“ผมได้จำไว้เลยว่า ข่าวต้องเป็นข่าว”

เกินกว่า 33 ปีบนเส้นทางสมรภูมิข่าวอาชญากรรม

นพพร เจริญเปี่ยม สะสมประสบการณ์มาอย่างโชกโชน แหล่งข่าวที่เป็นนายตำรวจใหญ่หลายคนต่างให้ความเคารพนับถือ และรู้จักกันดีในนิกเนมว่า “โย่ง เดลินิวส์” หัวหน้าข่าวประจำวันของต้นสังกัดริมถนนวิภาวดีรังสิต

ชีวิตเริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพตามรอย “สีหมึก”ชุมพล เจริญเปี่ยม พี่ชายที่อยู่สายกีฬาหนังสือพิมพ์ค่ายสีบานเย็น หลังตัวเองเรียบจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนจันทร์หุ่นบำเพ็ญ แล้วไปต่อโรงเรียน นพพรเล่าว่า พ่อแม่มีลูก 13 คน เวลาเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ก็จะมารวมตัวจัดปาร์ตี้ที่บ้านพ่อ เรามีหน้าที่ถ่ายรูป เอากล้องของพี่ชายมาถ่าย กลายเป็นช่างภาพประจำครอบครัว หัดถ่ายจนไปเรียนจริงจังที่สารพัดช่าง

เขาได้ไปเป็นช่างภาพประจำนิตยสาร Golf Magazine กดชัตเตอร์อยู่ในสนามกอล์ฟ 2-3 ปี ก็หันไปเป็นช่างภาพหนังสือมวยเข้าสนามมวยจนเป็นที่รู้จักคนในวงการ เวลามีกีฬาใหญ่ ๆ ตามต่างจังหวัดก็จะไปช่วยพี่ชายถ่ายแข่งกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยเฉพาะทุกครั้งที่มีมวยชิงแชมป์โลกต่อยในเมืองไทย เวลานั้น เจ้าแสบ-แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ยอดนักกำปั้นแห่งสยามกำลังโด่งดังเป็นพลุแตกเป็นขวัญใจของแฟนมวยชาวไทยที่นักข่าวนักหนังสือพิมพ์ต้องติดสอยห้อยตามไปบันทึกนาทีประวัติศาสตร์บนสังเวียนผ้าใบทั่วทุกสารทิศ

นพพรถ่ายทอดเรื่องราวว่า ทั้งเดลินิวส์ และไทยรัฐจะแข่งกันเช่าเครื่องบินคนละลำเพื่อไปถ่ายภาพทำข่าว เราก็จะไปช่วยพี่ชาย เวลาต่อยเสร็จขึ้นเครื่องกลับมาระหว่างทางจะเนรมิตห้องน้ำบนเครื่องบินเป็นแลปห้องมืดล้างฟิล์มแข่งกับเวลา พอลงเครื่องก็จะชูฟิล์มที่ล้างเสร็จแล้วเป็นสายบึ่งรถเข้าโรงพิมพ์อัดเป็นภาพตีพิมพ์สู่ท้องตลาด สนุกมากช่วงนั้น

ตลอดระยะเวลา 5 ปีของการเป็นช่างภาพอยู่หนังสือมวย นพพรว่า เดินเข้าออกสนามมวยเหมือนบ้าน เพราะต้องไปถ่ายภาพทุกวัน ทุกรอบ ทุกสนาม รายการใหญ่ขนาดไหนเราแค่พยักหน้าก็เดินเข้าไปในสนามได้อย่างสบาย คนในวงการมวยรู้จักหมด กระทั่งวันหนึ่งพี่ชายลาออกจากช่างภาพเดลินิวส์ไปใช้ชีวิตอยู่อเมริกา เราก็เลยเสียบแทน เพราะใจอยากเป็นช่างภาพกีฬาเหมือนพี่ชายอยู่แล้ว

ปรากฏว่า “จ่าเสี่ย”สมบัติ คูณสมบัติ หัวหน้าในขณะนั้นเจอกลับบอกให้ไปอยู่สายข่าวอาชญากรรมก่อน กีฬามันหน้าใน มันไม่ใช่หน้าโชว์ ไปหน้า 1 ดีกว่า ว่างแล้วเดี๋ยวค่อยมาอยู่หน้ากีฬา เขาเลยต้องลงเป็นช่างภาพประจำตระเวนอาชญากรรมจับคู่ดูโอสนิทสนมกับ “เปี๊ยก”วิสิทธิ์ หลิ่งพิพัฒน์ ไม่นานก็คว้ารางวัลรองชนะเลิศภาพถ่ายยอดเยี่ยมของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล หรือรางวัลพูลิตเซอร์เมืองไทย เป็นภาพสะท้อนชีวิตการสูญเสียจากเหตุการณ์เด็กตกน้ำตายแล้วแม่กอดศพร้องไห้

มีส่วนทำให้นพพรอยู่โยงยาวกับข่าวอาชญากรรมนานถึงปัจจุบัน

ภาพความประทับใจที่เจ้าตัวไม่ลืมในระหว่างการทำงานนั้น คือ การได้ไปถ่ายภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมงกุฎราชกุมาร แบบส่วนพระองค์ในคืนวันหนึ่งที่เข้าเวรดึก เขาเล่าว่า โรงพิมพ์หาใครไม่ได้ เพราะสายข่าวอื่นออกเวรกลับบ้านหมดแล้ว จำเป็นต้องใช้รถตระเวนไปถ่ายภาพพระบรมฯ เสด็จเยี่ยม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ “หัวหน้าสั่งว่า เอ็งต้องไปหน้าบ้านป๋าเปรมเพื่อถ่ายพระบรมฯ ผมบอกว่า แต่งตัวไม่เรียบร้อย ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อยืดนะ เขาบอกให้เอาเสื้อคลุมใส่ไป สั่งให้ไปก็ไปเหอะ ผมถึงแล้วยังไปยืนเก้ ๆ กังๆ อยู่หน้าบ้านป๋าเปรม ทหารโผล่มาถามว่า มาทำไม มาจากไหน พอรู้เป็นช่างภาพเดลินิวส์ เขาก็พาไปข้างใน ฉบับเดียวเลย บอกจุดให้ยืนรอว่าสมเด็จพระบรมฯจะเสด็จมาทางนี้ให้ถ่ายอย่างนั้นอย่างนี้”

“พอพระองค์ท่านเสด็จออกมา ผมก็ถ่ายรูป ครั้งหนึ่งในชีวิตจริงๆ ไม่คิดว่าจะได้ถ่าย ประทับใจมาก กดชัตเตอร์ได้แค่ 2 แชะ เพราะมันไม่ทันแล้ว วิ่งตามก็ไม่ได้ พระองค์เสด็จกลับออกมา มีป๋าเปรมเดินมาส่งเสด็จ ถ่ายได้แค่ตรงนั้น สมัยก่อนกล้องก็ได้แค่นั้น รูปลงหน้า 1 ภูมิใจมาก”นพพรเผยความรู้สึก

เข้าเป็นช่างภาพค่ายสีบานเย็นมาตั้งแต่ปี 2523 นพพรซึมซับวิชาการทำข่าวเขียนข่าวจากนักข่าวที่ตระเวนอยู่ด้วยกัน วันไหนนักข่าวป่วย หรือไม่มาเขาก็รับหน้าทำข่าวแทน จนวันหนึ่งนักข่าวลาออกไปก๊วนใหญ่ “นักข่าวขาด โรงพิมพ์เลยบอกว่า เราอยู่ช่างภาพมานานประสบการณ์เยอะ ให้ไปช่วยฝึกนักข่าวน้องใหม่ดีกว่า คอยประคองนักข่าวใหม่สอนให้ทำข่าว ทั้งที่พวกนั้นเรียนปริญญาตรีด้านข่าวมาโดยตรง ผมอาศัยแค่ประสบการณ์สอน กระทั่งเขาเก่ง แต่ตอนหลังทีมข่าวอาชญากรรมขาดอีก คราวนี้ข้างในให้วางกล้องดันผมขึ้นเป็นนักข่าวเต็มตัว”

สวมบททำข่าวสะสมประสบการณ์อยู่หลายปีผ่านข่าวมาอย่างโชกโชน ล้วนเป็นข่าวหน้า 1 ที่มีทั้งการเมือง สังคม นอกเหนือจากอาชญากรรม ก่อนเลื่อนเป็นรีไรเตอร์ข่าวภูธร เขียนข่าวหน้าในอยู่พักใหญ่ถึงกลับมาอยู่รีไรเตอร์หน้า 1 แล้วเป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรม จากนั้นย้อนลงเป็นรีไรเตอร์อีกครั้งถึงขึ้นเป็นหัวหน้าข่าวประจำวันคุมพื้นที่ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

อดีตนักข่าวตระเวนมือดีบอกว่า ที่ผ่านมาได้แหล่งข่าวเยอะ เพราะขยันเข้าไปหาไปพูดไปคุย สมัยตระเวน เช้าขึ้นรถมาต้องวิ่งรอบ 18 โรงพักในเขตรับผิดชอบ วิ่งไปให้หมด เข้าทุกโรพักเอาหนังสือพิมพ์ไปแจก วันนี้วนซ้าย พรุ่งนี้วนขวา ไปรู้จักร้อยเวร ไปรู้จักสารวัตรใหญ่ สารวัตรป้องกันปราบปราม สารวัตรสืบสวน นั่งคุยกับเขา บางคนเป็น ร.ต.ต. ร.ต.ท. พอสมัยนี้เป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว เช่น พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.อุดม รักศีลธรรม ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.นิพนธ์ ภุมรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และพล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

คนข่าวมากวิชาแนะว่า  ตำรวจต้องอาศัยความสนิทสนม ถ้าไม่รู้จักไปคุยไปถาม บางคนจะไม่พูดด้วย เดินหนีด้วยซ้ำ ถ้ารู้จักกันเขาก็จะบอกอะไรให้เราฟังบ้าง แต่นักข่าวจะต้องใช้วิจารญาณด้วยเหมือนกันกับแหล่งข่าว ไม่ใช่เขาพูดแล้วเราเอามาเขียน เอามาลงหมด เช่น จับคนร้ายมา 1 คน ด้วยความสนิทกันแหล่งข่าวก็เล่าให้ฟัง สืบจากตรงนั้นตรงนี้ ปรากฏว่า เอามาเขียนลงหมดเลย แบบนี้ก็เจ๊ง ไม่ใช่ว่าตำรวจเสียหรอก แต่โจรมันจะรู้วิธีการของตำรวจ ตรงนี้บางทีนักข่าวรุ่นใหม่ ๆ ไม่ค่อยสนใจ เขียนใส่มันไปทั้งดุ้น ละเอียดยิบ นักสืบบางคนก็อยากพูด อยากโชว์ว่ากูเก่ง แต่บางคนพูดด้วยความสนิทสนมก็มี อยากเล่าให้ฟังเป็นวิทยาทานด้วยความไว้ใจ เราถึงต้องกรองว่า อันไหนควรเขียน อันไหนไม่ควรเขียน

แต่บางทีมันเป็นหน้าที่เรา ๆ ก็ต้องทำ เหมือนตอนผมเป็นช่างภาพอยู่กับเปี๊ยก-วิสิทธิ์ ตระเวนดึกแวะโรงพักพญาไท เจอวิชัย สังข์ประไพ นั่งร้อยเวรกำลังพิมพ์สำนวน มีเด็กผู้หญิงนั่งอยู่ตรงหน้า เปี๊ยกเห็นเลือดหยดที่กางเกงเด็กเลยถามเรื่องราวรู้ว่า ถูกข่มขืนมา ก็เลยจดรายละเอียดส่งเป็นข่าว รุ่งเช้าหนังสือพิมพ์ประโคมว่า สาวถูกข่มขืนแจ้งความ ร้อยเวรปล่อยให้นั่งรอเป็นชั่วโมง วิชัยโดนเล่นงานแทบตาย มาต่อว่า ทำไมทำกันแบบนี้เพื่อนฝูงกันแท้ เปี๊ยกแจงว่าข่าวก็ต้องเป็นข่าว ทั้งที่ทั้งคู่เที่ยวกินด้วยกันประจำ มันทำให้ ผมได้จำไว้เลยว่า ข่าวต้องเป็นข่าว”

การตระเวนข่าวยุคเก่า นพพรเล่าว่า สนุก นักข่าวหลายฉบับเหนียวแน่นกันดี กินเที่ยวด้วยกันบ่อย เวลามีข่าวรูทีนธรรมดาทั่วไปเราจะแบ่งกัน ถ้าวันไหนมีเด็ด ๆ ก็จะหนีจะหลบแวบหายไปทั้งคืน เราก็จะตามเช็กกัน บางทีก็เจอ บางทีไม่เจอ เกือบทุกคืน ตีห้าต้องโยกจากโรงพักลุมพินีมาเจอกันโรงพักพญาไท มาสรุปอีกทีว่า ใครมีข่าวอะไรบ้าง ส่วนมากสมัยก่อนจะสู้กันด้วยรูปมากกว่า เราวนซ้าย เขาวนขวา วัดกัน เขาเจออะไรก็โทรหาเรา เราเจออะไรก็จะโทรหาเขา แต่ถ้าจะเด็ด ๆ ก็จะบอกช้าหน่อย ไม่โทร แกล้งบอกว่า โทรไม่ทัน มาแล้วไปก่อน สนุก ไม่โกรธกัน ทุกคนจะรู้ นอกจากข่าวเอ็กซ์คลูซีฟที่โรงพิมพ์สั่งมา อันนี้เราเข้าใจต้องหิ้ว ต้องหนี ต้องหลบ

หัวหน้าข่าวเดลินิวส์อธิบายต่อว่า เวรดึกสมัยก่อนเขตนครบาลเหนือจะไปอยู่มักกะสัน มีข่าวทุกวัน เพราะเต็มไปด้วยอาบอบนวด สถานบริการเยอะ ห้วยขวางยังไม่มีถนนรัชดาภิเษก มีแต่ถนนเพชรบุรี ต่อมาก็บางซื่อ พญาไท ส่วนฝั่งธนบุรีก็จะไปฝังโรงพักบางยี่ขัน บุปผาราม ขณะที่สายนครบาลใต้ก็จะอยู่กันโรงพักลุมพินี บางรักที่มีศูนย์วิทยุนารายณ์ตั้งอยู่ สมัยนี้มองว่า ทำงานสบายขึ้นมาก เครื่องมืออุปกรณ์พร้อม สมัยก่อนมีวิทยุอยู่ตัวเดียวต้องหมุนคลื่นฟังเอา อาศัยโทรศัพท์เช็กเอา มือถือก็ไม่มี ต้องไปหมุนโทรศัพท์บนโรงพัก ได้ยินอะไรก็โทรเช็ก

เขาเปรียบเทียบคนข่าวต่างยุคอีกว่า สมัยนี้ทำงานมีอุปกรณ์ดีขึ้น แต่บางครั้งทำงานไม่คิดถึงความเสียหาย เหมือนอย่างที่บอกเกี่ยวกับแนวทางการสืบสวนของตำรวจไม่จำเป็นต้องไปบอกหมด อันไหนควรปิดก็ต้องปิดเวลาเราได้จากแหล่งข่าว ไม่ใช่เขียนเป็นเรื่องเป็นราว บางทีเรายังคุยกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่เหมือนกันว่า ทำไมลูกน้องปูดแบบนี้ ตำรวจเองก็ต้องปรับตัวให้การให้ข่าว เพราะบางคนอยากคุย อยากโชว์ออฟว่า ตัวเองเก่ง

  “เดี๋ยวนี้ นักข่าวรุ่นใหม่ไม่ค่อยฟังเหมือนกัน บางทียังเขี้ยว ผมอยู่ตระเวนมา 30 ปีจะไม่รู้หรือว่าไปที่เกิดเหตุจากตรงนั้นไปตรงนี้ใช้เวลากี่นาที เวลาผมสั่งงาน ผมก็รู้ บางทีสั่งเป็นชั่วโมงแล้วโทรไปถามยังไม่ถึงอีกหรือ ก็มาอ้างรถติด มันอยู่ประเทศไทยไหนวะ อยู่สระบุรีหรือเปล่า หรืออยู่อยุธยา บางทีมันโกหกซึ่งหน้า ผมมีประสบการณ์ สมัยก่อนตระเวนก็ไม่ใช่ว่า ผมขยัน ก็มีแอบไปกินเหล้า แอบเที่ยวบ้าง แต่ว่า เวลามีข่าว หรือเวลาข้างในใช้ทำงาน มันควรจะซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ มีอะไรก็บอกตรง ๆว่า มีธุระไปไม่ได้ แต่เด็กสมัยนี้ไม่ใช่ พอสุดท้ายไล่ไปไล่มาถึงมาอ้างเหตุผลที่ไม่ไป บ้างก็ว่า ลูกไม่สบาย ผมก็จะต่อว่า ทำไมไม่บอกแต่แรก ใครมันจะใจร้ายใจดำ”

ท้ายสุด นพพรมองว่า อนาคตต่อไปในสนามข่าวการต่อสู้แข่งขันกันคงจะน้อยลงมา ข่าวเดี่ยวแทบไม่มี นอกจากเป็นข่าวเจาะ ช่างภาพก็ไม่ค่อยถือกล้องกันแล้วจะถือวิดีโอแทน รูปชอตเด็ดนับวันจะหายาก คนเดียวจะถ่าย 2 อย่างเป็นไปไม่ได้ น่าคิดนะ

RELATED ARTICLES