ยุทธศาสตร์และลำดับความน่าเชื่อถือของตำรวจสมาชิกอาเซียน

การจัดลำดับความน่าเชื่อถือในงานบริการของตำรวจ 137 ประเทศทั่วโลกจากการจัดลำดับขีดความสามารถของการแข่งขันระดับโลกที่ World Economic Forum ทำรายงานไว้เมื่อปี 2560-2561

พบตัวเลขคะแนนความน่าเชื่อถือของการบริการงานตำรวจในประเทศสมาชิกอาเซียน มี สิงคโปร์ ติดโผมาเป็นอันดับ 3  มาเลเซีย อยู่อันดับ 36 บรูไน อยู่อันดับ 47 เวียดนาม อยู่อันดับ 74  อินโดนิเซีย อยู่อันดับ 77 ลาว อยู่อันดับ 78

ทั้งหมดอยู่เหนือตำรวจไทยที่ได้คะแนนความน่าเชื่อถือเป็นอันดับ 91

ขณะที่ ฟิลิปปินส์ อยู่อันดับ 112 กัมพูชา อันดับ 122 ส่วน เมียนมา ไม่มีคะแนนเพราะไม่ให้ข้อมูลในการสำรวจ

ว่าถึง “การบริหารงานตำรวจ” ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนตามผลการศึกษาของทีมวิจัยคุณภาพที่มี พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นหัวหน้าโครงการ

สรุปได้ว่า มีองค์กรตำรวจในบางประเทศกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการงานตำรวจในระยะยาว กำหนดวิสัยทัศน์ให้หน่วยงานภายในสังกัดได้ใช้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงาน

ไล่ตั้งแต่ กองกำลังตำรวจแห่งชาติบรูไน ทำแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ค.ศ.2003-2016 เพื่อเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปองค์กรให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ให้พัฒนามีเป้าหมายและทิศทางชัดเจน แม้ว่า อาชญากรรมในประเทศจะอยู่ระดับต่ำ แต่ภัยคุกคามรูปแบบใหม่เป็นสิ่งท้าทายตำรวจแห่งชาติบรูไน

จำเป็นต้องทำยุทธศาสตร์ด้านงานตำรวจที่มีผลการปฏิบัติงานสูงเพื่อจัดการให้บริการประชาชนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสูงสุด

ส่วน มาเลเซีย ภายหลังรัฐบาลกำหนดวิสัยทัศน์ ค.ศ.2020 หนึ่งในการดำเนินตามนโยบาย คือ การลดอาชญากรรม เป็นเหตุผลให้ตำรวจแห่งชาติมาเลเซียนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของตำรวจ จัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติตามโรดแม็ปของรัฐบาลในด้านความปลอดในสังคม

ด้าน ตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ มีแผนแพทโทรล์ ค.ศ.2030 เป็นยุทธศาสตร์สำหรับปฏิบัติงานทุกหน่วย มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อยกระดับการปฏิบัติงานร่วมกันในหน้าที่และการปฏิบัติการของตำรวจ ผ่านนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงภายในของชาติ

ปรับโครงสร้างใหม่ให้แก่ระบบตำรวจเพื่อ ลดความผิดพลาด อีกทั้งสร้างความเอกภาพและลดการแทรกแซงจากการเมือง เสริมสร้างความแข็งแกร่งในขีดความสามารถของสถาบันตำรวจแห่งชาติ

ที่น่าสนใจเป็น กองกำลังตำรวจสิงคโปร์ กำหนดวิสัยทัศน์ของกองกำลังตำรวจอันท้าทาย คือ การให้สิงคโปร์เป็นสถานที่ปลอดภัยที่สุดในโลก มุ่งเน้นการป้องกันอาชญากรรมเป็นอันดับแรก ดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ยุทธศาสตร์ของพวกเขามุ่งการยอมรับแนวทางยึดถือชุมชนเป็นศูนบ์กลาง เป็นกองกำลังที่นำสมัยที่อยู่ในชาติที่นำสมัย

การปฏิบัติงานของตำรวจสิงคโปร์จึงอยู่บนพื้นฐานของการประนีประนอมระหว่างชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายในประเทศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนจะได้รับการปลูกฝังเสมอว่า “ภารกิจอยู่เหนือสิ่งอื่นใด”

เลาะข้ามไป อินโดนีเซีย ในการปฏิรูปประเทศหลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารครองอำนาจมาเป็นเวลายาวนาน ตำรวจมีการปรับตัวเพื่อมุ่งปฏิบัติงานที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ผลของการปฏิรูปตำรวจ ทำให้อาชีพตำรวจเป็นที่น่าเชื่อถือสำหรับประชาชนชาวอินโดนีเซียมากขึ้นกว่าในอดีต

สุดท้ายเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย กำหนดยุทธศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2555-2564 ด้วยวิสัยทัศน์ “เป็นตำรวจมืออาชีพเพื่อความผาสุกของประชาชน” แบ่งยุทธศาสตร์แต่ละด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตรยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจหลักเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์การพัฒนางานตำรวจให้โปร่งใสมีมาตรฐาน ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของประชาชนและเครือข่ายการปฏิบัติงานของตำรวจ และยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งในการบริหาร

 

 

RELATED ARTICLES