“ผอ.แสงชัยบอก เฮ้ย มึงไม่ต้องไปแล้วกรมตำรวจ เอ็งอยู่นี่ เดี๋ยวกูให้เป็นหัวหน้าข่าวกีฬาของฝ่ายวิทยุเลย”

ดีตนักข่าวประจำกรมตำรวจที่สนิทชิดเชื้อกับอธิบดีกรมปทุมวันมาแล้วหลายรุ่น

วันนี้ผันตัวเองไปจับงานจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับด้านกีฬาตามประสาคนเก่งมากประสบการณ์ในรายการ “มอร์นิ่งทอล์ก บอกเล่าชาวกีฬา” ทุกเช้าวันจันทร์ถึงศุกร์ ทางคลื่นเอฟเอ็ม 99

คนนั้นก็คือ “ป๋าแป๊ะ” ยุทธพงศ์ วิชัยดิษฐ์ นักข่าว อสมท ที่ครั้งหนึ่ง พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำองค์กรสีกากีไว้วางใจให้ช่วยเป็นกระบอกเสียงเสนอข่าวความเคลื่อนไหวภายในกรมตำรวจ

ยุทธพงศ์เกิดที่เกาะสมุย ไปโตที่ท่าชนะ สุราษฎร์ธานี เป็นลูกข้าราชการ พ่อเป็นป่าไม้อำเภอออกปราบปรามผู้มีอิทธิพลบุกรุกทำลายป่าจนถูกยิงตายต่อหน้าต่อตาเด็กน้อยวัยเพียง 5 ขวบอย่างเขา

แม้กำพร้าพ่อตั้งแต่เด็ก แต่ยุทธพงศ์ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากผู้เป็นแม่ เข้ากรุงเทพฯมาจบมัธยมปลายโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย อยากเป็นนายอำเภอ เพราะชีวิตชินชากับข้าราชการ เขาบอกว่า สมัยก่อนทุกวันศุกร์พ่อจะพาไปนั่งสโมสรฟังเพลงสุนทราภรณ์ ดูลีลาศ เห็นชีวิตข้าราชการมีความสุขดี รู้จักเมนูไก่ 3 อย่างตั้งแต่ตอนนั้น เป็นเมนูชั้นเยี่ยมของสโมสร แม่โขงแบน โซดา 2 ขวด ไก่ 3 อย่าง รอตั้งนานไม่เห็นมีไก่มาสักที กระทั่งพ่อบอกว่า ก็นี่ไงถั่ว ตะไคร้ กุ้งแห้ง เมนูไก่ 3 อย่าง เล่นเอาขำกลิ้ง

เขาเล่าว่า ไปลงเรียนรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมัครสอบเข้าราชการ 2-3 ครั้ง ตั้งแต่กรมพัฒนาชุมชนจะส่งไปให้ไปอยู่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เงินเดือนแค่ 2 พันบาท คิดว่าถ้าไปคงเสร็จแน่เลยปฏิเสธ ต่อมามีงานเป็นผู้คุมเรือนจำคอยคุมผู้ต้องหาที่มารายงานตัวอยู่เชียงใหม่ ก็ไม่เป็น ขณะที่อาให้ไปสอบผู้คุมอีกที่สงขลา ใกล้บ้าน เห็นว่า ตอนนั้นมีงานเป็นฝ่ายขายที่สยามกลการอยู่แล้ว เนื่องจากตัวเองเคยไปเล่นดนตรีเลยเลือกทำงานตรงนี้

“หากทำงานราชการเต็มที่ก็เงินเดือน 3พัน แม่โขงตอนนั้นแบนละ27 บาท เบียร์สิงห์ขวดละ 17 บาท ผมอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าอยู่ป่านนี้แค่ระดับ 8 ระดับ 9 อยู่บ้านนอก” ยุทธพงศ์บอกประวัติชีวิตวัยรุ่น เขาทำงานเป็นเซลขายเครื่องดนตรีอยู่ 5ปี เศรษฐกิจเริ่มถดถอย ปี 2530 ฝ่ายถูกบีบให้ทำยอด ระหว่างขับรถไปทำงาน ได้ยิน อสมท ประกาศรับผู้สื่อข่าวพอดี คิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ ประกอบกับเป็นงานที่มั่นคงด้วย เขาเลยตัดสินใจเลี้ยงรถไปสมัครสอบวันสุดท้ายพอดีด้วย มีคนสมัคร 1,250 คน เป็นเซลแมนคนเดียว นอกนั้น มาจากหนังสือพิมพ์ กับนักข่าวทีวี รับแค่ 18 คน

 “บังเอิญเหมือนโลกมันกลม หรือว่าเราทำอะไรไว้มันจะมาสนองบุญคุณกับเราอยู่เสมอ ก็ไม่รู้ เพราะตอนเรียนอยู่ปี 3 ราชันย์ ฮูเซ็น ลงสมัคร ส.ส.ประชาธิปัตย์  มีรุ่นพี่คนหนึ่งให้ไปช่วยหาเสียง ขาดทีมงานประมาณ 5-6คน ผมไปนั่งพูดไมค์บนรถหาเสียงให้ พอเข้ามาสมัคร อสมท ต้องสอบข้อเขียน 60 เปอร์เซนต์ถึงได้สอบสัมภาษณ์ ปรากฏว่าผ่าน เพราะผมชอบการเมือง อ่านหนังสือพิมพ์มาตั้งเด็ก ไทยรัฐอ่านครบทุกหน้าตั้งแต่สมัยอยู่ ป.4 ไม่ได้เฉพาะบันเทิง กีฬา กลายเป็นคนที่รู้หลายเรื่องโดยไม่รู้ตัวเอง พอเรียนรัฐศาสตร์ก็ชอบการเมือง ข้อสอบ 100ข้อจะเป็นการเมืองประมาณ 50 ข้อ ที่เหลือเศรษฐกิจ สังคม ความรู้ทั่วไปอีก 50 ข้อ ส่วนการเขียนข่าว ได้เอกสารจากสำนักข่าวไทย แฟนเอามาให้จากมติชน ไม่เคยฝึกมาก่อนเลย อาศัยอ่านเอา มีโปรยหัว แล้วเขียน ขยายความ หรือย่อความเท่านั้นเอง เราก็ดู จับหลักได้ให้เขียน 3 ข้อ สุดท้ายสอบผ่าน พอสอบสัมภาษณ์ เห็น ผอ.ราชันย์อยู่ก็เลยยกมือสวัสดีครับ ถามว่าจำผมได้มั้ยครับ แกจำได้ เลยติดโดยปริยาย”

หลังสอบเข้าทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสังกัดสำนักข่าวไทย หรือ อสมท ยุทธพงศ์เล่าว่า มีการถามความสมัครใจใครจะไปประจำรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงมหาดไทย แต่ตัวเองนั่งอยู่คนเดียวไม่รู้จะไปไหนดี เขาบอกยุทธพงศ์ไม่ต้องเลือก มีกรมตำรวจไปเลย เราก็ไม่รู้อะไรเลย ต้องไปเป็นนักข่าวประจำกรมตำรวจบัดเดี๋ยวนั้น มีรุ่นพี่สอนอยู่ 2 วัน พาไปรู้จักคนนั้น รู้จักคนนี้ ก่อนปล่อยให้ทำเอง

อดีตนักข่าววงการสีกากีที่หลายคนรู้จักกันดีในนามแป๊ะ อสมท เล่าอีกว่า ตอนนั้นนักข่าวส่วนใหญ่ไม่จบปริญญาตรี มีรุ่นเก่า ๆ เดินกัน สไตล์ทำข่าวอีกแบบ เราก็ทำอีกแบบ เริ่มเลียบเคียงไปนั่งคุยแลกเปลี่ยน ตามรุ่นพี่ ๆ เข้าไป มีพี่คนหนึ่งคือ อรุณ ลานเหลือ อยู่บางกอกโพสต์ ก็เข้าไปฝากตัว เพราะเราไม่รู้อะไรจริง ๆ แกก็ชวนไป ความที่เรานั่งคุยก็ได้รู้จักแหล่งข่าวเยอะ ตอนหลังก็ไปคุยเอง

ยุทธพงศ์ไปประจำกรมตำรวจตั้งแต่ยุค พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ เป็นอธิบดีตอนปลาย ต่อด้วย พล.ต.อ.เภา สารสิน พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ และพล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ที่ถึงขั้นซี้ปึกตีปิงปองกันแทบทุกวันที่ห้องผู้สื่อข่าวประจำกรมตำรวจอาคาร 13 ชั้น “ตอนอธิบดีเภาผมเริ่มเดินเข้าทุกห้อง ไม่ต้องพึ่งนักข่าวคนอื่นแล้ว คนอื่นต้องมาลอกผมบ้าง เป็นข่าวออกสำนักข่าวไทย ให้หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ เอาไปใช้ แต่พอมีกีฬาแห่งชาติ กีฬาซีเกมส์ ทีมข่าวโทรทัศน์ไม่พอ เขารู้ว่าผมชอบกีฬา และทำได้จึงเรียกไปช่วยเป็นเฉพาะกิจอยู่เรื่อย ๆ” ยุทธพงศ์บอกถึงก้าวแรกในการทำข่าวกีฬา

กระทั่งศึกฟุตบอลโลกที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพ แสงชัย สุนทรวัฒน์ ผอ.อสมท เรียกสุทธิชัย บุนนาค ผอ.ฝ่ายสื่อข่าวและข่าววิทยุ อสมท เข้าไปหารือต้องหาทีมงานมารายงานสดฟุตบอลโลกทางวิทยุเป็นเจ้าแรกของประเทศ ยุทธพงศ์เลยถูกดึงไปเป็นหัวเรือใหญ่ฟอร์มทีมงานที่มี พัชระ สารพิมพา ถวัลย์ ไชยรัตน์ เป็นมือซ้ายมือขวาคอยรับมุกส่งมุก บรรยายเกมฟุตบอลทางวิทยุแบบไม่เห็นภาพกว่าจะจบตีสี่ตีห้า จัดไปสักพัก ดังระเบิดเถิดเทิงตั้งแต่เบตงยันเชียงราย มันเป็นปรากฏใหม่

“คนเปิดจอทีวี แต่ไม่ฟังเสียงพากย์จากทีวี มาฟังพวกเราแล้วไม่ง่วง เพราะเรามีมุกเยอะมาก มีของรางวัลแจกด้วย พอดังมาก ผอ.แสงชัยบอก เฮ้ย มึงไม่ต้องไปแล้วกรมตำรวจ เอ็งอยู่นี่ เดี๋ยวกูให้เป็นหัวหน้าข่าวกีฬาของฝ่ายวิทยุเลย ผมก็โอเค ปรากฏว่า ท่าน สมบัติ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้บัญชาการสอบสวนกลางบอกไม่ได้ ไม่มีแป๊ะ ไม่มีใครคุมข่าวให้ ผมสนิทกับอธิบดีสวัสดิ์มาก คลุกคลีเหมือนพี่น้องกัน ผมกลายเป็นกระบอกเสียงของตำรวจไปแล้ว ผมถึงกลับไปช่วยทำข่าวที่กรมตำรวจก่อน”  

เขาบอกว่า เมื่อก่อนชีวิตเกลียดตำรวจมาก พอไปอยู่เบื้องลึกจริง ๆ ตำรวจน่าสงสาร ที่เกลียด เพราะทางปักษ์ใต้เขาเรียกตำรวจว่า นาย ภาพลักษณ์ไม่ดี ตำรวจจะข่มเหงราษฎรอยู่เรื่อย ๆ พอมาศึกษาจริง ๆ โครงสร้างของตำรวจน่าสงสารเรื่องเงินเดือน การบังคับบัญชาที่มีการเมืองเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ เงินเดือนตำรวจตอนนั้นคุยกับหลายอธิบดีว่า ไม่ได้นะ จบ ม.3 มาฝึก 6 เดือนเป็นพลตำรวจ ถือปืนได้ด้วย แต่เงินเดือนให้ 4 พันบาท มอเตอร์ไซค์ต้องมี ปืนต้องพก ก็ต้องผ่อนแล้วเอาที่ไหนกิน เคยเสนอตอนนั้นทำไมไม่เอาปริญญาตรีนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์มา เลิกโรงเรียนพลตำรวจไป แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ปัจจุบันก็ยังไม่เกิด

นักข่าวกรมตำรวจรุ่นเก่ายอมรับว่า ทำหน้าที่กระจายข่าวให้ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ แต่ไม่ใช่กระบอกเสียงส่วนตัว เพราะเห็นอธิบดีสวัสดิ์ทำเพื่อสังคม ถือเป็นนายตำรวจมือสะอาด เราต้องคัด ไม่ใช่ทำหน้าที่ให้หมดทุกคน ข่าวบางข่าวบางทีสร้างภาพที่ดีให้แก่องค์กรเราก็ทำ บางทีคิดข่าวให้ด้วยซ้ำ เหมือนกับเอาข่าวดี ๆ ให้น้อง ๆ ไปใช้กัน ไม่ใช่ข่าวโกหกมดเท็จ เหมือนคุมภาพข่าวให้เป็นไปในทางถูกต้อง ไม่ใช่ผู้นำนักข่าว เราทำในทิศทางที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า สื่อมวลชนกับตำรวจมันน่าไปด้วยกันได้ เราก็ได้ข่าวดี ๆ ลึกมาเหมือนกัน

“ตอนนั้นข่าวตำรวจร้อนแรงมาก ถูกผลกระทบจากพฤษภาทมิฬ ทหารดุมาก ใครเป็นผู้นำแรงงานต่างๆก็ถูกตาม ผมเป็นประธานสหภาพที่ อสมท อธิบดีสวัสดิ์ยังห้ามโทรศัพท์ถึงกัน เพราะถูกดักฟัง เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ไม่นานอธิบดีสวัสดิ์ถูกย้ายไปสำนักนายกฯ อธิบดีประทินมาแทน ผมก็กลับเข้าไปข้างใน หัวหน้าคนหนึ่งโกรธมากหาว่า ช่วงนั้นผมไปวิ่งไม่เข้ามา ทั้งที่ผมอยากจะแย่ จน ผอ.แสงชัยเสีย การเมืองเข้ามาแทรกแซง ผมก็ไปอยู่ฝ่ายประชาสัมพันธ์”

แต่แล้วก็ถึงโอกาสของยุทธพงศ์ที่จะกลับมาแจ้งเกิด เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 4- กำหนดคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ผู้ถือครองต้องบริหารจัดการเอง ห้ามให้เช่าช่วง คลื่นวิทยุ อสมท มี 6 คลื่นต้องเลิกให้เช่า เป็นยุคมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ นั่งผู้บริหารสร้างบุคลิกใหม่หมด อาทิ ทำให้คลื่น 95 เป็นคลื่นลูกทุ่ง คลื่น 99 เป็นคลื่นเฉพาะคอกีฬาที่ขณะนั้นสยามกีฬายึดครองอยู่ “สุทธิชัย บุนนาค เรียกผมไปคุยให้ไปรักษาการระดับ 8 ควบรักษาการ ผอ.คลื่นระดับ 9 มีคนแค่ 5คนให้บริหารคลื่นเอฟเอ็ม 99 กัน ทำผังรายการเสร็จ เชิญคนมาจัดรายการ แค่ประชุมวันเดียว ข่าวรั่ว ผู้จัดผมหายไป 5 คน ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว งานนี้เขาไม่ยอมแล้วแน่ ผมเฉย ๆ ไม่ก็ไม่มา ผมต้องไปดึงคนอื่นมาทำแทน ควงจัดรายการวันละ4-5 ชั่วโมง”

“เริ่มต้นเลิกทาสกับสยามกีฬาแบบสมัย ร.5 ทำแบบนิ่มนวล แบ่งเวลา 5 โมงเย็นถึงตี 5 เป็นของเขา รายงานสดฟุตบอลอะไรเรื่องของเขา ส่วนตี 5 ถึง 5 โมงเย็น พวกผมบริหาร ให้เวลา6 เดือน จากนั้นจะขยับอีก ทำเป็นช่วงให้เขาหายใจ ทำกลางวันอยู่ 6เดือน พอทำเต็มตัว24 ชั่วโมงรู้สึกว่าหนักมาก หาคนมาทำไม่ได้ถูกกีดกันหมด ทำอยู่ 2 ปีเริ่มเห็นว่า กีฬาเป็นเอนเตอร์เทน ต้องทำให้สนุกสนาน แค่ 2 ปีเรตติ้งขึ้น แซงจนพวกเขาตามไม่ทัน เพราะมัวหลงตัวเองว่าเป็นเจ้าแห่งกีฬาในประเทศเจ้าเดียว ผมทำผังรายการเอาคนมาจัดให้สนุก เน้นสไตล์อย่าซีเรียส ข้อมูลเหมือนกันแต่เราให้ฮาไว้”  

“ชีวิตเปลี่ยนไปเลย ถ้าทำงานแล้วสนุกกับมัน มันท้าทาย ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราอาจเป็นคนที่ไม่เพอร์เฟกต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่คนถือศีลกินเจ กินเหล้าเที่ยวผู้หญิงทุกอย่างเหมือนกัน แต่คนเราต้องเป็นคนดีได้ คนเก่งได้ คบกับคนที่ไม่เอาเปรียบเขา เขาก็ไม่เอาเปรียบเรา ส่วนใหญ่จะอยู่แบบแลกเปลี่ยนกัน” ยุทธพงศ์บอกอุดมการณ์ทำงานของตัวเอง

ท้ายที่สุด เขาอยากฝากแง่คิดถึงองค์กรสีกากีด้วยว่า ตำรวจน่าสงสาร นักการเมืองจะไม่ให้โอกาสปรับโครงสร้าง ไม่มีโอกาสปรับขั้นเงินเดือน เพราะต้องการให้ตำรวจเดินตามนักการเมือง ในขณะที่อัยการผู้พิพากษา ทหาร โครงสร้างเงินเดือนไปไกลกว่าแล้ว ตอนเรียนมาพอ ๆ กัน อำนวยความยุติธรรมเหมือนกัน ทำไมโครงสร้างเงินเดือนต่างกัน

“จะมามองว่า พอเป็นผู้กำกับ เป็นนายพลก็รวยแล้ว แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นล่ะ เหมือนเรื่องโยกย้ายแต่งตั้ง บางคนวิ่่งแล้วได้ ได้แล้วก็ต้องถอนทุน กลายเป็นวัฏจักรปฏิบัติกันมาถึงปัจจุบันนี้ เมื่อก่อนไม่เยอะขนาดนี้ เพราะไม่มีใครอำนวยความยุติธรรมให้แก่ตำรวจด้วยกัน ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าคนได้รับความเป็นธรรมเท่ากัน ทำดีได้ดี ไม่ใช่ได้ดีเพราะเป็นคนของใคร มันก็เหนื่อย ประชาชนก็พึ่งตำรวจยาก”

 

RELATED ARTICLES