คนข่าวตระเวนอาชญากรรมหนุ่มยอดฝีมือที่กวาดรางวัลในการทุ่มเททำงานมาแล้วมากมาย
สุวสรรค์ ชมแก้ว ผู้สื่อข่าวคนเก่งของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ “ไทยรัฐ” ลูกชาวสวนผักย่านพุทธมณฑล เรียนประถมโรงเรียนวัดบางเชือกหนัง ต่อมัธยมวัดจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม ความฝันวันเด็กไม่เคยคิด มองแค่ว่า พอเข้ามหาวิทยาลัยเอาให้จบพอ ตอนแรกสอบคณะวนศาสคร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพราะเข้าป่า ชอบการผจญภัย แต่ไม่ได้เลยไปสอบมหาวิทยาลัยสยามกับเพื่อน 5 คน เลือกคณะบริหารคอมพิวเตอร์ตามที่แม่แนะเพราะหางานทำง่าย ไป ๆ มา ๆ เพื่อนติดหมดตัวเองไม่ติดคนเดียว
ตัดสินใจสอบใหม่เลือกลงคณะนิเทศศาสตร์ ที่เพิ่งเปิดใหม่ยังมีคนลงไม่เต็ม เที่ยวนี้ผ่านฉลุยเข้าเป็นนักศึกษาเอกโฆษณา โทประชาสัมพันธ์ จบมาเกือบได้เกียรตินิยม “ ผมไม่เรียนเอกหนังสือพิมพ์ เพราะคิดว่า มันยาก งานเยอะ เห็นรุ่นพี่เรียนเครียดกันหมด คิดว่าโฆษณาน่าจะเฮฮาปาร์ตี้ มีคนบ้า ๆ เยอะดี” สุวสรรค์ให้เหตุผลตอนเริ่มวัยอุดมศึกษา
ทว่าจุดพลิกผันที่ทำเอาเขาเข้ามาอยู่วงการน้ำหมึกแบบไม่ทันตั้งตัว เริ่มขึ้นเมื่อตอนเรียนปี 2 ไปขอฝึกงานช่อง 7 ปรากฏว่า เต็ม มีคำแนะนำให้มาฝึกงานไทยรัฐ แม้จะตะขิดตะขวงใจวันแรกที่ย่างเหยียบหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่บอกไม่รับเด็กฝึกงานจากมหาวิทยาลัยอื่นนอกจาก จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แถมถูกถามเยาะว่า มหาวิทยาลัยสยามอยู่ตรงไหน ทำให้เขากลับบ้านแบบซังกะตายบ่นกับแม่ว่า ไม่อยากเรียนแล้ว เพราะมหาวิทยาลัยสยามไม่มีคนรู้จัก แม่ต้องเตือนสติให้ใจเย็น
แล้วโชคชะตาก็พาให้เขาได้ฝึกงานตระเวนข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มี ชูเกียรติ บุญเรืองฤทธิ์ เป็นติวเตอร์เข็นประกายความฝันการเป็นนักหนังสือพิมพ์ ฝึกงาน 3 เดือน เจ้าตัวติดตลกว่า จากคนไม่เคยกินเหล้ากลายเป็นคนติดเหล้า แต่ได้พวกเยอะ ได้แหล่งข่าวที่ไม่จำเป็นต้องเป็นตำรวจ ได้อะไรเต็มไปหมด รู้สึกว่า มันเป็นชีวิตของเรา
เสร็จจากฝึกงานกลับไปเรียนต่ออีก 2 ปี กลิ่นหมึกหนังสือพิมพ์ยังคงตลบอบอวลยั่วยวนอยู่ในจมูก บัณฑิตหนุ่มมหาวิทยาลัยสยามถึงตัดสินใจกลับมาเหยียบสำนักหัวเขียวอีกครั้งด้วยการขอสมัครทำงานเป็นนักข่าวอาชญากรรม “ผมมองว่า การทำข่าว ไม่ต่างจากทำโฆษณาที่ต้องขายโฆษณา เราก็ต้องการขายข่าว จะพรีเซนต์ยังไงให้ข่าวของตัวเองลงตีพิมพ์ เราไม่ได้หวังเงิน ไม่ได้หวังอะไรเพิ่ม แต่รู้สึกว่า ถ้าข่าวผลงานของเราลง มันภูมิใจ ผมต้องการความภูมิใจเท่านั้นเอง ยิ่งเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย มีคนอ่านทั่วโลก ทำให้ผมชอบงานด้านนี้”
สุวสรรค์เล่าว่า มาขอสมัครงาน แต่ตำแหน่งไม่ว่าง เป็นยุคฟองสบู่แตก เลยขอฝึกไปก่อน ตึงอยู่ 5 เดือนไม่ได้รับเงินเดือนจนเกือบทนไม่ไหว กัดฟันกันกับเพื่อนในรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 3 คน เงินหมดกันแล้ว พอดีตำแหน่งเปิดเป็นเฉพาะกิจม้าเร็วคอยนั่งรถมอเตอร์ไซค์ลุยข่าวแบบทะลุทะลวง ถึงเริ่มทดลองงานอีก 3 เดือนแล้วบรรจุเป็นพนักงานสมความตั้งใจ
นักข่าวอาชญากรรมตัวกลั่นเปิดประสบการณ์ว่า ตอนแรกเลือกไปประจำสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพราะรุ่นพี่สอนไว้ว่า เป็นจุดหนึ่งที่จะมีข่าวแปลก ๆ สารพัด ฝังตัวจนได้แหล่งข่าวมากมาย สนิทกับหมอผ่าศพทุกคน ทำผลงานแจ้งเกิดจากตรงนั้นเป็นข่าวพาดหัวฉบับเดียวล้วน ๆ อาทิ การหายตัวไปของเจนจิรา พลอยองุ่นศรี นักศึกษาแพทย์ที่สาวไปสู่ประเด็นสงสัยเสริม สาครราษฎร์ แฟนหนุ่ม ข่าวนักกีฬาบาสเกตบอลข่มขืนนักเรียนหญิง เพราะผู้เสียหายต้องมาตรวจร่างกายที่สถาบันนิติเวช คนหายคนตายก็ต้องมาตรวจพิสูจน์หาภาพเชิงซ้อน ข่าวใหญ่ ๆ เต็มไปหมดเกือบทุกข่าวที่เปิดจากนิติเวชขึ้นหัวยักษ์ทั้งนั้น
เก็บประสบการณ์บินอยู่ 2 ปีขึ้นนั่งประจำรถตระเวนข่าวอาชญากรรมสะสมรางวัลมากมาย “แรงบันดาลใจเกิดตั้งแต่สมัยฝึกงาน ไปบ้านพี่ใหญ่-ชูเกียรติ เห็นแกติดภาพถ่ายได้รับรางวัลไว้เต็มบ้าน แกได้รางวัลบ่อยมากกวาดเกือบทุกองค์กร มันทำให้ผมคิด และอยากลองบ้าง มันต้องกล้า ผมไม่ค่อยกลัว กล้าเสี่ยง”
ได้รับรางวัลด้านภาพข่าวครั้งแรกเมื่อปี 2543 เป็นรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมชนะเลิศ จัดโดยชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม ชื่อภาพ “สยบไอ้คลั่ง” เขาจำเหตุการณ์วันนั้นได้ดีว่า มีคนเมายาบ้าปีนหลังคาบ้านที่คลองเตย เราใส่รองเท้าหุ้มข้อ รองเท้าเดินป่างอเท้าก็ลำบาก ปีนขึ้นไปบนหลังคาใช้เลนส์ 20 มม. เจ้าหน้าที่มูลนิธิชาร์จจับจนหลังคาทะลุ นาทีนั้นรัวชัตเตอร์อย่างเดียว รูปลงฉบับเดียว เพราะฉบับอื่นโดนเราบังมุมหมด ภาพเหตุการณ์นี้ยังได้รางวัลชมเชยภาพต่อเนื่องของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล ทำให้เราภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง
ปีเดียวกัน เขายังคว้ารางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยม ถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท ชื่อภาพ “คลอดในรถ” จัดโดยสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สุวสรรค์บอกว่า เป็นรูปถ่ายที่โรงพยาบาลพญาไท 3 คืนนั้นไปตามข่าวยิงกัน รออยู่เคาน์เตอร์ห้องฉุกเฉิน นักข่าวเดลินิวส์วางกล้องไว้เคาน์เตอร์ ส่วนเราสะพายไว้กับตัว ระหว่างนั้นมีรถเก๋งมาจอด เห็นผู้หญิงเลือดท่วมลงมาจากรถนึกว่ารถชน พยาบาลเอารถเข็นมารับ เสร็จแล้วสามีของก็เดินอุ้มลูกลงตามมา รู้เลยเป็นคนท้องคลอดก่อนถึงโรงพยาบาล เราเลยกดชัตเตอร์ ช่วงเวลานิดเดียวได้ภาพพ่ออุ้มลูกมีแม่อยู่ในเฟรมเดียวกันพอดี แต่ฉบับอื่นไม่ทัน องค์ประกอบสวยมากได้อารมณ์
“ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการล่า เหมือนเสือกินเนื้อได้กลิ่นเลือดก็เกิดสัญชาตญาณการล่า ผมกล้าพูดว่า กล้องก็เหมือนปืน เมื่อได้ยิงใครก็ต้องได้ยิงอีก เหมือนมันกินเลือด กล้องตัวไหนถ่ายได้รางวัลแล้วมันจะได้ตลอด ทำให้ผมได้อีกหลายรางวัลจากกล้องตัวนั้น ที่สำคัญเป็นกล้องจากพี่ใหญ่ที่คว้ารางวัลมาหลายแห่งแล้วด้วย เหมือนกล้องผี เป็นนิคอน รุ่นเอฟ 3 ขนาดมอเตอร์ไดร์เสีย ผมยังสามารถลั่นชัตเตอร์เลื่อนฟิล์มได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค ทนใช้จนชำนาญกว่าจะเปลี่ยนมาในยุคดิจิตอล”
ตลอดระยะเวลา 14 ปีของการทำงาน เขากวาดรางวัลไปแล้ว 24 รางวัลเกือบทุกรายการแทบจะมากที่สุดของนักข่าวอาชญากรรม ส่วนภาพรางวัลที่ประทับใจมากสุด คนข่าวมือทองยกให้เป็นภาพผู้หญิงพยายามฆ่าตัวตายเอาแก้วปักคอนั่งอยู่ระเบียงตึก เครียดผัวทิ้ง ตำรวจเข้าชาร์จผิดจังหวะผู้หญิงหงายหลัง แต่ตำรวจยังพยุงตัวไว้ ไม่ทันได้ดูมืออีกข้างที่เอาแก้วทิ่มคอเลือดไหลเป็นทางยาว เราถ่ายเร็วกว่าฉบับอื่นชอตเดียว ได้รางวัลที่ 1 ถ้วยพระราชทานในหลวงพร้อมเงินรางวัล 100,000 บาทจองสมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยเช่นกัน และยังได้รางวัลชมเชยของชมรมผู้สื่อข่าว-ช่างภาพอาชญากรรม
“มันอยู่ที่ไหวพริบ” สุวสรรค์ว่าถึงหลักการทำงาน “ผมเชื่อว่า ไม่มีใครคิดได้ แต่ผมคิดได้ ส่วนมากภาพที่ได้ นักข่าวจะแห่กันไป อย่างไทยรัฐเข้าไปหลายคน แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน แต่ผมมองว่า มีคู่แข่งแล้วอย่างน้อยสังกัดเดียวกัน ผมต้องเอาที่ 1 ของไทยรัฐก่อน เพราะถ้าเราเป็นที่ 1 ของสังกัดก็จะต้องเป็นที่ 1 ของทุกคนแน่นอน ผมคิดแบบนี้ ผมได้ทุกเหตุ ผมลุยหมด พุ่งเข้าไปก่อน”
เขาถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยว่า เราจะรู้ว่าเหตุการณ์ไหนมันจะงวด หลายคนอาจไม่รู้ กล้าบอกได้ว่า คำนวณได้หมด คนจะกระโดดตึกหรือไม่โดด จะร่วงลงมาพลาดหรือว่า ตั้งใจโดด
“ผมจะไม่เคยพลาดเรื่องนี้เลย ผมนักล่า มีเหตุอะไรสำคัญผมไปทุกครั้ง ถามว่ากลัวไหม ตื่นไหมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ผมบอกเลยว่า ทุกคนตื่นหมด รุ่นใหญ่รุ่นเล็ก ผมก็ตื่น แต่ผมคุมสติ คุมอารมณ์ได้ดีกว่าเท่านั้นเอง ไม่ได้เก่งมาจากไหน อ่านได้มากกว่า ที่ผ่านมา ผมเป็นคนครูพักลักจำ ผมค่อนข้างเก่งในวิชาชีพของผม คนเราถ้าบอกว่าตัวเองเก่งมันต้องมีอะไรมายืนยัน ผมก็มีผลงานรางวัลเป็นเครื่องการันตี ผมได้หลายอาจารย์สอน”
สำหรับอนาคตบนเส้นทางสนามข่าว สุวสรรค์ยืนยันว่า ไฟยังไม่หมด และรักจะเป็นนักข่าวตระเวนเหมือนที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่หวังก้าวหน้าเป็นรีไรเตอร์ หรือหัวหน้าข่าวเหมือนเพื่อนร่วมอาชีพหลายคนคิด
“ผมชอบอยู่แบบนี้ บอร์น ทู บี ผมเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ” นักข่าวอาชญากรรมเจ้าของรางวัลคุณภาพมากมายย้ำจุดยืนหนักแน่น