องต่อยอด ไม่ใช่ทำงานแบบพนักงานบริษัท มาเช้ากลับเย็น  ไม่เคยปฏิสัมพันธ์ กับใครเลย เช่น งานเลี้ยง วงเหล้า เราจะได้อะไรหลายอย่างจากตรงนี้มาก

 

 

 

 

RELATED ARTICLES