“ผมต้องนักเลงคนเดียว คนอื่นนักเลงไม่ได้ ผมไม่ยอม”

มือสืบสวนสอบสวนรุ่นลายครามผ่านประสบการณ์มากมาย

พล.ต.ท.ธรรมนิตย์ ปิตะนีละบุตร อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ทำหน้าที่รองหัวหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 4 คน เกิดบนเรือระหว่างล่องในแม่น้ำนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม จบโรงเรียนเทพศิรินทร์ ก่อนเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 14 ลงบรรจุเป็นผู้หมวดอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา นาน 4 ปีแบ่งพื้นที่แตกไปอยู่กิ่งอำเภอสนามชัยเขต

ขยับเป็นผู้กองอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี พื้นที่รบกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เขตติดต่ออำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เจ้าตัวบอกว่า เริ่มต้นงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมจากตรงนั้น สมัยก่อนมีคดีคนร้ายปล้นความถี่ครั้งละ 10-30 ตัว ต้องเดินตามตั้งแต่ 3 ทุ่มยันสว่างไล่จากรอยเท้าควายที่เจ้าของจะจำแม่น ถ้าพบรอยมีน้ำขุ่นๆ แสดงว่า ใกล้แล้ว ถ้าน้ำใสก็ยังไกลอยู่ บางทีง่วงต้องไปเกาะต้นไม้หลับ ยุงกัด ริ้นกัด แต่ก็ต้องไปต่อ พยายามเดินก้าวตามให้ทันชาวบ้าน ไม่ให้ทิ้งระยะห่าง เพราะถ้าเช้า ชาวบ้านพื้นที่อื่นจะปล่อยควายมาทำให้เราสับสนในการติดตาม

“ต้องจับให้ได้ก่อนสว่าง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ใกล้สว่างแล้ว มันเอาควายที่ขโมยมา ไปผูกไว้กอไผ่แล้วลงไปอาบน้ำ เข้าใจว่าจะรอเอาขึ้นรถ พวกผมตามไปทันปะทะกันเดือด ยิงตายหมด 5-6 คน ตั้งแต่นั้นเงียบสนิท อยู่ตรงนั้นชาวบ้านรักเรา เดี๋ยวนี้ก็ยังรัก  สมัยปี 2515-2516 มีนักศึกษารวมตัวเดินขบวนขับไล่ให้ผมย้าย เพราะผมค่อนข้างจะมีระเบียบ จับพวกจิ๊กโก๋ อันธพาลรังแกชาวบ้าน ผมยอมไม่ได้ พวกล้มโต๊ะ ล้มเก้าอี้ ขว้างแก้วแบบนี้ต้องจับ ศาลลงโทษ 3 เดือน ถ้าผมไม่ออกไปตรวจตลาด คนจะบ่น มาก่อม็อบไล่ แต่สู้ผมไม่ได้ เพราะชาวบ้านเอาผม”

ถึงกระนั้นก็ตาม พล.ต.ท.ธรรมนิตย์ยังไม่วายเป็นคดีความกับทนายอิทธิพลในพื้นที่จนโดนฟ้องร้องกันถึงศาลทหาร ต่อมาคู่กรณีไปถูกยิงที่ประจันตคาม คนขับรถตาย ตัวทนายบาดเจ็บ “เขาวิ่งมาที่บ้านผม มาจับฝากระโปรงรถผมว่า ร้อนไหม ทั้งที่ผมไม่เคยคิดในสมองจะไปจ้างคนนั้นไปยิงคนนี้ ผมไม่รู้หรอกว่า เขาไปโกรธใคร แต่พอขึ้นศาล ก็จะไปบอกว่า ผมทำ พยายามจะหาเรื่องเรา ไปฟ้องตำรวจกองปราบแทนที่จะฟังพวกเดียวกันกลับมาบอก ไม่มีมูล หมาไม่ขี้ ไม่เยี่ยว ผมจำแม่นเลย ไปเชื่อฝ่ายทนาย แต่ก็ไม่เป็นไร ไม่คิดอะไร เพราะผมไม่ได้ทำ”

ทำงานอยู่กบินทร์บุรี พล.ต.ท.ธรรมนิตย์เล่าว่า  มีงานชิ้นโบว์แดงลงข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อคนร้ายปล้นเอาพระแก้วนิลกาฬ พระพุทธรูปที่ชาวตำบลบ่อทอง อำเภอกบินทร์บุรีให้ความเคารพสักการะและศรัทธา เชื่อว่าเป็นพระแก้วองค์ที่ 2 รองจากพระแก้วมรกต พยายามติดตามจนไปได้คืนกลับมาจากบ้านอำเภอที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี แม้จะไม่ได้ผู้ต้องหา เพราะมีการต่อรองกันไว้ขอพระคืนอย่างเดียว ระหว่างทางกำลังกลับปราจีนบุรีเกิดอภินิหารไหม ไม่ขอลบหลู่

อดีตผู้กองติดตามพระคู่บ้านคู่เมืองคืนสู่อ้อมศรัทธาของชาวบ้านเล่าต่อว่า ขับรถไปคนเดียว พระอยู่ในถุงผ้าวางไว้ข้างเกียร์ พอถกผ้าลงมาก็พูดในใจว่า พระอะไรไม่น่าแพงขนาดองค์ละ 2-3 แสนบาท เชื่อไหมว่า รถกระตุกจอดเสียตรงนั้นเลย ครั้งแรกเฉย ๆ ไม่คิดอะไรตามประสาคนหนุ่ม ติดต่อเรียกรถจี๊บตำรวจกลับไปตั้งหลักที่สัตหีบใหม่ วิ่งมาถึงพนัสนิคมเสียอีก  คิดว่าจะทำเป็นเล่นไม่ได้แล้ว เลยตั้งใจสวดภาวนากว่าจะไปถึงกบินทร์บุรี  ชาวบ้านบอกว่า นี่คือ อภินิหารของพระพุทธรูปองค์นี้

พ้นจากกบินทร์บุรีย้ายเป็นสารวัตรอยู่อรัญประเทศ ปราจีนบุรี ช่วงสถานการณ์ชายแดนกัมพูชากำลังคุกรุ่น ตำรวจบางคนเจอพิษการเมืองเล่นงานติดคุกไปด้วย แต่เขารอดมาได้เพราะย้ายออกมาก่อน เป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี และรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ขึ้นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี

พล.ต.ท.ธรรมนิตย์ลำดับความหลังว่า ยุคนั้นเมืองเพชรบุรีเสมือนเป็นดงมือปืน มีคดียิงกันสู้กันแบบโบราณ ต่างจากชลบุรีที่มีแต่นักเลงผลประโยชน์ แม่บอกว่า ลูกทำไมเลือกมาคุมเมืองเพชร เพราะฟังข่าวทุกเช้ามีแต่คดียิงกัน ปรากฏว่า เรากลับไปได้คะแนนที่เพชรบุรี เพราะไม่มีนอกกติกา ทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบ และกฎหมาย เพิ่มการตรวจเข้มแข็ง บ่อนการพนันไม่ให้มี ของหนีภาษีไม่ให้มี เพราะมือปืนยังชีพด้วยบ่อน ของหนีภาษี

“ลื้อไปที่อื่น ลื้ออยู่ที่นี่ไม่ได้ ผมทำแค่นี้อาชญากรรมก็ลดแล้ว พวกเจ้าถิ่นไม่ยอมก็ไม่ได้ ผมต้องนักเลงคนเดียว คนอื่นนักเลงไม่ได้ ผมไม่ยอม ผมทำอย่างนี้ ผมจึงได้ชื่อเสียง ได้ใจผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงอธิบดีณรงค์ มหานนท์ ที่ผมปราบปรามเพชรบุรีได้อยู่ เพราะผมไม่เอา อย่ามาให้ผม ต้องขอกัน ผมถึงอยากต้องสอนตำรวจน้องๆ ว่า ถ้าคุณจะไปปราบ ต้องไม่เกี่ยวข้องอย่างนี้ ต้องทำให้ได้ ผมเป็นผู้กำกับคนเดียว เอาชีวิตเป็นเดิมพัน กลางคืนต้องออกปะทะ ไม่มีนักเลง มือปืนมันไม่กล้าออกมากลางคืน ต้องออกมากลางวัน ไม่มีหมายจับ เราไม่จับ ต้องมีหมายจับ ผมถึงได้คะแนนนิยมอย่างดี” ตำนานผู้กำกับจังหวัดเพชรบุรีว่า

คุมสถานภาพอาชญากรรมเมืองเพชรนาน 3 ปี โยกไปอยู่จันทบุรี ก่อนขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจภูธร 3 รองผู้บังคับการตำรวจภูธร 2 เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธร 2 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร 1 ถึงขึ้นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจทำหน้าที่รองหัวหน้าตำรวจภูธรภาค 1 ตามโครงสร้างใหม่ และเป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจทำหน้าที่รองหัวหน้าตำรวจภูธรภาค 4 ก่อนเกษียณอายุราชการ

เจ้าตัวว่า รับราชการอันยาวนานจนเกษียณอายุในหน่วยงานตำรวจภูธรภาคตลอดไม่เคยเปลี่ยนสายงาน เป็นทั้งสายตรวจเดินเท้า สายตรวจรถจักรยาน 2 ล้อ พนักงานสอบสวน ยามว่างเว้นจากการสอบสวนก็ออกตรวจทำให้รู้จักพื้นที่ สามารถตัดสินใจในการปิดล้อมตรวจค้นติดตามคนร้ายได้ง่าย รู้จักตัวบุคคล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า ประชาชน การตัดสินใจในความเชื่อถือตัวบุคคลตลอดจนที่มาของข่าวสารข้อมูลกอปรกับการเป็นพนักงานสอบสวนเมื่อทราบถึงพฤติกรรมของพยาน ผู้ต้องหา ย่อมสามารถใช้ความรู้ความชำนาญในการรวบรวมพยานหลักฐานนำไปสู่ผู้ต้องหาได้

“ในการทำงานต้องมีความจริงใจจริงจังอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แม้จะเป็นงานที่ค่อนข้างจะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะอดทนก็จะต้องทำ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละต่อประชาชน สุจริตชนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง การแสดงออกจากประชาชนที่มาใช้บริการจะบ่งชี้เจตนาอย่างชัดเจน เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งให้เรามีความก้าวหน้าในชีวิตรับราชการ แต่ที่จะลืมเสียไม่ได้ คือ ต้องมีความจริงใจกับผู้บังคับบัญชา แม้จะมีอุปสรรคบ้างก็ต้องอดทนและเผื่อแผ่ไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหนทางหนึ่ง” พล.ต.ท.ธรรมนิตย์ระบุหลักการทำงานไว้ในวันถอดหัวโขน

เขาบอกว่า ผู้บังคับบัญชาสมัยก่อนให้ตำแหน่งลูกน้องจากฝีมือการทำงาน มีส่วนทำให้เราทำงานเต็มที่ ไม่ได้คิดอย่างอื่น มุ่งมั่นทำงานยันปีสุดท้ายก่อนเกษียณอายุตอนอยู่ภูธรภาค 4 เป็นคดีตัวอย่างในการขยายผลจับแก๊งโจรกรรมรถยนต์มาจอดขายตามเต็นท์รถมือสองกว่า 40 คันที่ยึดมาจากชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ตอนแรกตำรวจท้องที่ไม่ทำอะไร ผ่านสองสามเดือนก็ยังเฉยต้องตั้งกรรมการแล้วหาตำรวจมือดี 6-7 คนแบ่งสำนวนสอบปากคำรวบรวมพยานหลักฐานอยู่ปีกว่าส่งพนักงานอัยการศาลพิพากษาจำคุกแก๊งคนร้ายรวมกันหลายสิบปี และนำรถคืนเจ้าของไปได้

“การทำงานต้องใช้เวลา ผมไม่ได้เก่ง แต่ขยัน คิดว่า ทำอะไรก็ได้ให้ผู้ต้องหาติดคุก ก่อนเกษียณยังมีคดีที่สำคัญคือคนร้ายปล้นร้านทองแล้วยิงตำรวจตายที่อำเภอมัญจาคีรี ขอนแก่น เป็นวันอาทิตย์ ผมกลับมากรุงเทพฯ ต้องนั่งเครื่องกลับไป ตำรวจตามมาทั้งวันจะขอกลับก่อนเพราะเห็นว่า เย็นแล้ว ผมตอกไปว่า คุณจะกลับไม่ได้ คุณต้องหาคนมาแทนคุณ ส่วนผมไม่กลับ นอนบนศาลาประชุมวางแผนว่า ต้องทำอะไรต่อไปในพรุ่งนี้เช้า”

อดีตรองหัวหน้าตำรวจภูธรภาค 4 เล่าต่อว่า คนร้ายหนีขึ้นเขา เราสั่งให้ตำรวจล้อมเอาไว้ และขอขึ้นไปสำรวจ มีศักดา เตชะเกรียงไกร อาสาไปด้วย เราประกาศไว้ว่า ถ้าไม่ได้ตัวจะไม่กลับ กระทั่งเย็นของอีกวันจับได้ 1 คนพร้อมทองของกลาง เหลืออีก 3 คน ยังต้องล้อมกันข้ามวัน สุดท้ายปะทะกันดุเดือนคนร้ายตายหมด เพราะคนร้ายยิงตำรวจก็ต้องต่อสู้กัน เป็นคดีที่ทำตอนบั้นปลายชีวิตราชการ คลุกคลีอยู่ร่วมกับลูกน้อง

ตำนานมือปราบภูธรยังมีข้อคิดฝากถึงตำรวจรุ่นน้องด้วยว่า ปัจจุบันอายุย่างเข้า 83 ปี กินเงินบำนาญมาประมาณ 23 ปี อยากจะเล่าตรงนี้ เพราะดูว่า เงินบำนาญตลอด 23 ปีเฉลี่ยเดือนละ 6 หมื่นบาท ปีหนึ่งคิดตัวเลขกลม ๆ ก็ราว 7 แสนบาท คิดระยะ 23 ปี เท่ากับรับเงินหลวงมาแล้ว 16 ล้านบาท นี่คือ ผลของการรับราชการที่องค์กรตำรวจได้ตอบแทนมา

  “สิ่งที่ผมจะบอกตำรวจทุกคนว่า อย่าเพิ่งไปน้อยใจองค์กรตัวเอง น้อง ๆ  ต้องคิดว่า ไอ้ขั้นที่ได้ตั้งแต่รับราชการกินมาจนถึงบัดนี้เป็นจำนวนเท่าไหร่แล้ว มันจะหมดก็ต่อเมื่อเราตาย เงินเดือนที่รัฐบาลออกให้ก็ตรงเวลา และมีเงินฌาปนกิจอีก อยากบอกกับข้าราชการตำรวจทุกคนให้ตั้งใจทำงานเอา 2 ขั้นกินไปจนตาย อยากจะบอกไว้ว่า องค์กรเลี้ยงคุณนะ อย่าท้อถอย ไม่ใช่ว่าเหนื่อย ย้อนกลับไปแล้วจะเห็น ยังมีองค์กรดูแลเราอยู่ นี่คือ ผลดีของตำรวจ” 

อีกเรื่องที่เขาอยากฝากทิ้งท้ายเป็นงานสอบสวนหัวใจหลักของตำรวจที่เราจะรู้ข้อเท็จจริงดีกว่าคนอื่น แม้จะถึงเวลากินไม่ได้กิน เวลานอนไม่ได้นอน เพราะสำนวนสอบสวนคาอยู่ ต้องทำ ขยันดูแลชาวบ้าน ทำความดีกับคนที่ดีๆ จะคบกันอีกนาน ขอให้ตั้งใจทำงานดูแลประชาชน อย่าลืมว่า ประชาชนจะรักตำรวจ ถ้าเราตั้งใจทำงาน พวกเขาจะเห็นเอง

          ธรรมนิตย์ ปิตะนีละบุตร !!!

RELATED ARTICLES