“หมอมองว่าจะเปิดใจคนข้างล่าง ก็ต้องเปิดใจคนที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย”

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดคำถามซ้ำซากมากมายว่า เมื่อไหร่มันสันติสุขจะคืนมา

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา เป็นอีกคนที่อยากเห็นความสงบในดินแดนบ้านเกิดของตระกูล แม้ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานจะเป็นรอยบอบช้ำในครอบครัวที่ฝังรากมาตั้งแต่รุ่นปู่ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา สู่รุ่นพ่ออย่าง เด่น โต๊ะมีนา อดีตนักการเมืองกลุ่มวาหะห์บนพื้นที่ปลายด้ามขวาน ผู้แทนหลายสมัยของจังหวัดปัตตานี

ปัจจุบัน เธอมีตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต อยู่ประจำ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความจริงตัวเธอเกิดกรุงเทพฯ แต่มาใช้ชีวิตที่ปัตตานี ตั้งแต่อนุบาลจนจบมัธยมปลายแล้วไปเรียนต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติมาเลเซีย ต่อคณะแพทยศาสตร์อีก 5 ปี  ด้วยความใฝ่ฝันอยากจะเป็นหมอ

ปรากฏว่า หลังเรียนจบกลับถูกชักนำเข้าสนามการเมือง ทั้งที่ไม่คิดอยากมาทำงานการเมือง ครอบครัวก็ไม่สนับสนุน ลงชิมลางด้วยการสมัครเลือกตั้งผู้แทนเขตหนองจอก-ลาดกระบัง กรุงเทพฯ แต่ก็สอบตก เพราะยังใหม่อยู่ ก่อนมาลองอีกครั้งกับการเลือกตั้วสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดปัตตานี สุดท้ายยังไปไม่ถึงฝั่ง แต่นับเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าสำหรับเธอ

เมื่อพลาดจากตรงนั้น หมอเพชรดาวเปลี่ยนบทบาทมาทำหน้างานที่ถนัด สอบเข้ารับราชการกรมการแพทย์ ดูงานเรื่องยาเสพติด ได้ไปดูงานประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 3 เดือน เรียนรู้เกี่ยวกับการบำบัดยาเสพติด บินกลับมาหน่วยงานเก่าที่เคยทำงานถูกยุบต้องย้ายไปสถาบันธัญรักษ์ ก่อนเข้าทำงานในโครงการทูบีนัมเบอร์วัน รับทำวิจัยเรื่องยาบ้าโดยเฉพาะ

กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 มีแนวโน้มความรุนแรงน่าจะยืดเยื้อกรมสุขภาพจิตจึงตั้งศูนย์สุขภาพจิตขึ้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เธอได้รับเลือกมาคุมศูนย์เพราะมองว่า คนพื้นที่น่าจะรู้ปัญหาพื้นที่ได้ดีที่สุด มีหน้าที่ส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตให้แก่คนในพื้นที่ “ศูนย์ของเราจะมีงานเฉพาะ คือ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เป็นหลักเลย” หมอเพชรดาวอธิบายหลักการทำงาน “ตอนที่มาครั้งแรกก็ดีใจ ได้กลับบ้าน  แต่งานที่ต้องทำก็เครียด มันเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมาทำ เนื่องจากไม่มีใครรู้ว่า เรื่องสุขภาพจิตจะต้องแก้ปัญหายังไง เพราะก่อนที่จะเปิดเจ้านายให้ไปทำโฟกัสกรุ๊ป ถามว่า ถ้ามีศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่ชาวบ้านต้องการอะไร”

แพทย์หญิงตระกูลดังอธิบายอีกว่า เราต้องไปถามชาวบ้านว่า ต้องการอะไร พยาบาลต้องการอะไร ถือเป็นเรื่องใหม่หมด ไม่รู้ว่า มีความเครียดต้องทำอย่างไร ต้องไปศึกษา กรมสุขภาพจิตก็ส่งคนมา ไปดูอะไรต่ออะไร ตอนนั้นอยู่สงขลา 2 ปี รู้สึกว่าเดินทางลำบากมาก ถึงทำเรื่องย้ายออฟฟิศมาประจำปัตตานี ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี ทำให้รู้ว่า เรามีหน่วยงาน มีนักจิตวิทยา 74 คน ในพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย ถือว่า ไปภาคไหนก็อิจฉา งาน คน ของ มีหมดทุกอย่าง น้องๆ 74 คน กระจายกันไปอยู่ 37 แห่ง 3 จังหวัด 4 อำเภอขึ้นตรงกับเราหมด

หมอเพชรดาวว่า มีเหตุระเบิด หรือยิงกันที่ไหน อำเภอนั้นจะรับไปก่อน เยียวยากันไปตามมาตรฐานที่เราสอนกัน ก็มีไปเยี่ยมบ้าน อันแรกสุดเลย ถ้าสมมติว่า มีระเบิด สูญเสียปุ๊บ ถ้าบาดเจ็บนำเข้าโรงพยาบาลก่อน ดูแลเยียวยาในโรงพยาบาลแล้วจะไปเยี่ยมบ้านต่อ อย่างน้อย 3 ครั้ง เยี่ยมทั้งครอบครัว ไม่ได้เยี่ยมแค่คนไข้คนนั้นคนเดียว มีทุน มีเบี้ยยังชีพ เยียวยาให้ทั้งหมด แล้วจะดีขึ้นหรือไม่ คิดว่าเรื่องจิตใจ ใครที่เข้าไปดูแลแต่แรก ผลมันก็จะได้ในระยะยาว มันจะเห็นชัด

“ควรจะไปซัพพอร์ตเหยื่อ ทำให้รู้สึกว่า เขามีที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกกระทำ หรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเอง พวกเขาก็สมควรได้รับการดูแล เรื่องเงินทองอาจไม่ต้องให้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ แต่เรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพใจ อย่างกรณีกรือเซะ ตากใบ เพราะถ้าเราไม่เอาเขามาดูแลตั้งแต่แรก เขาก็จะยิ่งออกห่างเรามากขึ้น นโยบายของเราจะเป็นกลาง เป็นหลักการทำงานของกระทรวงอยู่แล้ว คุณจะเป็นใครไม่ต้องบอกเรา”

เธอสารภาพว่า  บางทีก็มีที่มาบอกว่า ทำไมต้องไปดูแลกลุ่มเหล่านี้ ถ้าจะพูดถึงการอธิบาย เป็นผู้ใหญ่ในกระทรวงคงไม่ต้อง เพราะท่านเข้าใจ แต่ถ้าเป็นรัฐบาล ตอนหลังก็เปิดมากขึ้น เราเลยสบายใจทำงานได้สะดวก ทำงานกันมาก็ค่อนข้างดี “หมอมองว่าจะเปิดใจคนข้างล่าง ก็ต้องเปิดใจคนที่เป็นผู้ใหญ่ด้วย ปัญหาในภาคใต้ ตั้งแต่รุ่นปู่ก็ต้องศึกษา เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้ศึกษาจริงๆ จังๆ”

หลานสาวหะยีสุหลงว่า พอมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อการศึกษาครั้งแรกสมัยท่านอานันท์ ปันยารชุน จึงเปิดโอกาสศึกษาให้รู้ถึงแก่นแท้ว่า จริงๆ มันคืออะไร ยิ่งตอนนี้ เด็กรุ่นใหม่อ่านประวัติศาสตร์มากขึ้น เขามีความเป็นตัวตนในอัตลักษณ์ของเขาเข้มข้นมากขึ้น มากกว่าสมัยเราเด็กที่ยังไม่สนใจ แต่ทำไมเขาสนใจเรื่องอัตลักษณ์ต่างๆ ทำไมรุ่นนั้นไม่ใส่ผ้าคลุม แต่พอรุ่นนี้ ใส่มากขึ้น อาจเป็นโลกาภิวัฒน์อาจจะเป็นความรู้สึกถูกกดทับ อาจจะเป็นเหตุ 9-11 ไปที่ไหนๆ ก็อิสลามโฟเบีย ความรู้สึกอันนั้น เป็นความรู้สึกที่เราต้องรักษาอัตลักษณ์เอาไว้ ไม่งั้นมันก็จะยิ่งเป็นความรู้สึกว่าเรายิ่งถูกกดมากไปกว่านี้ มันไม่มีปัญหาอะไรในเมื่อต่างคนต่างก็รักในความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เคารพซึ่งกันและกัน

หมอเพชรดาวระบุว่า เป็นช่วงที่ศึกษากันมากขึ้น ก่อนหน้าเรามีโครงการหนึ่งของสถาบันพระปกเกล้า เอาไป 3-4 แห่ง โรงเรียน โรงพยาบาล และโรงพักที่ชาวบ้านอยากได้ ไปศึกษากันมา เลือกโรงพยาบาลมา เขาก็บอกว่า ต้องมีโรงครัวฮาลาล ส่วนคนพุทธบอกว่า อยากกินหมู เราเสนอให้โรงพยาบาลมี 2 ครัว ปรากฏว่า ทำไม่ได้ เพราะงบประมาณไม่ได้มีมากขนาดนั้น คิดดูว่า ก่อนหน้าเรากดทับเขานานแค่ไหน ถ้าทุกคนยอมเปิดใจ ก่อนหน้าเราไม่มีครัวฮาลาล เราก็อยู่ของเราได้ พอตอนนี้เปิดให้เพื่อคนส่วนใหญ่ คนส่วนน้อยก็รู้สึกแล้ว

“เพราะฉะนั้นแสดงว่า เราไม่เคยศึกษากันเลย ทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ถึงต้องเปิดใจมากขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น แต่ยังไงก็ได้อย่าใช้ความรุนแรง ถามว่าเหนื่อยไหม รับว่า ยาก เพราะมันฝังรากลึก ได้แต่ฝากถึงคนรุ่นใหม่ ถ้าน้องที่เกิดเมื่อปี 2547 ผ่านมา 12 ปี ตอนนี้น้องอายุ 12 ขวบ เขาสูญเสียโอกาสขนาดไหนแล้ว ยิ่งถ้าเขามีความรู้สึกไม่ดีกับทั้งสองฝ่าย เราดูทั้งมุมของทหาร และมุมผู้ก่อเหตุ ถ้าเกิดเขาโกรธแค้นคนที่ฆ่าพ่อเขา ลูกผู้ก่อความไม่สงบก็โกรธแค้นเจ้าหน้าที่รัฐว่า ทำไมฆ่าพ่อเขา มันก็ต้องพูดคุยกันตั้งแต่แรก มันจะย้อนไปประวัติศาสตร์หรือเปล่า”

“ทุกคนมักพูดถึงปฐมบทของเหตุการณ์ จาก 7 ข้อเรียกร้องที่อุ้มหาย พอมีการศึกษา 7 ข้อเรียกร้อง กับวิธีที่คนสมัยนั้นใช้ มีการทำจดหมายถึงรัฐบาล แต่ก็มีคนมาอุ้ม ถ้าพูดกันเป็นปากต่อปาก ทำให้เกิดขึ้น มันก็จะเกิดซ้ำมาจนถึงทุกวันนี้ แต่อยากจะเน้นย้ำเลยว่า คุณปู่ไม่เคยใช้ความรุนแรงเลย แต่สิ่งที่ได้จากภาครัฐ คือการใช้ความรุนแรง เราก็ต้องพยายามพูด เพราะตระกูลหมอจะถูกมองว่า ไม่ชอบทหาร ตำรวจ แต่หมอก็มีเพื่อนเป็นทหาร ตำรวจที่ดีอยู่มาก พอเขาได้ศึกษาก็พูดกันรู้เรื่องมากขึ้น”

“มีประชุมที่ไหน ทหารจะเดินเข้ามาบอกว่า ลืมเรื่องเก่าๆ ได้ไหม ถ้าคุณปู่คุณถูกอุ้มหาย แม้ว่าหมอยังไม่เกิดก็ตาม คุณจะรู้สึกยังไง แค่ต้องบอกว่า เราก็ให้อภัย อย่าให้เกิดซ้ำ แต่ทหาร ตำรวจ อาจยังไม่ลืม อย่างที่เขาจะมองว่า พวกเราเป็นแกนนำหรือเปล่า ก็โดนจับตา โดนจนชิน ต้องค่อยๆ แก้ ให้อภัย ไม่ขุด ไม่เจ็บ ไม่แค้น อย่างคุณพ่อพูดเสมอ ไม่ใช้วิธีใต้ดินเลย คุณพ่อมาขออาสาเป็นตัวแทนประชาชนแก้ไขในสิ่งที่ชาวบ้านอยากได้ในหลายๆ เรื่อง การตั้งกลุ่มวาดะห์ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในสมัยนั้น”ทายาทอดีตนักการเมืองกลุ่มวะดาห์สีหน้าจริงจัง

อย่างไรก็ตาม หมอเพชรดาวรู้ตัวดีว่า ไม่เหมาะกับการเล่นการเมืองอีกแล้ว เธอรู้สึกว่า เป็นหมอสนุกกว่า ไปไหนไม่ต้องห่วงกลัวประชาชนไม่เลือก เราทำหน้าที่ลงไปรักษาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มีความสุขกว่า ด้วยวิชาชีพเราด้วย แต่จะเน้นย้ำเรื่องความเป็นกลางจริงๆ ใครขอข้อมูล เราไม่ให้ใครเลย ไม่ว่าฝ่ายไหน เพราะว่ามันจะคงไว้ซึ่งความไว้วางใจได้ยาก เป็นวิชาชีพเดียวจริงๆ ที่ชาวบ้านเวลามีอะไรจะบอกเราก่อนเลยว่าอย่าเพิ่งเข้าไปตรงนี้ ตรงนี้ ซึ่งเราต้องเข้าใจชาวบ้านด้วยว่า เขาจะเหมือนแซนวิช ถูกทั้งสองฝ่ายกดดัน ชาวบ้านต้องอยู่ตรงนั้น ดังนั้นก็ต้องเข้าใจชาวบ้านด้วย

ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตจังหวัดชายแดนใต้แสดงความเห็นด้วยว่า ชาวบ้านต้องอยู่ให้ได้กับสถานการณ์ในพื้นที่ ถามว่าจะสงบเมื่อใดน่าจะยาก หากมีการสร้างเงื่อนไขอยู่เรื่อย ๆ เหตุการณ์ยังมีอยู่จริง เราเยียวยาอยู่ อีกฝั่งบอกว่าไม่มี เพราะไม่ยอมรับความจริง ต้องยอมรับแล้วช่วยหาทางแก้ไข แล้วจบ นี่กลับไม่ยอมรับ และไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดถูกลงโทษให้เห็นเลยเกิดการสร้างเงื่อนไขบอกต่อกันเรื่อย ๆ เรื่องที่เรามีหน้าที่เยียวยาเลยกลายเป็นปลายเหตุ

“ตอนนี้หมอ เน้นอยู่ 2 เรื่อง ชุมชนกับกลุ่มที่มันยุ่งยากซับซ้อนมาก ขนาดที่โรงพยาบาลไม่สามารถจะไปได้ อย่างเคสซ้อม เคสอุ้มหาย หมอเน้นว่า เราดูสุขภาพถูกซ้อมยังไง จะบันทึกไว้ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี และเราไม่ได้ให้ข้อมูลส่วนนี้กับใคร  เน้นสุขภาพ เยียวยาจิตใจ เพราะว่า 5 ปีผ่านไป ภาพมันจะยังหลอนอยู่ ต้องอยู่ในห้องมืดกี่วัน ถึงต้องเน้นเรื่องจิตใจมากที่สุด ไม่ยุ่งเรื่องคดีความของใครเลย จะทำแค่เรื่องสภาพจิตใจ ไม่อย่างนั้นเราก็อยู่ไม่ได้อีก เพราะเป็นความที่เขาไว้วางใจเรา ถ้าหากคนที่เขาไว้ใจไม่ได้ แล้วใครจะดูแลเขา และต่อไปความโกรธแค้นเกลียดชัง มันจะเพิ่มในกลุ่มนี้ เป็นการสร้างศัตรูหลายฝั่ง” หมอเพชรดาวทิ้งท้าย

 

RELATED ARTICLES