“ผมจะคิดเสมอว่า มีอาชีพเป็นตำรวจ คิดว่ามีหน้าที่อะไรก็แค่นั้น”

ดีตผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ผ่านชีวิตบู๊บุ๋นมาอย่างโชกโชนในพื้นที่ภูธรภาคอีสาน

พล.ต.ท.ชลอศักดิ์ อาษา ชาวกรุงเทพฯ เกิดในครอบครัวพ่อทำสวนอยู่ย่านฝั่งธนบุรี แม่ทำงานธนาคารชาติ ศิษย์เก่าวัดนวลนรดิศ ไปต่อสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นนักวิ่งรุ่นจิ๋วของโรงเรียน อภิวันท์ วิริยะชัย ชวนให้ไปสอบเตรียมทหารเลยติดเป็นเตรียมทหารรุ่น 10 แต่ญาติเป็นทหารเยอะแล้วจำเป็นต้องเลือกเหล่าตำรวจจบมาเป็นรุ่น 26 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีรับสั่งขอทั้งรุ่นไปลงตำรวจตระเวนชายแดน

เขาถึงเริ่มต้นเป็นนักรบป่าท่ามกลางสถานการณ์คอมมิวนิสต์ตามแนวชายแดนเป็นผู้บังคับหมวดตำรวจตระเวนชายแดนเขต 5 จังหวัดเชียงใหม่ เข้าป่าประจำอยู่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย วันแรกเจอต้อนรับน้องใหม่ถูกฝ่ายตรงข้ามยิงกราดข่มขวัญ จากนั้นได้เรียนรู้ยุทธวิธีการรบเคียงบ่าประจักษ์ สว่างจิตร ปะทะกันตลอด ใช้ชีวิตอยู่ในหลุม

“อยู่ได้ 7 วัน โดนยิงเลย ระหว่างเยี่ยมชาวบ้าน เข้าแผนร่วมกับทหาร เสียงปืนยิงมาก็รู้ว่ามันเข้าตีแล้ว วิ่งหลบไม่ทัน ก็โดนเข้าสีข้าง ตอนแรกไม่รู้ คิดว่าโดนเตะ นึกในใจว่า ใครวะแรงเยอะฉิบหาย ก็มองหาอยู่ เหน็บปืนไว้ข้างหลัง พอหยิบมา รู้สึกว่า ทำไม มันเหนียวๆ วะ เลยรู้ว่าถูกยิง มองหาที่หลบ พยายามคลานไปหาเต็นท์หน่วยพยาบาลทหาร ยังขำไม่หาย เสนารักษ์โยนหมวกมาให้บอกว่า หมวดนอนเลย หันหน้าไปทางโน้นเลย ดูเขารบไป แล้วเดี๋ยวทำแผลให้ ตลกดี” นายพลวัยเกษียณเล่าฉากแรกของเส้นทางชีวิตราชการ

พล.ต.ท.ชลอศักดิ์เล่าว่า ชีวิตอยากเป็นทหารอยู่แล้ว คิดว่ายังไงก็ต้องเจอ ไม่รู้สึกหวั่นไหว ไม่โดดเดี่ยว เพราะมีเพื่อนทหารอยู่ ช่วยกันรบนาน 2 ปี  บางทีมันเครียดนะ บางวันเข้าตีบ่อยๆ ไม่ได้ยินเสียงปืนนอนไม่หลับ ปืนต้องอยู่ใกล้ตัวตลอดเวลา วันไหนไม่มีเสียงปืนจะหงุดหงิด รบกันแบบกองโจร   ต่อมาผู้บังคับบัญชาให้พัก 3 เดือน กรมตำรวจเปิดโอกาสให้ย้ายกลับ

ผู้หมวดตระเวนชายแดนคืนกลับถิ่นเกิดเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชันแล้วย้ายไปอยู่โรงพักบางขุนเทียน แต่รู้สึกว่า ทำอะไรไม่ได้ ญาติพี่น้องขอตลอด ไม่มีความเป็นอิสระ ไม่มีความเป็นกลาง ใช้เวลาอยู่ 4 ปี เพื่อรักษาตัวเอง เนื่องจากสุขภาพจิตเสีย “ ไปคุมลูกเสือชาวบ้านที่วัดหนัง เพื่อดูแลรักษาความสงบ เขามีการจุดพลุกัน ผมก็หลบไปข้างเสาอาคาร ลูกน้องบอกหมวดเป็นอะไร ผมว่า มันยิงระเบิด ลูกน้องอธิบายว่า เขาจุดพลุกัน ผมถึงหัวเราะ ไอ้ห่า ยังผวาอยู่ ผมโดนมาแล้ว มันก็ขยาด คือ โดนยิงไม่กลัวหรอก แต่กลัวตอนทำแผลมันเจ็บ วันหนึ่งฉีดยา 8 เข็ม แล้วต้องนอนคว่ำตลอด เพราะแผลมันอยู่ข้างหลัง มันทะลุ นอนหงายแผลมันเน่าเลย”

“ตอนโดนยิงครั้งนั้น เขาถามว่าจะย้ายไหม ผมไม่ย้าย ขอสู้ต่อ เพราะคุมลูกน้องอีก 22 คน พอเราไปแสดงตัว เขาก็มั่นใจเรา 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ เราจะทำให้เขามั่นใจเราอย่างไรเท่านั้นเอง ที่จะสั่งเขาได้ คือมันต้องคิด สั่งเขาสู้ สั่งเขายิง แต่ชีวิตคน เราจะสั่งได้ยังไง ทำได้หรือเคยคิดไหม  เราเป็นผู้นำเขา หมายความว่า ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน เราก็ต้องไปฆ่าให้เขาดูก่อน ไม่ฆ่าเขา เขาก็ฆ่าเรา อย่างงี้แหละ เราต้องฆ่าเขาก่อน แต่ทำบ่อยๆ มันก็เบลอมาก”

อดีตนักรบป่าชายแดนยอมรับว่า ปะทะผู้ก่อการร้ายตายมาเยอะ หลังๆ ไม่คิดแล้ว เขาส่งมาให้เราทำก็ไม่อยากคิดมาก เราต้องรับกรรม ในส่วนที่เราทำเกินไปก็ต้องยอมรับ เพราะเรามาทางนี้แล้ว แต่หลังๆ ไม่จำ ไม่มอง ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น คือ เขาชวนไปเราก็ไป เราปล่อย ไม่คิดถึงเขาอีก พอทำงานอะไรพวกนี้เสร็จ ก็จะหาที่สนุกสนาน ตอนแรกๆ เครียดมาก เพราะต้องแสดงให้ลูกน้องเห็นด้วย  เราก็ไปได้การเป็นผู้นำจากที่นั่นเยอะ

ติดยศ ร.ต.ท.คนแรกของรุ่น ทำไปทำมารู้สึกท้อเมื่อมาอยู่นครบาล ขั้นไม่ได้ เพราะถูกมองว่า เด็กเกินไป เจ้าตัวเลยคิดว่าจะรับราชการไปทำไม ตัดสินใจขอออกจากนครบาลไปลองใช้ชีวิตภูธรก็แล้วกัน เป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครราชสีมา ได้นายอย่างประจิตต์ แสงสุบิน ชูเกียรติ ภัยลี้ เป็นสารวัตรใหญ่ พล.ต.ท.ชลอศักดิ์ มีมุมมองว่า อยากได้ชีวิตตำรวจเป็นโครงสร้างแบบเก่ามากกว่า เพราะว่าทุกเย็นจะนั่งกินข้าว สังสรรค์กัน ทำให้นายกับลูกน้องมีโอกาสที่จะคุยกันได้ตรงไปตรงมา อันไหนดีไม่ดี ควรทำไม่ควรทำ แล้วเราก็เชื่อมั่นในตัวหัวหน้า ในตัวสารวัตรใหญ่ เชื่อมั่นเขา เพราะเขาก็เป็นตัวอย่างที่ดี มีความเป็นกลาง เป็นธรรม ไม่เหมือนสมัยนี้ ตัวใครตัวมัน

 ขยับไปทำหน้าที่นายเวรผู้บังคับการภูธรเขต 5 กว่าจะลงตำแหน่งสารวัตรเลยช้ากว่าเพื่อน อยู่โคราชไม่นานย้ายไปเมืองอุบลราชธานี ถึงปักหลักเป็นสารวัตรสืบสวนสอบสวนเมืองขอนแก่น ดูแลทั้งสำนวนและงานสืบสวนออกเที่ยวทุกคืน ลูกน้องเรียกกันว่า “สารวัตรเพลย์บอย” แต่ใช้ 3 ปี ทำบัญชีดาวโจรไว้เยอะมากกลายเป็นมือปราบอีสาน ใช้วิธีหาข่าวตามแบบฉบับตัวเอง

อดีตผู้บัญชาการสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย้อนเรื่องราวว่า ไปใหม่ ๆ มีคดีปล้นเยอะมาก คิดว่า ทำไมปล่อยกันขนาดนี้ เลยใช้วิธีตั้งทีมฟุตบอลพาลูกน้องตระเวนแข่งไปตามหมู่บ้าน ไม่เอาตำบลนะ ไปขอแข่งตลอด เราจะได้รู้จักเขาหมด เอาชาวบ้านเด็กที่เตะบอลเป็นพวกเรา คอยให้ข่าว มีข้อตกลงอยู่ว่า เราห้ามชนะเขา ถึงเขาจะอ่อนยังไง ก็ต้องเสมอแค่นั้น มีนโยบายอย่างนี้ แล้วเวลามีอะไรปั๊บ เราก็จะถามได้ข่าวจากเขาส่งมาให้ เราก็จะรู้ว่าจุดไหนๆ ที่มีปล้นกัน คดีก็น้อยลง

ตลอด 3 ปีคดีอาชญากรรมเบาบาง ถูกลากเป็นสารวัตรแผนกทะเบียนพลของกองบัญชาการตำรวจภูธร 2 ตามโครงสร้างเก่า ขยับไปมากระทั่งขึ้นเป็นผู้กำกับกองกำลังพล อยู่จนได้ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี และกลับมาอยู่ชัยภูมิ ทำสงครามยาเสพติดเหี้ยนเตียน นาน 2-3 ปี ขอขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และได้เป็นผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนเกษียณอายุราชการ

เจ้าตัวย้อนถึงประสบการณ์ทำงานว่า  เดี๋ยวนี้กับแต่ก่อน แตกต่างกันมาก ค่านิยมมันผิดไปจากเก่า วัฒนธรรมก็มีส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนไป  ส่วนมากจะเป็นเรื่องผลประโยชน์มากกว่าที่ทำให้ทำงานไม่ได้เต็มที่ ไปเน้นเรื่องผลประโยชน์มาก ตั้งงานหลัก คือ ผลประโยชน์ งานประจำ คือตัวรอง เลยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ แล้วอีกอย่าง คือ ความเป็นผู้บังคับบัญชา การที่จะเป็นผู้นำปกครองเขาจะทำตามหน้าที่ มันเป็นอันดับรองไป ผลประโยชน์มันมากไป

“พูดตรงๆ นะ ต่างคนต่างเก็บ ต่างคนต่างตักตวงผลประโยชน์ โดยไม่รู้ว่างานจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ คิดว่าเอาผลประโยชน์ไว้ก่อน อันนี้หัวหน้าก็สั่งไม่ได้สิ รับคำสั่งจากข้างบนลงมา ถ่ายทอดลงมา แล้วสั่งข้างล่างไม่ได้ กลายเป็นเรื่องผลประโยชน์กันอยู่ การทำงานมันก็ด้อยลงไป หรือบางที มันก็ขึ้นอยู่กับตัวหัวหน้า จะมีวิธีการยังไง ให้เขาทำงานให้ มันต้องใช้กุศโลบายเยอะ มันมีแต่นามธรรม รูปธรรมมันน้อย ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ นายบางคน หลายๆ คน ก็ไม่ได้ผ่านงานแบบนี้มาด้วย ถ้าไม่รู้เรื่องงาน แล้วสั่งงานผิดยิ่งไปกันใหญ่” พล.ต.ท.ชลอศักดิ์ร่ายยาว

 “ผมนอนอยู่โรงพัก ผมยังนั่งคิดเลยนะ ระดับหัวหน้าสถานี ต้องเซ็นสำนวน แล้วเซ็นไม่เป็น จะสั่งยังไง สมัยผม พนักงานสอบสวนทำงานเอง ไปดูที่เกิดเหตุเอง แต่ตอนนี้ไม่ไป ไปจริงแต่ก็ไม่เคยทำอะไรสักอย่าง ให้สายสืบพาคนโน้นคนนี้มา ไม่ใช่เลย อยากจะรู้จริงๆ เราต้องไปถาม คนนี้เป็นไง ในที่เกิดเหตุ เช่น มีเรื่องชกต่อยกัน เราต้องไปดูในที่เกิดเหตุ ถามคนที่แวดล้อม ทำให้รู้อะไรต่างๆ ถ้าจะทำอย่างนั้นจริงๆ ต้องไปดู ไปสัมผัสตรงนั้นมาก่อน แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แล้ว มันให้สายสืบไปตามพยานมา บางทีก็เอาผู้เสียหายให้ไปตามพยานมาให้”

นายพลมือสืบสวนสอบสวนภูธรเก่าระบายอีกว่า  สมัยก่อน ออกเวรปั๊บ ต้องไปเซ็นตู้แดง เราจะรู้พื้นที่หมด ทำทุกหน้าที่ ไปตรวจตู้ ดูว่าลูกน้องอยู่ไม่อยู่ แล้วเราก็จะได้ดูพื้นที่ไปในตัว  ถ้าเปรียบโครงสร้างโรงพัก ถ้าจะปกครองคน ถามว่า จะมีกี่คน มากที่สุดกี่คน ที่จะปกครองแล้วเอาอยู่ สูงสุดได้กี่คน เราตีให้ 5 มากที่สุด ที่สนิท สั่งงานกันได้ 5 คนอย่างมาก 5 คนนี่ คุณดูแล สารทุกข์สุขดิบได้ ทั้งเรื่องงานและครอบครัวเขาด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องงาน บางทีเขามีปัญหาเรื่องครอบครัวขึ้นมา เรื่องงานก็กระทบไปด้วย เราก็ต้องดูแลเขาด้วย อันนี้มันต้องมีความเป็นผู้นำเยอะ ตอนนี้เหมือนมันไม่มีเป็นไปอย่างนั้น เมื่อก่อนผู้การ แค่ระดับ ผกก.ใหญ่มาก คนกลัวมาก

พล.ต.ท.ชลอศักดิ์ฝากข้อคิดด้วยว่า  ใครเป็นผู้การ ไม่รู้วิธีบริหารงบประมาณมันน่ากลัวตรงนี้ แล้วก็ให้ระดับประทวน หรือสารวัตร เป็นคนสอน เป็นคนชี้แนะ บางทีชี้ที่ถูกต้องก็มี ไม่ถูกต้องก็มี บางทีลูกน้องหลอกเรา เราก็ไม่รู้ น่าห่วงตรงนี้  สมัยก่อน ผู้การ รองผู้การ ต้องมาบี้สำนวน แต่สมัยนี้ไม่ค่อยเห็น นครบาลก็บี้ แต่นายมีเหตุผล นายด่า แต่ก็สอน ไม่ใช่เรียกไปด่าเฉยๆ สอนว่า ควรทำยังไงๆ แต่เดี๋ยวนี้ด่าเสร็จ ก็ไม่สอน เพราะไม่รู้จะชี้แนะยังไง ไม่เหมือนคนมีประสบการณ์ จะรู้ว่า ควรจะทำยังไง

 “ชีวิตของตำรวจ สำหรับผม คำว่า ตำรวจอาชีพ คิดว่ามันไม่ใช่ ผมจะคิดเสมอว่า มีอาชีพเป็นตำรวจ คิดว่ามีหน้าที่อะไรก็แค่นั้น ก็มันมีหน้าที่ตำรวจครบอยู่แล้ว ทำไมต้องเป็นตำรวจอาชีพ ถ้าตายแล้วก็ยังเป็นตำรวจอาชีพอยู่หรือ เกษียณไปแล้วยังเป็นอยู่ไหม ก็ไม่ได้เป็นแล้ว ตำรวจอาชีพมันต้องตลอดชีวิตใช่หรือไม่ มันต้องตีความหมาย ถามเด็กรุ่นใหม่ๆ ว่า ตำรวจอาชีพ คืออะไร ผมก็อยากรู้ แต่ถ้าถามผมก็จะตอบว่า ผมมีอาชีพเป็นตำรวจ แค่เป็นตำรวจที่ทำตามหน้าที่ให้ครบ ถ้าเขาให้ช่วยก็ต้องทำหมด”

เขาตั้งข้อสังเกตว่า การปรับโครงสร้าง ตำรวจสมัยใหม่ไปตั้งเรื่องผลประโยชน์มากเกินไป ทุกคนที่คิดว่า เกลียดตำรวจ แต่อยากเป็นตำรวจเพราะอะไร  ตำรวจที่ทำหน้าที่ตำรวจ ไม่รวยหรอก “อย่างผมเรียกว่า มีอันจะกินเฉยๆ ปลูกบ้านซื้อที่ดิน ก็ขอที่ดินแม่ ทำอะไรที ถ้าใช้เงินเยอะๆ ก็บอกพ่อแม่ ก็แค่นั้น แม่เคยพูดกับผมว่า ลูกเอ๊ย เป็นตำรวจอย่าไปไถชาวบ้านนะ ถ้าไม่มีเงินมาขอแม่ เอาที่แม่ แต่จะว่าไปแล้ว การจะเป็นตำรวจสีขาวไม่มีทางได้ แค่สีเทา ๆ สบายสุด ใครให้เราก็เอาไว้ซะ แต่อยากบอกว่า คุณต้องเอามาเท่านั้นเท่านี้ ทำไม่ได้หรอก”

สุดท้าย พล.ต.ท.ชลอศักดิ์อยากแนะนำตำรวจรุ่นน้องว่า จะทำอะไรขอให้คิดว่า ตัวเองอาจจะพลาดอะไรได้บ้าง หาวิธีป้องกัน เป็นเกราะให้ตัวเอง จะมีวิธีแก้ไขยังไงบ้าง แล้วค่อยทำ ไม่ใช่ว่า ทำไปแล้วค่อยมาคิดหาวิธีแก้ไข งานทุกอย่างเสี่ยงตลอด แต่พอเสี่ยงแล้วพลาดขึ้นมา ต้องรู้ว่าจะทำยังไง จะแก้ยังไง ก่อนที่จะลงมือ ตัดสินใจทำ คือ คิดถึงปัญหาซะก่อน หาวิธีแก้ด้วย แล้วค่อยทำ ไม่ใช่ทำก่อนแล้วมาตามแก้ทีหลัง ยิ่งปัจจุบันดูแล้ว ไม่มีเกราะป้องกันตัวเลย

อดีตนายพลมากประสบการณ์ย้ำว่า อย่าไปคิดแต่เรื่องผลประโยชน์ ค่านิยมเป็นแบบนั้น มันเปลี่ยนไป คนรู้กฎหมายแล้ว รู้วิธีปฏิบัติของตำรวจ  จริงๆ หน้าที่ตำรวจมันก็พอแล้ว ขอให้ทำหน้าที่ของตำรวจได้ให้ดีพอ อย่าไปคิดเรื่องผลประโยชน์เป็นหลัก ให้คิดเรื่องงานเป็นหลัก แล้วผลประโยชน์จะตามมาเอง “เรากินตามน้ำสบายกว่าเยอะนะ แต่เรากินตามน้ำไม่ใช่ว่าเรากินไม่เลือก เขาให้ด้วยเสน่หาหรือเปล่า เพราะเดี๋ยวนี้มีไม่น้อยมันไม่ใช่เรื่องเสน่หา มันเป็นเรื่องธุรกิจไปแล้ว

ชลอศักดิ์ อาษา !!!     

RELATED ARTICLES