“ไม่มีคดีไหนที่ทำง่ายสักคดี ตำราของผม คือ แผนประทุษกรรมคนร้าย”

เคยมีชื่ออยู่ในบัญชีเลื่อนตำแหน่งขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 แต่เจ้าตัวตัดสินใจยื่นใบลาออกทั้งที่ยังเหลืออายุราชการอีก 3 ปี ท่ามกลางความงุนงงของเหล่าบรรดานักสืบเมืองหลวง

พ.ต.อ.ปกรณ์ กิตติวัฒน์ ผู้กำกับสืบสวนฝีมือดีพิชิตคดีดังมากมายทำไมถึงคิดแบบนั้น ไม่มีใครหยั่งรู้นอกจากตัวของเขาเอง

เส้นทางชีวิตของ พ.ต.อ.ปกรณ์ เป็นเด็กโพธาราม ราชบุรี ลูกคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน มี พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ นายกสมาคมตำรวจ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจเป็นพี่ชายคนโต พล.ท.ประพันธ์ กิตติวัฒน์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงกลาโหมเป็นพี่คนที่ 5 และยังมีน้องสาวเป็นอดีตนางแบบชื่อดัง แต้ม- รุ่งนภา กิตติวัฒน์

ทันทีที่เรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี  โรงเรียนประจำอำเภอ เขาดั้นด้นเข้ากรุงมาเรียนคณะนิติศาสตร์บัณฑิตรุ่น 5 มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ใช้ชีวิตแบบเด็กบ้านนอกไม่มีเพื่อนฝูง ไปอยู่กับพี่ชายคนโตที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายเวร พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ หลังได้วุฒิปริญญาตรี พี่ชายให้ไปลองสมัครสอบนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นพิเศษที่ต้องการกำลังพลส่งไปชายแดน แต่มีคนสมัครน้อย โอกาสน่าจะสอบติด พ.ต.อ.ปกรณ์คิดอะไรไม่ออก ประกอบกับไม่มีงานทำจึงทำตามคำแนะของพี่

“ผมไม่ค่อยมีเพื่อน มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่มีชั้นเรียน ตอนปี 3 เคยอยู่พรรคสัจธรรม เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 19 นักศึกษาส่วนใหญ่ในพรรคหนีเข้าป่าหมด เหลือผมคนเดียว ไม่เข้าป่ากับเขา เพราะคิดถึงแม่ คิดถึงพี่ชายที่เป็นตำรวจ กำลังมีชื่อเสียง สอบได้ที่ 1 โรงเรียนนายร้อย อยากรักษาชื่อเสียงพี่ชายไว้” พ.ต.อ.ปกรณ์ย้อนเรื่องราวก่อนเข้าสู่วงการสีกากี

เด็กหนุ่มโพธารามสอบติดนายร้อยตำรวจรุ่นพิเศษตามคาดก่อนเข้าฝึกอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นเวลา 11 เดือน จากนั้นไปบรรจุเป็น รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่ร้อยเวร เข้าบ้าง ไม่เข้าบ้าง พ.ต.อ.ผาด ดวงฤทธิ์ เป็นผู้กำกับภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการปราบปรามคอมมิวนิสต์ของเมืองไทยเห็นหน่วยก้านเขาจึงเรียกไปช่วยงานมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุด “จักจั่นลอกคราบ” ในแผนตลบหลังผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ นอนอยู่นอกโรงพักติดอาวุธเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เวลาคอมมิวนิสต์โจมตีที่ไหนหน่วยปฏิบัติการชุดนี้จะทำหน้าที่ไปจัดการ

เพียงปีเดียวจากตำรวจนักรบนอกตำราพาชีวิตเปลี่ยนเป็นไปนั่งสนามบินดอนเมือง สังกัดตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด้วยแรงหนุนของพี่ชายที่เป็นนายเวรอธิบดีกรมตำรวจ “ผมขอย้ายไปลงพื้นที่ภูธรภาค 1 พี่ให้ไปลง ตม. ผมไม่รู้ด้วยซ้ำ ตม.เป็นยังไง ไปอยู่จริง ๆ ไม่อยากอยู่เลย เคยจับปืนกับลูกน้อง ต้องกลายเป็นตำรวจประทับตราหนังสือเดินทาง  ลูกน้องจากสุราษฎร์มาเยี่ยมยังรู้สึกอับอายมาก ร้อยตำรวจตรีปกรณ์ กิตติวัฒน์ มานั่งสแตมป์พาสปอร์ต” ผู้กำกับหนุ่มใหญ่ระบายความขมขื่นในอดีต

พอดี พล.ต.ต.สุนทน มีนะโตรี คุมเรื่องสืบสวนของ ตม.เห็นมาดจึงดึงเขาไปอยู่หน่วยสืบ สวน ตม.เข้าไปทำงานสืบสวนครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี 2525 เปิดเกมคดีทลายปลอมแปลงหนังสือเดินทางตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต ตามแกะรอยขยายผลถึงขบวนการส่งลูกหมูออกนอกประเทศชนิดที่หัวหน้าชาวไต้หวันยอมเสนอสินบน 3 ล้านบาทเพื่อแลกอิสรภาพ แต่เขาปฏิเสธ “ผมไม่เอา ผมอยากมีชื่อเสียง เพิ่งเป็นร้อยตำรวจโท ผมภูมิใจมากกับผลงานชิ้นนี้”

“อีกคดีตอนที่อยู่ ตม. ผมเป็นคนแรกของเมืองไทยที่เปิดเกมจับนิโกรค้าผงขาว สมัยก่อนไม่มีใครรู้เรื่องเลย  ไปได้ที่โรงแรมประดิพัทธ์ สะพานควาย ยึดของกลางหนักถึง 14 กก. ด้วยความซนของตัวเอง ผมไปโรงแรมเจอเด็กเคาน์เตอร์ เด็กเชียร์แขก ปากก็ถามไปเรื่อย เฮ้ยมีอะไรแปลก ๆ หรือเปล่าวะ เช่น ผู้หญิงอยู่กับผู้หญิง ผู้ชายอยู่กับผู้ชาย ได้รับคำตอบว่า มีผู้หญิงอยู่คู่ในม่านรูดเป็นนิโกร ผมก็เข้าไปดู บอกเป็นเจ้าหน้าที่ ตม. ปรากฏว่า พวกนั้นวิ่งหนี พอวิ่งหนีก็จบแล้ว ทุกอย่างจบเลย”   

6 ปีทำงานอยู่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พ.ต.อ.ปกรณ์พยายามขอมาอยู่กองกำกับการสืบสวนเหนือ เพราะจับคดีที่นั่นมาเกือบหมดแล้ว อยากไปทำงานที่สืบสวนเหนือที่ดังมาก อยากทำวิสามัญคนร้ายกับเขาบ้าง แต่พี่ชายไม่ยอม บอกต้องเป็นพนักงานสอบสวน สุดท้ายไปลงร้อยเวร สถานีตำรวจนครบาลบางรัก ทำชีวิตกระท่อนกระแท่น ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก่อนย้ายไปเป็น รองสารวัตรสืบสวนพลับพลาไชย 1 เจอเจ้าหน้าที่สืบสวนที่รู้จักมาก่อนต้องเรียกพี่ เรียกอา เรียกน้า เพราะเขาโตที่แฟลตตำรวจสวนมะลิ  ทำให้เกรงใจเลยไม่ค่อยได้เวิร์กงานเท่าไรไม่ซู่ซ่าเหมือนสมัย ตม. ที่ตอนนั้นทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด

ต่อมาย้ายเป็นสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เจอคดีประวัติศาสตร์คนร้ายชาวตะวันออกกลางซุกระเบิดซีโฟร์ยัดแทงค์เตรียมถล่มสถานทูตอิสราเอลใกล้แยกเพลินจิต พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมาคุมคดีทุกวัน ทำให้ พ.ต.อ.ปกรณ์ได้รับความรู้วิชาสืบสวนสอบสวนจากนายพลระดับปรมาจารย์ของวงการตำรวจท่านนี้ ในเรื่องการสืบและสอบ  พลิกได้ทั้งสืบเป็นสอบ สอบเป็นสืบ พอ พล.ต.ท.โสภณ ขึ้นเป็นผู้นำนครบาล เขาเลยเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ถูกส่งลงไปเป็นสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง โรงพักเปิดใหม่แยกมาจากหัวหมาก ท่ามกลางการคัดค้านของพี่ชายว่า “เอามันไปได้อย่างไร” แต่ พล.ต.ท.โสภณกล้าการันตีว่า “แล้วมาดูกัน คนอย่างนี้ ทำงานไม่หลับไม่นอน รับรองแจ๋ว”

และแล้ว พ.ต.อ.ปกรณ์ก็ไม่ทำให้ผู้ใหญ่ผิดหวัง เมื่อตั้งหน้าตั้งตาทำงานสร้างชื่อให้กับโรงพักถึงขนาด พล.ต.ต.คงเดช ชูศรี ตอนนั้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือจะเอาไปอยู่กองสืบสวนเหนือด้วย แต่โดนพี่ชายเบรกไว้อีกครั้ง “มีคดีปล้นหมู่บ้านธารารมย์ ท่านอนันต์ ภิรมย์แก้ว เป็นผู้การเหนือ บอกกรณ์คดีนี้ไม่ต้องให้สืบเหนือเขาทำ กรณ์ทำไม่ได้หรอก ผมบอกท่านครับ ขอไม่เกิน 15 วัน ขอทำด้วย ผมเป็นสารวัตรสืบสวน คดีพื้นที่ผม ปรากฏวันที่ 4 ไปเกี่ยวคนร้ายคนหนึ่งได้ แต่ปิดข่าวไว้จะขยายต่อเอง พอดีท่านคงเดชเรียกไปประชุมคดีนี้ที่ บก. ด้วยความขี้เกียจประชุม ผมเลยสารภาพบอกได้ผู่ต้องหามาคนนึงแล้ว ท่านคงเดชให้ รองปรีชา ธิมามนตรี สารวัตรบรรลือศักดิ์ ขลิบเงิน และทีมงานสืบเหนือมาช่วยทำ ตามกันทั้งวันทั้งคืน”

กระทั่งเกิดการดวลปืนสนั่นคอนโดมิเนียมย่านพระโขนง พ.ต.อ.ปกรณ์กับลูกน้องเกือบไปเฝ้ายมบาล หัวหน้าแก๊งปล้นมีประวัติฆ่าตำรวจเคยติดคุกตลอดชีวิต พอเอาเข้าจริงติดไม่กี่ปีก็ออกมาร่วมก๊วนตระเวนปล้นสาดกระสุนยิงใส่ พ.ต.อ.ปกรณ์ ไปโดนดาบตำรวจโรงพักวังทองหลางบาดเจ็บ แต่สุดท้าย คงเดช ชูศรี ปรีชา ธิมามนตรี อาจารย์กับลูกศิษย์มือปราบพระกาฬจัดการจับตายคนร้ายคาห้อง

“คดีนี้ได้จากการแกะรอย ผมเดินกับลูกน้องแค่ 3 คน ตั้งสมมติฐาน ปล้น 2 ทุ่ม รถติด คนร้ายใช้รถยนต์ ทำไมหนีได้ แสดงว่า ต้องอยู่ละแวกนั้น ประกอบกับท่านโสภณสอนมา ไอ้นี่ต้องอย่างนั่น ไอ้นั่นต้องอย่างนี้ การสืบสวนต้องปิดหัวปิดท้ายปิดหน้าปิดหลัง ปิดด้านข้างด้านเคียง ปิดหมด ผมถึงทำอะไรช้าเพื่อจะได้เอาข้อมูลมาประกอบให้มากที่สุด พอดีคดีนี้เร็วหน่อย ข้อมูลที่ 2 ได้มาก็ป๊อกเลย หาตัวเชื่อมได้ขยายผลทันที” นายตำรวจนักสืบเผยเคล็ดวิชา

ตลอดการเป็นสารวัตรสืบสวนวังทองหลาง 2 ปี เขาทำคดีอุกฉกรรจ์ 20 คดี ออกหมดทุกคดี ก่อนขึ้นเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน แกะรอยล่า “เล็ก ลำตะคอง” ที่ฆ่าผู้หญิงถีบทิ้งสวนหย่อมข้างห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว จากที่ไม่รู้ว่าเหยื่อสาวเป็นใครสืบสวนจนรู้ตัว  และรู้เป็นฝีมือ “เล็ก ลำตะคอง” นักฆ่าหน้าหยกที่มีประวัติฆ่าผู้หญิงมาหลายราย

“ผมไม่ชอบคดีที่รังแกผู้หญิง ผมถึงจริงจังมาก” พ.ต.อ.ปกรณ์ย้ำอุดมการณ์ตัวเอง ก่อนระบายความอึดอัดว่า “ทุกคนมักมองผมมุทะลุ ผมว่า ผมอึดนะ ตลอดชีวิตราชการ ผมไม่เคยได้กำลังใจในการทำงาน เป็นรองสารวัตร 13 ปี ทำผลงานเปิดเกมจับนิโกรค้ายาเสพติด แต่ไม่ได้เคยได้ 2 ขั้น เพราะระบบ ผมไม่ชอบระบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไร ต้องทน”

อยู่โรงพักพหลโยธิน 6 เดือน กองกำกับการสืบสวนเหนือ ใต้ และธนบุรี เปลี่ยนโครงสร้างแบ่งเป็นกองกำกับการสืบสวนสอบสวน 1-9 พ.ต.อ.ปกรณ์ถูกส่งไปถิ่นเก่าเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล4 มีโอกาสร่วมทำคดีมากมายในยุคนักสืบเฟื่องฟูเคียงข้าง พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ ก่อนขึ้นเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 4 นาน 4 ปีต้องสลับไปเป็นผู้กำกับสืบสวนนครบาล 3 จนเจอมรสุมชีวิตโดนเด้งไม่เป็นธรรมไปอยู่กองกำกับการอำนวยการภูธรจังหวัดสิงห์บุรี

 “ ตอนแรกใจหาย แต่ด้วยความที่เจออะไรมาเยอะ หวังให้เขาชมยังมีคนมาตวาด  ความเจ็บปวดเจอมาเยอะ ถึงตอนนั้นไม่มีความเจ็บปวดแล้ว ถือเป็นคนไร้โชคอยู่แล้ว อาจเสียความรู้สึก แต่ไม่เจ็บปวดเหมือนคนอื่นเขา เพราะไม่ค่อยมีคำชมจากใคร ไม่ค่อยมีรางวัลชีวิตแก่ตัวเอง เลยเฉยๆ รู้จักกับบางคนช่วยแทบตายจนเขาเป็นเศรษฐีร่ำรวย พอโดนย้ายไปสิงห์บุรีบาทนึงเขาก็ไม่เคยให้ผม เจ็บมาเยอะ ไม่ถามว่า ผมลำบากมั้ย เหนื่อยมั้ย เป็นเรื่องธรรมดาในการที่โดนอะไรบ่อย ๆ แต่ต้องขอบคุณท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ให้โอกาสผมกลับมาทำงานอีกครั้ง”

การกลับมาของ พ.ต.อ.ปกรณ์ สามารถคลี่คลายคดีสำคัญอีกหลายเรื่อง อาทิ ปิดเกมจับแก๊งตีนแมวรายใหญ่เครือข่าย “หมูสปรก” นักแข่งรถชื่อดัง ล็อกฆาตกรฆ่าข่มขืนรีเซฟชั่นสาวบริเวณป้ายรถเมล์ปากซอยรามคำแหง 62 รวมถึงติดตามจับตายเอกชัย ชุณหชัย เอเย่นต์ยานรกฉายา “เอกขาว” ที่ยิง ร.ต.อ.อาทิตย์ บุบผา รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก เสียชีวิตระหว่างเข้าจับกุม

เขาบอกถึงคดีฆ่าข่มขืนที่ป้ายรถเมล์รามคำแหง 62 ว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้เป็นคนตามล่าจิกหัวคนร้ายมากับมือ รู้สึกสะเทือนใจ มาก ตอนนั้นอยากให้มีนักข่าวมาถามให้ตรงประเด็นว่า มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง “ผมจะพูดเลยว่า อย่ามาชมว่าผมเก่ง อย่ามาชมว่า ผมจับคนร้ายได้ เพราะมันคืนความเจ็บปวดให้เขาไม่ได้ มันคืนความเสียหายให้เขาไม่ได้ คนไม่มีลูกสาวไม่รู้หรอกว่า มันเจ็บปวดขนาดไหน เห็นแค่น้ำตาผู้หญิงมันก็เจ็บปวดแล้ว นี่โดนรังแก โดนข่มขืนจากถ่อยสถุน”

“วันนั้นหมวดอาทิตย์ก็อยู่กับผม ก่อนหน้าเสียชีวิต 10 กว่าวัน ผมชวนคนตามไปหาฆาตกร แต่ไม่มีใครไปกับผม เพราะเขาหากันนานแล้ว ตอนนั้นหมวดอาทิตย์บอกว่า พี่ขอไปด้วย ผมประทับใจเขามากวันนั้น พอรู้ว่า หมวดอาทิตย์โดนเอกขาวยิงตาย ผมทิ้งงานอื่นหมด นายเรียกประชุมผมไม่ยอมไป ผมตามล่าอย่างเดียว เอาชุดปืนยาวไป เอ็ม16 เสื้อเกราะพร้อม รู้ว่ามันเคยไปอัพยาที่ไหน เข้าชาร์จหมด ทำทุกคืน จนได้ร่วมงานกับท่านอัศวิน ขวัญเมือง ตามไปปิดล้อมบ้านพักกึ่งรีสอร์ตที่วังโป่ง เพชรบูรณ์ เอกขาวต่อสู้ ดาบเดชาชัย สุขีรัตน์ ลูกน้องผมต้องทำวิสามัญ ขอขอบคุณดาบเดชาชัยด้วย ถ้าไม่ได้เขาวันนั้นผมอาจโดนเอกขาวยิงไปแล้ว อาจมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงตายก็ได้ อาศัยที่ดาบเดชาชัยมีประสบการณ์เยอะในการจับกุมคนร้ายเลยสามารถแก้สถานการณ์ได้ทัน”

นอกจากนี้ พ.ต.อ.ปกรณ์ ยังมีความประทับใจที่ได้ร่วมงานตามล่าเอกขาวกับ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ถึงขนาดเอ่ยปากยกย่องในความสามารถด้านการสืบสวนแกะรอยติดตามคนร้ายที่ตัวเขาเทียบไม่ได้  “ไม่มีคดีไหนที่ทำง่ายสักคดี ตำราของผม คือ แผนประทุษกรรมคนร้าย ตอนหลังดีใจที่เห็นรุ่นน้อง ๆ หลายคนที่พิชิตคดีใหญ่ ๆ ได้ใช้แผนประทุษกรรมคนร้ายนำทาง ช้า เหนื่อยหน่อย แต่ชัวร์ ทว่า นักสืบบางคนไม่ชอบ เพราะต้องเดินทางไปโน้นไปนี่เพื่อรวบรวมข้อมูล มันเหนื่อยเลยไม่ค่อยเอากัน ผมถึงยอมรับ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ท่านเป็นนักสืบมือหนึ่งจริง ๆ”

ส่วนเบื้องหลังการถอดใจลาเครื่องแบบสีกากี ผู้กำกับนักสืบมากประสบการณ์บอกว่า ตัดสินใจลาออก เพราะเหนื่อยจริง ๆ ทำงานสืบสวนมาตลอดแล้วจะอิน เห็นคนโดนข่มขืน โดนรังแกจะอิน เวลานั่งกินข้าวก็คิดแต่เรื่องงาน คุยกับลูกน้องเรื่องอื่นไม่เกิน 10 นาทีต้องมาคุยเรื่องงานทั้งวันทั้งคืน มานั่งวิเคราะห์กัน อินแล้วมันเหนื่อยมาก กินข้าวก็คิดเรื่องงาน ขับรถก็คิดเรื่องงานจนเบลอ ไม่อยากไปงานเลี้ยง ไม่อยากไปงานแต่ง งานศพ เพราะจะทำลายจังหวะทางความคิด เหมือนเป็นโรคจิตมากกว่า

“ผมขี้เกียจประชุมก็เพราะแบบนี้ ประชุมเรื่องอะไรก็ไม่รู้ บางทีกำลังคิดเรื่องตามคดีอยู่ ทำลายจังหวะหมด เช่น ตอนทำคดีฆ่า 5 ศพที่ลาดพร้าว เป็นคดีที่สะเทือนใจผมมาก เด็ก 2 คนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ คนร้ายฆ่าพ่อแม่ ฆ่าคนใช้ แล้วเด็ก 2 คนไปเกี่ยวอะไรด้วย อยากจะเอามันมาคุยนานหลาย ๆ วันหน่อย คดีก็ใกล้ได้ตัวแล้ว ก็โดนเรียกไปประชุมในคดียิงสนธิ ลิ้มทองกุล แทบทุกวัน แล้วมันเกี่ยวอะไรกับผมด้วย เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต เรื่องเอาอกเอาใจ นั่นคือชีวิตที่เริ่มคิดไม่อยากทำงานแล้ว เบื่อระบบตั้งแต่ตอนนั้น มีความคิดอยากจะลาออกตำรวจแล้ว”

“ผมชอบคำพูดของท่านจักรทิพย์ ชัยจินดาที่ว่า ตำรวจต้องมีหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่เป็นนักประชาสัมพันธ์ ต้องมีโครงการนี้โครงการนั้น ตำรวจมีหน้าที่จับผู้ร้าย ไม่ได้จบประชาสัมพันธ์ ท่านเข้าใจตำรวจดี ผมอยากให้น้อง ๆ นักสืบคิดว่า ความเสียหายมันคืนเขาไม่ได้หรอก เช่น คดีลักทรัพย์ เหมือนของตกน้ำ เงินทองมันเอาใช้ไปหมด ความรู้สึกเขา คนร้ายเข้าบ้านเขา ความรู้สึกเขาจะเสียมาก บ้านนี้เขารักเขาห่วงแหน แต่ไม่อยากอยู่แล้ว ครอบครัวเขาจะเป็นยังไง ความรู้สึกเขาเสียหมด  ตำรวจเราชอบคิดว่า คดีลักทรัพย์เล็กนิดเดียวติดคุก 3-4 ปี แต่ความรู้สักมันมากนะ คนร้ายเข้าไปที่นอนตัวเอง” พ.ต.อ.ปกรณ์ฝากแง่คิด

“ผู้บังคับบัญชาที่บี้งานลูกน้องคดีเล็ก ๆ เอาไว้ก่อนจะมาเน้นคดี 241 จิ๊กโก้แทงกันตาย คดีอุกฉกรรจ์มาก่อนไม่ใช่ เชื่อมั้ยว่า เจ้าทรัพย์ทุกคน เจ้าของบ้านทุกคนที่โดนคนร้ายขึ้นบ้าน มีความรู้สึกเดียวกัน คืออยากให้คนร้ายตาย ผมกล้าพูดได้เลย ผมเคยคุยกับสรยุทธ สุทัศนะจินดา ตอนคนร้ายขึ้นบ้านว่า คุณสรยุทธ เงินทองที่โดนไปสงสัยคืนยาก มันโจร ได้ไปมันก็ใช้ไป แต่ผมจะคืนความเจ็บปวดให้ ผมจะจับคนร้ายให้ได้ นี่คือส่วนหนึ่งนะ อย่างคดีฆ่าข่มขืน ลูกเขาตายความเจ็บปวดเขาแทบไม่ได้คืนเลย ผมถึงไม่ภูมิใจอะไรเลย ไม่น่าจะมีอย่างนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยมากกว่า”

ทั้งหมดเป็นความในใจของนายตำรวจลูกทุ่งที่กลายเป็นตำนานนักสืบเมืองกรุงไปแล้ว

ปกรณ์ กิตติวัฒน์ !

RELATED ARTICLES