“สำหรับผมตอนนี้ คือ ขอให้ได้งานของเราได้ออกมาเผยแพร่ต่อมวลชน”

ต่อเลือดสืบสายพันธุ์ข่าวมาจากครอบครัว

วัชรชัย คล้ายพงษ์ กำลังมีชื่อติดทำเนียบช่างภาพฝีมือดีเหนือ วัลลภ คล้ายพงษ์ อดีตนักข่าวส่วนกลางช่างภาพมือรางวัลของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ให้กำเนิด พร้อมแซงหน้า สรัญญา จงใจหาญ รองหัวหน้าข่าวภูมิภาค สังกัดเดียวกัน ผู้เป็นแม่ไปแล้ว

เขาเป็นอดีตมือลั่นชัตเตอร์หนุ่มเนื้อหอมแห่ง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ค่าย “เดอะเนชั่น” ปัจจุบันเจริญรอยตามผู้พ่อเข้าไปอยู่ชายคาสำนักงานหัวเขียวทำหน้าที่หัวหน้าช่างภาพไทยรัฐออนไลน์ เกิดโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เริ่มต้นศึกษาโรงเรียนกลาโหมอุทิศ ไปต่อมัธยมโรงเรียนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี เป็นนักกรีฑาวิ่ง 100 เมตร ใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ เพราะสัมผัสจากการติดรถออกไปหาข่าวกับพ่อ “ เห็นตำรวจจับคนร้ายทุกครั้งที่พ่อไปทำข่าว  พ่อจะสอนว่า คนทำไม่ดีตำรวจจับนะ แต่ตำรวจไม่ได้ดุ จะดุเฉพาะคนที่ทำผิด จะทำให้พวกนี้ไม่รังแกหนู ผมก็คิดว่า ดีนะตำรวจ อยากเป็นตำรวจ เพราะต่อไปพวกคนร้ายจะได้ไม่กล้ามาทำร้ายแม่ ทำร้ายน้องเรา” วัชรชัยว่า

แต่ความหวังที่จะสวมบทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เริ่มเจือจางในเวลาต่อมาด้วยความที่ตัวเองเรียนไม่เก่ง เขาถอยจากการเรียนต่อสายสามัญชั้นมัธยม 4 เบนเข็มไปเรียนเสียเวลากลับสายอาชีพหลังได้โควต้านักกีฬาไปอยู่ราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สายการตลาด เด็กหนุ่มเล่าว่า การตลาดมีเรียนถ่ายรูปถึงเลือก เพราะพ่อเคยให้ถ่ายรูปตั้งแต่เด็ก สิ่งที่พ่อสอน คือ ถ่ายอย่างไรให้ได้รูปออกมา ไม่ได้สอนถ่ายภาพให้ดี แต่ถ่ายภาพให้เป็นข่าว มีประโยคหนึ่งจำแม่นว่า ตรงไหนมีตำรวจ ถ่ายตรงนั้น นี่คือสิ่งที่พ่อแนะ จับภาพให้ดีอย่าให้หัวขาด ท้ายขาด องค์ประกอบง่ายๆ

ตัวของวัชรชัยสัมผัสกลิ่นอายหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ตัวเองอยู่ชั้นประถม เมื่อต้องติดรถพ่อลงสนามข่าวภูธรจังหวัดนนทบุรีที่วัลลภเป็นสตริงเกอร์อยู่ตอนแรก ทำให้ได้รับโอกาสจับกล้องกดภาพลงหน้า 1หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยไม่น้อย ซึมซับเอาเลือดพ่อ ตั้งแต่เสียงวิทยุสื่อข่าวของตำรวจในรถตระเวนหาภาพ หาข่าวในเวลากลางคืน พ่อจะสอนให้ฟังวิทยุเสมอ มีเทคนิคง่าย ๆ ว่า  ถ้ามันมีเหตุมากๆ มันจะพูดวิทยุมาก ให้ล็อกค่ายนั้นไว้แล้วก็ฟังมัน

พอวัลลภถูกเรียกตัวไปอยู่ข่าวส่วนกลาง ภาระหน้าที่สตริงเกอร์ตกไปอยู่กับสรัญญา เป็นจังหวะวัชรชัยเริ่มโตขึ้นอยู่ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเลยหันมาขับรถให้แม่ตระเวนทำข่าวช่วงคืนวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ที่มักมีเหตุเยอะ เขาบอกว่า แม่จะมาสอนเรื่องเนื้อข่าวมากกว่า ให้หัดเขียน ให้ลองอ่าน เวลาไปทำข่าวไฟไหม้ด้วยกัน แม่ให้ดูว่า จำอะไรได้บ้าง แล้วพรุ่งนี้มาอ่านข่าวให้แม่ฟังว่า เหมือนกับแม่หรือไม่ แต่ไม่เคยสอนให้เขียนข่าวยังไง

“ครอบครัวผมไม่สนับสนุนให้ผมเป็นสื่อมวลชน ผมก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไรนะ ผมเดาว่า พ่อกับแม่คงทำเพราะความจำเป็น พ่อเคยทำค้าขายมาก่อน แม่ก็ทำงานบัญชีมาเรื่อยก่อนมาเป็นนักข่าว ส่วนผมมันมีทุกอย่างพร้อม พ่อถึงไม่อยากให้เป็นนักข่าว พ่อพูดคำหนึ่งว่า ถ้าหนูมาทำอาชีพนี้มันจะถูกกลืน จะวนเวียนมองอะไรในแง่ร้ายไปหมด ขี้ระแวง หงุดหงิด มีลูกก็จะกลัว เพราะเห็นเหตุการณ์ร้ายๆ มา มันถูกกลืนไปตลอดชีวิต”

ทายาทครอบครัวคนข่าวมือทองหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรับว่า ตอนนั้นซึมซับแล้ว อยากเป็นนักข่าวช่างภาพ แม่ไม่ได้สอนรูปแบบเขียนข่าวว่าจะเริ่มเวลาเท่าไหร่ เขียนยังไงต่อ แต่แม่จะดู ส่วนพ่อจะสอนเรื่องถ่ายรูป และย้ำเสมอว่า ไม่ต้องไปตามตำรวจ ร้อยเวรก็มาพร้อมเรา ให้ไปถามคนในที่เกิดเหตุ พ่อแม่ สอนคนละอย่าง แต่พอมารวมกันแล้วแน่นปึ้ก แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบถ่ายภาพ จับกล้องก่อนจับปากกา ถ่ายรูปเล่น ชอบดูหนัง แต่ไม่ชอบอ่านหนังสือ พ่อจะสอนให้ปรับหน้ากล้อง แต่ไม่รู้ทฤษฎี ใช้วิธีเรียนรู้เอง เอาที่ไทยรัฐใช้ ทำให้ซึมซับชอบ

เขาอาศัยครูพักลักจำจากพ่อแม่ ก่อนมาเรียนทฤษฎีเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยพัฒนาศักยภาพตัวเอง วัชรชัยภูมิใจว่า อยู่ในยุคที่เริ่มมีโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ได้เรียนรู้หลักการถ่ายภาพข่าว เริ่มต้นขับรถให้แม่ สมัยวัยรุ่นไม่สามารถเปิดเพลงวัยรุ่นฟังได้ในรถ เพราะแม่ต้องฟัง ว.ถ้าพูดเยอะ แล้วแม่กดสต๊อป บ้านเราจะได้เงิน มีงานแน่จะงานเล็กงานน้อยยังไงก็ต้องมี เห็นตั้งแต่พ่อหยอดเหรียญตู้โทรศัพท์สาธารณะส่งข่าวโคตรยาวจนแม่มาส่งแฟ็กซ์  ชีวิตก็เห็นมาตลอด

“มาเข้าสู่วงการหลังจากเรียนจบ ผมไม่ได้ฝันเป็นนักข่าวไทยรัฐ แต่ก่อนไทยรัฐเป็นเบอร์หนึ่งในใจผมมาก เพราะผมโตมาทุกวันนี้ เพราะครอบครัวได้กินเงินไทยรัฐ ผมกล้าพูดเลย ผมไม่อายด้วย ผมโตจากหัวเขียว แต่พอได้เรียน ผมก็รู้อะไรมากขึ้น อย่างเรื่องกล้อง ผมชนะพ่อ อยู่แล้ว แซงพ่อแล้ว เรื่องข่าวเรื่องประเด็น ก็ได้จากแม่แล้ว แต่ถ้าเขียนอาจจะยังไม่ได้ เพราะผมไม่ได้จับ  ผมอยากทำอาชีพนี้ อยากเป็นสื่อมวลชน ตรงที่ว่าไปเอาเรื่องจริงมาเล่าให้เขาฟัง ถ่ายทอดมันออกมาด้วยภาพ ในแบบ โฟโต้เจอเนอริสต์ คือ ช่างภาพข่าว เป็นช่างภาพสายเดียวที่ปราบเซียนช่างภาพ เอาความเร็วไว้ก่อน”

ก้าวแรกในอาชีพช่างภาพของเขาเริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ทำงานเป็นสตริงเกอร์อยู่ 6 เดือนไร้วี่แววอนาคต กระทั่งวันหนึ่งหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเปิดตัว ได้รับคำแนะนำให้ไปยื่นสมัครกับ ทวีชัย เจาวัฒนา หัวหน้าช่างภาพศูนย์ข่าวเดอะเนชั่น เจอ จรูญ ทองนวล รับเรื่องไว้ ยื่นฟิล์มกล่องใหญ่พร้อมให้ลงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้ นั่งรออยู่ 4 เดือนกว่า ไม่มีใครติดต่อมา ตัดสินใจโทรไปถาม เนชั่นถึงนึกได้แล้วเรียกไปทำงานเลย

อดีตหนุ่มช่างภาพสังกัดคมชัดลึกประเดิมชัตเตอร์ลงตีพิมพ์หน้า 1 เดอะเนชั่นครั้งแรกเป็นงานรดน้ำสงกรานต์คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข เจ้าตัวเผยว่า รู้สึกดีใจ ที่เราถ่ายภาพ โดยไม่มี พ่อ แม่ อยู่ข้างๆ เรา ทำแล้วเหมือนเราขึ้นเวทีชก ต้องไปเบียดใคร บังใคร ตอนนั้นไม่รู้ บางทีมันเกะกะกัน แต่ดีใจ เก็บไว้ไปบอกให้แม่ดู แต่เขาก็รู้สึกเฉยๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชักอึดอัด ไม่ใช่อึดอัดกับออฟฟิศ แต่อึดอัดกับงาน มีแต่หมายให้ไปถ่ายสัมภาษณ์อย่างเดียว คิดว่า ทำไมไม่ให้ไปถ่ายอาชญากรรมบ้าง

ในที่สุดเดินไปขอตระเวนอาชญากรรมพิสูจน์ตัวเอง ถ่ายแล้วบรรยายใต้ภาพเสร็จสรรพ ต้นสังกัดเห็นแล้วพอใจ เพราะรายละเอียดครบองค์ประกอบ “ผมคิดว่า ผมเกิดจากตรงนี้มา ผมถึงอยากพิสูจน์ตัวเอง” วัชรชัยว่า ทดลองงานเกือบปีถึงได้บรรจุ และได้รับความไว้วางใจถ่ายงานสารพัด ถูกส่งอยู่ศูนย์ภาคอีสาน 2 ปี ท่ามกลางไฟกำลังเต็มร่าง ก่อนมาคว้ารางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทยในเหตุการณ์คนร้ายจับนักเรียนจี้เป็นตัวประกันหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา 2

แต่รางวัลที่เขาประทับใจที่สุดของชีวิต คือ ภาพที่(อ)ยากจะลืม “น้ำใต้ น้ำตา น้ำใจ” คว้ารางวัล ภาพข่าวยอดเยี่ยม BEST IN PHOTOJOURNALISM AWARD ในหัวข้อ News Photography ในการประกาศผลรางวัล WAN- IFRA 10th ASIA MEDIA AWARDS 2011 RESULTS เป็นที่ 1 ของเอเชีย เจ้าตัวว่า เป็นรูปน้ำท่วมที่จังหวัดชัยภูมิ ทหารโยนถุงยังชีพจากเฮลิคอปเตอร์ให้ผู้ประสบภัยที่ยืนรอกระโดดรับ พื้นล่างเต็มไปด้วยน้ำหมด เป็นภาพมุมสูง ถ่ายได้ชอตเดียว คิดว่าเป็นภาพที่ดูดีที่สุด เล่าแล้วขนลุก กลับมาบอกเพื่อนนักข่าวว่า ภาพนี้ต้องได้รางวัล เพราะมันเข้าฝัก ใช้ฟิซอายถ่าย ตอนนั้น 15 มม.กล้อง 30 ดีคูณ สปีด 250 เอฟ 8

“ รับรางวัลที่แชงการีล่า แต่ที่รู้สึกเสียใจ คือพ่อ แม่ ผมไม่ได้อยู่ตรงนั้น วันที่ผมถ่ายภาพแรกให้กับเนชั่น พ่อแม่ผมก็ไม่อยู่ วันที่ผมสำเร็จก็อยากให้ท่านอยู่ตรงนั้น อยากให้ได้เห็นผม ขึ้นไปรับรางวัลพอผมลงจากเวทีมา มีฝรั่งคนหนึ่งเดินมาพูดภาษาอังกฤษความหมายว่า ตัวคุณน่ะเล็ก แต่ผลงานที่คุณทำ มันยิ่งใหญ่ เขาพูดประโยคนี้ ถ้าเป็นตอนที่ผมเพิ่งมาทำงาน มันคงทำให้ผมกร่าง ยิ่งมั่นใจ แต่มาตอนนั้นรู้สึกว่า มันก็แค่คำชม ไม่ได้เหลิง คือ สิ่งที่ถูกต้องสำหรับผมตอนนี้ คือ ขอให้ได้งานของเราได้ออกมาเผยแพร่ต่อมวลชน” ช่างภาพมือรางวัลแห่งเอเชียระบายความรู้สึก

เขาทิ้งท้ายว่า อาชีพนี้รักอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสปีริตด้วย แต่ถามว่าคุ้มไหมกับที่ทำไป ถ้าวันหนึ่งเกิดอะไรขึ้น เราต้องดูแลตัวเองด้วย  ไม่ใช่เขาเอาเอ็ม 16 ซัดกัน ตูมๆ แล้วเราจะไปถ่าย จะได้อะไร เราก็ต้องดูจังหวะ ใช้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์ ใช้เทคนิคใช้อุปกรณ์ให้เป็น ใช้ให้คล่อง ให้ชินมือ ใช้ประสบการณ์โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้ง เคสใหญ่ที่มีปัญหาขัดแย้งกัน จะมัวแต่คิดให้ได้รูปท่าเดียวไม่ได้ เพราะถ่ายมาแล้ว เราไม่ได้เป็นคนเผยแพร่เอง แต่เรานอนอยู่ตรงนั้น

พ่อผมบอกทุกครั้งว่า ถ้าอันตรายอย่าเข้านะ เอาเท่าที่ได้ ออฟฟิศมันไม่ได้รักเราจริง ลูกจะได้รูปมาแค่ไหน รูปดีที่สุดในโลกก็ตาม เขาไม่ได้มาสร้างอนุสาวรีย์ให้นะว่าใครถ่ายรูปนี้มา เราก็ต้องมีลิมิตของตัวเอง”

  

 

RELATED ARTICLES