“ผมไม่ใช่แดงแบบเพื่อไทยต้องตามเขาไปหมด”

ดีตคอลัมนิสต์ปากกาคมของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

อธึกกิต แสวงสุข ผู้ใช้นามปากกา “ใบตองแห้ง” ตอบจดหมาย “ว่ายทวนน้ำ” กวนกระแสการเมืองสะกิดใจกลุ่มต่างสีจนตัวเองต้องโบกมืออำลาวงการน้ำหมึก หันมาจับงานหน้าจอโทรทัศน์กับตำแหน่ง “บรรณาธิการอาวุโสวอยซ์ ทีวี”

ชีวิตของเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน คลุกฝุ่นอยู่กับการเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่วัยรุ่น ต่อสู้เผด็จการทหารยุคตุลาเลือดจนต้องหนีเข้าป่าตามหาสัจธรรมจากเผด็จการของระบอบสังคมนิยมกระทั่งกระจ่างในความจริง

“ระบอบที่มันเหมาะสมที่สุดในสังคม คือ ระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีการเอารัดเอาเปรียบ มีทุนนิยม”เจ้าตัวมองแบบนั้น

อดีตนักหนังสือพิมพ์ชื่อก้องถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเองว่า เกิดที่นครราชสีมา มีพ่อเป็นครูประจำจังหวัด หลังจบมัธยม 3 โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยเข้ากรุงเทพฯไปต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่เสียนิสัยที่ปกครองตัวเองไม่ได้ ไม่ขยันอ่านหนังสือ ไม่ขยันสอบ การเรียนจึงแย่ พอจบก็สอบติดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยนั้นปีแรกยังไม่มีการเลือกคณะ อยู่ไปอยู่มาหลงเข้ากลุ่มกิจกรรมของชมรมวรรณศิลป์ ด้วยความที่ชอบเขียนกลอง เขียนหนังสือ มีคมทวน คันธนู นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ เป็นรุ่นพี่

เรียนอยู่ 2 ปี คะแนนไม่ดีโดนยัดไปอยู่คณะวารสารศาสตร์ที่สมัยนั้นห่วยสุด เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หัวใจของอถึกกิตพองตัวร่วมกับกลุ่มแนวร่วมศิลปินชุมนุมกันอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่ามกลางเสียงปืนและระเบิดที่ดังกึกก้อง พวกเขาต้องเข้าไปหลบในตึกคณะบัญชี อนุวัฒน์ อ่างแก้ว รองประธานชมรมวรรณศิลป์ ที่เป็นเพื่อนรักถูกยิงตายต่อหน้าสะท้อนให้เห็นถึงความอำมหิตของผู้มีอำนาจปกครองประเทศ

   “ช่วงนั้นการเมืองเริ่มเข้ามาอยู่ในหัว เรื่องประชาธิปไตย ความเท่าเทียนกันในสังคม ไปเคลื่อนไหวกับกลุ่มชาวนา ไปช่วยพรรคสังคมนิยมหาเสียง และถูกมองเป็นความคิดเอียงซ้าย ความคิดไปไกลแบบสังคมนิยมจ๋า พอโดนยิงถล่ม ทหารก็เข้าไปเอาตัวออกมา ทั้งเตะทั้งถีบ คิดว่า ตายแน่ ไม่ตายคงเข้าป่า รู้ว่ามีหลายคนเขาไปแล้ว อยู่ไม่ได้ก็ต้องหนี ติดคุกโรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขนอยู่ 3 วัน มองประเทศไทยว่า เสรีภาพไม่มีแล้ว คิดในแง่ร้ายด้วยซ้ำไปว่า เดี๋ยวคงถูกฆ่า หรือไม่ก็ติดคุกยาว เพราะมันแรงมาก”อดีตนักศึกษาลูกแม่โดมจำภาพได้ดี

เขาว่า ต่อมามีน้าเป็นตำรวจช่วยประกันตัวให้ พ่อแม่ก็รับเอากลับไปอยู่ต่างจังหวัดลาออกจากธรรมศาสตร์ ปีถัดมาสอบใหม่ติดคณะวิศวะ จุฬาฯ เรียนไม่เดือนเชื่อมสายเพื่อนเก่า การเมืองประเทศยังคุกรุ่น รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ เซ็นเซอร์ทุกอย่าง  ประกาศจะเป็นเผด็จการครองอำนาจ 12 ปี ทั้งที่ตอนนั้นโลกไม่ยอมรับ กดดันจนพรรคคอมมิวนิสต์ยิ่งโตขึ้นเลยตัดสินใจหนีเข้าป่าไปอยู่บนภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย

อธึกกิตให้เหตุผลว่า อยู่ไม่ได้ เพราะรับไม่ได้ เราตั้งใจว่าจะต่อสู้แล้วครั้นกลับมาตั้งต้นเรียนใหม่มันทำใจไม่ได้ ตัดสินใจทิ้ง สงสารที่บ้านเหมือนกัน พ่อเดินร้องไห้ตามหาที่ธรรมศาสตร์ แกหาไม่เจอ เราไปอยู่บนดอยเป็นเขตเล็ก ๆ ที่สามารถเดินทางไปลาวได้เร็วที่สุด แค่เช้าถึงบ่าย ใช้เป็นศูนย์เอาคนผ่านไปจีนของพรรคคอมมิวนิสต์ อยู่เกือบ 3 ปีเกิดความขัดแย้งภายในเป็นเรื่องของแนวคิดประชาธิปไตย เริ่มแรกเห็นระบบพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีต้นแบบจากจีน หรือโซเวียต ปกครองพรรคเดียว เผด็จการ แต่มีอุดมการณ์ เป็นคนดีที่คิดว่า จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีความยุติธรรม ทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมด แต่วิธีที่จะทำแบบนั้นได้ คือต้องใช้เผด็จการ

เจ้าของนามปากกาใบตองแห้งเล่าต่อว่า พออยู่ไปนานๆ ความเชื่อที่ว่า เขาเป็นคนดี ทำให้เขาไม่ฟังคนอื่น ถ้าเปรียบเทียบย้อนกลับมาในโลกปัจจุบัน ก็เหมือน บางคนเป็นพันธมิตรฯ เกลียดทักษิณ เขาคิดว่า เขาเป็นคนดี แต่เขาไม่ฟังคนอื่น เขาคิดว่าเขาถูก แต่เขาไม่ยอมรับประชาธิปไตย “ผมได้บทเรียนตรงนี้จากการไปอยู่พรรคคอมมิวนิสต์ เป็นคนดี แต่คิดว่าถูกแล้วไม่ฟังคนอื่น และสิ่งที่เขาคิดว่า ถูก คือเขาตกโลก ตกยุค ตกสมัย ระบอบที่มันเหมาะสมที่สุดในสังคม คือ ระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีการเอารัดเอาเปรียบ มีทุนนิยม แต่มันต้อทำให้สมดุล มันถึงจะเดินต่อไปได้ ถ้าไม่มีทุนนิยม โลกมันก็ไม่เจริญ จีนเป็นตัวอย่างให้เห็นชัด ก่อนหน้ายุคเติ้ง เสี่ยว ผิง เศรษฐกิจมันวิบัติหมด เพราะมนุษย์มีความโลภ มีความต้องการอยู่ในตัว อยากได้ใคร่ดี ระบบสังคมนิยม คือระบบที่คุณทำงาน 8 ชั่วโมงก็ได้ค่าแรงเท่ากัน เหมือนรัฐวิสาหกิจ คือ แปรประเทศทั้งประเทศเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือระบบราชการ ทุกคนทำงานแล้วได้เงินเดือน ไม่มีธุรกิจเอกชน ไม่มีความรู้สึกว่า ถ้าทำดีแล้วตัวเองจะรวยขึ้น เนื่องจากมันถูกจำกัดไว้”

        “เวลาไปซื้อของที่จีนสมัยนั้น พนักงานต้อนรับจะไม่สนใจ ไม่เทกแคร์ ไม่แนะนำ ไม่กระตุ้นเพื่ออยากจะขายได้ พอหมดเวลาการทำงามันก็เดินเข้าไปเลย แบบนี้มันจะไปได้อย่างไร อุตสาหกรรมต่าง ๆพินาศหมด นี่คือบทเรียนของจีนสมัยนั้น ถึงบอกว่า ทำไมสังคมนิยมล่มสลาย และทำไมเราถึงกลับมาสู่ทุนนิยม ผมถึงรู้ว่า สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือประชาธิปไตย ความขัดแย้งในพรรคคอมมิวนิสต์มันสอนตรงนี้ว่า แท้จริงแล้วสิ่งที่ต้องทำให้ได้ คือ การเป็นประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมา เราหนีมันไป เพราะมันไม่เป็นประชาธิปไตย พยายามเป็นเผด็จการทหาร เราหนีไปหาสังคมนิยม เพราะคิดว่า เผด็จการจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า สุดท้ายมันไม่ใช่ ผมเข้าใจแล้วตกผลึกแล้วว่า ผมต้องการประชาธิปไตย”

บรรณาธิการอาวุโสวอยซ์ ทีวียอมรับว่า แม้เป็นทุนนิยม สังคมมีการเอารัดเอาเปรียบ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์หนีไม่พ้น มันมีกิเลส มีตัณหา ต่อสู้แย่งกัน แต่เราต้องพยายามสร้างกติกาประชาธิปไตยให้ดีที่สุด ถ่วงดุลมากที่สุด ขณะที่บางคนออกจากป่ายังมีความคิดต่อต้านทุนนิยมค่อนข้างสูง คิดว่า ทำอย่างไร จะนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ยุติธรรมโดยไม่คิดเอาประชาธิปไตย พวกนี้ตอนหลัง คือ พวกที่ไปสู่พันธมิตรฯ เกือบทั้งนั้น เท่าที่สัมผัส คือ หันไปหาอะไรที่มันผูกขาด ไม่ยอมรับการเลือกตั้ง สังคมจะยุติธรรมได้ต้องปกครองด้วยคนที่ดีส่วนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์ คิดว่าการเลือกตั้งจะได้แต่คนเลว ได้ทักษิณ ได้นายทุน ไม่ยอมรับการเมืองที่เป็นอยู่ในครรลองประชาธิปไตย

หลังออกจากป่าคืนสู่สังคมเมือง อธึกกิตบอกว่า เคว้งคว้างอยู่หลายปี ไม่รู้จะทำอะไร กลับมาเรียนวิศวะ จุฬาฯ อีกครั้ง แต่ทนไม่ได้ เพราะมาเริ่มปี 1 ใหม่ ต้องเรียนกับเด็ก กลายเป็นเด็กโข่ง ไม่กี่เดือนก็ลาออก ไปทำโรงพิมพ์ พิมพ์หนังสือเชิงสังคม วรรณกรรมที่พิมพ์ไม่เยอะก่อนเจ๊งจึงมาทำนิตยสารธุรกิจที่ดินแล้วย้ายไปอยู่หนังสือพิมพ์แนวหน้า ทำหน้าที่รีไรเตอร์ข่าวการเมือง เพราะเรามีความสามารถในการเขียนหนังสืออยู่แล้วแค่เอาไปปรับในงานข่าว จับประเด็นเอามาพาดหัวข่าว ทีมงานเดียวกับอายุธ ประทีป ณ ถลาง บรรยง อินทนา ประกิต ชมภูคำ

หนังสือพิมพ์แนวหน้ารุ่นนั้น คนข่าวมือฉมังเล่าว่า แข็งมาก ต่อสู้ทางการเมืองโจมตีรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีอย่างรุนแรง กระทั่งเกิดปฏิวัติรัฐประหารคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ตอนนั้นยอมรับว่า เฮิร์ตมาก มันไม่ควรมีรัฐประหารเกิดขึ้น แต่อายุธยืนยันว่า ข่าวมันเป็นข่าว เราได้ข่าวก็เสนอไป หลังจากนั้นเราก็วิจารณ์รัฐประหารเต็มที่ แม้เจ้าของหนังสือพิมพ์จะไม่สบายใจ แต่ทีมเราแข็งเป็นเอกภาพ อายุธเป็นคนที่ลูกน้องรัก กล้าตัดสินใจ ทั้งทีมจะเชื่อถือเขา พอหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 35 ปลดพล.อ.สุจินดา คราประยูร ปรากฏว่า ทีมแนวหน้าก็พากันยกทีมออก เพราะเจ้าของไม่พอใจ มันแรงเกิน กระเทือนธุรกิจเขา

พ้นทุ่งวิภาวดีรังสิต อธึกกิตกับพวกย้ายไปอยู่สำนักงานไอเอ็นเอ็นจ่อคิวเข้าทำงานไทยสกาย ทีวี มีสมชาย แสวงการ เป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ สุดท้ายโครงการทีวีพับ เพราะเกิดความขัดแย้งของผู้บริหาร เขาเลยก้มหน้าก้มตาอยู่ไอเอ็นเอ็นรับบทหัวหน้าข่าวการเมืองนานปีเศษก็ถูกดีดให้ไปอยู่หนังสือพิมพ์วัฏจักรถึงขั้นฟ้องร้องกัน ไม่นานก็ขยับก้นปักหลักลงหนังสือพิมพ์สยามโพสต์เป็นลูกมือให้เปลว สีเงิน ตำแหน่งหัวหน้าข่าวหน้า 1 ควบรีไรเตอร์อีกหน้าที่ จากนั้นพากันแหกค่ายมาตั้งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เปิดอิสรภาพแห่งความคิดแจงเกิดคอลัมนิสต์นามใหม่ “ใบตองแห้ง”

“ความจริงก่อนหน้ามีคนเขียนคอลัมน์ว่ายทวนน้ำในการตอบจดหมายผู้อ่านเป็นเพื่อนอีกคน แต่เขาลาออกไป ผมเลยเขียนแทนเอาชื่อใบตอง มาจากลูกสาว ประกอบกับลูกสาวตัวผอมเลยตั้งนามปากกาว่า ใบตองแห้ง และยังตรงใจด้วยว่า ถ้าใครด่าผม ก็เหมือนหมาเห่า เขียนตอนแรกก่อนรัฐประหารปี 49 ผมก็วิจารณ์นายกฯทักษิณมาตลอด วิจารณ์แรงด้วย และสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯที่รวมตัวกันชุมนุมขับไล่  แต่พอสนธิ ลิ้มทองกุล หยิบประเด็นเรื่องวัดพระแก้วมาพูด ผมเริ่มไม่ชอบ ผมผ่าน 6 ตุลา ผมไม่ชอบการเอาเรื่องของสถาบันมาทำลายกัน เรื่องนี้ไม่มีมูล เราก็รู้ เพราะเราคนหนังสือพิมพ์ เมื่อเอาเรื่องสถาบันมาอ้าง ผมก็ไม่ต้องการ เปลว สีเงินยังบอกว่า สนธิแปลงสถาบันเป็นอาวุธ”

          “ผมก็ยืนยันตรงนี้ ผมเริ่มมองต่าง เห็นว่า พันธมิตรฯจะไล่ทักษิณทางการเมืองไม่ว่าเลย สนับสนุนด้วยซ้ำ แต่ผมรับไม่ได้ตอนที่พันธมิตรฯ ไปขอมาตรา 7 ผมอึดอัดกับท่าทีของพันธมิตรฯที่ทำอะไรเกินเลยไม่อยู่ในกรอบของประชาธิปไตย ผมจะบอกว่า มันไม่ถูก แต่ไม่ได้เข้าข้างทักษิณ วันที่ 2 เมษา ก็โหวตโน ไม่ได้เลือกพรรคไทยรักไทย กระทั่งถึงจุดรัฐประหาร ผมโมโหมาก เพราะผมรู้สึกก่อนหน้าแล้ว มันมีกลิ่น ผมเขียนคอลัมน์ตอบจดหมายทำนองว่า ถ้ารัฐประหาร กูเลิกทำหนังสือพิมพ์ดีกว่า ไม่เป็นสื่อแล้ว จะเป็นไปทำไม ไล่รัฐบาลจนเกิดรัฐประหาร ผมไปขายก๋วยเตี๋ยวดีกว่า พอเกิดรัฐประหารจริงๆ วันที่19 กันยา หนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้น ผมเลยเอาจดหมายมาลงเรียงหมด แต่ไม่ตอบ ตบท้ายด้วยลงรูปชามก๋วยเตี๋ยว”อถึกกิตหัวเราะในความช้ำชอก

     มือเขียนคอลัมน์ว่ายทวนน้ำว่า ตัดสินใจจะลาออก เปลว สีเงินเลยด่าว่า คิดแบบนั้นไม่ดี มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าไม่เห็นด้วยก็ว่าไป วิพากษ์วิจารณ์เท่าที่ทำได้ ก็อยู่ต่อ แต่เขียนค้านคอลัมน์ของเปลว สีเงิน สวนทางกันตลอด แกก็ไม่ว่าอะไร ธงของเรา คือ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาอะไรที่ผิดประชาธิปไตย ยืนสวนซดกับผู้อ่านที่ส่วนใหญ่เป็นพันธมิตรฯ จนมีคนในโรงพิมพ์ท้วงว่า ไม่เหมาะ เพราะการตอบจดหมายควรเป็นตัวแทนของกองบรรณาธิการ ไม่ควรเป็นความเห็นส่วนตัว มีคนเสนอไปเขียนคอลัมน์แยก เราบอกไม่เอา เราเขียนไม่เกก่ง ไม่เคยเขียนหนังสือเป็นบทความยาว ๆ เขียนแต่ตอบจดหมายกับสัมภาษณ์

สวนกระแสตีแผ่ความคิดอิสระอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ถึงปี 52 ในที่สุด ใบตองแห้งต้องหน้าแห้งเมื่อถูกบอกไม่ให้ตอบจดหมายแล้ว “ผมก็ไม่ว่าอะไร ตอนนั้นเขายังให้ทำสัมภาษณ์พิเศษลงแท็บลอยด์เหมือนเดิม ผมก็บอกว่า ผมทำไม่ได้ ขอลาออก แต่เขาก็ติดต่อให้เขียนหน้าบันเทิง ช่วยแปลข่าวบันเทิงต่างประเทศงานที่เคยทำประจำอย่างเดียว ทู่ซี้อยู่ 2 ปี เขาก็แจ้งยกเลิก อาจเพราะผมไปเขียนวางยาเรื่องเชิงหลักการไปกระทบเขา เข้าใจได้ว่า เขาก็เจ็บปวดเลยต้องเลิกกัน สิ้นสุดระยะเวลา 13 ปีที่ร่วมชายคาไทยโพสต์”

คอข่าวการเมืองเปลี่ยนที่ระบายความคิดไปลงเว็บไซต์ประชาไท กระแทกบทความแสดงความรู้สึกอย่างถึงพริกถึงขิง ตามด้วยเขียนบล็อกของวอยซ์ ทีวี เป็นที่มาของการได้เข้านั่งเก้าอี้บรรณาธิการอาวุโสทำรายการ “อินเทอลิเจนท์” เปิดอกเรื่องราวบุคคลหลากหลายในสังคม “คนเราถึงเวลาที่สุดแล้ว เราก็คนธรรมดา ไม่ใช่เทวดาที่ไหน ไม่มีงานทำ ก็ต้องหาทำ ต้องมีเงินเดือน ไม่ได้มีฐานะดีมาจากไหน อยู่ที่ว่า เราจะรักษาความเป็นอิสระได้มากน้อยแค่ไหน ทำให้ดีที่สุด ที่ผ่านมายอมรับว่า คอลัมน์ที่เขียนบางทีคนอ่านไม่พอใจ เป็นธรรมดาที่บางคนรับไม่ได้ คิดว่า ผมเป็นแดงสุดตัว จริง ๆ แล้ว ถ้าเป็นแดงแบบประชาธิปไตย ผมจะเป็น แต่ผมไม่ใช่แดงแบบเพื่อไทยต้องตามเขาไปหมด” ใบตองแห้งแถลงความในใจ

 

RELATED ARTICLES