“การเขียนข่าวแบบคนที่รู้ กับคนไม่รู้ มันจะออกมาต่างกัน”

างครั้งผมต้องนั่งอ่านข้อมูลเป็นปึ๊ง เช่น คำพิพากษา เพื่อมาเขียนสกู๊ป 1 หน้า มันต้องทำ และควรทำ นักข่าวต้องมีในส่วนนี้ ไม่ว่าจะทำข่าวสื่อรูปแบบไหน คือ เราต้องเข้าใจก่อน ก่อนที่จะไปสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ และเราต้องรู้ข้อมูลให้ลึก เพื่อให้เราไม่หลงทาง และไม่ถูกหลอก” สันติวิธี พรหมบุตร ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 วางแนวการทำงานของตัวเอง

ย้อนปูมชีวิต เขาเกิดและโตในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ครอบครัวมีอาชีพทำนา มีพี่น้อง 6 คน เป็นคนที่ 4 ชีวิตในตอนเด็กเหมือนกับเด็กต่างจังหวัดทั่วไป ที่อยู่กับธรรมชาติ เล่นซนตามวัย แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ชอบอ่านหนังสือ เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ ตอน ป.4  ที่ห้องสมุดหมู่บ้าน จะเป็นร้านค้า มีหนังสือพิมพ์รายวัน  จำได้ว่าจะรับหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ  แต่กว่าหนังสือพิมพ์จะมาถึงจะช้ากว่าในกรุงเทพ 1-2 วัน และยังต้องรอให้ผู้ใหญ่อ่านจบก่อน  เมื่อได้อ่าน ก็ชอบและเริ่มสนใจ รู้สึกว่า “ ข่าว”  คือความจริง นอกจากนี้ การปลูกฝังจากครอบครัว ก็มีส่วนหล่อหลอม

สันติวิธีเล่าว่า ตอนนั้นทุ่งกุลาร้องไห้ ยังมีความแห้งแล้ง โครงการต่างๆของรัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหา พ่อบอกว่า มันมีการทุจริตกัน กินเปอร์เซ็นต์  มีเรื่องเงินเข้ามาหาผลประโยชน์ เราเริ่มคิดว่า ทำไมเขาทำกับผืนดินเราแบบนี้ อะไรที่ลงมา มันมาถึงพ่อแม่เราจริงหรือเปล่า มาเพื่อเข้ามาหาตังค์จริงหรือเปล่า ด้วยพ่อเป็นคนสมัยใหม่ ชอบดูข่าว ฟังข่าว ก็จะสอน จะอธิบาย เล่าเรื่องต่างๆ  กลายเป็นการสะสม ทำให้เรามองอะไรเป็นประเด็น และเริ่มเห็นว่า  สิ่งที่เราเห็น มันก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

หลังเรียนจบชั้น ป. 6 สันติวิธี ขอครอบครัวไปบวชเรียน 4  ปี  ด้วยความรู้สึกศรัทธาในพุทธศาสนา  จากการได้เห็นพระนักปฏิบัติที่วัดพระพุทธบาทพนมดิน วัดป่าในหมู่บ้าน มีความน่าเลื่อมใสศรัทธา  แม้ตอนนั้นจะยังเด็ก สิ่งที่ได้จากการบวชเรียน คือ สมาธิ ทำให้คิดอะไรเป็นระบบ ใจเย็น และได้ศึกษาภาษาบาลีสันสกฤต เป็นรากของภาษาไทย ต่อยอดมาใช้ในการทำงานเขียนโดยไม่รู้ตัว

สึกมาสอบเทียบ ม.6 ไปสมัครเรียนที่ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ภาควิชาสื่อสารในการประชาสัมพันธ์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์  เอกวิชาวารสารศาสตร์  ด้วยความที่ชอบการขีดเขียน และอยากเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ เรียนภาคสมทบ ทำงานพิเศษไปด้วย แม้จะยังไม่ถือว่า ไม่ใกล้ความฝันนัก เพราะงานที่ทำส่งอาจารย์ส่วนใหญ่เป็นรายงานชิ้น ไม่ได้มีโอกาสทำหนังสือพิมพ์ของสถาบัน แต่การเรียนการสอนเข้มข้น ทำให้ตอกย้ำว่า มาถูกทางแล้ว

หนุ่มสำนักข่าวไทยบอกว่า มีบางคนแนะนำ ทำไมไม่เรียนวิทยุ โทรทัศน์ จะได้ไปอยู่หน้าจอ แต่เราไม่ชอบ ใจชอบการขีดเขียนมากกว่า รู้สึกว่าเรียนวารสาร เหมือนพร้อมที่จะเป็นนักข่าวเต็มตัว อย่างที่เราอยากจะเรียน ชอบวิชาถ่ายภาพกับเขียนข่าวมาก มีโอกาสไปทำข่าวม็อบสมัชชาคนจน เห็นชีวิตคนที่มาชุมนุม ใกล้เคียงสิ่งที่เคยเจอตั้งแต่เด็ก ได้ถ่ายภาพใช้จริง  ให้เพื่อนในห้องดูจริงๆ รายละเอียด เนื้อข่าว ล้างฟิล์มเอง ฝึกสมาธิไปในตัว  การถ่ายต้องพิถีพิถัน เพราะเราถ่ายไป เอามาดูไม่ได้ว่า ภาพเป็นยังไง ไม่ใช่กล้องแบบสมัยนี้ เราต้องคิดทุกครั้งก่อนกดชัตเตอร์ลงไป ภาพนี้ต้องการจะสื่ออะไร

เมื่อเรียนจบ ด้วยที่ไม่ได้เรียน ร.ด. มา หลังรับปริญญาจึงไปสมัครเป็นทหาร สมัยนั้นหากไม่ผ่านการเกณฑ์ทหารจะทำให้รับเข้าทำงานยาก ซึ่งเขาไม่รู้มาก่อนเลยว่า การสมัครป็นทหารครั้งนั้น จะเชื่อมโยงกับการทำงานในอนาคต ผมเลือกสมัครเป็นทหารเรือ อยากเป็นนาวิกโยธิน ทหารเรือจะมาจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเด็กภาคอีสาน ไม่เคยเจอเพื่อนที่มีชื่อแปลกๆ เป็นการเปิดโลกทัศน์เรา  ผมเคยมีเพื่อนมุสลิม แต่ไม่เคยมีเพื่อนเป็นมลายู จนมาเป็นทหารก็ได้มีเพื่อนในภาคใต้เยอะมาก โดยเฉพาะ 3 จังหวัด  ทำให้เข้าใจวิถีความเป็นมลายูมุสลิม เขาทำอะไรบ้าง ไม่กินอะไรบ้าง ศาสนกิจต่างๆ  และยังติดต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้”

ปลดประจำการทหาร  ชีวิตการทำงานได้เริ่มต้นจริงจังที่บริษัททำสื่อเล็กๆแห่งหนึ่ง ทำวิทยุกับสิ่งพิมพ์  ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  แม้จะยังไม่ได้เป็นนักข่าวโดยตรง ทว่าได้ทำงานเขียนที่ชอบ ทำได้ไม่กี่เดือน  จังหวะที่เนชั่นกำลังจะเปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เขาไปสมัครงานและก้าวตามที่ฝันไว้ ได้รับมอบหมายให้ทำข่าวอยู่ในพื้นที่  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เป็นช่วงปี 2544  อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์รำลึกความหลังว่า งานที่ทำยังเป็นงานทั่วไป ทำสกู๊ปวิถีชีวิตของชาวบ้าน การท่องเที่ยว ความสมบูรณ์ของป่า ฮาลา-บาลา สัตว์ป่า กระทิงเราแทบจะเดินชน ทุกอย่างยังสวยงามและอุดมสมบูรณ์  ตอนนั้น 3 จังหวัดใต้ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงมาก เรายังไปนอนบ้านชาวบ้านได้  เข้าออกพื้นที่ได้  เพื่อนๆที่ปลดทหารไป บางคนไปเป็นทหารที่นั่น บางคนกลับไปทำงานในพื้นที่บ้านเกิด ได้เจอกัน ยิ่งรู้สึกดี

แค่ปีเดียวเกิดการปล้นปืนหน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เขาออกจากป่ามาพอดี  จึงไปทำข่าวนี้ ยังไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งว่า เหตุการณ์จะลุกลามเป็นไฟครั้งใหญ่ สัญญาณส่อเค้าเมื่อต้นปี 2546  เริ่มมีข่าวโจรนินจา  เดือนเมษายนเกิดเหตุชาวบ้านบอกจับตำรวจพลร่มได้ 3 นาย อ้างเป็นโจรนินจา เกิดรุมประชาทัณฑ์มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต สันติวิธี รู้สึกทันทีว่า ชายแดน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่ปกติแล้ว

ปลายปีนั้นเอง เขาต้องลาออกจากต้นสังกัดกลับบ้านเกิดจังหวัดสุรินทร์ ขึ้นศักราชใหม่ไม่กี่วันนั่งดูข่าวปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ตามด้วยเหตุที่มัสยิดกรือเซะ “ผมแปลกใจ  มันเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างเปลี่ยนไปภายในเวลาไม่กี่เดือน  จากภาพของพื้นที่ที่ ผมเคยเห็นแต่ความสวยงาม” เจ้าตัวว่า ท่ามกลางจิตใจที่ร้อนรนอยากกลับลงสนามข่าวอีกครั้ง กระทั่งวันหนึ่ง เพื่อนที่รักกันมาก เรียนและเริ่มต้นทำงานมาด้วยกัน  ดั้นด้นนั่งรถมาจากกรุงเทพฯ ไปหาที่สุรินทร์ เพื่อบอกว่า “มึงควรกลับไปทำงานข่าวที่มึงรัก … ไม่ควรมาอยู่อย่างนี้” 

คำพูดเพียงประโยคเดียว เหมือนมือที่ช่วยฉุดเขากลับคืนมา  หลังจากนั้นไม่นาน สันติวิธีคืนสมรภูมิลงเป็นนักข่าวสายจเร หนังสือพิมพ์ ข่าวสด การทำงานที่ข่าวสดให้อะไรกับผมมาก ทำให้ได้ฝึกการเขียนแบบจิกกัด อารมณ์แบบสกู๊ป แต่พี่ๆ บก. จะมีวิธีให้เรากัดอ่ะ เขียนแบบจิกกัด  ดูมีอะไรทิ้งไว้ให้คนอ่านคิดต่อ แต่ไม่ใช่ความเห็นนะ มันเป็นสไตล์เฉพาะของข่าวสด ฝึกให้เขียน ให้ตบได้ มองกว้างขึ้น สมมติเราจะทำเรื่องรถราง จะมาแทนสิบล้อได้ไหม แล้วอะไรขวางอยู่  นักธุรกิจ หรือการเมือง ฝึกให้เรามองบริบทที่อยู่รอบข้าง ละเอียดขึ้น ลึกขึ้น ไม่ใช่แค่การสัมภาษณ์ แล้วมาเขียนเฉยๆ” หนุ่มสุรินทร์หัวเราะ

ต่อมา รุ่นพี่ที่คุ้นเคยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ติดต่อชวนไปทำทีวี เน้นงานสกู๊ปเหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นหลัก ทั้งที่งานหนังสือพิมพ์ข่าวสดกำลังลงตัว เป็นงานที่ใช่ สุดท้ายทนความตั้งใจเดิมของตัวเองไม่ได้กับคำถามคาใจ เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ด้ามขวานประเทศ  ตัดสินใจตอบตกลงไปในที่สุด เขาให้เหตุผลว่า เหตุการณ์ภาคใต้ในปี 2547 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของประเทศ รู้สึกอยากพาตัวเองไปทำข่าว ถ้าไม่ได้ไป คงเสียดาย ในฐานะนักข่าว แม้จะไปแล้วเงินเดือนน้อยกว่า แต่อยากไป เพราะเป็นประวัติศาสตร์ ที่สำคัญเราเคยอยู่ที่นั่น ตอนที่ไม่มีอะไรเลย เมื่อภาพเปลี่ยนไป เราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คิดว่าตัวเองพลาดอะไรไปเยอะมาก ทำไม ถึงต้องกลับไป

สิ่งที่เขาได้เห็น คือความหวาดระแวงของชาวบ้านที่มีต่อคนแปลก ไม่ใช่ภาพที่เคยสัมผัส จำเป็นต้องปรับตัว ทั้งวิธีการเข้าพื้นที่ การหาข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล แม้นักข่าวจะไม่ใช่เป้าหมาย ก็ต้องระมัดระวัง เป็นช่วงที่การสู้รบหนักมาก สัมผัสภาพสะเทือนใจมากมาย เช่น คนกำลังละหมาดโดนเข้าไปยิงหัว ครูที่กำลังขับรถไปสอนถูกฆ่าแล้วราดน้ำมันเผา สังหารนาวิกโยธิน 2 คน และครูจูหลิง ที่ตันหยงลิมอ วินาศกรรมเมืองยะลา

และกลุ่มอาร์เคเคที่ออกปฏิบัติการทั่วเมืองยะลา แม้กระทั่งระเบิดสนามบินหาดใหญ่ 3 จุด

ผมพยายามที่จะเข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นกลุ่มแนวร่วมในพื้นที่เพื่อหาข้อมูล บางครั้งต้องยกเลิก เพื่อความปลอดภัย  แต่ข้อมูลพวกนี้เราต้องรู้ ต้องมี เพราะมันทำให้เราไม่หลงทาง ไม่ถูกหลอก ไม่ว่าจะใครก็ตาม ไม่สามารถหลอกเราได้  มันใช้ได้กับทุกงาน อะไรก็ตามถ้าเรารู้ให้จริง รู้ให้ลึก เราจะไม่หลงทาง ใครจะมาแถลงเพื่อให้เราเขียนยังไง แต่ลึกๆ สุดท้ายเราก็รู้ของเรา ว่าจริงๆแล้วมันเป็นยังไง การเขียนข่าวแบบคนที่รู้ กับคนไม่รู้ มันจะออกมาต่างกัน”

ภายหลังการรัฐประหารปี  2549 มีการขอความร่วมมือสื่อมวลชนเรื่องการนำเสนอข่าวภาคใต้  ทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทั้งในพื้นที่เอง และการนำเสนอออกไป ประจวบเหมาะกับช่อง 9 เปิดโต๊ะเฉพาะกิจ ทำสกู๊ปโดยเฉพาะ เขาได้ย้ายกลับไปที่กรุงเทพฯ รวมทีมเฉพาะกิจเน้นสกู๊ปเจาะเป็นหลัก  ตามประเด็นที่มอบหมาย เป็นการทำงานที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น เน้นประเด็นสืบสวนสอบสวน ประเด็นตามกระแสต่างๆ เช่น ข่าวจับ 7 คนไทยที่ชายแดนสระแก้ว วีระ สมความคิด ที่ต้องเข้าไปอยู่พนมเปญเป็นเดือนๆ สันติวิธียอมรับว่า แม้จะมีความยาก แต่ก็ชอบในความท้าทาย หรือข่าวคดี ประสาทพระวิหาร ที่กัมพูชาฟ้องเอาที่ดินภูมะเขือ ต้องไปอ่านศึกษาคำพิพากษาเก่าๆ แผนที่ที่ต่อสู้กันมา เรายังคงยึดหลักการทำงานแบบเดิม  คือ การเข้าใจ และรู้ให้จริง รู้ให้ลึก ก่อนที่จะนำเสนอออกไป

ปัจจุบัน สันติวิธี ขยับหน้าที่เป็น 1 ในพิธีกรรายการ “ข่าวดังข้ามเวลา” ของสำนักข่าวไทย รายการแนวสารคดีเชิงข่าวที่นำจุดแข็งของต้นสังกัด หยิบภาพข่าวเหตุการณ์สำคัญๆ ในอดีตที่ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดี นำข่าวเก่า-มาเล่าใหม่ ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น “อย่างที่เรียกกันว่า ข่าวจบ แต่ชีวิตคนจริงๆ ไม่จบ มันกลายเป็นเสน่ห์ ภาพเก่าที่เหมือนไม่ค่อยมีค่า กลายเป็นสิ่งที่ใครๆก็อยากดู เหมือนการทำวิจัย หาข้อมูลเยอะมาก คุยกับคน ตามหาคน บางเคสคนที่อยู่ในข่าว ตอนนั้น 6-7 ขวบ ตอนนี้อายุ 39 ปีแล้ว ต้องไปหาให้เจอว่า เป็นยังไงตอนนี้ บางข่าวเจอแล้วตัดสินใจไม่นำออกมาเสนอ เช่นคดีพันธุ์ สายทอง ฆ่าข่มขืนเด็กอนุบาล ผ่านหลายสิบปี ครอบครัวก็ทำใจไม่ได้ ประเมินแล้ว ตัดสินใจว่า ไม่ไปหาพ่อแม่เขา  และพยายามพูดถึงให้น้อยที่สุด  เพราะมันสะเทือนใจครอบครัวผู้สูญเสียเกินไป”

ทีมรายการข่าวดังข้ามเวลาย้ำว่า กลัวที่สุด คือสภาพจิตใจของคนที่เกี่ยวพันกับเรื่อง แม้จะไม่ได้สัมภาษณ์ แต่เขาเป็นผู้สูญเสีย เป็นเรื่องที่ทำเกี่ยวกับตัวเขา ยอมรับว่า คิดเยอะ เรื่องความรู้สึกคน เพราะรายการยาว 1 ชั่วโมง ก็ละเอียดอ่อนสำหรับคนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบ บางเคสพอเราไปทำ ทำให้เราได้รู้หลายๆเรื่อง ได้เคลียร์ข้อมูลให้ละเอียด อาทิ สัมภาษณ์  ลูเธอร์ ผู้นำก๊อดอาร์มี่ ทำให้ได้รู้ข้อเท็จจริงว่า ก่อนมายึดโรงพยาบาล เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา อะไรเป็นมูลเหตุจูงใจ ที่หลายคนไม่รู้

16 ปี กับเส้นทางของการเป็นนักข่าว คว้ารางวัลจากเวทีต่างๆมาแล้วมากมาย ทั้ง รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประเภท ข่าวสืบสวน ได้ 2 รางวัลชมเชย จาก ข่าวทุจริตบัตรประชาชน  ปี 2552 และ ข่าวลักลอบทิ้งขยะติดเชื้อ  ปี 2556 , ประเภท สารคดีเชิงข่าว รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ได้รางวัลดีเด่น คือ ข่าวซื้อขายไต ปี 2557  ทุกวันนี้ บทบาทหน้าที่มีความท้าทายเข้มข้นมากขึ้นตามประสบการณ์ ถึงกระนั้น เขา ยังอยากพัฒนาผลงานและทำให้ดียิ่งขึ้น

ผมอยากทำข่าวเจาะ ให้เห็นการทุจริตที่ใหญ่ขึ้น  ประเด็นที่ส่งผลกับคนทั้งประเทศ เช่น รัฐบาลมีโครงการหนึ่งมา เราก็อยากตรวจสอบว่า โปร่งใสแค่ไหน  อยากจะทำข่าวที่มันมีประโยชน์กับประเทศชาติจริงๆ ในเนื้อหาที่ใหญ่ขึ้น นั่นเป็นเป้าหมายที่วางไว้ แต่ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่านะ ” สันติวิธีว่า

 

 

RELATED ARTICLES