“ผมทำข่าวชนะฉบับอื่นได้ เพราะผมอยู่กับนักสืบ”

ะสมประสบการณ์งานข่าวอาชญากรรมมาเต็มเครื่องตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี

สุชาติ จันทนพ อดีตเหยี่ยวตระเวนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเก็บเรื่องราวคดีสำคัญไว้มากมายในคลังสมอง ชีวิตเขาเริ่มต้นจากเด็กมุกดาหาร เรียนหนังสือช้า เพราะเอาเวลาไปช่วยพ่อแม่ค้าขายฝั่งลาวจบช่างตามหลักสูตรอาชีวะช่างสูงรุ่นสุดท้าย เข้ากรุงหวังจะเป็นช่างเชื่อม ปรากฏว่า น้องชายพ่อทำงานอยู่การรถไฟเลยได้ไปเล่นฟุตบอลสโมสรการรถไฟ เข้าตาประวิทย์ ไชยสาม ดึงเข้าสังกัดราชประชา กระทั่งอาแนะนำให้ลองไปทำงานหนังสือพิมพ์

ชีวิตเขาถึงเริ่มเข้าสู่วงการยุค มานะ แพร่พันธุ์ เป็นหัวเรือใหญ่ให้หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ตำแหน่งปรู๊ฟ ทำได้ 2 เดือน มานะเห็นแวว หน่วยก้านได้เลยให้ไปตระเวนข่าวอาชญากรรม ทั้งที่ไม่เคยมีทักษะมาก่อน โชว์ฝีไม้ลายมือจนย้ายมาอยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยุคบุกเบิกแตกออกจากหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทองมาตั้งกองบรรณาธิการอยู่ริมถนนวิภาวดีรังสิต

สุชาติเล่าว่า ทำข่าวชนะฉบับอื่นเกลี้ยง ชนิดที่ฉบับอื่นสู้ไม่ได้ ผอ.กำพล วัชรพล มีความสุขมาก ไม่เคยตำหนิ ฝ่ายจัดจำหน่ายก็กำชับว่า อย่าหยุดทำข่าวนะ ตามให้ตลอด เวลามีคดีสำคัญ ตามต่อเนื่องเป็นซีรีส์ เมื่อก่อนสนุก นักข่าวอาชญากรรมผิดกับปัจจุบัน สมัยนั้นจะสนิทสนมกับนายตำรวจผู้ใหญ่ หรือตำรวจเล็กๆ แบบจริงใจ คบกันด้วยความจริงใจ มี 10 ก็กิน 10 มี 100 ก็กิน 100 ไม่เหมือนทุกวันนี้

“ชีวิตผมตระเวนข่าว อยู่กับนักสืบมาตลอด ตั้งแต่มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ณรงค์ มหานนท์ ชลิต บุญสุวรรณ อมร ยุกตะนันทน์ ธนู หอมหวล มาจนถึงประชา พรหมนอก อย่างอธิบดีมนต์ชัย เปิดบ้านให้ผมเข้าได้ตลอด ไม่มีปิดบัง  วันไหนถ้าผมไม่ไป ผมก็ไม่ได้ข่าว สนิทกันขนาดอธิบดีประชา โทรข้ามประเทศมาจากเมืองนอกหารือจะเอาใครมาเป็นสารวัตรที่ชนะสงคราม หลังจากคนเดิมถูกจับค้าประเวณี ย้ายด่วนกัน 3 ตำแหน่งคืนนั้นเลย”

อดีตคนข่าวอาชญากรรมรุ่นเดอะเล่าอีกว่า ทำงานคลุกคลีกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่จนบางทีแฟนด่าว่า ทำอย่างนี้ไม่เห็นรวยกับเขาบ้างเลย บางคนเสนอให้ 1 ล้านบาทช่วยวิ่งเต้นแต่งตั้งโยกย้าย เราก็ไม่เอา บอกให้ไปคุยกับอธิบดีเอง เราอยู่กับสราวุธ วัชรพล กลัวแกเสียชื่อ เพราะเขาเคยพูดว่า ถ้าไม่มีเงินมาบอกเขา อย่าไปเอาที่อื่น เดี๋ยวเขาช่วยเอง แค่นี้เราก็ภูมิใจ พอใจแล้ว

ประสบการณ์มากมาย สุชาติว่า สอนรุ่นน้องตระเวนข่าวมาหลายรุ่นเกี่ยวกับเล่ห์เหลี่ยมการทำงาน บางคนเป็นหัวหน้าข่าวแล้ว บางคนไปโตที่อื่น บางคนเป็นถึงปลัดอำเภอ การทำหนังสือพิมพ์ต้องใจรักจริง ๆ ต้องยอมอด แต่ต้องขยัน ทำหลายฉบับตกข่าวมานักต่อนัก บางทีนั่งกินข้าวอยู่โรงพัก เรารู้แล้วว่า มีข่าวผู้ต้องหาชายข่มขืนผู้ต้องหาหญิง รอจนฉบับอื่นกลับหมดเราก็ขึ้นไปจดข่าวคนเดียว รุ่งเช้าพาดหัวไม้ตัวเบ้อเริ่ม ฉบับอื่นถามเราก็แกล้งบอกไม่รู้ ทั้งที่รู้ก่อนหน้าตอนเช้ามืดแล้ว มีตำรวจชั้นประทวนมากระซิบบอก

นักหนังสือพิมพ์ยุคเก่าบอกว่า การตระเวนข่าวสมัยก่อนกับสมัยนี้ไม่เหมือนกัน สมัยนั้นเข้าเกือบทุกโรงพัก มีหนังสือพิมพ์แจกหมด อย่าไปขี้เหนียว พวกจ่าเป็นแหล่งข่าวที่ดีที่สุด เขาจะบอกเวลามีอะไร ขนาดคนเข็นเปลโรงพยาบาลยังสำคัญ วันหนึ่งโทรมาบอกว่า มีคนเจ็บถูกปลาปิรันยากัดอยู่โรงพยาบาลเลิดสิน พอไปดูเป็นปลาปิรันยาจริง ๆ ได้ข่าวเดี่ยว ฉบับอื่นไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องของความสนิทสนม ที่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว

“ผมทำข่าวชนะฉบับอื่นได้ เพราะผมอยู่กับนักสืบ สมัยก่อนจะมีคดีเกี่ยวกับเรียกค่าไถ่ เยอะมาก โจรส่วนใหญ่จะเป็นคนใกล้ชิด แต่ตัวมันจะไม่ทำเอง ให้คนอื่นมาทำ ตามข่าวกันเป็นเดือน ไม่ว่าจะเป็นคดีจับนงนุช ตันสัจจา ไปเรียกค่าไถ่ หรือคดีอุ้มเด็กนักเรียนลูกชายเสี่ยเจ้าของโรงงานน้ำตาลพระประแดง เห็นการทำงานของนักสืบอย่างธนู หอมหวลแล้วต้องยอมรับในความใจเย็นของแกกว่าจะพิชิตคดีรวบได้ยกแก๊ง ช่วยเหยื่อออกมาได้”

เจ้าตัวได้มุมมองว่า ทุกคดีที่ธนู ทำ บางทีก็นั่งหมดอาลัยตายอยาก แต่บางทีก็ได้ ด้วยความที่แกเป็นคนขยันในการที่จะสเกตช์ภาพ โจรไอ้โม่งขึ้นบ้านไหนข่มขืนบ้านนั้น เอาของเล็กๆ น้อย เอาแต่เงิน ได้แค่ภาพสเกตช์จากที่ไม่รู้อะไรเลย สุดท้ายแจกรูปไปทุกท้องที่กระทั่งจับได้ ใช้เวลานาน 2-3 ปี ถือเป็นความพยายามของตำรวจยุคก่อน

ถามถึงความประทับใจในผลงาน สุชาติบอกว่า ที่ผ่านมาประทับใจคดีทุกอย่างที่ลงมือทำ แต่ทุกวันนี้มันขาดหายไป การหาข่าวข่าวอาชญากรรม ทุกวันนี้จะฟังแต่ ว.จะเอาแค่นั้นเวลาเกิดเหตุ แต่เรื่องสมัยก่อน บ้านคนใหญ่คนโตถูกงัด หรือเวลาคดีใหญ่ๆ เขารายงานเฉพาะประมวลเหตุ เราจะต้องรู้ “มีผมคนเดียวที่รู้จากกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ใต้ ธน เพราะจะมีส่งประมวลเหตุไม่เกิน 10 โมงเช้า ผมเข้าไปนครบาล จะขึ้นไปขอจ่า พวกประมวลเหตุ ปกติจะเป็นความลับ ไปดูไม่ได้ แต่ก็อาศัยความสนิท เอาหนังสือไปให้เขา เราก็ไปดู บ้านใคร คดีอะไร พอเห็นนามสกุล ก็รู้ว่า บ้านนี้โดนนี่หว่า คนอื่นไม่ได้ไปหาแบบผม เป็นประมวลเหตุ คุณไม่ต้องไปเดินทุกโรงพักหรอก แต่คุณเดินดูประมวลเหตุนี่ รู้หมดเลย”

สุชาติย้ำการทำงานในยุคเก่าว่า การเป็นนักข่าวตระเวนต้องเป็นคนขวนขวาย ถึงทำให้พรรคพวกฉบับอื่นตกข่าวเป็นว่าเล่น สมัยตระเวนข่าวอยู่ฝั่งธนอย่างเดียว แต่ถ้ามีเรื่องใหญ่ๆ หัวหน้ามานิจ สุขสมจิตร จะบอกให้ไปช่วย ฉบับอื่นก็กลัว เพราะว่าคดีแต่ละอัน ถ้าเราไม่ใช้ความสนิทสนมกับตำรวจ คงได้ยาก ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ไม่เข้าใจว่า ทำไมฟังวิทยุอย่างเดียว รอมีข่าวฆ่ากันตาย ไฟไหม้ ถึงไปทำ แต่คดีที่เป็นความลับ ไม่มีเลย

“ผมว่าเรียกค่าไถ่ พวกนี้ยังมีนะ แต่นักข่าวไม่มีใครรู้ บางทีผมก็รู้จักประมวล มันสั้นๆ จับคนนี้ไปเรียกค่าไถ่ เขามีบอกไว้หมดเลย รู้ปุ๊บ ผมก็เจาะของผมเองยาวเลย ทุกวันนี้ไม่มี ใช้ฟัง ว. หรือดูจากไลน์อย่างเดียว หรือบางทีก็ขอเพื่อน บอกตรงๆ นะ ผมเข้าใจว่า ทุกวันนี้โจรมันไฮเทค ตำรวจก็ต้องไฮเทค แต่วิธีการหาข่าวของคุณ มันไม่ใช่ มันอยู่ที่การทำงานของตัวนักข่าว” สุชาติให้ข้อคิด

เขายังมีความเห็นว่า ตำรวจที่เก่งในเรื่องคดียุคนั้น ต้องมีความขยัน ชำนาญด้านการสอบสวน มีวิญญาณ ไม่ปล่อยทิ้งเหมือนทุกวันนี้ บางทีชาวบ้านแจ้งความแล้วก็หายไป เราก็ไม่อยากไปว่า เพราะระบบการทำงานไม่เหมือนกัน สมัยก่อนเจ้าของคดีจะใส่ใจ ตำรวจสายสืบจะไปช่วยกัน กลายเป็นความประทับใจที่เรามีต่อตำรวจสมัยก่อน ไม่ใช่ปากก็พูดทำเพื่อประชาชน แต่ทุกวันนี้ มันไม่ใช่

หากเทียบความประทับใจในตัวตำรวจ อดีตนักข่าวตระเวนหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมองว่า ต้องรุ่นใหญ่ไปกว่านั้น คือตั้งแต่ มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น เรื่อยมาจนกระทั่งมายุคหลังๆ ถึงประชา พรหมนอก  เราประทับใจพวกนี้ ยิ่ง ประชา ประทับใจตรงที่ว่า เขาจับพวกค้ายาเสพติด ปฏิบัติการแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ยิงทิ้ง จนพวกค้ายาเสพติดเงียบไปพัก

ปัจจุบัน สุชาติ หันหลังให้วงการตำรวจ ได้รับมอบหมายให้เขียนคอลัมน์หน้าเกษตรในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อาศัยความรู้เรื่องต้นไม้ สมุนไพร นำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านติดตามกันเกรียว ภายใต้นามปากกา “นายเกษตร”

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES