“แอนชอบทำข่าวหลายมุม”

ฝันอยากเป็นสถาปนิก

“แอน”ชมพูนุช ภัทรขจี สาวเมืองโคราช นักข่าวช่อง 3 ผ่านสนามมาอย่างโชกโชน เรียนจบ ม.6 โรงเรียนสุรนารีวิทยา ไปต่อคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ก่อนไปต่อปริญญาโทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อยากทำงานเขียนแบบ ออกแบบ เป็นสถาปนิก เพราะพ่อเป็นวิศวกร แต่ถูกพ่อทักว่า งานสถาปนิกไม่ค่อยได้รับนอน ลองไปเรียนคณะอื่นดีกว่า เผื่อว่าจะชอบ บังเอิญช่วงนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึมซับดูรายการข่าวปลดคนงานของช่องไอทีวี เห็น สุทธิชัย หยุ่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา นรากร ติยายน รู้สึกชอบ ดูเหมือนว่า อาชีพผู้ประกาศข่าวเท่ดี ถึงหันเหไปเรียนนิเทศศาสตร์

กระทั่งปี 3 อาจารย์ให้เข้ากรุงเทพฯ ไปฝึกงานสถานีวิทยุไอเอ็นเอ็น เรียนรู้ประสบการณ์การทำข่าวจาก “แยม”ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ปีถัดมาได้โอกาสฝึกที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวีไปอยู่โต๊ะข่าวการเมือง มี ธีระ ธัญญะอนันต์ผล นักข่าวหนุ่มคนดังคอยติว พอเรียนจบเริ่มคิดทันทีว่าทำอย่างไรถึงได้มาเป็นนักข่าว เพราะรู้สึกชอบตั้งแต่ฝึกงานแล้ว

“แอนมองว่า น่าจะเริ่มต้นที่วิทยุ ถ้าอยากทำข่าวทีวี เริ่มงานครั้งแรกที่สถานีวิทยุจีจีนิวส์ บิสซิเนส เรดิโอ ปรากฏว่า แผนกข่าวการเมืองเต็ม ต้องเข้าไปเป็นโปรดิวเซอร์รายการก่อน ขอเขาว่า ถ้ามีตำแหน่งว่างไปเป็นนักข่าวได้มั้ย พอดีว่าง เลยได้เสียบเข้าเป็นนักข่าวสายเศรษฐกิจดูเรื่องคมนาคม ทำอยู่ประมาณ 10 เดือน ช่อง 3 มีตำแหน่งว่าง เปิดรับสมัครจึงตัดสินใจไปสมัครสอบผ่านเข้าเป็นนักข่าวช่อง 3 ทำข่าวทีวีสมความใฝ่ฝัน”

เหยี่ยวข่าวสาวช่อง 3 บอกว่า ตอนไปอยู่วิทยุอยากทำข่าวสายการเมือง เพราะรู้จักแหล่งข่าวตั้งแต่สมัยฝึกงาน อยากทำจริง ๆ คิดอยู่ว่า สายการเมืองไม่ว่างจะทำดีไหม ไปปรึกษาแม่ แม่บอกว่า อย่าไปคิดว่า มันเป็นสายไหน ทำข่าวก็เหมือนกันหมด ทุกอย่างมันต้องอาศัยประสบการณ์ ไปเริ่มนับศูนย์ นับหนึ่งใหม่ก็ได้ จึงเข้าไปเริ่มที่สายเศรษฐกิจ ช่วงแรก ๆ ก็ยากอยู่เพราะเศรษฐกิจเป็นอะไรที่ต้องทำความเข้าใจ ต้องมีความรู้พื้นฐาน ต้องทำการบ้าน  อ่านหนังสือ ดูรายการเศรษฐกิจทุกวัน ทำความเข้าใจกับมัน ถามพี่เขาบ้าง เพื่อตามเขาให้ทัน

พอเข้ามาอยู่ช่อง 3 แอนเล่าวว่า ช่วงแรกนักข่าวค่อนข้างน้อย ไม่ได้ทำแค่เศรษฐกิจอย่างเดียว เวลาเกิดเหตุอะไร หรือมีหมายอะไร อยากให้ช่วยก็โยกไปทำ ไปช่วยการเมืองบ้าง สังคมบ้าง กีฬา สายราชสำนักก็มี ทำตามที่มอบหมาย ไม่ลองก็ไม่รู้ ลองไปทำดู ออกมาดูดี มีพี่คนหนึ่งบอกว่า ไม่จำเป็นต้องทำได้แค่อยู่สายเดียว เป็นนักข่าวต้องทำได้ทุกที่ ต้องทำได้ทุกสาย ทำได้ทุกอย่าง ประกอบกับมีแรงบันดาลใจมาจากหนังญี่ปุ่น พื้นฐานของหนังเป็นเรื่องของนักข่าว อาจารย์เอามาให้ดูเกี่ยวกับการทำงานสายข่าวโดยตรง เขาทำงานกันอย่างไร ศึกษามาจากตรงนั้น มีอยู่ช่วงนางเอกไม่ได้เป็นผู้อ่านข่าวแล้ว เพราะโดนปัญหาการเมืองเล่นงานต้องลดเกรดลงมาเป็นนักข่าว แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้คิดว่า ลดเกรดอะไรจากผู้ประกาศที่ต้องนั่งโต๊ะอ่านมาทำข่าวภาคสนาม จริง ๆ แล้วก็เป็นนักข่าวเหมือนกัน

“ข่าวที่ออกมามันก็มีคุณค่าเหมือนกันไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ช่องใหญ่ช่องเล็ก หนังเรื่องนั้นมันทำให้แอนรู้สึกดี พอเราเข้ามาทำเลยไม่คิดว่า อยู่สายเศรษฐกิจต้องทำแต่ข่าวเศรษฐกิจ อยู่สายคมนาคมต้องทำแต่ข่าวคมนาคมอย่างเดียว มันจะทำให้เราอยู่แค่โลกของเราตรงนี้ มันจะมองไม่เห็นเลยว่า คนอื่นไปถึงไหนแล้ว พอเขาให้ไปทำอะไรก็เลยไปทำ สนุก ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ มีคนถามว่า ไม่กลัวเหรอเวลาไปอยู่ในม็อบ หรืออยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ ณ ชั่วโมนั้นไม่มีความกลัว เราต้องได้ เราต้องรู้ว่า มันเกิดอะไรขึ้น แต่ด้วยความที่เราทำงานเป็นทีมบางครั้งต้องห่วงทีมเราด้วย ต้องทำให้เซฟที่สุด ปลอดภัยที่สุด ขณะเดียวกันต้องได้อะไรให้มากที่สุดด้วย ก็ตื่นเต้นบ้าง”   

เธอระบายความรู้สึกว่า มีความประทับใจหลายข่าวที่ไปทำ ยกตัวอย่างข่าวการเมืองที่ไปทำ เห็นรูปแบบหลายรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เห็นความขัดแย้ง เห็นน้ำใจบนความขัดแย้ง เห็นอะไรในสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็น   ในชั่วชีวิตนี้ถือเป็นภาพประทับใจ เหมือนช่วงที่สลายม็อบเสื้อแดง เราไม่เคยคิดว่า ประเทศไทยจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่บนพื้นฐานความรุนแรงอยู่ที่ความเข้าใจว่า ทำไมมันถึงเกิด อย่างข่าวน้ำท่วมเป็นภัยพิบัติ มีบางพื้นที่โวยวายเหมือนกันว่า ทำไมความช่วยเหลือมาไม่ถึง ทำไมปัญหาพื้นที่ของตัวเองไม่ได้แก้ไข แต่อีกบางที่เข้าใจว่า โอเคมันเกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ มันเป็นความแตกต่างระหว่างพื้นที่ ทำให้เข้าใจว่า ความคิดของมนุษย์มันไม่เหมือนกัน

      บ่อยครั้งที่แอนมักถูกเพื่อนร่วมงานแซวเวลาทำข่าวรายงานสถานการณ์แล้วชอบย้ายรถโอบีถ่ายทอดออกอากาศบ่อย แต่เธอให้เหตุผลน่าชื่นชมว่า ถ้าอยู่ที่เดียวก็เห็นที่เดียว ธรรมชาติของข่าว ถ้าอยู่ที่เดียวก็เห็นความเดือดร้อนที่เดียว เราเห็นตรงนี้ที่เห็นว่า หนักแล้ว หนักสุด แต่เราก็ไม่รู้ว่า อีกที่มันอาจจะหนักกว่านี้ก็ได้ เราต้องสะท้อนภาพให้เห็นว่า แต่ละที่ไม่เหมือนกัน ความรู้สึกมุมมองของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน คนที่ดูทีวีอยู่ก็จะเห็นว่า ภาพในพื้นที่หนึ่งมันสะท้อนออกไปให้สังคมรับรู้ได้รับฟัง ได้รับการแก้ไขช่วยเหลือ แต่อีกในอีกมุมที่เราเข้าไปไม่ถึง พวกเขาอาจจะรู้สึกว่า กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกโลกลืมก็ได้ หรือเขาก็ยังรอคอย เขาก็เดือดร้อนเหมือนกัน แต่เราก็ยอมรับว่า เข้าไปไม่ถึงทุกพื้นที่

“แอนชอบทำข่าวหลายมุม ทำข่าวได้หมด มีแต่ข่าวบันเทิงอาจไม่ถนัด ข่าวกีฬาก็โอเค ผ่านเกือบทุกสนามข่าว เกือบทุกแบบ ยกเว้นบันเทิงจ๋า เพราะช่อง 3 แยกออกไปอีกฝ่าย นอกนั้นผ่านหมดแล้ว ทั้งเฉพาะกิจ สังคม การเมือง เศรษฐกิจ กีฬา ราชสำนัก อนาคตแล้วแต่โอกาส ถามว่า อยากเป็นผู้ประกาศมั้ย อยากเป็น แต่ต้องดูศักยภาพตัวเองด้วย แต่ถ้าศักยภาพเราไม่พอ ก็ขออยู่แบบทุกวันนี้”  

ปัจจุบัน ชมพูนุช ภัทรขจี อยู่ในกลุ่มผู้สื่อข่าวสายจอโลกเศรษฐกิจ ช่วงของบัญชา ชุมชัยเวทย์ สามารถติดตามผลงานของเธอประจำได้ทุกวันพุธตอนเที่ยง ในข่าวไอที นวัตกรรมใหม่

RELATED ARTICLES