“ต่อไปเกษม แววงามจะเหลือแค่ตำนาน มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ”

นักหนังสือพิมพ์รุ่นลายครามที่ยังคงวนเวียนอยู่ในภาคสนามข่าวด้วยวัย 71 ปี

เกษม แววงาม แสดงให้เห็นพลังแห่งการมุ่งมั่นที่จะเก็บข่าวส่งต้นสังกัด “ไทยโพสต์” ไม่แพ้เหยี่ยวข่าวรุ่นหลาน แถมเอาประสบการณ์กว่า 50 ปีที่คลุกคลีอยู่กับข่าวอาชญากรรมมาเล่าเป็นวิทยาทานสอนแก่นักข่าวน้องใหม่ต่างยุคเสมอ

“บางทีมันอายเหมือนกันนะ นักข่าวรุ่นหลานมาพูดว่า ไม่ต้องมาก็ได้ เห็นเราอายุเยอะแล้วโทรศัพท์มาก็ได้ เราบอกไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นก็น่าเกลียด ทุกวันนี้ก็กวนมากแล้ว แต่จะกวนเกินไปถ้ามานอนอยู่ที่บ้านแล้วให้เด็กเล็กส่งข่าว” คนข่าววัยชราระบายความในใจพิสูจน์ไฟทำงานที่ยังมีอยู่เต็มตัว

เขาเกิดที่พระนคร บิดาเป็นร้อยเอกนายทหารกรมแผนที่ทหาร ส่วนมารดาเป็นแม่บ้าน จบโรงเรียนตะละภัฏศึกษาละแวกแพร่งภูธร ก่อนก้าวตามรอยพี่ชายไปเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ หลังฝึกล้างฟิล์มอยู่ในห้องมืดอยู่พักใหญ่กว่าจะได้คว้ากล้องไปกดชัตเตอร์บันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายเรื่องราวของเมืองไทยในยุครัฐบาลเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ช่วงแรกมีโอกาสทำงานเป็นช่างภาพเคียงข้างชาญชัยศรี พลกุล เจ้าของนามปากกา “โดม แดนไทย” นักหนังสือพิมพ์คนดังที่เคยสร้างชื่อในการแกะรอยคดีฆาตกรรมพระนางเธอลักษมีลาวัณย์ สมาชิกพระราชวงศ์ชั้นสูง ที่ถูกคนร้ายลอบปลงพระชนม์ที่วังพญาไทลงตีพิมพ์ใน “พิมพ์ไทย” ยุคแรก

เป็นโอกาสให้เกษม ช่างภาพวัยหนุ่มเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานข่าวอาชญากรรมจนมีดีกรีติดตัว เขายังจำผลงานข่าวชิ้นแรกในชีวิตได้แม่นยำเป็นข่าวลูกสาวกังวาน วีระนนท์ เจ้าพ่อบางนกแขวก ฆาตกรรมอำพรางสามีเอาศพไปฝังดิน เกษมเล่าว่า โดมบอกลองไปทำดู ตอนนั้นเป็นช่างภาพให้เขา แกขี้เกียจ ทั้งที่เราพยายามปฏิเสธ เพราะเป็นข่าวใหญ่ไม่เคยทำมาก่อน สุดท้ายก็ทำได้ เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถทำข่าวและถ่ายรูปไปด้วย เป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว

แต่เส้นทางในอาชีพนักข่าวของเกษมกลับต้องระหกระเหินร่อนเร่อยู่บ่อยครั้ง เปลี่ยนสังกัดเป็นว่าเล่น อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ทำให้ธุรกิจหนังสือพิมพ์ปิดตัวลงไปหลายแห่ง ตั้งแต่อาณาจักรไทย เกียรติศักดิ์ เดลิไทม์ พิมพ์ไทย ดาวสยาม เดลิมิเร่อร์ และข่าวสดยุคเก่า แต่จะมีบางช่วงที่เขาไปเป็น “สตริงเกอร์”ส่งข่าวให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์อีกด้วย

ประสบการณ์คนข่าวที่เกินกว่าค่อนชีวิต เกษมประทับใจไม่น้อยกับการที่ได้รับโอกาสเป็นช่างภาพส่วนพระองค์ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปในหลายพื้นที่ มันเป็นภาพความทรงจำที่ตัวเขาไม่มีวันลืม “มีอยู่ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯ ขึ้นดอยมูเซอ ผมก็วิ่งรอบดอยคอยดักว่าพระองค์จะเสด็จฯ ผ่านมา เพราะวิ่งนำหน้าพระองค์ไม่ได้ วิ่งไปวิ่งมาก็พักเหนื่อยอยู่ริมทาง พระองค์ทรงเสด็จฯผ่านมาพอดี ทรงตรัสว่า อย่าวิ่งนักสิเรา ทำเอาผมอึ้งเลย พูดอะไรไม่ถูก”  

อีกภาพความประทับใจของนักข่าวรุ่นเก่าคนนี้ คือ การได้ไปอยู่ในสนามรบที่ประเทศกับพูชาช่วงเขมรแตกให้หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ มี อิ๊ว-สายัณห์ พรนันทารัตน์ เป็นช่างภาพ ถึงขั้นลงทุนซื้อเครื่องรับวิทยุราคาเรือนหมื่น และได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างคุ้มค่า เพราะเป็นคนเดียวที่ได้ข่าวเครื่องบินมิกมาทิ้งระเบิด

เกษมเล่าว่า ได้ข่าว และภาพแม่ทัพไปดูหลุมระเบิดฉบับเดียว เพราะรู้ข่าวเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่ค่ายร่มเกล้าจากเครื่องรับวิทยุที่ซื้อมา สมัยนั้น อารีย์ วงศ์อารียะ ยังเป็นนายอำเภอตาพระยา เป็นข่าวที่สร้างความอือฮามาก เพราะอเมริกาเชื่อว่า มีการนำเครื่องบินที่มีอานุภาพสูงมาร่วมรบด้วย ตรงกันข้ามกับนักข่าวต่างประเทศ ที่ต่างก็ไม่เชื่อว่า จะมีเครื่องบินมิกของรัสเซียที่ทหารเวียดนามใช้มาป้วนเปี้ยนในสงครามครั้งนั้น

ทั้งนี้เขายังมีส่วนชี้เป้าให้สายัณห์ ช่างภาพที่ไปด้วยกันคว้ารางวัลภาพยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย “ผมเป็นคนชี้ให้มันถ่ายเอง ตอนไปตาพระยา เห็นทหารยืนอยู่หน้าค่าย เอาหัวทหารเขมรมาเสียบไว้ ผมมองว่า ถ้าจัดฉากขึ้นมาหน่อยน่าจะดีแน่เลยเรียกทหารตรงนั้นมาถามว่า เอ็งกล้ามั้ย ทหารคนนั้นก็สงสัยถามกลับมาว่า ทำไมล่ะพี่ ผมเลยบอกให้เอาหัวทหารเขมรมันเสียบดาบปลายปืนชูขึ้นโชว์หน่อยได้มั้ย อยากปล้นคนไทยดีนัก ปรากฏว่า เขาก็ทำตาม ผมก็ให้สายัณห์ถ่ายรูปได้รางวัลภาพยอดเยี่ยมเลย”

ถึงแม้เป็นเพียงสตริงเกอร์ แต่เกษมวนเวียนทำข่าวเขมรแดงอยู่นาน กระทั่งต้นสังกัดบางกอกโพสต์อยากรับไปเป็นพนักงานตัวจริง ติดแค่ “เท่ห์ จงคดีกิจ” บอสใหญ่ไม่อนุมัติ ไม่ชอบ และไม่รู้เหตุผลอะไร เกษมมองว่า อาจเป็นที่ตัวเขาตอนนั้นค่อนข้างหัวแข็งไม่ยอมคน อะไรที่ตัวเองไม่ผิดจะไม่ยอมเด็ดขาด ถึงจะมีเงินเดือนสูงเขาก็ไม่ยอม ตรงนี้ละมังที่เป็นให้เกษม แววงาม ไม่มีโอกาสเข้าสังกัดบางกอกโพสต์เต็มตัว

“ผมอยู่มาหลายที่ บางฉบับอยู่จนเลิกกิจการ ที่ไหนสบายใจผมก็อยู่นาน ไม่สบายใจก็ไป ไม่ชอบให้คนมาจุกจิกจู้จี้ ไม่ค่อยแคร์อะไร เพราะพ่อเป็นข้าราชการตกงานก็กลับบ้านอาศัยพ่อกิน เคยก้าวหน้าเป็นถึงหัวหน้าข่าวตอนพิมพ์ไทยยุคแรก และข่าวสดสมัยเผด็จ ภูริปฏิภาณ โรงพิมพ์อยู่สีลม รู้จักตำรวจแบบสนิทสนมไม่กี่คน เพราะปกตินิสัยผมก็ไม่ค่อยชอบเข้าไปอะไรกับตำรวจ นอกจากเรื่องงานจริง ๆ ที่เชื่อใจกันได้จะมีแค่ ไกรสิงห์ พิมลศรี สุวรรณ รัตนชื่น คุยได้ทุกเรื่อง เปิดแฟ้มดูกันได้ แต่ห้ามอัดเทป ให้ใช้ความจำเอา ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้”

ยุคสุดท้ายก่อนหนังสือพิมพ์เดลิไทม์จะปิดตัวลง เกษมเป็นนักข่าวตระเวนยังเคยสัมผัสเหตุการณ์รัฐประหารของกลุ่มยังเติร์ก เขาจำได้ว่า มีข่าวแว่วถึงเรื่องปฏิบัติ แต่ไม่รู้เวลาแน่นอน คืนนั้นตอนตี 3 นั่งรถตระเวนออกจากโรงพักลุมพินีเจอรถถังพอดี ก่อนบอกให้ช่างภาพถ่ายรูปไว้ก่อน จากนั้นรีบขึ้นรถเปิดวิทยุฟังได้ยินเสียงเพลงมาร์ช 4 เหล่าส่งสัญญาณบ่งบอกถึงการปฏิวัติรัฐประหาร “ผมรีบโทรศัพท์ปลุกเจ้าของโรงพิมพ์ที่บ้าน ตอนแรกเขาไม่เชื่อ จนผมต้องเอาวิทยุที่มีเสียงประกาศคณะปฏิวัติแนบกับหูโทรศัพท์ เขาถึงเชื่อ พอเข้าโรงพิมพ์ ผมก็บอกให้โอเปอเรเตอร์ปลุกช่างเรียงพิมพ์ ช่างแท่น ติดต่อนักข่าวทุกคน สรุปแล้วเช้าวันนั้นมีหนังสือพิมพ์เดลิไทม์ฉบับเดียวที่ตีพิมพ์ข่าวปฏิวัติ”

มาถึงปัจจุบัน เกษมมองว่า การทำงานข่าวต่างกันเยอะ เมื่อก่อนตัวใครตัวมัน สมัยนี้มันเกาะกลุ่ม ข่าวหนีกันไม่ได้ ดูง่ายกว่าเมื่อก่อน เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยมากขึ้น อย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเทป โทรศัพท์มือถือ การเข้าถึงแหล่งข่าวก็ง่าย ทว่าเนื้อหาของข่าวยังไม่ค่อยมีมิติ ข่าวไม่ลึก มีข้อดีแค่ นักข่าวรุ่นใหม่ๆ เอื้อเฟื้อกันดี แต่สิ่งหนึ่งที่จะสอนให้นักข่าวรุ่นหลานเสมอ คือ การทำข่าวต้องแน่นอน อย่าเอาเด็ดขาดพวกเต้าข่าว ต้องเช็กแล้วเช็กอีก ตลอดชีวิตการทำข่าวตัวเองก็ไม่เคยถูกฟ้อง ถึงพยายามสอนรุ่นเด็กว่า อย่าไปเชื่อข่าวมากนัก ต้องไปเช็กต่อด้วย ต้องเช็กถึง 3 คนที่เราไว้ใจ ถ้าใกล้เคียงกันถือว่า ผ่าน

นักหนังสือพิมพ์มากประสบการณ์ยอมรับว่า ครั้งหนึ่งตัวเองอยากปิดฉากอาชีพกลับไปอยู่บ้านปลดระวางพ้นวงการข่าว แต่มาคิดทบทวนก็รู้สึกว่าอยู่บ้านมารู้ทำอะไร เสียสุขภาพจิตมากกว่า นั่งมองฝาห้อง มันก็หงุดหงิด ดึก ๆ ก็ไม่รู้จะทำอะไร ชีวิตมันผูกพันอยู่กับข่าวมานาน ไอ้เรื่องจะมานั่งฟังเพลง ดูละคร เราทำไม่ได้อยู่แล้ว ออกมายังเจอเพื่อนเจอฝูงเจอนักข่าวรุ่นหลาน อย่างน้อยได้ออกมาดูข่าวที่จะต้องส่งต้นสังกัดว่า อันไหนสำคัญ อันไหนไม่สำคัญ ดูด้วยว่าข่าวที่ส่งไปโอเคหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คนข่าววัยชราตั้งใจไว้แล้วเหมือนกันว่า ปีนี้คิดว่า คงเป็นปีสุดท้ายแล้ว แม้ไม่รู้ต้นสังกัดจะต่อสัญญาอีกหรือไม่ เริ่มเบื่อ เริ่มรู้ตัวแล้วว่า ทำงานไม่เต็มร้อยเหมือนเมื่อก่อน ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปตะลอนเก็บข่าวไกล ๆ บางทีไปไม่ไหวต้องไปกวนคนอื่น ไม่อยากจะกวนถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ

“ต่อไปเกษม แววงามจะเหลือแค่ตำนาน มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ” เจ้าตัวยิ้มก่อนถอนหายใจเฮือกใหญ่

 

 

 

RELATED ARTICLES