“ผมจะพยายามไม่ทิ้งแหล่งข่าว เพราะไม่อยากให้เสียสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง”

นข่าวหนุ่มคลุกคลีอยู่ในวงการนานนับ 20 ปี

ปัจจุบันขยับเลื่อนตำแหน่งเป็น “ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์” ด้วยความสามารถในด้านภาษา ด้วยประสบการณ์บนสนามข่าวที่เก็บเกี่ยวสร้างผลงานให้ต้นสังกัดเห็นถึงความรู้ความสามารถ

อนุชา เจริญโพธิ์ ชาวนครสวรรค์ไม่คิดไม่ฝันไม่เหมือนกันจะก้าวมาถึงจุดนี้ หลังจบโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด เขาดั้นด้นมาเรียนต่อวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพราะใจอยากเป็นวิศวกร เรียนไปเรียนมารู้สึกว่า ไม่ใช่ เลยเปลี่ยนใจออกมาติวพิเศษด้วยตัวเองเพื่อกลับไปเอ็นทรานซ์ใหม่ในทันทีที่รู้ว่า สอบเทียบมัธยมผ่านเช่นกัน

ในที่สุดเอ็นทรานซ์ติดที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตามที่เลือกไว้อันดับ 4 เป็นคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษ ด้วยความที่ชอบภาษาเป็นทุนเดิม สำเร็จออกมาได้งานทำเป็นผู้จัดการร้านพิซซ่าฮัท “ผมมีความรู้สึกอยากทำงานที่ไม่ต้องมานั่งตอกบัตร ไม่ต้องนั่งโต๊ะ แต่งตัวอะไรไปทำงานได้ ช่วงนั้น ร่อนใบสมัครงานไปหลายที่มากแล้วเขาก็เรียกมาเยอะ อาจะเป็นช่วงบูมของเศรษฐกิจ และความโชคดีของตัวเอง” อนุชาย้อนเข็มนาฬิกาชีวิต

เขาเล่าว่า ทำอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ลาออกไปขายทัวร์ ตอนนั้นเหมือนจับจดเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ขายทัวร์ภาษาเยอรมันตามที่ถนัดได้ 2 เดือนก็ไม่อยากทำอีก ไม่ชอบ เพราะไม่ใช่ตัวเรา คราวนี้เปลี่ยนไปทำบริษัทประกันติดต่อลูกค่าต่างประเทศได้ใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ทำๆ ไปอยู่ได้ประมาณ 4 เดือน รู้สึกยังไม่ใช่ ก็ลาออกอีก

หนุ่มชาวปากน้ำโพขยับไปทำงานบริษัทก่อสร้าง ทำหน้าที่คล้ายเลขานุการของบริษัท เอาเข้าใจพอวิศวกรโยนงานเอกสารให้พิมพ์ เขารู้ทันทีว่า ไม่มีทักษะด้านการพิมพ์ดีดเลย ไม่ทันข้ามวันเขาก็เดินหันหลังให้บริษัทออกมาหน้าตาเฉย และเป็นการตกงานครั้งแรกนับตั้งแต่จบออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัย เตะฝุ่นอยู่ 15-16 วัน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เรียกไปเทสต์

อนุชาจำแม่นว่า ถูกสั่งให้ออกไปทำข่าวเกี่ยวกับบัตรทางด่วน ให้ไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว ทั้งที่จับต้นชนปลายไม่ถูก ไปแบบงู ๆ ปลา ๆ ไม่มีประสบการณ์ด้านการหาข่าว อายุเพิ่ง 22 ปี ถือว่าเด็กมากกับงานตรงนี้ ทำเสร็จก็มั่วเขียนเป็นข่าวส่งให้ไป ไม่รู้เหมือนกันว่า เขาจะเรียกเข้าทำงานหรือไม่ แต่ถามว่า ถ้าจะมาเริ่มงานจริงๆ จะมาเริ่มได้เมื่อไหร่

สุดท้ายอนุชาถูกเรียกมาสัมภาษณ์อีกครั้งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพนักข่าวยืนหยัดยาวนานไม่ย้ายสังกัดกินเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ประเดิมอยู่ประจำโต๊ะข่าวอาชญากรรม “ที่เลือกมาเป็นนักข่าว อาจเพราะเป็นคนที่เสียนิสัย อาจจะมั่นใจ คิดว่า เด็กจบปริญญาตรีก็เก่งแล้ว และมันก็อยู่มาได้นะ อาจเป็นด้วยลักษณะงานมันไม่ต้องตอกบัตร ไม่ต้องอะไร ไปสัมภาษณ์ไปนู่นไปนี่ เจอสถานการณ์ต่างๆ ก็อยู่มาได้จนทุกวันนี้ อีกอย่างหนึ่งอาจเป็นคนที่ชอบภาษาอังกฤษมั้ง มันมีโอกาสเรียนรู้ องค์กรนี้ให้โอกาสเรียนรู้เรื่องภาษาเยอะมาก สามารถพิมพ์ข่าวเป็นภาษาอังกฤษได้เลย”

        

นักข่าวหนุ่มถูกส่งประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล ไม่กี่เดือนเกิดคดีฉ้อโกงระดับโลกในคดีธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือบีบีซี ที่มีพ่อมดการเงิน “ราเกซ สักเสนา”ตกเป็นผู้ต้องหา เขาเลยโดนไปทำข่าวอยู่กองบังคับการตำรวจสืบสวนคดีเศรษฐกิจในสมัยนั้น เจ้าตัวบอกว่า เป็นคดีที่สื่อมวลชนให้ความสนใจมาก เราก็ด้วยความที่เจ้านายคงเห็นว่า อยู่สายตำรวจอาจจะมีความเข้าใจคดีอย่างดีเลยจับย้ายไปประจำอยู่ที่นั่นนานหลายเดือน จากไม่รู้จนรู้บ้างเอามาเขียนเป็นข่าว ช่วงนั้นยังมีโอกาสศึกษาการเขียนงานภาษาอังกฤษทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านศัพท์ในคดีอีกไม่น้อย

ถัดจากนั้น เขาโดนโยกอีกครั้งไปประจำศาล จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวเป็นการใหญ่เพื่อให้เข้ากับธรรมชาติของศาล อนุชาเล่าว่า เราไม่สามารถเดินเข้าทุกตึกทุกชั้นได้เหมือนองค์กรตำรวจทั่วๆ ไป  เวลาจะไปเข้าห้องไหนก็ต้องขออนุญาต ขณะที่เขาก็มองเราอย่างเด็กๆ กว่าจะเข้าแหล่งข่าวไม่ใช่เรื่องง่ายทุกวันก็ต้องเดินไปดูหมายคดี คดีดำ คดีแดง อะไรบ้าง อันไหนควรจะเป็นข่าวก็ต้องไปเปิดแฟ้มดู ต้องยอมรับว่า หนังสือพิมพ์ไทยกับหนังสือพิมพ์ฝรั่งก็ไม่เหมือนกัน สมัยก่อนบางกอกโพสต์จะเลือกข่าวเป็นคดีที่ชาวต่างชาติเกี่ยวข้อง คดีที่รุนแรง เป็นคดีเกี่ยวกับบุคคลที่สำคัญประมาณนั้น

ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวหัวฝรั่งรำลึกต่อว่า แต่การประจำอยู่ศาลก็ได้เรียนรู้ ได้รู้จักผู้พิพากษา อัยการ เป็นว่าเล่น แต่ก็อยู่ไม่นาน โดนโยกอีกครั้งกลับไปประจำกรมตำรวจอีกราว 4-5 ปี ได้ประสบการณ์ตรงรู้จักคนมากขึ้น เพราะอย่างกองบัญชาการตำรวจนครบาลก็แค่หน่วยงานเดียว ขณะที่กรมตำรวจเป็นการได้เรียนรู้ในภาพกว้าง ดูนโยบายต่างๆ ที่ออกมาแล้วกระจายไปอยู่ตามสถานีต่างๆ

“ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ใหญ่ระดับนายพล ตอนนั้นเราก็เด็ก อายุเพิ่ง 20 กว่าๆ ไปสัมภาษณ์คนระดับอายุ 50 เขายังคุยกับเรานะ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี แม้บางครั้งอาจจะตั้งคำถามแบบเด็กๆ จนโดนต่อว่ามาบ้าง ก็เรียนรู้กันไป เป็นประสบการณ์ ปัจจุบันกับตำรวจบางคนยังไปมาหาสู่กันอยู่ วงการตำรวจก็มีทั้งคนที่จริงใจ อยากคบ ไม่อยากคบก็แล้วแต่ บางคนคบเฉพาะหน้างาน บางคนก็คบกันลึกลงไป”

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงปรับโครงสร้างส่วนราชการ กรมตำรวจยกเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทว่าอนุชากลับถูกโยกไปอยู่ประจำกระทรวงยุติธรรม ยุค พงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรัฐมนตรี เปลี่ยนแนวมาอยู่ข่าวการเมือง บางวันไปอยู่รัฐสภา ถามว่า ชอบการเมืองหรือไม่ เขาตอบทันทีว่า ไม่เคยชอบ แต่ด้วยที่มีการเปลี่ยนแปลงภายในต้นสังกัดจึงจำเป็นต้องทำตามคำสั่งของหัวหน้าที่น่าจะไว้เนื้อเชื่อใจถึงกล้าส่งไปทำข่าว เปิดโอกาสให้ได้ศึกษาดูงาน รู้จักนักการเมือง รู้เรื่องการเมืองจริงจัง ต้องขยันอ่านข่าว อ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าเก่าเพื่อได้รู้จักว่า ใครเป็นใครมากขึ้น

วนเวียนทำข่าวรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ประมาณ 7 ปี นักข่าวหนุ่มเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยกองบรรณาธิการ มีหน้าที่บริหารข่าวในภาพรวมแต่ละวัน แต่ละข่าวแต่ละหน้ามีอะไรที่ต้องติดตาม “บางครั้งก็ต้องแปลงานเขียนเองด้วย เช็กข่าวเองด้วย ผมจะพยายามไม่ทิ้งแหล่งข่าว เพราะไม่อยากให้เสียสิ่งที่มีอยู่ในตัวเอง บางทีสัปดาห์เดียวไม่ได้คุยกับใครก็หงุดหงิดนะ เคยเหมือนกันที่อาทิตย์สองอาทิตย์ไม่ได้คุยกับใคร แล้วเราเหมือนว่าจะไม่รู้เริ่มยังไง จะตั้งคำถามยังไง”

“มันจำเป็นต้องฝึกฝนขัดสีฉวีวรรณไปเรื่อยๆ” อนุชามองแบบนั้น เขาว่า จะพยายามยกหูโทรศัพท์หาแหล่งข่าว และออกลงพื้นที่ในงานเอ็กซ์คลูซีฟบ้าง ควบคู่กับการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมกระทั่งจบปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะเดียวกัน ยังมีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษ สอนภาษาอังกฤษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เรื่องการเขียนข่าว ก่อนลงเรียนปริญญาโทด้านเรื่องการแปล ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ล่าสุดกำลังเรียนปริญญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นด็อกเตอร์ในเร็ววันนี้

ประสบการณ์มากมายหลายอย่าง อนุชาอยากจะฝากมุมมองให้นักข่าวรุ่นใหม่ว่า สมัยนี้นักข่าวไม่ได้มองว่า ทำข่าวดีแล้วหรือยัง เพราะการทำข่าวต้องทำการบ้านให้หนัก การถามคำถามก็ควรจะต้องถามคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อคนทั่วไป ไม่ใช่ประโยชน์ต่อแหล่งข่าว จะสังเกตเห็นว่าปัจจุบันเราจะเห็นคำถามที่เป็นประโยชน์กับแหล่งข่าว ทั้งที่บริบทเดียวกัน คำถามมันควรจะถามไปทางอื่นๆ แต่นักข่าวเลือกที่จะไม่ถาม

ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์แนะนำว่า ควรตั้งคำถามไปเลย ไม่ต้องกลัวแหล่งข่าวโกรธ  เรามีหน้าที่ของเรา คือ นำเสนอสิ่งที่เป็นจริงเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นความถูกต้องให้สังคมรับรู้ การแสดงออกในการตั้งคำถาม สมมติว่า คำถามนั้นไม่เป็นคุณกับแหล่งข่าว ก็มีสไตล์ที่จะถามให้คำถามนั้นดูซอฟต์ลงได้ บางครั้งก็สังเกตเห็น มีนักข่าวถามแบบกระแทกกระทั้น เหมือนเอามีดไปเชือดคอแหล่งข่าวแบบนี้ มันก็ไม่ใช่

“เรื่องการบ้านที่ต้องทำ ต้องติดตามข่าว โดยเฉพาะข่าวการเมือง คนทั่วๆ ไปก็ไม่ได้ติดตาม แต่นักข่าวต้องตามตลอด ไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้าไม่ตาม คุณก็จะเคว้งประมาณนั้น” อนุชาบอกและฝากมุมไปถึงแหล่งข่าวด้วยว่า ให้เข้าใจธรรมชาติของนักข่าว มันก็เหมือนหมาล่าเนื้อก็ต้องเอาให้ได้ เราเคยเป็นนักข่าวมาก่อน เราก็โดนบีบคั้นมาอีกที ถึงเรามาเป็นบรรณาธิการมันก็หนีไม่พ้น

เขาทิ้งท้ายว่า ชีวิตนักข่าวมีเสน่ห์ ไปไหนมาไหนมีคนให้เกียรติมากกว่าคนที่จะไม่ให้เกียรติ เป็นอาชีพที่เมืองไทยถือว่า ได้รับการยอมรับ อีกอย่างโอกาสที่คนจะเข้ามาเป็นนักข่าวมันก็ไม่ได้ง่าย “อย่างผมเข้ามาตั้งแต่วัยรุ่นจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ เป็นใครก็ไม่รู้ยังได้โอกาสสัมภาษณ์คนระดับนายพล รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี คนที่จะได้มีโอกาสอย่างนี้มีไม่เยอะ เป็นอาชีพที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจ”   

 

 

RELATED ARTICLES