“เราเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ไม่ใช่วีรบุรุษที่จะเข้าไปแก้ไขสถานการณ์”

ผชิญสมรภูมิ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปีนับตั้งแต่เพลิงร้อนคุกรุ่นขึ้นมาอย่างรุนแรงเมื่อต้นศักราช 2547

จรูญ ทองนวล กลายเป็นช่างภาพเดนตายแห่งค่าย “เดอะเนชั่น” ที่ลั่นชัตเตอร์ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นในสถานการณ์ระอุปลายด้ามขวานประเทศด้วยความหวังอยากให้สันติสุขกลับคืนสู่ดินแดนเดือดแห่งนี้สักวัน

เขาเป็นชายหนุ่มชาวอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เรียนจบปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ เคยมีความใฝ่ฝันอยากยึดอาชีพครู แต่ชีวิตพลิกผันเข้าสู่เส้นทางสายสื่อมวลชน เริ่มต้นก้าวแรกในบทช่างภาพหนังสือพิมพ์มติชน

“ผมขี้เกียจกรีดยาง ขี้เกียจกลับบ้าน” เจ้าตัวย้อนวันวาน “ตอนนั้นมติชนรับช่างภาพพอดี แต่มันทำให้ผมรู้ว่า นักศึกษาที่จบจากภูธร มันสู้จากส่วนกลางไม่ได้ โดยเฉพาะการถ่ายภาพ คือ ถ่ายได้แต่ลักษณะงานข่าว ไม่เคยมีสนามเล่น พอถ่ายไปมันออกมาในแนวประชาสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ ตอนแรกถูกด่าเหมือนกัน”

ทำหน้าที่ช่างภาพสายการเมืองยุคแรกที่ต้นสังกัดรับมือชัตเตอร์ติดวุฒิปริญญาตรี ไม่ใช่ไต่เต้าขยับจากล้างฟิล์มในห้องมืดมาก่อน เขายอมรับว่า ตอนแรกอึดอัดกับการมาใช้ชีวิตอยู่เมืองหลวง เพราะไม่มีเพื่อน เพื่อนที่เรียนด้วยการไปรับราชการครูกันหมด บางสิ่งบางอย่างต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดนด่าจนเป็นธรรมดา มาลงตัวเป็นจริงเป็นจังตอนที่ย้ายไปอยู่เดอะเนชั่น หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535

จรูญมองว่า หากจะเลือกเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์มาอยู่ชายคาเดอะเนชั่นจะดีกว่า เนื่องจากเปิดโอกาสให้คิดจะทำอะไรทำได้ เพราะเขามีหน้าคู่ลงภาพข่าวโดยเฉพาะ ให้อิสระกับช่างภาพ มีเรื่องให้เขียนด้วย สนุกมากสมัยนั้น เราสามารถที่จะคิด สร้างสรรค์อะไรได้เยอะ แต่ไม่ใช่ที่มติชนไม่ดี เพียงแค่เน้นการเมืองเยอะไป เข้าไปอยู่เดอะเนชั่นก็เริ่มจากการเมืองเหมือนกัน พอน้องๆ เข้ามาใหม่ เราก็สลับกัน เริ่มออกต่างจังหวัดบ้างอะไรบ้าง ชอบออกต่างจังหวัด ได้มีเวลาไปหาเรื่องเขียนเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประเพณี เราชอบสไตล์สารคดี มันเป็นการสร้างสมาธิ ได้ทำอะไรเยอะ ไม่เหมือนอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา

ช่างภาพมือทองบอกว่า ได้ล่องตามต่างจังหวัดเขียนอะไรไม่น้อย รู้สึกชอบทางนี้ เลือกแล้ว ไม่รู้ว่าถูกทางหรือไม่ คนเรามันตัดสินใจได้ไม่กี่ครั้งในชีวิต พอเปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึก มีโต๊ะภูมิภาค สมัยนั้นมีที่หาดใหญ่ สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น ก็ได้ช่วยเขาปิดหน้า และสลับลงไปอยู่คนละเดือน วนกันไป สลับกันไปจนหนังสือพิมพ์เริ่มนิ่งๆ อยู่ตัว

กระทั่งจังหวะวนมาประจำศูนย์ภาคใต้ แวะกลับมาบ้านเกิดอำเภอเทพา มีเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง กองพันทหารพัฒนาที่ 4 กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจครั้งสำคัญของจรูญที่ทำให้เขาเกาะติดสถานการณ์ความรุนแรงมาถึงทุกวันนี้ “ ผมตัดสินใจมาอยู่เพราะความที่บ้านอยู่ใกล้ๆ เลยไม่คิดจะกลับไปกรุงเทพฯ แล้ว ถ้าเปรียบเทียบชีวิตเราเป็นเส้นกราฟ มันก็ขาดิ่งแล้วเลยอยากให้โอกาสเด็กๆ บ้าง มันไม่เหมือนนักข่าว  ช่างภาพส่วนหนึ่งมันก็ต้องเดินทาง ต้องธุดงค์บ้าง ปักกลดให้ตัวเองบ้าง พอมาอยู่ตรงนี้เลยรู้ว่าเราต้องรับผิดชอบตัวเอง”

“ที่สำคัญ มันก็พื้นที่บ้านเรา มันก็น่าจะมีส่วนร่วม ได้เก็บเกี่ยวบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งว่า มันเกิดอะไรขึ้นบ้างในบ้านเรา ความคิดผมมันไม่คิดถึงขั้นว่าจะไปแก้ปัญหาอะไรให้เขาหรอก เราเป็นแค่โมเลกุลเล็กๆ มาอยู่ที่นี่เจออะไรเสี่ยงตายมาก็เยอะเหมือนกัน แต่การทำงานตรงนี้สอนให้ผมรู้ว่า ช่างภาพ มันต้องประเมิน ไม่ใช่ว่าต้องไปก่อนถึงก่อน ผมไม่เห็นด้วย เหตุการณ์ใน 3 จังหวัด ถ้าจะมาแข่งผลงานอะไร ผมว่า มันไม่คุ้มหรอก เราได้ภาพออกมา แต่เราเอาชีวิตไปทิ้ง มันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมว่าไม่ถึงขั้นที่เราต้องเสี่ยง มันต้องประเมิน”

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ จรูญเตือนตัวเองเสมอว่า การเดินทางแต่ละครั้งจะเข้าทางไหนออกทางไหนต้องประเมิน เป็นส่วนสำคัญกว่างานถ่ายภาพด้วยซ้ำ หลายครั้งต้องขับรถเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตรไปถ่ายภาพ โดนตะปูเรือใบ โดนตัดตัดไม้ขวางถนน โดนบ่อยจนเบื่อ แต่ปัจจุบันต้องระวังมากกว่าหลายเท่า เพราะถึงขั้นมีซุ่มยิงข้างทาง มีลอบวางระเบิด ทำงานที่นี่เสี่ยง ทุกงานใน 3 จังหวัด ไม่มีโอกาสคิดว่า เล็ก หรือใหญ่ บางทีมันมีระเบิดลูกเล็ก ลูกใหญ่ ทำอย่างไรได้ แต่ก็ต้องเซฟตัวคน

เขาว่า ภูมิใจที่ต้นสังกัดเดอะเนชั่นให้สิทธิในการตัดสินใจของเรา ไม่มีว่า อันนั้นทำไมไม่ได้ อันนี้ทำไมไม่ได้ ทำให้เราคลายกังวลในการทำงาน แต่เราก็ต้องมีความรับผิดชอบสูง สื่อส่วนใหญ่ก็มีปัญหาเหมือนทุกที่ ทุกจังหวัด แต่อย่างเราลงมาคลุกทั้ง 3 จังหวัด เราจะไม่เอาตัวเองเข้าไปผูก ทั้งกับนักข่าวด้วยกัน คนในราชการ ในพื้นที่

ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เขาเกิดมุมคิดถึงการแก้ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ส่วนหนึ่งความต่อเนื่องของคนด้วยที่เป็นปัญหา อย่างที่ลงมาทำงานถ่ายภาพทำข่าว พบว่า เปลี่ยนแม่ทัพไปหลายคน เรามองว่า มันไม่ต่อเนื่อง พอเปลี่ยนหัวที นโยบายก็เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือส่วนราชการไหนก็เหมือนกัน นับหนึ่งกันใหม่ ไม่ต่อเนื่อง ระดับปฏิบัติการต้องอยู่ในพื้นที่ สิ่งที่ทำอยู่แล้วมาโดนสั่งใหม่ เป็นเรื่องจริงที่ชั้นผู้น้อยบ่นให้ฟัง แทนที่จะต่อยอดทำต่อไป ต้องมาทำใหม่

มือชัตเตอร์สมรภูมิใต้ตั้งใจว่า ส่วนตัวอยากสะท้อนภาพเรื่องราวของเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเน้นเรื่องความรุนแรง จะพยายามสร้างภาพความสันติสุข การรณรงค์เรียกร้องสันติภาพเท่าที่เราทำได้ แม้การทำงานบางครั้งจะเอามุมมองของเราอย่างเดียวไม่ได้ อีกอย่างคือ ต้องเรียนรู้ในพื้นที่ เช่น สื่อไปสถานที่สำคัญทางศาสนา จำเป็นต้องรู้ในการวางตัว ที่นี่สื่อมาจากทั้งส่วนกลางและต่างประเทศ บางคนไม่ได้เรียนรู้ แล้วไปละเมิดสิ่งที่เขาห้ามก็จะโดนเหมาไปด้วย ไม่ได้ด่าเราคนเดียว ด่าหมด

ช่างภาพหนุ่มบอกว่า สิ่งใดเราไม่รู้ก็ต้องถาม ไม่ใช่เรื่องแปลก บางทีความผิดพลาดมันมีกันได้ แต่จะซ้ำๆ มันไม่ได้ เราต้องเรียนการปฏิบัติ อย่างทหารจะไปยื่นมือขอสลามอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องให้เขายื่นมาก่อน รุ่นเดียวกันรู้จักกันมาก่อน สลามเสร็จเอามือมาแตะหน้าผากให้ความนับถือ แตะหน้าอกถือเป็นเพื่อนกัน แต่บางพื้นที่ก็ไม่เหมือนกันอีก มีเพื่อนเคยถามเหมือนกันว่า ระหว่างยกมือไหว้กับสลาม อะไรดีกว่า เราก็ว่า ยกมือไหว้ดีกว่า บางคนบอกว่าสลามดีกว่า เพราะถือเป็นการให้เกียรติแล้วแต่มุมมอง ทั้งนี้เกิดจากการเรียนรู้วัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่

คนข่าวเดอะเนชั่นถ่ายทอดอีกว่า ปัจจุบันการทำงานของสื่อยากขึ้น จะทำให้ลึกจริงๆ หลายสิ่งหลายอย่างยังไปไม่ถึง เช่น วิถีชีวิตเดิมๆ ในพื้นที่ พวกความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนกับปัจจุบัน ต้องเข้าไป บางครั้งเรายึดติดกับเรื่องเหตุการณ์มากเกินไป  เดอะเนชั่นถึงเปิดหน้านำเสนอเรื่องวีถีชีวิตที่ต้องแตกประเด็น ต้องหามุมใหม่ ทำให้สมองเรา ไม่อยู่นิ่ง แต่สื่อที่ได้เปรียบ คือ เด็กในพื้นที่ เวลาเข้าใกล้ชิดแหล่งข่าวจะได้มากกว่าเรา ทว่าก็มีข้อเสียอย่าง คือ มันก็จำเจซ้ำซาก ไม่ได้มุมมองใหม่ที่ควรจะนำเสนอให้สังคมภายนอกได้รับรู้ว่า มีมุมดีๆ ที่ยังมีอีกเยอะ

“สำหรับผมยอมรับว่า ก็ยังเข้าไม่ถึง ถามว่าจะให้ผมมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยนั้น ผมว่ามันไม่ใช่หน้าที่ เพราะหน้าที่ของเรา คือ นำเสนอข่าวสาร เราเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ไม่ใช่วีรบุรุษที่จะเข้าไปแก้ไขสถานการณ์ และที่สำคัญในชีวิตจริงไม่มีใครหรอกที่อยากเป็นวีรบุรุษที่ต้องแลกมาด้วยความสูญเสีย” จรูญให้แง่คิด

สำหรับเส้นทางลั่นชัตเตอร์จากกล่องฟิล์มสู่โลกดิจิตอลของจรูญ ทองนวล ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปี กวาดรางวัลตอบแทนการทำงานมามากมาย เมื่อปี 2546 ได้รองชนะเลิศภาพข่าวยอดเยี่ยมของมูลนิธิอิศรา อมันตกุล จากเหตุการณ์สลายม็อบพ่อค้าที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ปีถัดมา รับรางวัลชนะเลิศสถาบันเดียวกันจากภาพเหตุสลายม็อบสวนปาล์มที่จังหวัดกระบี่ควบคู่รางวัลภาพยอดเยี่ยมของสมาพันธ์หนังสือพิมพ์อาเซียน ปี 2549 ยังชนะเลิศภาพยอดเยี่ยมของอิศราอีกครั้งจากเหตุสลายม็อบที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา อีกทั้งได้รับรางวัลสื่อสร้างสรรค์ที่รับผิดชอบต่อสังคม ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2550

เขายังมีผลงานภาพข่าวรวมเล่มในชื่อ Heaven on Earth ที่สื่อเครือเนชั่นจัดทำขึ้น คัดสรรภาพที่น่าสนใจมากกว่า 20 ภาพ จัดพิมพ์ขึ้นเป็นภาพข่าวจากชายแดนใต้ แต่ไม่เท่าความภาคภูมิใจที่ได้เป็น 1 ใน 55 สุดยอดช่างภาพจากทั่วโลกที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของเมืองไทยผ่านโครงการ Thailand : 9 days in the Kingdom เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทว่าทุกภาพที่ปรากฏอยู่ในบันทึกความทรงจำประวัติศาสตร์ มีไม่น้อยที่จรูญต้องกลืนน้ำตาตัวเองแลกกับภาระหน้าที่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ความสูญเสีย พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา ตำนานนักรบแห่งเทือกเขาบูโด ที่เขาสนิทสนมกันมาก “ตอนแกโดนระเบิด มีเพื่อนนักข่าวโทรมาบอกว่า อยู่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผมก็ต้องไปถ่ายรูป แต่ในใจก็คิด พี่กู ตอนแกได้รางวัล ผมเคยนัดเลี้ยงแก นั่งคุยกัน มันทำให้ผมรู้สึกหดหู่ ในความรู้สึกของผม ใจหายที่สูญเสียบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกัน แกเป็นคนปากกับใจตรงกัน”

          “บางทีก็มีพรรคพวก ครูบ้างใครบ้าง ก็เพื่อนกูนี่หว่า ผมก็ไม่รู้ว่า ไปในสถานภาพไหน มันทำใจไม่ได้เหมือนกันนะ เจอเรื่องแบบนี้ทุกวัน เหยียบเลือด ไม่รู้ว่าเลือดใครเป็นใคร แต่มันไม่ได้ก็ทำให้เราท้อต้องยอมรับให้ได้ว่า สภาพ 3 จังหวัดมันเป็นอย่างนี้จะให้ไปถ่ายนางสาวไทย มันก็ไม่มีให้เราถ่าย ส่วนอนาคตมองว่า จะดูต่อไปก่อนอีกพัก คิดว่าอย่างน้อยเราก็อยู่ในพื้นที่มาทำอะไรตรงนี้เหมือนเราได้บันทึกประวัติศาสตร์ในพื้นที่ และสภาพความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ช่างภาพมือรางวัลระบายความรู้สึกถึงแก่นการหน้าที่

RELATED ARTICLES