ลูกชายพันโทอดีตทหารปืนใหญ่ก้าวเข้าสู่ชีวิตนักหนังสือพิมพ์คร่ำหวอดอยู่ในวงการนานเกินกว่า 20 ปีแล้ว
นรินทร์ เนียมประดิษฐ์ คนหนุ่มอัธยาศัยดีค่ายหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” หลังจบโรงเรียนราชวินิตประถมหันเข้าเรียนต่อโยธินบูรณะและโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์ ด้วยความที่ใช้ชีวิตอยู่ในค่ายทหารตั้งแต่เกิด ทำให้ตัวเองไม่อยากก้าวเดินตามรอยพ่อ กลับอยากเป็นตำรวจแทน
เขาไปสอบสวนโรงเรียนเตรียมทหาร แต่ไม่ติด สมัครเรียนคณะบริหารธุรกิจ เอกการโรงแรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองอยากทำงานเกี่ยวการท่องเที่ยว จบมาไม่รู้ทำงานอะไรเลยไปสมัครเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน เพราะตัวเองชอบงานถ่ายภาพเป็นชีวิตจิตใจ แม้ไม่มีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับงานข่าวมาก่อน
สมัครเป็นช่างภาพข่าวกีฬาทำงานอยู่ปีเดียว นรินทร์เล่าว่า เกิดข่าวสดสปอร์ตนิวส์หนังสือพิมพ์ในเครือแข่งกับหนังสือพิมพ์สยามกีฬาเลยถูกดึงไปอยู่ ไม่นานสปอร์ตนิวส์ปิดตัวเหลือแค่หัวข่าวสดต้องยุบกลายเป็นนักข่าวช่างภาพตระเวนข่าวอาชญากรรม ทั้งที่แต่ละคนไม่มีประสบการณ์เรื่องข่าวเลย แต่ช่วงแรกลงก็คู่กับนักข่าวก่อน “จริง ๆ ผมไม่อยากเป็นนักข่าวเท่าไหร่ อยากเป็นช่างภาพอย่างเดียว เพราะรักการถ่ายภาพมากกว่า” นรินทร์ว่า
ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะปรับลงตัว เขาบอกว่า ตอนแรกไม่คิดว่า ต้นสังกัดจะปรับให้เหลือคนเดียว เรากลายเป็นคนแรกที่ตัดให้เหลือนักข่าวคนเดียว ไม่มีช่างภาพเป็นรุ่นบุกเบิก เจอประสบการณ์มากมาย ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตามข่าวฆ่าแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ ข่าวพระยันตระ เคยได้รางวัลรูปข่าวของชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรมจากภาพเหตุการณ์โป๊ะล่มท่าน้ำพรานนก
มันเป็นภาพโศกนาฏกรรมที่เจ้าตัวไม่ค่อยภูมิใจกับรางวัลเท่าไหร่ นรินทร์จำได้ว่า เข้าเวรดึกกำหนดออกเวรตอนเช้า เวลานั้นราวว่า 7 โมงคิดจะไม่ไป แต่ฟัง ว.อยู่ คำนวณแล้วไม่ใช่เรื่องเล็กแน่ ดูแล้วมีเด็กตายด้วยเป็นช่วงที่เด็กกำลังไปโรงเรียนกัน รีบไปที่เกิดเหตุอยู่ยันบ่าย ภาพที่เห็นมันสลดมาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิหิ้วศพนักเรียนที่สะพายเป้ขึ้นจากแม่น้ำ เรากดชัตเตอร์อย่างเดียว ไม่ได้คิดอะไร แค่รู้สึกสลดหดหู่
เขาผ่านสนามข่าวอาชญากรรมมาสารพัดคดี สิ่งเดียวที่เขาคิดเปรียบคู่แข่งต่างฉบับ นั่นคือ วัดกันที่แผงตอนเช้า บ่อยครั้งได้ข่าวเดี่ยวฉบับเดียว บ่อยครั้งตกข่าว เป็นสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์ตระเวนข่าวอาชญากรรมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครั้งหนึ่งเขายังเสียดายเกือบหยิบผลงานโบแดงนำไปพาดหัวฉบับเดียวเมื่อพบรถบรรทุกระเบิดขนาดมหึมาจอดอยู่หน้าโรงพักลุมพินี
“มันยังฝังใจผมอยู่เลย” นรินทร์ระบายความรู้สึก “กะจะได้ข่าวเดี่ยวแล้ว ผมไปตระเวนแจกหนังสือพิมพ์สังเกตเห็นทำไมกองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจรถบรรทุกที่จอดอยู่ริมสวนลุมพินีฝั่งตรงข้ามโรงพักถึงรู้ว่าพบแทงก์น้ำบรรจุระเบิดไว้ เก็บรายละเอียดส่งข่าวได้หมดแล้ว ไม่มีนักข่าวสังกัดอื่นผ่านมาเลย”
นรินทร์ว่า ตอนแรกที่กองพิสูจน์หลักฐานไป เพราะแจ้งคนหาย รถหาย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีระเบิด ตอนแรก เสมียนเวรมากระซิบบอกเราว่า ไม่ไปดูหรือระเบิด ก็ถามว่าระเบิดอะไร ป๋าเสมียนโรงพักชี้ให้ไปดูถึงรู้ว่าเป็นระเบิดทำจากปุ๋ยยูเรียบรรจุอยู่ในแทงก์น้ำหลังรถบรรทุกที่เกิดอุบัติเหตุชนรถมอเตอร์ไซค์แล้วคนขับรถหนีจอดไว้ 2 วันแล้วถึงเรียกกองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจ ยังไม่รู้ว่าเป็นระเบิด และไม่รู้มีศพอยู่ในแทงก์
กระทั่งบ่ายข่าวแพร่สะพัดโรงพักลุมพินีเต็มไปด้วยนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และทัพสื่อมวลชน เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน และหน่วยสรรพาวุธตำรวจ กันผู้ไม่เกี่ยวข้องออกนอกพื้นที่พร้อมเคลื่อนย้ายรถบรรทุกไปกู้ระเบิดภายในสวนลุมพินี ทุกคนแทบตะลึงเมื่อพบศพคนขับรถถูกฆ่ายัดในแทงก์ แต่ไม่น่าตกใจเท่าอานุภาพของระเบิดที่มีรัศมีทำลายล้างสูงหากเกิดบึมขึ้นจะทำพื้นที่บริเวณนั้นราบพินาศเป็นหน้ากลอง
ถึงกระนั้นเขายังประทับใจข่าวเดี่ยวชิ้นแรกว่า เกิดขึ้นตอนนั่งรถตระเวนใหม่ มีการตรวจสอบพบศพทารกยัดในกระเป๋า รีบวิ่งรถไปดูกับช้าง-ทศพร โกสัยดิลก นักข่าวรุ่นพี่ที่คอยเป็นติวเตอร์ในขณะนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่พอสมควร เป็นข่าวเดี่ยวข่าวแรก แต่จะว่าไปแล้วสมัยก่อนใครทำข่าวเดี่ยว หรือตกข่าวจะไม่มีการโกรธกัน อยากมากก็ขยันมากขึ้น สนุกกว่าสมัยนี้
นรินทร์อยู่ตระเวนข่าวมาตั้งแต่เป็นหนุ่มอายุ 24-25 ปี ปัจจุบันก้าวเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการศูนย์ภาพ ข่าวสด-มติชน ควบคู่กับการดูแลรุ่นน้องสายตระเวนข่าวสด เขามองความแตกต่างระหว่างรุ่นว่า ตระเวนรุ่นใหม่ พอมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว มันทำให้ทำงานสบาย แต่ก็ทำให้ขี้เกียจไปในตัว ไม่ค่อยวิ่งข่าว น้อยรายที่จะเข้าไปเจาะลึก พยายามคิดดูอยู่ว่าจะหาทางแก้ไขยังไง สมัยก่อนตอนไปวิ่งทำข่าว ก็จะได้ข่าว บางทีได้ตามร้านเหล้า แต่รุ่นนี้ยกหูโทรศัพท์ ถ้าไม่สนิทกันจริงๆ ก็จะไม่ค่อยให้
“สรุป 20 กว่าปีในสนามข่าว ผมได้ประสบการณ์อะไรเยอะพอสมควร เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็มีส่วนมากที่ทำให้สะดวกสบายมากขึ้นเลยทำให้แต่ละคนขี้เกียจ นับวันยุคของหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ก็คงจะเสื่อมลง ก็ต้องพยายามหา ดิ้นรน ปรับตัวหาดิจิตอล รับสภาพกับดิจิตอล เหมือนทุกวันนี้หนังสือพิมพ์มันช้าไปก้าวหนึ่ง ขณะที่ทีวีก็ช้ากว่าโลกโซเชียล ก็ต้องปรับตัว อยากจะฝากเด็กๆ รุ่นใหม่ๆ ว่าก็ต้องปรับตัวเอง สมัยก่อนเราเข้ามา เราก็ต้องมาเช็คข่าว อ่านหนังสือแต่เช้าว่า วันนี้เรามีตกประเด็นไหน ประเด็นนี้ต้องตามต่อ แต่ดูแล้วเด็กใหม่ ไม่เคยอ่านข่าว ไม่เคยเช็กเลยว่า ข่าวอะไรที่เราไปทำได้ลง แล้วต้องตามต่อต้องเช็กต่อประเด็นไหน คือ รอหัวหน้าสั่งอย่างเดียวว่า วันนี้จะต้องไปตามอะไร ไม่เหมือนสมัยรุ่นผมที่จะรู้เองว่าจะต้องตามอะไร” อดีตนักข่าวตระเวนข่าวสดเปิดมุมมอง
ชายหนุ่มผู้นี้ยอมรับว่า สมัยที่ทำข่าวก็อาศัยยิ้ม แต่ไม่เคยโกรธใคร ไม่เคยอะไรกับใคร ตกข่าวเราก็ต้องยอมรับว่าเราพลาด เช้ามา ถ้าวันไหนไทยรัฐมี เดลินิวส์มี แล้วข่าวสดไม่มี ก็รู้สึกเครียดนะว่า เราทำอะไรไป แต่ไม่เคยไปโกรธเพื่อน โกรธน้อง ต้องดูที่ตัวเราเองว่า เราไม่ใส่ใจเอง ผิดกับรุ่นใหม่ ไม่ค่อยอะไร ไม่ค่อยอ่านข่าว ลอกกันเยอะ ผิดก็ผิดเหมือนกัน อย่างชื่อเวลาผิดก็ผิดเหมือนกันทุกคน ถึงบอกว่าเดี๋ยวนี้กล้องเป็นดิจิตอล ถ้าสมัยก่อนเป็นฟิล์ม ก็ต้องตัดฟิล์ม อาจจะมีถ่ายเผื่อ แต่ก็ต้องไปล้างกันเอง เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แล้ว ทุกอย่างง่ายขึ้น มีไลน์ด้วย ทำให้เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไหร่
ผู้ช่วยบรรณาธิการภาพหนังสือพิมพ์ข่าวย้ำว่า คิดถึงตอนเป็นฟิล์ม มันมีเสน่ห์ มีเรื่องเล่าเยอะ ฟิล์มมันไม่สามารถแก้ไขได้เลย มันมาวัดกันตอนอัดออกมา วัดกันที่แผง แต่เราจะมีความภูมิใจ เมื่อรูปเราลงหน้า 1 ข่าวเราลงหน้า 1 และเราจะเครียดที่ข่าวเราไม่มี แล้วคนอื่นมี ก็เป็นสีสันอย่างหนึ่งในชีวิตนักข่าวแต่สมัยนี้ ไม่รู้ว่า นักข่าวใหม่ๆ จะภูมิใจหรือไม่ว่า รูปตัวเองได้ลงหน้า 1 มีไม่กี่คนที่จะดูว่ารูปตัวเอง ข่าวตัวเองลง
“ผมทำข่าวอาชญากรรมก็มีรูปที่ผมภูมิใจ แต่เป็นภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 วันนั้นพระองค์ทรงเสด็จฯ ลงท่าน้ำที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นหมายด่วน ผมต้องเปลี่ยนชุดใส่สูทไปเลย ถ่ายในระยะห่างไม่ถึง 2-3 เมตร ก็รู้สึกขนลุก มันเป็นความภูมิใจ รูปที่ถ่ายก็ได้ลง ได้อยู่ใกล้พระองค์มาก ราวกับพระองค์ท่านหันมามองที่กล้อง”